อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เผยแนวโน้มอนาคตสังคมเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนมากขึ้น ทำให้เตรียมปรับลดเป้าการใช้เอทานอลและไบโอดีเซล ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ลง แต่หันไปเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานจากพลังงานทดแทนทุกชนิดเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนไว้ 30% เท่าเดิม ที่มาภาพประกอบ: paultan.org
Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2561 ว่านายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.กำลังพิจารณาจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ให้สอดรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว พ.ศ. 2561-2580 (PDP) ฉบับใหม่ โดยเบื้องต้นยังกำหนดเป้าหมายไว้เท่าเดิมคือสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจะยังอยู่ที่ 30% ในช่วงปลายแผน แต่ในรายละเอียดของแผนจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ในเกือบทุกประเภทโดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์, ชีวมวล และขยะ เป็นต้น ในขณะที่พลังงานทดแทนที่เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพนั้นจะปรับลดลงเป้าหมายลงจากแผนเดิมที่กำหนดให้มีการใช้เอทานอลให้ได้ 11.30 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล 14 ล้านลิตรต่อวันในปี 2579 แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะลดลงเท่าไหร่เนื่องจากในอนาคตความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงขึ้นจากภาคขนส่งมวลชนที่จะปรับเปลี่ยนไปเน้นระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงจะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) สูงขึ้นขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันจะลดน้อยลง
ทั้งนี้ในแผน AEDP ใหม่ดังกล่าวจะกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นรายภูมิภาค รวม 6 ภูมิภาคและ 1 พื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องพิจารณาปัจจัยด้านศักยภาพเชื้อเพลิงในแต่ละพื้นที่และปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก ส่วนแผน AEDP เดิมนั้น กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนภายในปี 2579 ไว้ดังนี้ 1.ขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ 2.ขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ 3.ชีวมวล 5,570 เมกะวัตต์ 4.ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 600 เมกะวัตต์ 5.พลังน้ำขนาดเล็ก 376 เมกะวัตต์ 6.ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน 680 เมกะวัตต์ 7.พลังงานลม 3,002 เมกะวัตต์ 8.พลังงานแสงอาทิตย์ 6,000 เมกะวัตต์ และ 9.พลังน้ำขนาดใหญ่ 2,906.40 เมกะวัตต์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ