นาย Syukri M Yusuf ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายชารีอะฮ์และสิทธิมนุษยชนจังหวัดอาเจะห์ (Aceh’s Shariah law and human rights office) เผยว่าทางการอาเจะห์ได้ร้องขอต่อสำนักฯ ให้ทำการวิจัย การประหารชีวิตด้วยวิธีการตัดศีรษะ ภายใต้กฎหมายศาสนา และการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้วยเห็นว่าการตัดศีรษะมีความสอดคล้องกับกฎหมายชารีอะฮ์มากกว่า ซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการป้องปรามฆาตกรรมและการลงโทษรุนแรงใช้เพื่อรักษาชีวิตมนุษย์ โดยสำนักฯ จะเริ่มร่างกฎหมายเมื่อเสร็จขั้นตอนการวิจัยทางวิชาการ
Syukri M Yusuf กล่าวอีกว่าหากกฎหมายชารีอะฮ์ถูกบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง อาชญากรรมต่างๆ โดยเฉพาะฆาตกรรม จะลดลงอย่างมาก ที่ผ่านมาการลงโทษฆาตกรค่อนข้างเบา ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้อาจทำความผิดใหม่อีกหลังถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ ประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นตัวอย่างที่ดีที่อาเจะห์สมควรเดินตามรอยในการลงโทษฆาตกรอย่างเฉียบขาดรุนแรง
ที่ผ่านมาอาเจะห์เป็นจังหวัดเดียวของอินโดนีเซียที่บังคับใช้กฎหมายชารีอะฮ์ ตามข้อตกลงที่ได้รับความยินยอมจากรัฐบาลกลางในกรุงจาการ์ตาเมื่อปี พ.ศ. 2548 เพื่อยุติสงครามแยกตัวเป็นเอกราช ที่ดำเนินมาหลายทศวรรษก่อนหน้านั้น โดยในอนาคตการบังคับใช้กฎหมายศาสนาในอาเจะห์มีความรุนแรงมากขึ้น และตอนนี้มีผลครอบคลุมถึงกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชาวมุสสลิมด้วย
นอกจากนี้อินโดนีเซียมีโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาบางชนิด เช่น ฆาตกรรม และค้ายาเสพติด ซึ่งการประหารจะใช้วิธียิงเป้า โดยการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายมีขึ้นเมื่อเดือน ก.ค. 2559 เมื่อนักโทษคดียาเสพติด 4 คน ประกอบด้วยชาวไนจีเรีย 3 คน และชาวอินโดนีเซีย 1 คน ถูกเพชรฆาตลั่นไกปลิดชีวิต ในเรือนจำบนเกาะที่ไม่ไกลจากอาเจะห์
ที่มาข่าวและภาพประกอบ: The Jakarta Post, 15/1/2018
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ