รับฟังความเห็นปลายปี 2561 ‘ร่างแผน PDP ฉบับใหม่’ มีอะไรอัพเดท?

ทีมข่าว TCIJ: 16 ธ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 3369 ครั้ง

อัพเดทข้อมูลจากเวทีรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ของประเทศ (แผน PDP) ที่ได้ทยอยจัด 4 ภูมิภาค ปลายปี 2561 พบประเด็น เปิดทางเอกชนรายใหญ่ผลิตไฟฟ้าแข่ง กฟผ. เต็มสูบ - ให้โซลาร์ภาคประชาชนเข้าระบบกว่า 10,000 เมกะวัตต์ - ปิดฉาก 'โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี-เทพา' เปลี่ยนเป็น 'ก๊าซธรรมชาติ' แทน แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินอาจกลับมาปี 2577 หากผลการศึกษาของ ‘คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้’ (SEA) ให้สร้างได้ - ภาคตะวันออกไร้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักไปจนถึงปี 2575 ที่มาภาพประกอบ: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

ในช่วงปลายปี 2561 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้ทยอยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (Public  Hearing) ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ของประเทศ หรือ ‘แผน PDP’ ใน 4 ภูมิภาค ซึ่งเป็นกระบวนการก่อนที่จะมีการปรับปรุงร่างแผน PDP ตามผลการรับฟังความคิดเห็น จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ความเห็นต่อร่างแผน PDP นี้ และ กกพ. จะส่งให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแผน PDP ก่อนในขั้นตอนสุดท้าย กพช. จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผน PDP และอนุมัติใช้ต่อไป

TCIJ รวบรวมประเด็นที่น่าจับตาจากเวทีรับฟังความคิดเห็นมานำเสนอดังนี้

เปิดทางเอกชนรายใหญ่ผลิตไฟฟ้าแข่ง กฟผ. เต็มสูบ

สาระสำคัญของร่างแผน PDP ฉบับใหม่นี้ มีการพยากรณ์ (Forecast) กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ในช่วงปี 2561-2580 เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น รวมประมาณ 51,415 เมกะวัตต์ โดยจะเป็นกำลังการผลิตที่มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากที่สุด 20,757 เมกะวัตต์ (เป็นในส่วนของโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีและรูฟท็อปภาคประชาชน10,000 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมของ ‘การไฟฟ้าฝ่ายผลิต’ (กฟผ.) ร่วมกับ ‘เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ’  (Independent Power Producer: IPP) 13,156 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าหลักที่ กฟผ. ต้องแข่งขันกับ IPP จำนวน 8,300 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าถ่านหินนำเข้าและถ่านหินลิกไนต์ที่ กฟผ. หรือ IPP สร้าง รวม 1,740 เมกะวัตต์, ระบบผลิตพลังงานร่วม (Cogeneration) 1,105 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับของ กฟผ. 500 เมกะวัตต์ และซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศอีก 5,857 เมกะวัตต์

ร่างแผน PDP ฉบับใหม่นี้ จะมีโรงไฟฟ้าที่ กฟผ. ต้อง ‘แข่งขัน’ กับ IPP ที่เป็นเอกชนรายใหญ่ หรือเป็นโรงไฟฟ้าที่ กฟผ. และ IPP จะ ‘ร่วมกันลงทุน’ รวมแล้วกว่า 23,196 เมกะวัตต์ โดยเมื่อแบ่งประเภทตามสัดส่วนของเชื้อเพลิง พบว่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ [ซึ่งรวมทั้งก๊าซธรรมชาติ (LNG) เหลวนำเข้าด้วย] จะยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ากว่าร้อยละ 53 ซึ่งแตกต่างจากแผน PDP 2015 (ฉบับปัจจุบัน) ที่พยายามจะลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติลงจากประมาณร้อยละ 60 ให้เหลือราวร้อยละ 30 ในขณะที่เชื้อเพลิงถ่านหินในแผน PDP ฉบับใหม่ก็ลดสัดส่วนลงเหลือประมาณร้อยละ 12 จากแผนเดิม ร้อยละ 23 ส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ใกล้เคียงกับแผน PDP 2015

เมื่อพิจารณารายละเอียดของร่างแผน PDP ฉบับใหม่เป็นรายภาค พบว่าภาคตะวันตกจะเปิดให้ IPP แข่งขันกับ กฟผ. เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าหลักเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2566 และ2567 กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งหมายความว่าในปี 2562 กระทรวงพลังงานจะต้องมีความชัดเจนเรื่องนโยบายการซื้อไฟฟ้าในส่วนนี้, ภาคตะวันออกที่มีกำลังการผลิตสำรองมากกว่าความต้องการใช้ในสัดส่วนที่สูงนั้น มีแผนที่จะให้ IPP แข่งขันกับ กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2576 จำนวน 1,000 เมกะวัตต์ และปี 2580 อีก 700 เมกะวัตต์ (อ่านรายละเอียดในหัวข้อภาคตะวันออกไร้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักไปจนถึงปี 2575), ภาคกลางตอนบนจะเปิดให้ IPP แข่งกับ กฟผ. ในส่วนของโรงไฟฟ้าหลัก จำนวน 1,400 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2575 ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  IPP จะแข่งขันกับ กฟผ.ในส่วนของโรงไฟฟ้าหลัก ที่จะเข้าระบบปี 2573 จำนวน 700 เมกะวัตต์ ปี 2575 จำนวน 700 เมกะวัตต์ (ส่วนภาคใต้อ่านรายละเอียดในหัวข้อ ปิดฉาก 'โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี-เทพา' เปลี่ยนเป็น 'ก๊าซธรรมชาติ' แทน)

สำหรับการซื้อไฟฟ้าต่างประเทศเพื่อเสริมความมั่นคงให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเข้าระบบตั้งแต่ปี 2569, 2571, 2575, 2576 และ 2578 จำนวนปีละ 700 เมกะวัตต์ รวม 3,500 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าร่างแผน PDP ฉบับใหม่นี้ไม่ได้มีการระบุถึงค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยที่จะเกิดขึ้นจากการจัดสรรโรงไฟฟ้าต่างๆ เข้าสู่ระบบเพื่อรองรับความต้องการใช้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ต่างจากในแผน PDP 2015 ที่มีการระบุไว้ [1]  

ให้โซลาร์ภาคประชาชนเข้าระบบกว่า 10,000 เมกะวัตต์

สัดส่วนการจัดสรรโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตามร่างแผน PDP ฉบับใหม่ที่ใช้ประกอบการรับฟังความคิดเห็น ที่มาภาพ: energynewscenter.com

สำหรับการบรรจุโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือ ‘โซลาร์รูฟท็อปเสรี’ และ ‘โซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน’ เอาไว้ในแผนมากถึง 10,000 เมกะวัตต์ โดยจะเป็นการเริ่มทยอยรับซื้อไม่มากนัก เฉลี่ยปีละประมาณ 100 เมกะวัตต์ ในช่วง 5 ปี แรกของแผน (2562-2566) และเพิ่มเป็น 1,122 เมกะวัตต์ ใน 2570 ก่อนที่จะเพิ่มการรับซื้อแบบก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละประมาณ 1,000เมกะวัตต์ ในช่วงหลังปี 2571-2573 และเพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ในปี 2574 และ 2576 ก่อนที่จะทยอยรับซื้อจนถึง 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2579

ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีและโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนจำนวน 10,000 เมกะวัตต์ นั้นจะคิดเป็น ‘กำลังการผลิตที่พึ่งพาได้’ (Reliable Capacity) เพียงประมาณ 4,250 เมกะวัตต์เท่านั้น โดยปลายปี 2561 นี้ทางกระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาอนุมัติ [2]

ปิดฉาก 'โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี-เทพา' เปลี่ยนเป็น 'ก๊าซธรรมชาติ' แทน แต่อาจกลับมาใหม่ได้ ?

ตามร่างแผน PDP ฉบับใหม่นี้ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ได้ถูกถอดออกแล้ว แทนที่ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 2 โรง ในพื้นที่ จ.สุราฎร์ธานี ที่มาภาพประกอบ: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

สำหรับภาคใต้ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชนนั้น ในแผน PDP ฉบับใหม่ได้มีการกำหนดให้ กฟผ. สร้างโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงจำนวน 2 โรง ที่ จ.สุราษฎร์ธานี แทนที่ ‘โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่’ และ ‘โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา’ ในแผน PDP เดิม โดยโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ จ.สุราษฎร์ธานี นี้จะมีกำลังการผลิตโรงละ 700 เมกะวัตต์ โรงที่ 1 จะเข้าระบบปี 2570 และโรงที่ 2 เข้าระบบปี 2572 ในขณะที่ปี 2577 และ 2578 กฟผ. จะต้องแข่งขันกับ IPP ในรูปแบบโรงไฟฟ้าหลัก รวม 1,700 เมกะวัตต์ ส่วนของโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐภาคใต้ นั้นจะมีเข้าระบบจำนวน 120 เมกะวัตต์ ในปี 2564-2565

นอกจากนี้ ตามแผน PDP ฉบับใหม่ ยังกำหนดเปิดให้มีการแข่งขันสร้างโรงไฟฟ้าจำนวน 2 โรง สำหรับ IPP ที่เป็นเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่และ กฟผ. โดยโรงแรกกำหนดให้แข่งขันเพื่อเข้าระบบในปี 2577 ขนาดกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งกำหนดประเภทเชื้อเพลิงให้เป็นการแข่งขันสร้างโรงไฟฟ้าประเภทถ่านหิน หากผลการศึกษาของ ‘คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้’ (SEA) เห็นควรให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ได้ ส่วนโรงที่ 2 จะเปิดให้แข่งขันให้สร้างในปี 2578 ขนาดกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ เบื้องต้นเป็นการแข่งขันสร้างโรงไฟฟ้าประเภทก๊าซธรรมชาติ [3]

ภาคตะวันออกไร้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักไปจนถึงปี 2575

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ จะไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลตั้งแต่ปี 2562-2575 ในภาคตะวันออก เนื่องจากมีกำลังการผลิตสำรองไฟฟ้าในระดับที่สูงกว่าความต้องการใช้ โดยโรงไฟฟ้าหลักโรงใหม่โรงแรกตามแผน PDP ฉบับใหม่นี้ ขนาดกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ นั้นจะเข้าสู่ระบบในปี 2576 ซึ่ง กฟผ. จะต้องประมูลแข่งขันราคาต้นทุนการผลิตกับ IPP และโรงที่ 2 ขนาดกำลังการผลิต700 เมกะวัตต์ จะเข้าสู่ระบบในปี 2580 ซึ่งในส่วนของภาคตะวันออกนั้นมีการบรรจุการผลิตไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก หรือ SPP อยู่เช่นเดียวกับ PDP 2015 ซึ่งหมายความว่า SPP Cogeneration ที่สิ้นสุดอายุจำนวน 25 โครงการ น่าจะได้รับการพิจารณาต่ออายุทั้งหมด

ทั้งนี้ ค่าพยากรณ์พลังไฟฟ้าสูงสุดของภาคตะวันออกในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 5,084 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 7,029 เมกะวัตต์ ในปี 2570 และเพิ่มเป็น 10,033 เมกะวัตต์ ในปี 2580 เมื่อสิ้นสุดแผน ในขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้า ปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ และปี 2570 กำลังการผลิตอยู่ที่ 14,000 เมกะวัตต์ ใกล้เคียงกับปี 2580 ซึ่งจะเห็นว่าปริมาณสำรองไฟฟ้าในภาคตะวันออก ยังมีในระดับสูงโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ [4]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] สรุปความจากเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan : PDP) ของประเทศไทย ฉบับใหม่ หรือ หรือร่างแผน PDP ฉบับใหม่  วันที่ 3 ธ.ค. 2561 ที่ จ.เชียงใหม่ และ วันที่ 4 ธ.ค. 2561 ที่ จ.ขอนแก่น
[2] อ้างแล้ว
[3] สรุปความจากเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan : PDP) ของประเทศไทย ฉบับใหม่ หรือร่างแผน PDP ฉบับใหม่  วันที่ 6 ธ.ค. 2561 ที่ จ.สุราษฎร์ธานี
[4] สรุปความจากเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan : PDP) ของประเทศไทย ฉบับใหม่ หรือร่างแผน PDP ฉบับใหม่  วันที่ 7 ธ.ค. 2561 ที่ จ.ชลบุรี

อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง
จับตา: ภาพรวมสายส่งไฟฟ้าของประเทศไทย
เผยร่างแผน PDP ฉบับใหม่ พร้อมเสนอ กพช.เดือน ก.ย. 2561 เปิดทางเอกชนผลิตไฟฟ้าขายอย่างเสรีมากขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: