จุฬา-ธรรมศาสตร์-มหิดล ได้งบปี 2562 รวมกันมากกว่าราชภัฏ 38 แห่ง

ทีมข่าว TCIJ: 16 ก.ย. 2561 | อ่านแล้ว 131043 ครั้ง

จากเอกสารงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า สถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการและหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 80 แห่งได้รับงบประมาณอุดหนุนรวม 113,652.85 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 23.20% ของงบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับทั้งหมดจำนวน 489,798.57 ล้านบาท โดยมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของไทย 8 อันดับจากการจัดอันดับโดยองค์กรต่างประเทศ ได้งบสูงสุดถึง 7 แห่ง ‘จุฬา-ธรรมศาสตร์-มหิดล’ ได้งบประมาณรวมกันมากกว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศรวมกัน 38 แห่ง นอกจากนี้งบประมาณส่วนใหญ่ของสถาบันการศึกษาใช้ไปกับ ด้านบุคคลากร เฉลี่ยเป็นสัดส่วนถึง 60.09% จากงบที่ได้รับ

TCIJ เรียบเรียงข้อมูลงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการและหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 80 แห่ง โดยสรุปข้อมูลจาก เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เล่มที่ 10 (1) กระทรวงศึกษาธิการ (1) โดย สำนักงบประมาณ, สำนักนายกรัฐมนตรี (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 6 ก.ย. 2561) พบรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

10 สถาบันที่ได้รับงบอุดหนุน ‘มากที่สุด-น้อยที่สุด’

สถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการและหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 80 แห่ง ได้งบประมาณรวมกันทั้งหมด 113,652.85 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 23.20% ของงบประมาณประจำปี 2562 ที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับทั้งหมด 489,798.57 ล้านบาท [1] โดย 10 อันดับแรกที่ได้งบประมาณสูงสุด ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยมหิดล 13,162.29 ล้านบาท 2. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 6,535.36 ล้านบาท 3.มหาวิทยาลัยขอนแก่น  6,019.04 ล้านบาท 4.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 6,004.83 ล้านบาท 5.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5,556.22 ล้านบาท 6.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 5,042.32 ล้านบาท 7.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4,646.39 ล้านบาท 8.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 3,971.08 ล้านบาท 9.มหาวิทยาลัยนเรศวร 2,479.34 ล้านบาท และ 10.มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 2,283.75 ล้านบาท

ส่วน 10 อันดับสุดท้ายที่ได้แก่ 71.มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ 411.9779 ล้านบาท 72.มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี 409.7418 ล้านบาท 73.มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 394.2267 ล้านบาท 74. มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย 383.4574 ล้านบาท 75.มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ 323.8821 ล้านบาท 76.มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง 313.0926 ล้านบาท 77.มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด 274.0123 ล้านบาท 78. มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ 264.324 ล้านบาท 79.สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน 249.4681 ล้านบาท 80. สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา 147.8645 ล้านบาท

(ดูงบประมาณของทั้ง 80 สถาบันได้ที่ >> จับตา: งบประมาณปี 2562 ที่ ศธ. จัดสรรให้ 80 สถาบันอุดมศึกษา)

มหาวิทยาลัยไทยติดอันดับต่างประเทศ 10 รายได้งบสูงสุดถึง 7 แห่ง

เมื่อเดือน มิ.ย. 2561 สถาบัน Quacquarelli Symonds หรือ QS จากประเทศอังกฤษได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 1,000 อันดับแรกของโลก QS World University Rankings 2019 โดยการจัดอันดับใช้เกณฑ์วัดจากความน่าเชื่อถือทางด้านวิชาการ (40%), ทัศนคติของนายจ้าง (10%), สัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษา (20%), สัดส่วนจำนวนผลงานวิจัยต่อจำนวนอาจารย์ (20%) และสัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่างชาติ (5%) นักศึกษาต่างชาติ (5%) ทั้งนี้ ในการสำรวจยังได้ขยายฐานการทำสำรวจให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลกยิ่งขึ้น จากการจัดอันดับ QS World University Rankings 2019 นี้พบมหาวิทยาลัยของไทยติดอันดับจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.มหาวิทยาลัยมหิดล 3.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4.มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ 5.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 6.มหาวิทยาลัยขอนแก่น 7.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ 8.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ [2] [3] [4]

เมื่อพิจารณา 8 อันดับแรกดังกล่าวพบว่ามีมหาวิทยาลัยถึง 7 แห่งที่ได้รับงบประมาณสูงสุดในปีงบประมาณ 2562 คือ 1.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ได้งบประจำปี 2562 เป็นอันดับ 5) 2.มหาวิทยาลัยมหิดล (ได้งบประจำปี 2562 เป็นอันดับ 1) 3.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ได้งบประจำปี 2562 เป็นอันดับ 7)  4.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ได้งบประจำปี 2562 เป็นอันดับ 4) 5.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ได้งบประจำปี 2562 เป็นอันดับ 6) 6.มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ได้งบประจำปี 2562 เป็นอันดับ 3) และ 8.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ได้งบประจำปี 2562 เป็นอันดับ 2) ส่วนลำดับที่ 7.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นั้นได้รับการงบประจำปี 2562 เป็นอันดับ 18

‘จุฬา-ธรรมศาสตร์-มหิดล’ ได้งบประมาณมากกว่าราชภัฏ 38 แห่ง

3 มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง ‘จุฬา-ธรรมศาสตร์-มหิดล’ ได้งบประมาณรวมมากกว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ 38 แห่งรวมกัน

ทั้งนี้ พบว่ามหาวิทยาลัยรัฐยอดนิยมของไทย 3 แห่งได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้งบประมาณรวมกันถึง 23,364.9 ล้านบาท ขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ 38 แห่งรวมกันได้รับงบประมาณเพียง 19,851.86 ล้านบาท

งบด้านบุคลากร สัดส่วนกว่า 60.09% ของงบที่ได้รับ

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ สัดส่วนการใช้งบประมาณ 'แผนงานบุคลากรภาครัฐ' ที่ปรากฏในเอกสารงบประมาณประจำปี 2562 ของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่าสถาบันการศึกษาทั้ง 80 แห่งใช้งบประมาณในแผนงานบุคลากรภาครัฐรวมกันสูงถึง 68,294.26 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 60.09% ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรรวมกัน 113,652.85 ล้านบาท

สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา 10 อันดับแรกที่ใช้งบประมาณในแผนงานบุคลากรภาครัฐมากที่สุดในปีงบประมาณ 2562 ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยมหิดล 9,071.24 ล้านบาท  2.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 5,075.64 ล้านบาท 3.มหาวิทยาลัยขอนแก่น 4,385.70 ล้านบาท 4.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 4,349.79 ล้านบาท 5.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4,193.51 ล้านบาท 6.มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ 3,148.20 ล้านบาท 7.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2,980.07 ล้านบาท 8.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 2,521.69 ล้านบาท 9.มหาวิทยาลัยนเรศวร 1,568.30 ล้านบาท และ10. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 1,467.51 ล้านบาท

10 อันดับมหาวิทยาลัยผู้สมัคร 'ทีแคสรอบ 3' มากที่สุด อยู่ในกลุ่มรับงบมากที่สุด 8 แห่ง

จากการรับสมัครเลือกบุคคลเข้าสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางปีการศึกษา 2561 หรือ ระบบทีแคส ซึ่งรับสมัครวันที่ 9-19 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา นับเป็นการรับสมัครทีแคสรอบที่ 3 ผลปรากฏว่า 10 อันดับแรกของสถาบันอุดมศึกษาที่มีนักเรียนให้ความสนใจ ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมัคร 51,941 คน 2.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัคร 35,356 คน 3.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 28,850 คน 4.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัคร 26,613 คน 5.มหาวิทยาลัยบูรพา สมัคร 25,825 คน 6.มหาวิทยาลัย ขอนแก่น สมัคร 16,815 คน 7.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมัคร 14,926 คน 8.มหาวิทยาลัยนเรศวร สมัคร 14,642 คน 9.มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สมัคร 14,473 คน และ 10.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมัคร 12,960 คน ขณะที่กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัคร 6,937 คน [5]  ทั้งนี้พบว่ามหาวิทยาลัย 8 แห่ง (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยนเรศวร) ติดอยู่ในกลุ่ม 10 อันดับแรกที่ได้รับงบประมาณปี 2562 สูงสุด มีเพียงมหาวิทยาลัยบูรพาและมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเท่านั้นที่ไม่ติดกลุ่มนี้

ยอดนักศึกษา ม.ราชภัฏฯ ปี 2561 ลดลง 10-15%

ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือน ส.ค. 2561 ที่ผ่านมานายเรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุตรดิตถ์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เปิดเผยว่าในการประชุม ทปอ.มรภ. เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการคุยกันเกี่ยวกับจำนวนรับนักศึกษาประจำปีการศึกษา 2561 ในส่วนของ มรภ. พบว่าทุกมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ก็พบปัญหาจำนวนรับนักศึกษาลดลง 10-15 % จากปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าจำนวนลดลงไม่มากนัก ขณะเดียวกันนักศึกษาของ มรภ. ส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กในท้องถิ่นอยู่แล้วจึงไม่กระทบกับมหาวิทยาลัย ส่วนสาเหตุที่จำนวนนักศึกษาลดลง เนื่องจากจำนวนเด็กที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ลดลง และแนวคิดของเด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เห็นว่าไปทำงานก่อนแล้วค่อยกลับมาเรียนก็ได้

ทั้งนี้ จากจำนวนนักศึกษาที่จะเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาที่ลดลงทาง ทปอ.มรภ.มีการคุยกันว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เช่น มหาวิทยาลัยอาจจะต้องปรับหลักสูตร หรือปรับวิธีการจัดการศึกษาใหม่ที่นอกจากจะจัดการศึกษาให้เด็กที่จบ ม.6 แล้ว ต้องทำหลักสูตรให้แก่คนที่ทำงานในท้องถิ่นเพื่อเป็นการเสริมความรู้มากขึ้นและสามารถเก็บเป็นหน่วยกิตได้ด้วย รวมทั้ง มรภ. ต้องเปลี่ยนบริบทของมหาวิทยาลัยมาทำหน้าที่ทางด้านการวิจัยและบริการวิชาการให้แก่ชุมชนมากขึ้น นั่นก็คือ พันธกิจสัมพันธ์ หมายถึงจะเน้นการสอนวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในชุมชน โดยเอาความรู้วิชาการไปทำงานร่วมกับชุมชนมากขึ้น ซึ่งก็จะตรงกับโครงสร้างของกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ที่กำหนดให้กลุ่ม มรภ. อยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ที่ทำงานกับชุมชน [6]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] อ้างอิงจาก เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เล่มที่ 10 (1) กระทรวงศึกษาธิการ (1) โดย สำนักงบประมาณ, สำนักนายกรัฐมนตรี (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 6 ก.ย. 2561) ที่ระบุว่ากระทรวงศึกษาธิการได้งบประมาณประจำปี 2562 รวม 489,798.57 ล้านบาท
[2] การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกโดย QS ประจำปี 2561 (QS World University Rankings 2019) (มหาวิทยาลัยมหิดล, 7/6/2561)
[3] อัพเดต การจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยประจำปี 2019 โดย QS (campus-star.com, 14/6/2561)
[4] QS World University Rankings (topuniversities.com, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 10/9/2018)
[5] 10 อันดับมหาวิทยาลัย เด็กสมัคร 'ทีแคสรอบ3' มากที่สุด (กรุงเทพธุรกิจ, 28/5/2561)
[6] ยอดรับนักศึกษา มรภ.ปี 61 ลด 10-15% (กรุงเทพธุรกิจ, 21/8/2561)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: งบประมาณปี 2562 ที่ ศธ. จัดสรรให้ 80 สถาบันอุดมศึกษา

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: