สรรพากรเตรียมออกกฎหมายภาษีอีคอมเมิร์ซ 3 ฉบับ เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไม่เว้นสินค้านำเข้าทางพัสดุต่ำกว่า 1,500 บาท รวมถึงเก็บภาษีผู้ค้าทั้งไทยและต่างประเทศทั้ง 'เฟซบุ๊ก-กูเกิล-ยูทูบ' ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia Commons
เว็บไซต์ moneychannel.co.th รายงานเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2561 ว่านายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่ากรมสรรพากรได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ. การเก็บภาษีจากผู้ประกอบการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ ให้กระทรวงการคลังพิจารณาเห็นชอบ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติในเร็วๆ นี้
ร่าง พ.ร.บ. อี-คอมเมิร์ซ แบ่งออกเป็น 3 ฉบับ ฉบับแรกเป็นการยกเลิกการเว้นเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) จากการส่งสินค้าเข้าประเทศผ่านทางพัสดุมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ทำให้สินค้าที่ซื้อผ่านออนไลน์และนำเข้ามายังประเทศจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมที่ราคาไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับยกเว้น
ฉบับที่สอง กำหนดให้ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ เสียภาษีแวต ซึ่งกรมสรรพากรแก้กฎหมายประมวลรัษฎากรให้อี-คอมเมิร์ซในไทยเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการต่างประเทศ โดยจะให้ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์รายงานการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้าให้กรมสรรพากรรับทราบ
ส่วนร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่สาม ให้ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซเสียภาษี โดยกำหนดให้เก็บภาษีกับผู้ประกอบการนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดรายได้ในประเทศไทย เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล และยูทูบ ไลน์ โดยจะมีการกำหนดอัตราเพดานสูงสุดไว้หักที่จ่ายไม่เกิน 15% และผู้จ่ายเงินเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษีและนำส่งให้กรมสรรพากร
สำหรับการเพิ่มประสิทธิ ภาพเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซทั้งหมด เพื่อปรับการทำงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยธุรกิจอี-คอมเมิร์ซจะมาแทนที่การค้าปลีกระบบเดิมที่ต้องมี ร้านค้าจำหน่าย
จากสถิติปีที่ผ่านมาธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซขยายตัวเพิ่มขึ้น 20-30% ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจจำนวนมากปรับกลยุทธ์ไปจับมือกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และบางรายก็ปรับตัวเองเป็นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเพื่อรักษาและเพิ่มยอดการขายสินค้า ซึ่งมีจำนวนมากที่ยังอยู่นอกระบบภาษี ทำให้รัฐสูญเงินภาษีที่ควรเก็บได้เป็นจำนวนมาก
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ