ภาคประชาชนจับตาสรุปผลต่อทะเบียน 'พาราควอต' ภายในเดือน เม.ย. 2561 นี้

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 เม.ย. 2561 | อ่านแล้ว 2281 ครั้ง

ภาคประชาชนจับตาสรุปผลต่อทะเบียน 'พาราควอต' ภายในเดือน เม.ย. 2561 นี้

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจับตาสรุปผลพาราควอต ที่จะมีขึ้นภายในเดือน เม.ย. 2561 นี้ เผยหากมีการต่อทะเบียนต้องมีเหตุผลรองรับที่ชัดเจน แต่ถ้ายังตะแบงอาจมีการฟ้องร้องศาลปกครอง

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2561 ว่า น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช Thai-PAN กล่าวถึงการพิจารณาว่าจะมีการแบนหรือต่อทะเบียนพาราควอต โดยคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ที่จะมีขึ้นภายในเดือน เม.ย. 2561 นี้ ซึ่งหลายฝ่ายมีข้อกังวลว่าจะมีการต่อทะเบียนใช้ต่อนั้น เนื่องจากมีงานวิจัยว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพชัดเจน แต่กรมวิชาการเกษตรกลับบอกว่าไม่มีข้อมูลผลกระทบทางด้านสุขภาพ ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกอะไรได้ เพราะการพิจารณาพาราควอตยังไม่สิ้นสุด แต่หากสิ้นสุดและผลออกมาว่าอนุญาตให้ต่อทะเบียนตามที่หลายฝ่ายได้แสงดงความกังวลทางเครือข่าย 398 เครือข่าย จาก 51 จังหวัด ก็จะมีการเดินหน้าเพื่อขอเหตุผลที่ชัดเจนจากคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจว่าผลกระทบต่อสุขภาพเป็นไปตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ และหากต้องมีการจำกัดการใช้จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้มีประสิทธิภาพ หากเหตุผลไม่เป็นไปตามหลักการแน่นอนว่าอาจะจะต้องมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้มีการเพิกถอนการต่อทะเบียนตามที่ได้มีการเตรียมการไว้ก่อนหน้านี้ หรือหากเหตุผลเพียงพอก็อาจไม่ต้องฟ้องร้อง ซึ่งก็ต้องติดตามอีกครั้ง

“อย่างไรก็ตามในเวทีของฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการใช้พาราควอตต่อหลาย ๆ เวทีได้มีการใช้ข้อมูลของคุณหมอจาก รพ.รามาฯ ที่ระบุว่าไม่มีผลกระทบต่อสมองซึ่งไม่ใช่คุณหมอเฉพาะทางโรคทางด้านสมอง จึงอยากเรียกร้องให้คุณหมอเฉพาะทางทางด้านสมองได้ออกมาพูดถึงเรื่องดังกล่าวและส่งข้อมูลไปยังคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนด้วย.” น.ส.ปรกชล กล่าว

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่าโดยทั่วไปพาราควอตมีการออกฤทธิ์เฉียบพลันสูง ผูได้รับสารมีอัตราการเสียชีวิตสูง ทำให้มีการรวบรวมข้อมูลพบว่าในบางประเทศ บริษัทผู้ผลิตจะมีการให้งบสนับสนุนอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาให้แก่ศุนย์รักษาผู้ได้รับสารพิษในโรงพยาบาลซึ่งมองด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะจะได้มีอุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์ในการรักษาโรคจากสารพิษนั้น แต่มองอีกด้านหนึ่งก็จะเป็นการสะท้อนว่าบริษัทต้องการสร้างสัมพันธ์กับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญบางคน ตนจะใช้คำว่าบางคนหันมาสนับสนุนสารพิษดังกล่าวทั้งที่รู้และไม่รู้ตัว ซึ่งในกรณีพาราควอตการใช้ยาถอนพิษได้ผลน้อยเพราะปัจจุบันยังไม่มียาถอนพิษทำให้บางประเทศมีนักวิชาการบางคนให้ข้อมูลทางด้านสุขภาพตรงกันข้าม ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นอาจมีความเป็นไปได้ว่าขณะนี้หรือในอนาคตจะมีการกระทำดังกล่าวในประเทศไทย ซึ่งก็ต้องมีการตรวจสอบอย่างจริงจัง และหากมีการต่อทะเบียนพาราควอต นอกจากการเปิดเผยรายชื่อผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนที่มีการเตรียมการไว้แล้ว อาจต้องการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการปลุกคนในสังคมให้ลุกขึ้นมาทำความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข กล่าวว่าตนคงไม่มีการรวบรวมข้อมูลทางด้านสุขภาพส่งไปยังคณะกรรมการเฉพาะกิจ แต่การที่ตนได้มีการเรียบเรียงข้อมูลนั้นก็เพื่อเป็นการสรุปข้อมูลต่อสุขภาพจากการใช้พาราควอตที่มีมหาศาลให้กับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีหน้าที่สำคัญแต่กลับบอกว่าไม่มีข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพ และการที่มีแพทย์จาก รพ.รามาฯ ได้ออกมาระบุว่าพาราควอตไม่มีผลต่อสุขภาพ ตนก็ได้มีการแจ้งไปยังรองคณบดี รพ.รามาฯ ให้ไปแจ้งยังแพทย์คนดังกล่าวว่าขณะนี้มีข้อมูลมากมาย ซึ่งหากแพทย์คนดังกล่าวซึ่งก็เป็นคณะกรรมการทางด้านวิชาการยังออกมาบอกว่าไม่มีหลักฐานก็ถือว่าไม่มีความรอบคอบในการหาข้อมูล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: