รายงานพิเศษจากสื่อ 'ประชาชาติธุรกิจ' ระบุโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. งบ 179,412 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 14 ตอน สถานีแรกคืบหน้า 7% แล้ว เผยมีกลุ่มบริษัทจีน 7 ราย ที่ลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเวียงจันทน์-คุนหมิงเมืองเอกในมณฑลยูนนาน กำลังรุกคืบมายังกระดานประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เพื่อต่อยอดกับเส้นทางที่กำลังสร้างอยู่ฝั่งลาวให้เชื่อมโยงกัน ที่มาภาพ: ประชาชาติธุรกิจ
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2561 ว่านับจากรัฐบาลทหารเข้ามาบริหารประเทศ พร้อมประกาศจะผลักดันการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ประเดิมเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในพื้นที่ภาคอีสานเป็นสายแรก ระยะทาง 253 กม. ด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศจีน ร่วมกันแจ้งเกิดรถไฟหัวจรวดสายนี้ให้เป็นจริง โดยรัฐบาลไทยจะเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งหมดด้วยเม็ดเงิน 179,412 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลจีนจะช่วยออกแบบรายละเอียดและจัดหาระบบรถไฟความเร็วสูงให้ หลัง “ไทย-จีน” ประชุมร่วมกันมาแรมปี ถึงขณะนี้ไฮสปีดเทรนสายแรกของประเทศไทย กำลังเดินหน้าด้วยความละเมียดละไม
จากไทม์ไลน์การก่อสร้างของโครงการ ที่แบ่งออกเป็น 14 ตอน หลังคิกออฟช่วงแรกจากสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. โดยกระทรวงคมนาคมให้ “กรมทางหลวง” รับหน้าที่เนรมิตถมคันดินด้วยวงเงิน 425 ล้านบาท เปิดไซต์เมื่อเดือน มี.ค. 2561 ปัจจุบันผลงานคืบหน้ากว่า 7% มีกำหนดจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 2561 นี้
ส่วนอีก 13 สัญญาที่เหลือ มีข้อสรุปจากที่ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่างานช่วงแรกการก่อสร้างเป็นที่น่าพอใจและมีความคืบหน้าตามลำดับ โดยมีวิศวกรชาวจีนเป็นที่ปรึกษาควบคุมงาน ส่วนตอนที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. กำลังตรวจสอบแบบรายละเอียดที่ฝ่ายจีนจัดส่งและมีปรับแก้ไข ทางจีนจะส่งให้ภายในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ คาดว่าจะประกวดราคาในเดือน ส.ค. 2561 และเริ่มการก่อสร้างในเดือน พ.ย. 2561 นี้
อีก 12 ตอน จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 5-6 ตอน ฝ่ายจีนจะส่งแบบรายละเอียดทั้ง 2 กลุ่ม ให้ภายในเดือน มิ.ย. 2561 นี้ ซึ่งไทยต้องใช้เวลาในการตรวจสอบแบบรายละเอียดและเสนอความเห็นให้จีน หากต้องมีการปรับแก้ไข เช่น การออกแบบอาคารสถานีที่ไทยต้องการให้มีเอกลักษณ์ในรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย คาดว่าจะดำเนินการประกวดราคากลุ่มแรก จำนวน 5 ตอน ได้ประมาณเดือน ก.ย.นี้ เริ่มก่อสร้างประมาณเดือน มี.ค. 2562
ประกอบด้วย สัญญาที่ 3 ช่วงแก่งคอย-บันไดม้า ระยะทาง 32 กม. สัญญา 4 ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง ระยะทาง 11.7 กม. สัญญา 5 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 24.8 กม. สัญญา 6 ช่วงลำตะคอง-โคกกรวด ระยะทาง 37.6 กม. สัญญา 7 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 13.7 กม.
จากนั้นประมาณเดือน พ.ย.นี้จะเริ่มดำเนินการประกวดราคากลุ่มที่ 2 จำนวน 6 ตอน เพื่อให้เริ่มงานก่อสร้างประมาณเดือน เม.ย. 2562 ประกอบด้วย สัญญา 8 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 11 กม. สัญญา 9 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 22.6 กม. สัญญา 10 ช่วงนวนคร-บ้านโพธิ์ ระยะทาง 23 กม. สัญญา 11 เชียงรากน้อย (เดโป้) สัญญา 12 ช่วงบ้านโพธิ์-พระแก้ว ระยะทาง 14.4 กม. สัญญา 13 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 30.5 กม. สัญญา 14 ช่วง สระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 13 กม.
“การประมูลสัญญาที่เหลือ การรถไฟฯจะดำเนินการปกติและเป็นการทั่วไป ตามขั้นตอน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง 2560 จะกำหนดเป็นทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลต่อไป” นายอาคมกล่าวและว่าขณะเดียวกันยังมีการเจรจาหารือสัญญา 2.3 เป็นงานระบบรถไฟความเร็วสูงและการฝึกอบรม วงเงินลงทุนกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะเร่งเจรจาร่วมกันให้ได้ข้อสรุปภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อที่กระทรวงการคลังจะได้จัดหาแหล่งเงินกู้ต่อไป ซึ่งรวมถึงเงินกู้จากประเทศจีนด้วย
นายอาคมยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมฯยังมีการติดตามความก้าวหน้า แผนการก่อสร้างเฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางประมาณ 350 กม. ที่จะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ที่เวียงจันทน์ ที่กำลังก่อสร้างด้วยระยะทาง 420 กม.ในอนาคต
“หลักการฝ่ายไทยจะออกแบบรายละเอียดเอง โดยจีนเป็นที่ปรึกษา เพราะใช้เทคโนโลยีจีนและมีส่วนเชื่อมต่อกับลาวไปยังจีน และให้จีนประเมินกรอบวงเงินเบื้องต้น ตั้งเป้าจะศึกษาออกแบบให้เสร็จอย่างเร็วในปี 2561 และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2562 โดยจีนต้องการเร่งเฟส 2 ให้ทันกับเฟสแรก ในปี 2566 เพื่อเปิดเดินรถพร้อมกันตลอดสายจากกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย-เวียงจันทน์-คุนหมิง”
ทั้งนี้ จะมีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ไทย สปป.ลาวและจีน เพื่อกำหนดตำแหน่งสะพาน ตำแหน่งที่ตั้งสถานีฝั่งลาว เนื่องจากจะต้องสร้างสะพานแห่งใหม่มารองรับกับแนวเส้นทางโครงการ เนื่องจากติดปัญหาการจราจรคอขวดบนสะพานที่ใช้ร่วมกับรถยนต์ โดยตำแหน่งที่จะสร้างจะตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ปัจจุบันห่างออกไปประมาณ 30 เมตร จะสร้างคู่ขนานไปกับสะพานเดิม และจะสามารถรองรับได้ทั้งรางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร สำหรับระบบรถไฟความเร็วสูงและรางขนาด 1 เมตร สำหรับรถไฟทางคู่ ส่วนสะพานมิตรภาพเดิมจะยกเลิกทางรถไฟในปัจจุบัน และให้สะพานรองรับรถยนต์เพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ในผลการศึกษาของ “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” ก่อนหน้านี้ ในเบื้องต้นจะใช้เงินลงทุนจากนครราชสีมา-หนองคาย ประมาณ 170,725 ล้านบาท เป็นความก้าวหน้าล่าสุดของไฮสปีดไทย-จีน ที่ใช้ระบบรถไฟหัวจรวดจากแดนมังกร
ว่ากันว่ากลุ่มบริษัทจีน 7 ราย ที่ลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเวียงจันทน์-คุนหมิงเมืองเอกในมณฑลยูนนาน ประตูการค้าทางฝั่งตะวันตกของประเทศจีน กำลังรุกคืบมายังกระดานประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เพื่อต่อยอดกับเส้นทางที่กำลังสร้างอยู่ฝั่งลาวให้เชื่อมโยงประตูการค้าให้ไปด้วยกัน หากเข้าป้ายเท่ากับ “จีน” ดันเส้นทางสายไหมโดยรวบรถไฟความเร็วสูงไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road จะเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางรางของไทยสู่การค้ากับ 64 ประเทศ มีประชากรรวมกันประมาณ 4,400 ล้านคน ได้อย่างราบรื่นด้วยรถไฟความเร็วสูง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ