หวั่นน้ำเสียจากสุขา ‘ศูนย์บริการมอเตอร์เวย์โคราช’ ไหลลง ‘ลำตะคอง’

ทีมข่าว TCIJ : 15 เม.ย. 2561 | อ่านแล้ว 5737 ครั้ง

‘มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา’ ก่อสร้างเร็วกว่าแผน 7% คาดเปิด ก.ค. 2563 ใช้กฎหมาย PPP ให้เอกชนร่วมลงทุน ‘ดำเนินงานและบำรุงรักษา’ ยื่นซองปลาย เม.ย. ทราบผล ส.ค. 2561 กลุ่มจับตาโครงการฯ เผยข้อมูลคาดจะมี ‘น้ำผสมปัสสาวะ-อุจจาระ’ กว่า 11 ล้านลิตรต่อปีที่ ‘ศูนย์บริการ’ บริเวณ อ.ปากช่อง ซึ่งสร้างบนเชิงเขา หวั่นมลพิษไหลลงเบื้องล่างสู่ ‘ลำตะคอง’ ชี้พื้นที่ลาดเอียดสูงไม่เหมาะสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ที่สำคัญจุดนี้ยังไม่มีการทำ EIA อาจเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia Commons/Judgefloro

ก่อสร้างเร็วกว่าแผน 7%  คากเปิดบริการ ก.ค.2563

โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา หรือ ‘มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช’ กำลังคืบหน้าไปอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือน มี.ค.   2561 ที่ผ่านมานายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่าการก่อสร้างลุล่วงไปแล้ว 32% ซึ่งเร็วกว่าแผน 7% คาดว่าจะเปิดให้บริการ ได้เดือน ก.ค. 2563 สำหรับโครงการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่- กาญจนบุรี วงเงิน 6.1 หมื่นล้านบาท นั้นจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP Gross Cost  ( PPP - Public Private Partnership )

อธิบดีกรมทางหลวงยังระบุว่ากรมทางหลวงมีนโยบายตรวจสอบสภาพความเรียบของผิวทางโครงการก่อสร้างสายทางดังกล่าวเพื่อเพิ่ม  คุณภาพผลงานการก่อสร้างให้มีความเรียบของผิวทางอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยไม่เพิ่มภาระงบประมาณในการก่อสร้าง และโครงการก่อสร้างทางหลวงต้องได้รับการตรวจสอบสภาพความเรียบของผิวทางก่อนการตรวจรับงานจากสำนักวิเคราะห์และตรวจสอบกรมทางหลวง [1]

ให้เอกชนร่วมลงทุน-ดำเนินงาน-บำรุงรักษา ยื่นซองปลาย เม.ย. ทราบผล ส.ค. 2561

สำหรับโครงการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) นั้น กรมทางหลวงได้เลื่อนการประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (PPP) และการจำหน่ายเอกสารประกวดราคาการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 สายทาง คือ สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี โดยมีการเปิดจำหน่ายเอกสารประกวดราคาปลายเดือน มี.ค. 2561 กำหนดยื่นข้อเสนอปลายเดือน เม.ย. และคณะกรรมการตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือ PPP) จะใช้เวลาพิจารณารายละเอียดข้อเสนอ 4 เดือน จะทราบผลประกวดราคาปลายเดือน ส.ค. 2561

อธิบดีกรมทางหลวงยังระบุว่าที่ผ่านมามีเอกชนสนใจเข้ามาสอบถามรายละเอียดโครงการ 7-8 รายแล้ว  พร้อมทั้งถามความคืบหน้ากำหนด การออกประกาศเชิญชวน เช่น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (ดอนเมืองโทลล์เวย์) โดยงาน O&M นี้ กรมทางหลวงมิได้จำกัดคุณสมบัติแค่ระบบทางพิเศษเท่านั้น แต่ผู้ที่ทำระบบรถไฟฟ้าก็สามารถเข้าร่วมได้ด้วย เพราะระบบจะมีความคล้ายคลึงกัน คือ การทำระบบผ่านเข้า-ออก ซึ่งต้องมาแข่งขันกันที่ประสิทธิภาพ และความทันสมัยของระบบที่จะสร้างความสะดวกให้ผู้ใช้บริการและลดปัญหาการจราจรหน้าด่าน

ทั้งนี้การลงทุนงาน O&M สายบางปะอิน-นครราชสีมา เอกชนจะได้รับค่าตอบแทนไม่เกิน 33,258 ล้านบาท ตลอด 30 ปี ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรีได้รับค่าตอบแทนไม่เกิน 27,828 ล้านบาท ตลอด 30 ปี ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสายบางปะอิน-นครราชสีมา มีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ที่ 19% ต่อปี จัดเก็บค่าผ่านทางโดยมีค่าแรกเข้า 10 บาท และคิดเพิ่มกิโลเมตร  (กม.) ละ 1.25 บาท  ปีแรกประเมินว่าจะมีปริมาณการจราจร 18,000 คันต่อวัน  เติบโตเฉลี่ย 3% ต่อปี ถึงจุดคุ้มทุนใน 4 ปี  สายบางใหญ่มี IRR ที่ 14% ต่อปี จัดเก็บค่าผ่านทางโดยมีค่าแรกเข้า 10 บาท และคิดเพิ่ม กม.ละ 1.50 บาท ปีแรกคาดปริมาณการจราจรประมาณ 10,000 คันต่อวัน เติบโตเฉลี่ย 3% ต่อปี ถึงจุดคุ้มทุนภายใน 5-6 ปี [2]

หวั่นมลพิษจาก Service Center มอเตอร์เวย์ปากช่อง ซึมสู่แหล่งน้ำ

ข้อมูลจากกลุ่มจับตาโครงการฯ ระบุว่าการใช้พื้นที่สำหรับจุดขึ้น-ลง และด่านเก็บเงิน และศูนย์บริการ (Service center) ยังไม่ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งหากก่อสร้างและดำเนินการอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ที่มาภาพประกอบ: แฟ้มภาพของกลุ่มจับตาโครงการฯ)

อีกหนึ่งข้อกังวลของกลุ่มจับตาโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา ก็คือประเด็น ‘มลพิษจากสิ่งปฏิกูล’ โดยเฉพาะ ‘น้ำผสมปัสสาวะ-อุจจาระ’ ที่ประมาณการว่าจะมีถึง 11,132,500 ลิตร/ต่อปี จากศูนย์บริการ (Service center) บริเวณ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่สร้างบนเชิงเขา เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งที่สูงอาจจะทำให้สิ่งปฏิกูลสามารถไหลลงสู่เบื้องล่างได้โดยง่ายโดยเฉพาะในฤดูฝน และอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา

โดยข้อมูลจาก 'ข้อร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา' ที่จัดทำโดยกลุ่มจับตาโครงการฯ เมื่อปี 2560 ได้ระบุว่า ทางขึ้น-ลง และด่านเก็บเงิน จะตั้งอยู่ที่ หมู่ 8 ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ตำแหน่งดังกล่าวอยู่ห่างจาก ‘ลำตะคอง’ ประมาณเพียง 400  เมตร เท่านั้น ลักษณะพื้นที่จะลาดเอียงสู่ลำตะคอง ดังนั้นเมื่อมีของเสียทั้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสียจากระบบสาธารณูปโภคและห้องส้วม มลพิษที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจจะไหลลงสู่ลำตะคอง ซึ่งเป็นพื้นที่ลาดต่ำอยู่ด้านล่าง

ศูนย์บริการ (Service center) ทั้งสองด้านของโครงการตั้งอยู่ที่หมู่ 11 ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นที่ลาดเอียงเชิงเขา อยู่สูงกว่าถนนธนะรัชต์และตัวเมืองปากช่องเป็นอย่างมาก พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในแนวเขานางชี ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำธรรมชาติที่สำคัญของ อ.ปากช่อง โดยเฉพาะเป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่เป็นแหล่งน้ำดิบสำรองเพื่อการบริโภคที่สำคัญของ อ.ปากช่อง ดังนั้นเมื่อมีการสร้างศูนย์บริการในบริเวณดังกล่าวจะเป็นการทำลายแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของ อ.ปากช่อง และประเด็นที่น่าวิตกกว่านั้นคือ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลาดเอียงเชิงเขาอยู่ในระดับที่สูงกว่าถนนธนะรัชต์และตัวเมืองปากช่องค่อนข้างมาก ซึ่งอาจจะทำให้ของเสียและมลพิษที่เกิดจากโครงการนี้ ทั้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสียจากระบบสาธารณูปโภคและห้องส้วมจะไหลซึมลงพื้นดินที่เคยอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งต้นน้ำของ อ.ปากช่อง ส่วนที่เหลือจะไหลลงสู่เบื้องล่างนั่นคือถนนธนะรัชต์และไหลต่อไปยังลำตะคอง

แหล่งกำเนิดมลพิษหลักของลำตะคอง ก่อนจะมี 'ศูนย์บริการมอเตอร์เวย์'

แหล่งกำเนิดมลพิษหลักของลำตะคองในปัจจุบัน ก่อนที่จะมีศูนย์บริการมอเตอร์เวย์ คือ ชุมชน ฟาร์มสุกร โรงงานอุตสาหกรรม และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่มาภาพประกอบ: กลุ่มจับตาโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา

ลำตะคองเป็นแหล่งน้ำสำคัญของ จ.นครราชสีมา โดยจากการรายงานของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รายงานว่าในปี 2551 จำนวนประชากรใน 6 อำเภอที่แม่น้ำลำตะคองไหลผ่านมีจำนวนประชากรทั้งสิน 882,376 คน โดย อ.เมือง มีจำนวนประชากรมากที่สุด 433,838 คน ถัดมาคือ อ.ปากช่อง 184,427 คน อ.สีคิ้ว 121,637 คน อ.สูงเนิน 79,122 คน อ.เฉลิมพระเกียรติ 34,890 คน และ อ.ขามทะเลสอ 28,462 คน

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2551 ระบุว่าแหล่งกำเนิดมลพิษหลักของลำตะคอง คือ ชุมชน รองลงมาได้แก่ ฟาร์มสุกร โรงงานอุตสาหกรรม และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คิดเป็นร้อยละของความสกปรกในรูปของสารอินทรีย์ (BOD loading) 18,924 กิโลกรัมต่อวัน โดยมีสัดส่วนจากชุมชนร้อยละ 59 ฟาร์มสุกรร้อยละ 36 โรงงานอุตสาหกรรมร้อยละ 4 และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำร้อยละ 1

สำหรับแหล่งกำเนิดที่มาจากเกษตรกรรม ประกอบด้วยแหล่งกำเนิดมลพิษ 3 ส่วน คือ 1) ฟาร์มสุกร ลุ่มน้ำลำตะคองมีการเลี้ยงสุกร 242,323 ตัว ทำให้เกิดน้ำเสีย 3,635 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นปริมาณความสกปรกที่ระบายออกสู่สิ่งแวดล้อม 6,907 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน แบ่งเป็น ลำตะคองตอนบน จำนวนสุกร 218,970 ตัว ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น 3,285 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นปริมาณความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ที่ระบายออก 6,241 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน และลำตะคองตอนล่าง จำนวนสุกร 23,353 ตัว มีปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นปริมาณความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ที่ระบายออก 666 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน 2) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมี 1,018 ไร่ มีปริมาณน้ำเสียระบายออกสู่สิ่งแวดล้อม 214 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นปริมาณความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ที่ระบายออก 264 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน และ 3) พื้นที่เพาะปลูก พื้นที่ลำตะคองมีพื้นที่เพาะปลูก 570,000 ไร่ ประกอบด้วย พืชไร่ 364,000 ไร่ ไม้ผล 120,000 ไร่ พืชผัก 14,000 ไร่ และพื้นที่นา 8,600 ไร่ เกิดการแพร่กระจายของมลพิษจากการใช้น้ำ ปุ๋ย สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ลงสู่แหล่งน้ำโดยการชะล้างของน้ำไหลบ่าหน้าดินเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถระบุข้อมูลที่ชัดเจนได้ [3]

คาดมี ‘น้ำผสมปัสสาวะ-อุจจาระ’ กว่า 11 ล้านลิตร/ต่อปี จากศูนย์บริการมอเตอร์เวย์

จากการคาดการณ์ปริมาณจราจรบนถนนโครงการ ในปี 2574 จะมีรถผ่าน อ.มวกเหล็ก ประมาณ 101,000 คัน/วัน (ระบุในรายงานศึกษาฯ ฉบับสุดท้าย พ.ศ.2550, กรมทางหลวง หน้า3-11) เฉลี่ยมีผู้ใช้ถนนดังกล่าวในช่วงปกติประมาณวันละ 249,800 คน (ตามประมาณการณ์ชนิดและจำนวนรถยนต์ที่ใช้ถนนมอเตอร์เวย์ที่ผ่านช่อง อ.ปากช่อง ในปี 2574) ดังนั้นจะมีผู้ใช้บริการห้องส้วมของโครงการในศูนย์บริการ (Service center) ประมาณการขั้นต่ำ 4% ของผู้ใช้ถนน โดยแบ่งเป็น ปัสสาวะ 3%  คิดเป็นจำนวน  7,494 คน ปริมาณการขับถ่ายปัสสาวะในคนปกติ 250-400 มิลลิลิตรต่อครั้ง ปริมาณปัสสาวะรวมเท่ากับ 1,873 -2,997 ลิตรต่อวัน ปริมาณน้ำที่ใช้เพื่อชำระล้างในการปัสสาวะประมาณ 2 ลิตรต่อครั้ง (เพศหญิงใช้มากกว่าเพศชาย) ดังนั้นปริมาณน้ำที่ใช้ประมาณ 15,000 ลิตรต่อวัน และน้ำดังกล่าวจะรวมกับปัสสาวะกลายเป็นน้ำผสมปัสสาวะปริมาณ  16,870-18,000  ลิตรต่อวัน อุจจาระ 1% คิดเป็นจำนวน 2,498 คน ปริมาณการขับถ่ายอุจจาระในคนปกติ  150 กรัม ดังนั้นปริมาณอุจจาระรวมเท่ากับ  374.7 กิโลกรัมต่อวัน ปริมาณน้ำที่ใช้เพื่อชำระล้างในการอุจจาระประมาณ 5 ลิตรต่อครั้ง ดังนั้นปริมาณน้ำที่ใช้ประมาณ 12,500 ลิตรต่อวัน และน้ำดังกล่าวจะรวมกับอุจจาระกลายเป็นน้ำอุจจาระ มากกว่า 12,500 ลิตรต่อวัน รวมแล้วจะเกิดสิ่งปฏิกูลที่ศูนย์บริการดังกล่าว

(จากตาราง) ปริมาณสิ่งปฏิกูลดังกล่าวคำนวณจากจำนวนผู้ใช้ถนนเท่านั้น ยังไม่รวมกับพนักงานและเจ้าหน้าที่ของโครงการ และในระหว่างวันหยุดยาวหรือช่วงเทศกาลจะมีปริมาณสิ่งปฏิกูลเพิ่มขึ้นจำนวนหลายเท่าตัวจากวันปกติ

ทั้งนี้ กลุ่มจับตาโครงการฯ ยังระบุว่าจากรายงานศึกษาฉบับสุดท้ายของกรมทางหลวง ได้ระบุวิธีการกำจัดสิ่งปฏิกูลประกอบด้วยถังขยะ ถังดักไขมัน บ่อเกรอะ บ่อซึม และถัง Septic เท่านั้น ซึ่งกลุ่มจับตาโครงการฯ ชี้ว่าวิธีที่กรมทางหลวงนำมาใช้นั้นไม่สามารถกำจัดสิ่งปฏิกูลที่เกิดขึ้นได้จริง และสิ่งปฏิกูลจะไหลซึมลงพื้นดินลงสู่ชั้นน้ำบาดาลส่วนที่เหลือจะไหลลาดลงสู่เบื้องล่างและท้ายที่สุดจะไหลลงสู่ลำตะคองจากการชะล้างของน้ำฝน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวตั้งบนที่สูงและมีความลาดเอียงสูงมาก ซึ่งหากจะสร้างเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียก็ไม่มีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ดังนั้นโครงการดังกล่าวอาจจะสร้างความเสียหายต่อธรรมชาติและแหล่งต้นน้ำเป็นอย่างมาก เนื่องจากสร้างจุดขึ้น-ลงใกล้ลำตะคองมากเกินไปโดยมีระยะห่างเพียง 400 เมตรเท่านั้น

จากการติดตามของกลุ่มจับตาโครงการฯ พบว่าการเลือกใช้พื้นที่สำหรับการสร้างศูนย์บริการ ทางขึ้น-ลง และด่านเก็บเงิน ในจุดนี้นั้น เจ้าของโครงการฯ ยังมิได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งหากไม่มีมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขก็อาจจะเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ.

 

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม

[1] มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมาคืบหน้าร้อยละ 32 (สำนักข่าวไทย, 22/3/2561)
[2] 'กรมทางหลวง' เปิดขายซอง ประมูลงาน O&M ปลายมี.ค.นี้ (ข่าวหุ้น, 13/3/2561)
[3] ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ อ้างอิงใน รายงานการวิจัยการประเมินแหล่งกำเนิดมลพิษจากพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา: กรณีศึกษาลุ่มน้ำย่อย คลองตาลอง ห้วยหินลับ ห้วยสำเสา และคลองท่าบาง (พงศ์เทพ สุวรรณวารี และคณะ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, 2555)

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: สถานการณ์คุณภาพน้ำ ‘ลำตะคอง’

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: