ประเทศเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรมชำรุด

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์: 17 ก.ค. 2561 | อ่านแล้ว 4443 ครั้ง


สัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง  ครม. มีมติเสนอร่างกฎหมาย 5 ฉบับ แก่ สนช. เพื่อขึ้นเงินเดือน 10% ให้ข้าราชการในกระบวนการยุติธรรม  เช่น  ประธานศาลฎีกา  ศาลปกครองสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญที่ปัจจุบันรับเงินเดือน 75,590 บาท  บวกเงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท  จะได้รับเงินเดือนอัตราใหม่ 83,090 บาท  บวกเงินประจำตำแหน่งอัตราใหม่ 55,000 บาท  เป็นต้น

และยังได้เงินเดือนย้อนหลังอีกสี่ปี  ตั้งแต่ปีที่เกิดรัฐประหาร  ซึ่งต้องใช้งบประมาณสำหรับจ่ายเงินเดือนย้อนหลังไม่ต่ำกว่า 450 ล้านบาท 

ย้อนหลังกลับไปในเดือนมกราคมที่ผ่านมา  หน่วยงานด้านแรงงานของรัฐอนุมัติค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศต่ำสุดที่ 308 บาท/วัน  สูงสุดที่ 330 บาท/วัน  จากเดิมวันละ 300 บาท โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 16 บาท/วัน  ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่โดยเฉลี่ยเปลี่ยนเป็น 316 บาท/วัน  หรือประมาณ 9,480 บาท/เดือน

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การเปรียบเทียบตัวเลข  แต่อยู่ที่เหตุผลของการขึ้นเงินเดือนที่ ครม. อ้างว่า “เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น”  ย้อนหลังไปในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมารัฐบาลสฤษดิ์น้อยใช้คำที่ชัดเจนกว่านี้ว่า “เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” เมื่อครั้งที่ ครม. มีมติในเรื่องเดียวกันนี้

คนมีเงินเดือนสูงอยู่แล้วที่ 75,000 กว่าบาท  บวกกับเงินประจำตำแหน่งอีก 50,000 บาท/เดือน  แต่อ้างเหตุผลดังกล่าว  ขณะที่ขบวนการแรงงานหลายกลุ่มเรียกร้องแทบตายมาหลายปีเพื่อต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” ในอัตราอย่างต่ำที่ 450 บาท/วัน  เพื่อให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรม คุ้มครองคนทำงานและเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีกสองคน-รวมเป็นสามคนพ่อแม่ลูก  แต่นี่ขึ้นมา 16 บาท/วัน  480 บาท/เดือน  ต่างกันลิบลับกับเงินเดือนของข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมที่สามารถนำมาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวได้เป็น 10 คน  มีเงินเอาไปตีกอล์ฟและมัวเมาในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างสบาย

จะเห็นได้ว่าผู้ปกครองมีทัศนคติที่ไม่ค่อยดีต่อประชาชนที่เป็นแรงงาน  การเรียกร้องขึ้นเงินเดือนและค่าครองชีพแต่ละครั้งของขบวนการแรงงานก็มักมีท่าทีเหยียดหยามคนงานว่าเป็นภาระของชาติ  ต้องคอยหางานให้  แล้วยังจะมาเรียกร้องนู่นนี่  ให้แค่นี้ก็บุญแล้วจะเอาอะไรอีก  แต่มีท่าทีอีกแบบต่อข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมด้วยการเอาเงินเดือนไปประเคนให้  ทั้ง ๆ ที่แรงงานคือผู้สร้างผลกำไรและความมั่งคั่งให้แก่นายจ้างและรัฐ  แต่กลับไม่ได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไรและความมั่งคั่งที่เกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานของพวกเขาเลย

นี่แหละความเหลื่อมล้ำ

คำถามกวนใจก็คือว่าทำไมคนในกระบวนการยุติธรรมจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นจนทำให้กระบวนการยุติธรรมชำรุดได้ในสังคม ? 

ตอบแบบกวนใจก็คือ  การค้าความยุติธรรมด้วยการนำตัวเองและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมที่ตัวเองสังกัดมาค้ำบัลลังก์รัฐประหารด้วยการไม่ตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. เพราะเหตุที่หวังมาตลอดว่าเขาจะขึ้นเงินเดือนให้แก่ตนเป็นเรื่องที่น่าละอายยิ่งนัก

อำนาจที่ได้มาจากรัฐประหารมันทำงานเองไม่ได้หรอกถ้าไม่มีอำนาจตุลาการถือหางหรือค้ำจุนอยู่  ผลที่เกิดขึ้นมันทำให้กระบวนการยุติธรรมละเลยการทำหน้าที่สร้างกระบวนการยุติธรรมให้เกิดสันติสุขแก่สังคม  แต่กลับส่งเสริมและสนับสนุนอำนาจที่ได้มาจากรัฐประหารกระทำการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแทน

เหตุที่บ้านเมืองเราดำรงทัศนคติเช่นนี้ก็เพราะว่าเรามีรัฐบาลที่ออกกฎหมายและนโยบายตามอำเภอใจ  ตรวจสอบไม่ได้  กลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลย์ที่หวังพึ่งได้จากกระบวนการยุติธรรมก็ง่อยเปลี้ยไปหมดจากหลายสาเหตุ  ซึ่งมีการขึ้นเงินเดือนเป็นสาเหตุหนึ่ง

คนพวกนี้ดูดผลกำไรและความมั่งคั่งไปจากสังคม  แทนที่ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมจะได้รับประโยชน์ในรูปของสวัสดิการและบริการสาธารณะจากผลกำไรและความมั่งคั่งที่เกิดจากรายได้และการลงทุนที่แรงงานได้ลงแรงไป  แต่กลับต้องเอาเก็บไว้จ่ายเงินเดือนแก่คนพวกนี้  จึงทำให้เราในฐานะประชาชนไม่มีสวัสดิการและบริการสาธารณะที่ดีต่อคุณภาพชีวิตของพวกเรา

มีคนกลุ่มหนึ่งดูดผลกำไรและความมั่งคั่งของสังคมไปจากพวกเรา  และเป็นเรื่องโคตรเศร้าที่คนเหล่านั้นคือคนในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ใช้สติปัญญา  ความสามารถและความรู้ของตนสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำให้แก่สังคม  ซึ่งถือว่าเป็นความยุติธรรมประเภทหนึ่ง

ยังมีคนหาเช้ากินค่ำนอกบริบทของแรงงานในโรงงานที่ชีวิตประจำวันหาอยู่หากินได้ยากขึ้น  กว่าจะหาเงินได้ 100, 200 บาทแต่ละวันแทบกระอักเลือด  ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูกสูงมาก  แต่ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำลงมากแทบทุกชนิด  ทั้งข้าว  อ้อย  ข้าวโพด  กระเทียม  มันสำปะหลัง  ยางพารา  ฯลฯ  สาเหตุก็เพราะมีการ กักตุนสินค้าจำนวนมหาศาลอยู่ในโกดังบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพืชผลการเกษตรเพื่อรอเทขายทำกำไร  เช่น  โรงงานแปรรูปยางพาราขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย  กดราคารับซื้อยางพาราชนิดก้อนถ้วยที่ 17, 18 บาท/กิโลกรัม  บางวันรับซื้อ 17 บาท  บางวันรับซื้อ 18 บาท  บางช่วงเวลาถูกกดต่ำสุดที่ 15 บาท/กิโลกรัมก็มี  คุณภาพชีวิตของประชาชนที่นั่นตกต่ำลงมากจากที่เคยมีเงินเก็บสำหรับการศึกษาของลูก  มีเงินจ่ายสำหรับซ่อมแซมบ้านเรือน  ค่าอาหาร  ค่าข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน  ค่าผ่อนรถ  ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่และญาติสนิท  ค่านมลูก  ค่าโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต  ฯลฯ  เดี๋ยวนี้ต้องกู้ยืมเพื่อนบ้านและเงินกู้ในและนอกระบบมากขึ้น

ความยุติธรรมด้านราคาผลผลิตก็เป็นความเหลื่อมล้ำอีกประเภทหนึ่งระหว่างอำนาจเงินมหาศาลของบริษัทกับประชาชนที่ต้องการขายผลผลิตเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต  ซึ่งมีรัฐเป็นผู้ควบคุม  กำกับและดูแลกลไกด้านราคาที่ไร้ประสิทธิภาพเสียจนเอนเอียงเข้าข้างบริษัท

ในขณะที่สถานการณ์การถือครองที่ดินในบ้านเมืองเราพบว่ามีการกระจุกตัวสูง  ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในความครอบครองของคนส่วนน้อย  ทำให้ผู้คนจำนวนมากขาดแคลนที่ดินทำกิน  ตัวเลขปี 2555 พบว่าสัดส่วนการถือครองที่ดินในกลุ่มผู้ถือครองท่ีดินร้อยละ 10 ที่มีการถือครองที่ดินมากที่สุดต่อกลุ่มผู้ถือครองที่ดินร้อยละ 10 ที่มีการถือครองที่ดินน้อยที่สุดห่างกัน 854 เท่า  โดยกลุ่มผู้ถือครองที่ดินร้อยละ 10 ท่ีมีการถือครองท่ีดินมากที่สุดมีส่วนแบ่งการถือครองที่ดินร้อยละ 61  ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าผู้ถือครองที่ดินอีกร้อยละ 90 ที่เหลือ  ที่มีส่วนแบ่งการถือครองที่ดินเพียงร้อยละ 39[2]

ขอยกตัวอย่างให้เห็นรูปธรรมเชิงเปรียบเทียบ  ถ้้าผู้เขียนอยู่ในกลุ่มผู้ถือครองที่ดินร้อยละ 10 ที่มีการถือครองที่ดินน้อยที่สุด  มีที่ดินทำกิน 1 ไร่  ส่วนผู้อ่านเป็น Elite หรือเป็นผู้ร่ำรวยสูงมากที่อยู่ในกลุ่มผู้ถือครองที่ดินร้อยละ 10 ที่มีการถือครองที่ดินมากที่สุด  ผู้อ่านจะมีที่ดินไม่น้อยกว่า 854 ไร่  ไว้ในครอบครอง

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างการถือครองที่ดินของคนรวยท่ีมีโอกาสได้สิทธิการถือครองท่ีดินมากกว่าคนจนที่ถูกบีบจากนโยบายและกฎหมายไม่ให้เป็นผู้มีสิทธิถือครองที่ดินได้  เมื่อไม่มีสิทธิถือครองที่ดินก็ไม่มีหลักทรัพย์เอาไปกู้หนี้ยืมสินจากสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธกส. เพื่อนำไปซื้อหาปัจจัยการผลิตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนและครอบครัวให้ดีขึ้นได้  

แน่นอนว่าปัญหานี้เป็นปัญหาต่อเนื่องยาวนานจากรัฐบาลหลายสมัย  แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่านโยบายทวงคืนผืนป่าตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/57[3] และ 66/57[4] ของรัฐบาลนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดินระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างขึ้นไปอีก  เพราะเป็นคำสั่งที่ขับไล่ประชาชนคนเล็กคนน้อยในสังคมให้ต้องสูญเสียสิทธิการถือครองที่ดินทำกินโดยชอบธรรมในเขตป่าไปเสีย เรากำลังมีชีวิตอยู่ในท่ามกลางยุคสมัยของ “รัฐตามอำเภอใจ ไร้การตรวจสอบ” ที่บีบประชาชนทุกช่องทางให้สูญเสียสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน  ไม่เว้นแม้แต่สิทธิและเสรีภาพในการพูด  แสดงความคิดเห็นและการชุมนุมที่มีไว้เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐ 

หลังรัฐประหาร 2557 พบปริมาณคดีความที่เกิดจากความขัดแย้งจากการผลัักดันนโยบาย  โครงการพัฒนาและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มขึ้นมาก  ก่อนหน้ารัฐประหารพบความขัดแย้งที่บริษัทฟ้องคดีความต่อประชาชนโดยตรง  แต่หลังรัฐประหารสัดส่วนของคดีความที่เพ่ิมขึ้นเป็นส่วนของรัฐฟ้องคดีต่อประชาชนโดยตรงด้วยกฎหมายชุมนุมฯ [5] และคำสั่งที่ 3/58[6] ที่ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป  เพื่อกระทำการข่มขู่คุกคามต่อประชาชนให้หนักข้อยิ่งขึ้น     มีตัวอย่างคดี

และการถูกข่มขู่คุกคามที่ไม่เป็นคดีจำนวนมากจนทำให้ประชาชนไม่สามารถลุกขึ้นมาทำการชุมนุมได้  ขอหยิบยกมาตัวอย่างหนึ่งที่เป็นกรณีคดีจากกฎหมายชุมนุมฯล่าสุด  ชาวบ้านกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสที่รวมตัวกันออกมาคัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชหลุมที่สี่ของบริษัทจากทุนจีนช่วงระหว่างวันที่ 9 - 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา  จำนวน 2 คน ถูกฟ้องในข้อหาชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมงและ “ข่มขืนใจเหมือง”  อีก 7 คน ถูกฟ้องในข้อหาข่มขืนใจเหมือง  หลักฐานท่ี่นำมาฟ้องคดีก็คือรูปถ่ายที่ตำรวจกับทหารถ่ายส่งให้กับเหมืองจะเห็นได้ว่าในทางปฎิบัติกฎหมายชุมนุมฯไม่ได้มุ่งคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมตามที่ได้บัญญัติไว้ใน

ตัวบทกฎหมายเลย  เพราะถ้ามุ่งคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมจริง  คงไม่มีผู้ชุมนุมรายใดต้องถูกฟ้องคดีจากรัฐเช่นนี้  กฎหมายดังกล่าวจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐในการฟ้องคดีกลั่นแกล้งเพื่อปิดปากประชาชนให้กลัว

แทนที่จะเป็นกฎหมายที่คุ้มครอง  อำนวยความสะดวก  ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน  กลับเป็นกฎหมายที่มีไว้ใช้เพื่อคุ้มครอง  อำนวยความสะดวก  ส่งเสริมและสนับสนุนแก่ผลประโยชน์ของบริษัท  และขยายความมั่นคงของรัฐมากเสียจนไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแท

กรณีคดีจากคำสั่งที่ 3/58  ปัจจุบันมีผู้ถูกฟ้องคดีไปแล้ว 421 คน  ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่หน้ามาบุญครอง หรือ #MBK39  ที่ถนนราชดำเนิน หรือ #RDN50  ที่พัทยา  ที่เชียงใหม่  ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก หรือ #ARMY57  การชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในวันครบรอบสี่ปีรัฐประหาร หรือ #UN62  และการเดินมิตรภาพ หรือ “We Walk เดินมิตรภาพ” จากกรุงเทพฯไปจังหวัดขอนแก่น  เป็นต้น[7]

การแทรกแซงของคำสั่งดังกล่าวด้วยอำนาจตามอำเภอใจของรัฐส่งผลให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถทำการ “ชุมนุมการเมือง” และ “ชุมนุมไม่การเมือง” ได้โดยง่าย  การชุมนุมทุกอย่างตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปจะถูกตีความว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองไว้ก่อน  เพื่อที่จะทำให้ประชาชนกลัวจนไม่สามารถจัดการชุมนุมขึ้นมาได้  แต่ถ้ายังดื้อรั้นหาช่องทางก่อการชุมนุมขึ้นมาได้ก็จะใช้การฟ้องคดีมากำราบแทน

กฎหมายและคำสั่งดังกล่าวได้ปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  การชุมนุมและการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยการห้ามทำกิจกรรมเกือบทุกรูปแบบที่เป็นการรวมตัวกัน  เพราะจะถูกตีความว่าเข้าข่ายการชุมนุมที่บังคับให้ต้องแจ้งการชุมนุมก่อน  ถ้าชุมนุมโดยไม่แจ้งก็มีความผิด  ซึ่งตามหลักการแล้วเพียงแค่แจ้งให้ทราบ  แต่กลับกลายเป็นว่าต้องแจ้งเพื่อขออนุญาต  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะไม่อนุญาต  หรือถ้าอนุญาตก็จะมีเงื่อนไขหยุมหยิมเต็มไปหมดจนทำให้การชุมนุมไม่มีพลังกดดันและต่อรองกับบริษัทและรัฐได้

ผลของการฟ้องคดีกลั่นแกล้งเพื่อปิดปากด้วยอำนาจของกฎหมายและคำสั่งดังกล่าว  ทำให้รัฐเดินหน้าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วและมากขึ้นโดยไร้การตรวจสอบและตั้งคำถามจากประชาชน

สิ่งนี้ก็คือความเหลื่อมล้ำอีกประเภทหนึ่ง  เนื่องจากบริษัทไม่สามารถถูกฟ้องคดีกลั่นแกล้งเพื่อปิดปากได้  เพราะพวกเขาใช้เงินและทรัพย์สินที่มี “ปิดปากรัฐ” ให้เข้าข้างตนเองแทน  แต่ประชาชนสามารถถูกฟ้องคดีกลั่นแกล้งเพื่อปิดปากได้จากอำนาจเงินและอำนาจรัฐที่ผสมพันธุ์กัน              

ในกรณีที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าความยุติธรรมกับความเหลื่อมล้ำมักแปรผันตามกัน  กล่าวคือ  ความยุติธรรมที่ชำรุดมาพร้อม ๆ กับความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น  หรือเป็นเพราะมีความเหลื่อมล้ำความยุติธรรมจึงชำรุดตามไปด้วย  หรือบ้านเมืองใดมีความเหลื่อมล้ำสูงความชำรุดของกระบวนการยุติธรรมก็สูงตามไปด้วย  บ้านเมืองใดมีความชำรุดของกระบวนการยุติธรรมสูงความเหลื่อมล้ำก็สูงเช่นเดียวกัน

นี่แหละบ้านเมืองเรา

 

 

 


 

[1] บทความชิ้นนี้พัฒนาขึ้นมาจากเนื้อหาที่ใช้พูดของผู้เขียนในเวที 'WAY dialogue: ประเทศเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรมชำรุด'  เมื่อวันพุธที่ 11 กรกฎาคม 2561  ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา  ชั้น 7  ห้อง 701  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ซึ่งผู้เขียนถูกรับเชิญให้ไปพูดในนามตัวแทนของผู้ร่วมจัดตั้งพรรคสามัญชนในหัวข้อ ‘นโยบายพรรคการเมืองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม’ อนึ่ง  ผู้เขียนไม่ได้ทำการขออนุญาตจากผู้จัดเวทีโดยตรงหรืออย่างเป็นทางการเพื่อขอใช้ชื่อเวทีมาเป็นชื่อบทความ  จึงขออนุญาตไว้ ณ ที่นี้ด้วย 

[2] ดูรายละเอียดได้ที่  รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2558.  สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,  สำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม.  หน้า 2-17 เข้าถึงข้อมูลออนไลน์ (เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ได้ที่ http://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=6363  เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2561

[3] คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557  เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้

[4] คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557  เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม  หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้  และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน

[5] พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

[6] คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558  เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ

[7] ดูรายละเอียดได้ที่  รายงานการตั้งข้อหาทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557.  เอกสารออนไลน์ของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม หรือ iLaw  เข้าถึงข้อมูลได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/politically-charged  เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561

 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Sharonang (CC0 Public Domain)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: