กสทช.หาแนวทางจัดเก็บภาษี OTT อีกรอบ หลังพบตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาไหลสู่สื่อดิจิทัลมากขึ้นโดยที่รัฐไม่สามารถเก็บภาษีได้ เตรียมเสนอที่ประชุมผู้กำกับกิจการสื่อสารอาเซียน เก็บภาษี OTT พร้อมกันทั้งอาเซียน ในการจัดประชุมปลายปีนี้ ที่มาภาพประกอบ: iptvstack.com
MGR Online รายงานเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2561 ว่านายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวปาฐกถาในการเปิดประชุมวิชาการนานาชาติ International Symposium on Converging Technology and Disruptive Communication-Moving Forward ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 ก.ย. 2561 ที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท กทม. ว่า กสทช.กำลังหาแนวทางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในการให้บริการทั้งทางด้านโทรคมนาคม (Telecommunication) และการให้บริการด้านการแพร่ภาพ (Broadcasting) เพื่อให้การให้บริการเป็นไปอย่างเสรี และมีความยุติธรรม
รวมถึงให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ และที่สำคัญจะต้องปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการด้วย รัฐบาลคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลง และปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้กำหนดให้ กสทช.ทำหน้าที่กำกับดูแล และออกใบอนุญาตให้แก่ทั้งทางด้านโทรคมนาคมและการแพร่ภาพ เพียงหน่วยงานเดียว อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงาน กสทช.จะต้องหาแนวทางเพื่อให้ข้อมูลที่เผยแพร่เกิดประโยชน์ และยุติธรรม โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจของประเทศ และการเสียภาษี รวมถึงเศรษฐกิจโลก ไม่ใช่ปล่อยให้เศรษฐกิจของโลกถูกกำกับโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกไม่กี่บริษัท
จากข้อมูลของสมาคมโฆษณาทางดิจิตอล (Digital Advertising Association) คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีการใช้งบประมาณโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล ประมาณ 14,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 21% ซึ่งเป็นการโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก และยูทิวบ์ ตามลำดับ ในทางตรงกันข้าม วงเงินโฆษณาผ่านทีวีลดลงปีละ 10% จาก 2,500 ล้านบาท ในปี 2558 ลดลงเหลือ 2,000 ล้านบาทในปัจจุบัน จากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจในการหลอมรวมเทคโนโลยีกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม สู่แพลตฟอร์มออนไลน์รูปแบบใหม่ ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาไหลสู่ช่องทางออนไลน์ และส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการจากต่างประเทศ ซึ่งยังไม่ได้มีการจัดเก็บภาษี ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ได้ประโยชน์ในการนำเงินภาษีมาพัฒนาในสังคม
อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่กำกับดูแลในแต่ละประเทศจะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อกำหนดแนวนโยบายที่สนับสนุนต่อการดำเนินธุรกิจ และคุ้มครองผู้บริโภคให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสื่อ ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของเทคโนโลยีที่ผลักดันการขยายตัวธุรกิจดิจิทัลได้อย่างไร สิ่งสำคัญ เม็ดเงินจากการโฆษณาไหลออกสู่นอกประเทศ
ทั้งนี้สำนักงาน กสทช. จึงเสนอให้มีการกำกับดูแลที่เป็นธรรมต่อการแข่งขันทางธุรกิจ โดยการจัดเก็บภาษี ผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยปลายปีนี้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม หน่วยงานกำกับดูแลด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะมีการหารือแนวทางในการกำกับดูแลธุรกิจรูปแบบใหม่ในทิศทางเดียวกัน โดยประเทศไทยจะเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีกิจการ OTT ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม กับภาษีนิติบุคคล ซึ่งเป็นรูปแบบการกำกับดูแลการจัดเก็บรายได้ แต่ไม่ได้กำกับดูแลในด้านการควบคุมเนื้อหา เนื่องจากความละเอียดอ่อนด้านการกำกับดูแลเนื้อหาในภูมิภาคอาเซียน มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้อัตราการจัดเก็บภาษีกิจการ OTT ในภูมิภาคอาเซียนอาจแตกต่างกันได้ แต่ไทยเสนอให้มีการจัดเก็บภาษี OTT ทุกประเทศในอาเซียน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ