ชาวไร่ 'สับปะรด' เสนอรัฐใช้ระบบ 'พันธสัญญา' แก้ปัญหาราคาตก

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 มิ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 2057 ครั้ง

ชาวไร่ 'สับปะรด' เสนอรัฐใช้ระบบ 'พันธสัญญา' แก้ปัญหาราคาตก

ชาวไร่สับปะรดอ่วม ผลผลิตล้นตลาดราคาดิ่งขาดทุนโลละ 2 บาท จี้รัฐพันธสัญญาประกันราคารับซื้อ ด้านสมาคมอาหารสำเร็จรูปชี้ปัญหาเรื้อรัง ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯเร่งเดินหน้า 3 มาตรการแก้ปมสับปะรดซื้อ 2 แสนตันผลิตอาหารโคนม ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2561 ว่านายสุรัตน์ มุนินทรวงศ์ กรรมการและเลขานุการสหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่าปีนี้มีอากาศหนาวหลายรอบ และปริมาณฝนมาก ส่งผลให้ผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้มากกว่าปกติ 1 แสนตัน โดยเฉพาะผลผลิตใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แหล่งปลูกใหญ่ล้น ประมาณ 5-6 หมื่นตัน ราคาสับปะรดเหลือ กก.ละ 2-2.40 บาท เกษตรกรจึงขาดทุน กก.ละ 1.60-2.00 บาท จากต้นทุนการผลิต กก.ละ 4 บาทเศษ ซึ่งไม่เว้นแม้แต่เกษตรกรที่มีสัญญาขายให้โรงงานไว้ล่วงหน้า และมีบางพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ ที่อยู่ไกลจากโรงงานในภาคตะวันออกและภาคกลางตอนล่าง เหลือ กก.ละ 80 สตางค์เท่านั้น เกษตรกรจึงไม่เก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะไม่คุ้มกับแรงงานเก็บเกี่ยวและค่าขนส่ง

“โรงงานลดราคารับซื้อสับปะรดลงทุกวัน ทั้งยังลดกำลังการผลิตลงเกือบครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตปกติ โดยอ้างว่าต่างประเทศไม่ซื้อทำให้ล้นโกดัง การขยับตัวรับมือปัญหาช้าทั้งที่ราคาสับปะรดตกต่ำตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ขอให้รัฐช่วยเยียวยาความเสียหายจากการขาดทุนหนัก พร้อมทั้งวางยุทธศาสตร์ระยะยาวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการบังคับใช้ระบบเกษตรพันธสัญญาตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาปี 2560 เพื่อประกันราคารับซื้อขั้นต่ำกับปริมาณที่ซื้อขายกับเกษตรกรบวกลบไม่เกิน 20% ทางกลุ่มเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในโอกาสเดินทางตรวจโครงการซื้อสับปะรดผลิตอาหารสัตว์ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้” นายสุรัตน์กล่าว

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า เกษตรกรเห็นว่าราคาดีจึงปลูกเพิ่มขึ้นทำให้เกิดปัญหาอย่างนี้ทุกปี แต่หลังจากนี้ราคาจะปรับตัวดีขึ้น ทางออกระยะสั้นต้องรณรงค์ช่วยกันบริโภคมากขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรขึ้นทะเบียนเพื่อวางระบบบริหารจัดการ พร้อมทั้งใช้ระบบดาวเทียมตรวจสอบการปลูกสับปะรด ในด้านการส่งออกควรเร่งเจรจาทำความตกลงเปิดการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป เพื่อลดภาษีนำเข้าปัจจุบันที่ 13.5% ขณะที่คู่แข่งอย่างอินโดนีเซียภาษี 0%

ข้อมูลกรมศุลกากร ระบุว่า การส่งออกสับปะรดสด น้ำสับปะรด และสับปะรดแปรรูป ในช่วง 4 เดือนแรก ปี 2561 มูลค่า 115.67 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 149.31 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าในการประชุมติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำตามมติของคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้ใช้กลไกสหกรณ์ดำเนินการ 3 มาตรการ คือ 1.เร่งจำหน่ายงานเทศกาล 2.กระจายผลผลิตออกจากจังหวัดที่ผลิต และ 3.นำไปทำเป็นอาหารสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาสับปะรดล้นตลาด 5 แสนตัน จากปริมาณผลผลิตสับปะรด 2.24 ล้านตัน แต่ความต้องการใช้สับปะรดมีเพียง 2 ล้านตันเท่านั้น และมีสับปะรดที่ไม่ผ่านมาตรฐานโรงงานอีก 2.3 แสนตันในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง และลำปาง ซึ่งล่าสุดกรมปศุสัตว์ดำเนินโครงการแปรรูปผลสับปะรดสดเป็นอาหารสัตว์ทีเอ็มอาร์สำหรับเลี้ยงโคนมนำร่องใน 3 จังหวัดที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยให้สหกรณ์โคนมรับซื้อสับปะรด 238,648 ตัน ราคา กก.ละ 1 บาท เพื่อนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ 47,729 ตัน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาสับปะรดต้องบริหารจัดการโดยอาศัยการสร้างกลไกเชื่อมโยงการตลาด-การผลิต ทั้งยังต้องส่งเสริมให้ปลูกสับปะรดคุณภาพสูง เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: