อากาศชื้น แบบคาดเดาไม่ได้ว่าฝนจะมาเมื่อไหร่ เหมือนฝนจะตกตลอดเวลา ผมบอกความรู้สึกให้เพื่อนข้างตัวที่ชื่นชอบงานปราบดา หยุ่น ได้เข้าใจง่าย ..หลังติดฝนอยู่นานเนิ่น เพลินกับพรมแดนกันวันกว่า ๆ ก็ได้เวลากลับเสียที หกโมงเย็นคือเวลาเที่ยวรถสุดท้ายที่จะออกจากป่าเหมือดเพื่อเข้าตัวเวียง กระเป๋า 2 ใบ ถูกโยนขึ้นที่เก็บเหนือหัว หลังสี่ล้อเคลื่อนออกจากสถานีผู้โดยสาร พร้อมด่านสกัดตรวจบัตรแต่ละด่าน เหตุการณ์ที่พบพานเมื่อวาน ก็ให้นึกถึง.. นึกถึงบางคนที่อาจไปไกลจากที่นี่ไม่ได้เลย
“หนูไม่เคยบอกใครถึงชื่อตามชาติพันธุ์เลยนะพี่” อ่าเส่อ หรือที่เราเรียกว่า ‘พัท’ สาวอาข่าวัยยี่สิบต้น ๆ บอกไว้แบบนั้น เมื่ออยากรู้จักเธอมากขึ้น แววตาทะเล้น เริงร่าในดวงหน้างามงดนั้น กับบุคลิกภายนอกที่ดูมาดมั่นพูดจาฉะฉาน ทำให้’พัท’แตกต่างกับคนชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ผมมีโอกาสพบเจอ ยิ่งในบทสนทนาหลายหลากที่มีฉากหลังอันเขียวขจีของดอยนางนอนประกอบ
นางสาวรุ่งณภา มือและ เป็นคำนามหน้าของเธอ บุคคลที่มีสถานะทางทะเบียน ขึ้นต้นด้วยเลข 7 ตามกฎหมายเลขบัตรประชาชน ด้วยเป็นบุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ซึ่งเกิดในประเทศไทย เนื่องมาจากพ่อของพัท ถูกจัดว่าเป็นคนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย เพราะทางการยังไม่รับรองทางกฎหมาย เช่น ชนกลุ่มน้อยตามชายแดน หรือชาวเขา
สาวเจ้าเริ่มเล่าว่า ในวันธรรมดาเธอทำงานอาสาที่บ้านนานาและองค์กรแอดดร้า องค์กรพัฒนาเอกชนที่ช่วยเหลือให้คำปรึกษาเรื่องคนไร้สัญชาติ ในขณะที่เสาร์อาทิตย์ถ้าไม่ไปที่โบสถ์คริสเตียน เธอก็จะรับงานขายของบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ
“พื้นเพของพัทเป็นคนแม่สาย เกิดที่แม่สาย อยู่ที่แม่สายมาตลอดค่ะ เป็นชาติพันธุ์อาข่า เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากเชียงตุง พม่า พ่อแม่มาจากพม่า พัทคลอดที่ไทย โรงพยาบาลแม่สาย “
ครอบครัวพัทนอกจากประกอบด้วยพ่อแม่แล้ว ยังมีพี่น้องอีกสองคนคือพี่ชาย กับน้องชาย เพราะด้วยเธอคลอดในศูนย์บำบัดยาเสพติด ขณะนั้นแม่ไปบำบัดยาที่ศูนย์ฯ คนที่นั่นจึงให้รถโรงพยาบาลมารับ เพื่อไปคลอดที่โรงพยาบาลประจำอำเภอแม่สาย
“ถ้าตอนนั้นคนที่บ้านไม่ได้อยู่ที่ศูนย์บำบัดฯ ก็จะเกิดที่บ้าน จะไม่มีเลขอะไรเลย” พัทเล่าให้ฟัง
เมื่อถามพัทว่าเริ่มรู้จักมูลนิธิแอดดร้าได้ยังไง เธอบอกว่าจากคนทำงานที่นั่นคนหนึ่ง ก่อนหน้าที่รู้จักเพราะ ‘พี่เทิง’ คนนั้นทำงานอยู่บ้านนานา พักพิงสถานที่ที่เธออาศัยอยู่ตั้งแต่เด็ก ๆ และโตมาจากที่นั่น
จากนั้นพี่เทิงของเธอก็ได้ย้ายมาทำเรื่องคนไร้สัญชาติ เพื่อจะขอสัญชาติให้เด็กที่เกิดในไทย อันเป็นสิ่งที่เธอประสบอยู่แล้ว และมีความสนใจ จึงอยากรู้อยากเห็นในเนื้องานดังกล่าว มูลนิธิแอดดร้า ในชื่อเต็มว่า ‘แอ๊ดเวนตีสเพื่อการพัฒนาและบรรเทาทุกข์ (ADRA Thailand)’ มีวัตถุประสงค์หลักในการทำงานเพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักเรื่องสัญชาติ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเรื่องสัญชาติกับชุมชนและโรงเรียน หน้าที่ของเธอคือร่วมกับเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่เป้าหมายเก็บข้อมูลและจดบันทึกของบุคคลไร้สัญชาติในรูปแบบเอกสารและจัดกิจกรรมสันทนาการกับคนที่มาร่วมโครงการตามสถานศึกษาและสถานที่ราชการ ด้วยความคุ้นถิ่นและพูดได้หลากภาษา ภาษาไทย อาข่า พม่า และอังกฤษ งานลักษณะดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่เธอทำได้อย่างแคล่วคล่อง
ก่อนนี้ตอนอายุ 18 ปี พัทเคยยื่นเรื่องของสัญชาติด้วยตัวเองแล้ว ตอนนั้นหนึ่งในเจ้าหน้าที่บ้านนานาเป็นคนแนะนำ ด้วยว่าเธอมีเอกสารเกิดที่ไทย ก็มีโอกาสขอสัญชาติไทย และพ่อของเธอเองก็มีแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงที่ทางการถ่ายรูปเลขที่ไว้ เอกสารดังกล่าวบอกถึงครอบครัวเข้ามาไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ อันเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่บอกได้ในการหาสัญชาติ ซึ่งพ่อเธอถูกสำรวจไว้กับพี่ชายพ่อเมื่อหลายสิบปีก่อน
เนื่องด้วยพ่อของพัทเสียชีวิตตั้งแต่เธอยังเล็ก ๆ เลยไม่รู้ว่าพ่อมีแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง หรือที่คนแถวนี้เรียกกันว่าใบ ‘ครอบครัว’ เมื่อเธอถามลุงว่า หนูมีหลักฐานอะไรอย่างอื่นของพ่อไหม นอกจากใบเกิดใบเดียวติดตัวไว้มาตั้งแต่เล็กจนโต ลุงจึงบอกว่ามีแบบพิมพ์ประวัติและมีเลข พัทไปขอที่อำเภอ แต่เจ้าหน้าที่อำเภอกลับบอกว่า เอกสารแบบนี้เขาไม่ใช้กันแล้ว เพราะคนที่มีแบบพิมพ์ประวัติแบบนั้น เขาได้สัญชาติไทยกันหมดแล้ว เจ้าหน้าที่แนะนำให้ไปอีกสำนักงานหนึ่งในอำเภอเพื่อค้นเอกสาร เธอค้นเอกสารเก่า ๆ อยู่เป็นวันกว่าจะได้มาเพื่อประกอบเอกสารการขอสัญชาติอีกครั้ง
พัทมาทราบอีกว่าพ่อได้สัญชาติ แต่ไม่ได้ไปถ่ายบัตรประชาชน เพราะตอนนั้นต้องทำมาหากิน และไม่ได้อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง พอพ่อหลวง(ผู้ใหญ่บ้าน) แจ้งเรื่องการไปทำบัตรประชาชนเลยไม่รู้เรื่อง และขาดการติดต่อสื่อสาร ขณะที่ลุงของพัทก็ได้บัตร และลูกชายของลุงก็ได้สัญชาติไทยและบัตรประชาชนไปแล้ว
พัทย้อนเล่าถึงเหตุที่ต้องไปอยู่บ้านเลี้ยงเด็กกำพร้านานา ก็ด้วยเหตุที่ครอบครัวยากจน พ่อแม่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง เมื่อพัทอายุได้ 6 ขวบ พ่อก็เสียชีวิต และเจ้าหน้าที่บ้านนานาไปเจอเข้าขณะเร่ร่อนอยู่แถวตัวอำเภอแม่สาย ก็เลยพามาอยู่ “ตอนแรกแม่ก็ไม่ยอมให้ไปเพราะกลัวว่าพัทจะถูกหลอกไปขาย” เมื่อได้คำตอบว่าที่นั่นจะทำให้ความเป็นอยู่ของลูกสาวดีขึ้นและมีโอกาสได้เรียนหนังสือ แม่จึงให้พัทไป เพราะตอนนั้นแม่ก็มีภาระเลี้ยงน้อง และรับจ้างทำสวน รับจ้างทั่วไปอยู่ ส่วนพี่ชายพัท แม่ให้ไปอยู่กับคนอื่นเพื่อรับจ้าง ก็ไม่ได้กลับมาบ้านสักเท่าไหร่
พัทได้เรียนหนังสือครั้งแรกในชั้นอนุบาลหนึ่ง เพื่อนที่อยู่ในนั้น มีชาติพันธุ์ว้า พม่า ไทยใหญ่ อาข่า ลาหู่ โรฮีนจา ฯลฯ บ้านนานาจะให้อยู่ถึงอายุ 18 ปี แต่ถ้าเรียนต่อจะหาทุนให้ สามารถเลือกได้จะออกไปอยู่ข้างนอก หรือจะอยู่บ้านนานาก็ได้ ใครที่ไม่เรียนจะอยู่เป็นอาสาสมัครก็ได้
กิจวัตรที่นั่นเธอจะตื่นตีห้า กินข้าว แต่งตัว ทำเวร ไม่เกินหกโมงครึ่งรอรถไปโรงเรียน กระทั่งเลิกเรียนห้าโมง กลับมาทำความสะอาด กินข้าว ทบทวนบทเรียน แล้วเข้านอน ส่วนใหญ่เป็นเด็กไร้สัญชาติกันหมดเลย (มี ไม่ถึงสิบที่มีสัญชาติ)
และที่นั่น “คนที่มีสถานะแบบพัท ที่ถือบัตรขึ้นต้นด้วยเลข 7 จะไม่เยอะ เพราะส่วนใหญ่เป็นเด็กขอทาน เขาไม่มีบ้าน ไม่มีรากครอบครัว ไม่มีบัตรเอกสารอะไรติดตัว” เมื่อปีที่แล้วที่เธอริเริ่มการจัดเอกสาร เพื่อขอเอกสารในการมีเลข 13 หลักเวลาจะทำอะไรจะได้สะดวกขึ้น เพราะว่าประเทศไทยถ้าจะทำอะไรต้องใช้เลข 13 หลักหมดเลย พัทอยู่บ้านนานาตั้งแต่อายุ 6 ขวบถึง 22 ปี ผูกพันกับบ้านนานาจนเวลากลับบ้านจริงๆกลับรู้สึกว่าบ้านเป็นอีกสังคมหนึ่ง “ไม่ค่อยสนุกเลยอยู่แค่วันเดียว เพราะอยู่บ้านนานามีเพื่อนเยอะ มีอะไรให้ทำเยอะ” พัทถูกผลักดันให้เป็นผู้นำเยาวชนบ้านนานาตั้งแต่เด็ก ๆ ยิ่งเวลามีการจัดอบรมเยาวชนจากเครือข่ายที่ต่าง ๆ ในภาคเหนือ เธอจะเป็นตัวแทน ไปแลกเปลี่ยนความคิด มีอยู่ช่วงหนึ่งที่บ้านนานามีโครงการทำละคร มีคณะละครมะขามป้อมมาช่วยสอน และจัดทำการแสดงตามที่ต่าง ๆ ในอำเภอ เธอก็ได้ร่วมแสดงด้วย
“พัทเคยทำสารคดีด้วยนะคะ” เป็นสารคดีเกี่ยวกับวงจรชีวิตเด็กเร่ร่อน ตอนนั้นฉายที่ช่องไทยพีบีเอส “ตอนแรกเขานัดมาทำคลิปสั้น ๆ เป็นสกู๊ปชีวิตของเด็กเร่ร่อนลงยูทูป ทางนั้นคงเห็นว่า เป็นกระบอกเสียงให้เด็ก ๆ เลยเชิญพัทไปอบรมเกี่ยวกับการตัดต่อสื่อ ในนามนักข่าวพลเมือง ทางไทยพีบีเอส เห็นว่าทำเป็นสารคดียาว ๆ ได้” เธอกับเพื่อนเลยทำเรื่องของ บีระ เด็กเร่ร่อนที่แม่สาย เข้ากรุงเทพ ไปมหาชัย กระทั่งถูกหลอกลงเรือทะเล ไปที่มาเลเซีย กลายเป็นสารคดี ‘ทางผ่านของบีระ’ และการถูกหลอกใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ ตอนทำสารคดีเรื่องนั้น พัทอยู่ ม.4
นอกจากกิจกรรมต่าง ๆ ของบ้านนานาแล้ว สิ่งยึดเหนี่ยวของพัทคือ ‘ครูเหงา’ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่เธอเรียกว่า ‘พ่อ’ เป็นคนที่เธอศรัทธามาก ด้วยความที่เธอเติบโตมากับบ้านนานา วิธีการทำงาน วิธีคิดก็ถูกบ่มเพาะมาจากครูเหงาไม่น้อย ยิ่งเฉพาะความคิดที่ว่า ”ช่วยคนอื่นเพื่อเขาจะพยุงตัวเองได้ต่อไป “ พัทจึงมี ความฝันอยากเป็นครูอาสา เพื่อตอบแทนคนอื่นบ้าง โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส “มันมีความสุขจากการให้ อาจจะเพราะเราได้รับโอกาสแบบนั้นมา “
“ครูอาสามาสอนเราในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน มาเติมเต็มสิ่งที่ขาด ให้เราได้รับรู้เรื่องราวข้างนอก เวลาครูอาสามาเราจะชอบมาก “
“หนูเคยไปเป็นครูอาสาบนดอย ขณะนั้นเราก็เป็นอาข่า เขาก็เป็นอาข่า ตอนนั้นถ้าเราไม่พูดอาข่ากับเขา เขาก็ไม่รู้จะพูดอะไรกับเรา เหมือนเราเป็นตัวแปลกประหลาด เราต้องพูดอาข่ากับเขาก่อน ว่าเราไม่ได้มาร้าย มาสอนหนังสือ”
“คิดว่าตัวเองชอบสอนเล่นเกม ชอบอยู่กับเด็ก เพราะมันไม่เครียด หนูเป็นคนขี้เล่น ไม่ยอมโต อันนี้ครูว่ามาอีกที” เธอพูดเจือหัวเราะ หลังจบชั้นมัธยมปลาย พัทตัดสินใจลงเรียนสาขาการจัดการนิติศาสตร์รัฐศาสตร์ เพราะด้านสื่อสารมวลชนก็ไม่แน่ใจว่าจบมาจะทำอะไรได้บ้าง ตอนจะสมัครจริง ๆ ครูที่โรงเรียนแนะนำให้เลือกการจัดการ ถ้าสุดท้ายทำงานที่อื่นแล้วไม่ชอบจริง ๆ จะได้กลับมาทำที่บ้านนานาได้ แต่ด้วยสถานะ ทางเศรษฐกิจต้องเลี้ยงแม่กับน้องชาย ตอนนี้เธอจึงดรอปเรียนไว้
เมื่อถามถึงอุปสรรคจากการเป็นคนไม่มีสัญชาติ “เยอะเลยค่ะ ตั้งแต่เรียน เวลาจะขอทุนการศึกษา เวลามี ทุนมาแต่ละครั้ง ต้องดูเงื่อนไขก่อนว่าเขาให้เฉพาะคนสัญชาติไทยหรือเปล่า” แม้จะเป็นทุนเรียนดี ซึ่งเธอก็เป็นคนเรียนดีคนหนึ่ง แต่ถ้าเงื่อนไขระบุให้เด็กสัญชาติไทย เธอก็ไม่ได้อยู่แล้ว “ขอที่โรงเรียนดีกว่า บางที โรงเรียนก็มีให้เล็ก ๆ น้อย ๆ หนูเคยได้ทุนของพระเทพฯ ทุนสิรินธร ตอนอยู่ ม.3 จากการเขียนเรียงความเกี่ยวกับชีวิตตัวเอง ก็ได้ร่ำเรียนมาเรื่อย ๆ ”
เวลาสมัครงาน สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ก็ไม่ได้เท่าเทียมคนไทย พัทบอกว่าคนไม่มีสัญชาติที่เขาออกจาก การศึกษากลางคัน เพราะเห็นว่าเรียนไปวุฒิการศึกษาของเขาก็ใช้ไม่ได้อยู่แล้ว จะบรรจุเป็นครูเป็นพยาบาล ทำไม่ได้อยู่แล้ว จะเรียนไปทำไม? นี่คือคำถามสำคัญของเด็กไร้สัญชาติ
การสมัครงานบริษัทเอกชนถ้าไม่มีสัญชาติไทย เขาก็ไม่ค่อยอยากรับ ทำธุรกรรมเปิดบัญชีเงินเดือนแม้จะ ทำได้แต่เงื่อนไขมันเยอะกว่ามาก อย่างที่เธอไปสมัครขายอินเทอร์เน็ต “เพราะหนูพูดได้หลายภาษา และจบ ม.6 มาเขาเลยรับ แต่บริษัทไม่จ่ายเงินผ่านธนาคาร จ่ายเป็นเงินสด” เธอตระเวนขายที่แม่สายบ้าง เชียงแสนบ้าง ขับมอเตอร์ไซค์ไป “บางทีบริษัทก็ไม่อยากรับรองเรา ไม่อยากรับผิดชอบ เพราะถ้าโดนคดีมา บริษัทจะต้องจ่าย”
เรื่องที่ยากที่สุดคือการเดินทางไปไหนมาไหน จะขออนุญาตออกไปได้เพียง 15 วัน และต้องกลับมารายงาน ตัวที่อำเภอทุกครั้ง เพิ่งปีนี้ที่เดินทางไปเชียงรายโดยไม่ขออนุญาต เมื่อก่อนลำบากมาก ต้องมาขอทุก 15 วัน แต่ถ้ามีหนังสือจากต้นทางที่ไปธุระไปอบรมอย่างนี้ ก็จะสะดวกมากขึ้น
“แต่ถ้าขอเยอะ ๆ บ่อย ๆ ทางอำเภอเขาจะเพ่งเล็ง อาจจะจำชื่อได้ จะไปพม่าก็ไปได้ แต่เสียตังค์มากกว่าคน ไทย” จ่ายด่านไทย 50 บาท จ่ายที่พม่าอีก 120 บาทต่อวัน และก็ข้ามไปกลับวันเดียว ตอนนั้นเธอข้ามไปทำสารคดีเรื่องประเพณีอาข่า โล้ชิงช้า นอกจากนี้พัทเคยไปกรุงเทพ ไปพัทลุง ไปอบรมเกี่ยวกับเยาวชน สิทธิเด็กฯ ไปเป็นตัวแทนเยาวชนจากภาคเหนือ แบบนี้เป็นกรณีพิเศษไม่ต้องขออนุญาต เพราะจะมีการออกหนังสือจากหน่วยงานต้นสังกัดมาส่งที่อำเภอโดยตรง
พัทยังเล่าถึงความฝันอีกอย่างว่า อยากเดินทางไปหลายประเทศทางยุโรป “ตอนนี้ฝันไม่ไกลมาก(หัวเราะ) อยากไปพม่าก็พอ ลาวก็พออะไรงี้ เคยไปได้สุดก็สามเหลี่ยมทองคำ ตอนนั้นเราเป็นเด็กนักเรียนไปทัศนศึกษา” ส่วนสิทธิการรักษาพยาบาล เธอบอกว่า เพิ่งไม่กี่ปีนี้ที่ใช้บัตรประกันสุขภาพได้ แต่ก็มีเงื่อนไขโรค บางอย่างที่ไม่สามารถทำการรักษาได้ ใช้ได้ไม่นานก็กำลังจะยกเลิกอีก
ตอนนี้พัทรอคำตอบเรื่องการขอสัญชาติจากอำเภอ หลังจากเธอยื่นเอกสารครั้งสุดท้ายเมื่อมีนาคมปี 2559 หลังยื่นครั้งแรกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว (2555) เธฮภาวนาให้ได้ทุกวัน เพราะจะได้วางแผนต่อว่าจะจัดการกับชีวิต ยังไง วางแผนเรื่องเรียนต่อและทำงานไปด้วย ไม่ต้องพะวงเรื่องกดค่าแรง “รอนาน เราก็เลยทำอะไรไม่ได้เต็มที่ ต้องขอทุนจากโบสถ์ จนเรียนปี 1 จบ แต่ก็ดรอปไว้ เพราะน้องชายกำลังจะเรียนต่อพอดี น้องชาย เรียนอยู่ที่พะเยา แม่ก็อายุเกือบ 65 ปีแล้ว”
สิ่งแรกที่เธออยากทำเมื่อได้สัญชาติคือ “หางานที่มั่นคงให้ตัวเองก่อนค่ะ อยากมีเงินเดือนสูง ๆ เหมือนเขา ค่าแรงขั้นต่ำ 300 อยู่แล้ว แต่ถ้าคนที่ไม่มีสัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน จะได้น้อยกว่านั้น ถ้ามีบัตรเราจะได้ 9,000 ต่อเดือน มีประกันสังคม ”
นอกจากนี้ เธอยังอยากไปทำงานที่อื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทย “แต่ยังไม่รู้เหมือนกัน ตั้งแต่เด็กจนโต ชีวิตจิตใจเป็นคนอาข่า เรารู้สถานะตัวเอง เป็นคนพื้นที่สูง สัญชาติอาข่า ถ้าวันหนึ่งได้สัญชาติก็จะมีสัญชาติไทยเชื้อชาติอาข่า”
เช้าวันถัดมาที่คริตจักรไมตรีจิตรป่าเหมือด ไม่ห่างจากตัวอำเภอแม่สาย เรานัดกับเธออีกครั้ง เป็นวันอาทิตย์ที่คริสเตียนอาข่าและชาติพันธุ์ละแวกนั้นจะมาชุมนุมกัน ที่นั่นนับเป็นอีกสถานที่ที่เป็นบ้านในหัวใจเธอเลยก็ว่าได้ ในอิริยาบถสบาย ๆ แต่ทะมัดทะแมงด้วยเสื้อยืดคอกลมและกางเกงยีนส์ตามสมัยนิยม “เสาร์อาทิตย์ถ้าไม่ไปไหน ก็จะอยู่ที่นี่แหละค่ะ ยิ่งวันอาทิตย์เป็นวันของแม่ วันนี้พาแม่มาตรวจสุขภาพด้วย” ก่อนเธอจะชี้ชวนให้เข้าไปนั่งฟังบทสวดในพิธีมิซซา และฟังเพลงประสานเสียงในโบสถ์
บทเพลงแห่งศรัทธาผ่านกังวานขับขานของเยาวชนแต่ละกลุ่ม ในแบบฉบับสองภาษาอาข่าและไทย ระหว่างชั่วโมงนั้นเธอคอยเป็นไกด์บรรยายว่า ใครเป็นใครบ้าง เช่นศาสนาจารย์ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวบ้านที่นี่ และบรรดาเหล่าเพื่อนๆของเธอที่ตอนนี้ต่างมีครอบครัวไปหมดแล้ว แทบจะเหลือเพียงพัทคนเดียวที่ยังเป็นโสด
ก่อนกลับ สายตาผมเหลือบไปเห็นถ้อยความสดุดีในโบสถ์ที่ปรากฏตรงหน้า จารจดว่า “จงเฝ้าระวังและอธิษฐานอยู่ เพราะท่านไม่รู้ว่าเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไหร่” (มาระโก-13-33) กระทั่งเราร่ำลากัน ในบรรยากาศฝนพรูพรำเหมือนย้ำเตือนว่า หยาดน้ำจากฟ้าจะช่วยชำระล้างความแตกต่างของชีวิตและสิทธิพลเมือง ที่เธอเฝ้าฝันรอคอย
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: บรรจง ชัยสนิท
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ