ทุกข์ของคนทำของเล่นในจีน ถูกละเมิดสิทธิแรงงานสารพัด

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 16 ธ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2756 ครั้ง

ทุกข์ของคนทำของเล่นในจีน ถูกละเมิดสิทธิแรงงานสารพัด

ของเล่นส่วนใหญ่ที่ทำจากจีนกลายเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะการทำความฝันของเด็กให้เป็นจริงนั้นมาจากความทุกข์ยากและการขูดรีดแรงงาน ซึ่งมีงานสำรวจวิจัยค้นพบในโรงงานผลิตของเล่น 4 แห่ง

โรงงานที่ทำการสำรวจศึกษานี้ แรงงานส่วนใหญ่ย้ายมาจากถิ่นห่างไกล ต้องจากลูกๆ ครอบครัวและเพื่อน ค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้รับก็ไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐาน พวกเขาจึงต้องทำงานล่วงเวลา โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดเทศกาล พวกเขาทำงานถึง 11 ชั่วโมงต่อกะ 6 วันต่อสัปดาห์ ผลิตของเล่นสำหรับฤดูร้อนและฤดูหนาว ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขายังขาดอุปกรณ์ความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิต สิ่งที่แย่ที่สุดคือ เมื่อคนงานจะต้องทำงานกับสารเคมีอันตรายเช่นเบนซิน ที่แม้ว่าจะถูกเรียกให้ดูน่ารักว่า "น้ำมันกล้วย" แต่มีอันตรายถึงขั้นเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาวและเสียชีวิตได้

คนงานส่วนใหญ่พักในหอพักของบริษัท นอนรวมกันเป็นกลุ่มๆ 8 คน สภาพที่อยู่อาศัยไม่ปลอดภัยและไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่มีน้ำร้อนให้ และไม่มีทรัพยากรหรือกระบวนการรับเรืองร้องเรียนให้แก่คนงานที่ถูกละเมิดสิทธิ์ อีกทั้งปล่อยให้สหภาพแรงงานอิสระจัดการร้องเรียนปรับปรุงสภาพการทำงานเอาเอง

ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เพียงพอ

สถานการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อกลางทศวรรษ 1990 มีโรงงาน 2 แห่งเกิดอัคคีภัย และทำให้สาธารณชนเห็นถึงสภาพการทำงานที่ไม่สุ่มเสี่ยงแพร่หลายในโรงงานผลิตของเล่นในประเทศจีน อุตสาหกรรมของเล่นจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกกดดันจากลูกค้า องค์กรพัฒนาเอกชน และสื่ออย่างหนัก จึงออกมาตรการแก้ไขปัญหา แต่ส่งผลกระทบน้อย

สภาอุตสาหกรรมของเล่นระหว่างประเทศ (International Council of Toy Industries-ICTI) ได้ออกประมวลจรรยาบรรณทางการค้าที่เรียกว่า "จริยธรรมของเล่น" ซึ่งเป็นระเบียบปฏิบัติทางธุรกิจของอุตสาหกรรม ที่กำหนดบรรทัดฐานทางสังคมขั้นต่ำเอาไว้ให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม รวมทั้งในจีน ซึ่งรับจ้างผลิตให้บรรษัทข้ามชาติ เช่น บริษัท Mattel, Disney หรือ Hasbro แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนัก เห็นได้จากผลการสำรวจวิจัยต่างๆ ที่ตรวจสอบโรงงานในจีน ซึ่งจัดทำโดยองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศ ได้แก่ China Labor Watch และองค์กร SACOM

งานวิจัย ปี 2018 สะท้อนสภาพการทำงานที่สุ่มเสี่ยง

ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย. 2018 องค์กรเฝ้าระวังแรงงานในจีนได้สำรวจครั้งใหญ่ในโรงงานผลิตของเล่น 4 แห่ง ที่ผลิตให้แก่ Hasbro, Disney และ Mattel รวมถึงแบรนด์ของเล่นจากเยอรมนี ได้แก่ Simba, Dickie, Schleich และ Ravensburger มีการละเมิดกฎหมายแรงงานในประเทศ รวมทั้งกฎหมายแรงงานระหว่างประเทศขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ปัญหาที่เลวร้ายที่สุด ได้แก่ 1. ชั่วโมงทำงานล่วงเวลา เกินกำหนด สูงถึง 175 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมาย 2. ค่าจ้างขั้นต่ำต่ำกว่าค่าครองชีพ

3. อุปกรณ์ความปลอดภัยไม่เพียงพอ เช่น ขาดแคลนหน้ากากและถุงมือ รวมถึงคุณภาพของอุปกรณ์ อีกทั้งยังขาดการอบรมเรื่องการจัดการสารเคมีที่เป็นอันตรายและการใช้เครื่องจักรโรงงาน 4. สภาพความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน จำนวนผู้พักแน่นเกินไปและหอพักขาดสุขลักษณะ รวมทั้งไม่มีสุขภัณฑ์ที่จำเป็น 5. ระบบประกันสังคมไม่เพียงพอ และการคำนวณค่าชดเชยต่ำกว่าค่าจ้าง และ 6. ขาดองค์กรแรงงานที่เป็นอิสระและกลไกรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นทางการ


แปลและเรียบเรียงจาก
https://www.solidar.ch/en/a-nightmare-for-workers

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: