แพทย์-นักวิชาการเตือน เครื่องดื่มชง เช่น กาแฟเย็น ชาเย็น น้ำแดงโซดา 1 แก้วปริมาณน้ำตาลที่เกินความต้องการที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน หากดื่มบ่อยจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว
หนังสือพิมพ์แนวหน้า รายงานเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2561 ว่าศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงเครื่องดื่มชง เช่น กาแฟเย็น ชาเย็น น้ำแดงโซดา ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่ประชาชน โดยจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างร้านค้ารวม 62 แห่ง บริเวณถนนราชวิถีรอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และถนนสีลม อันเป็นถนนสายเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ เก็บตัวอย่างเครื่องดื่ม ชนิดต่างๆ รวม 270 ตัวอย่าง
พบว่าเมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม 1 แก้ว ปริมาณ 250 มล. เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1.น้ำแดงโซดา ปริมาณน้ำตาล 15.5 ช้อนชา 2.เครื่องดื่มมอลต์รสช็อกโกแลต 13.3 ช้อนชา 3.ชามะนาว 12.6 ช้อนชา 4.ชาดำเย็น 12.5 ช้อนชา และ 5.นมเย็น 12.3 ช้อนชา ส่วนชาเย็น กาแฟเย็น ชาเขียวเย็น มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 11 ช้อนชา และโกโก้มีปริมาณน้ำตาล 10.8 ช้อนชา ซึ่งหมายความว่าหากบริโภคเครื่องดื่มหวาน 1 แก้ว (250 มล.) ก็มีปริมาณน้ำตาลที่เกินความต้องการ ที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันแล้ว
ขณะที่ รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล แห่งสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่าพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มหวานบนถนนสายเศรษฐกิจอันเป็นวิถีชีวิตของคนวัยทำงานและนักศึกษา ซึ่งถือเป็นแรงงานที่สำคัญของประเทศเพราะเป็นกลุ่มผลิตภาพหลักในการสร้างรายได้ของประเทศ จึงเป็นตัวชี้วัดถึงสัญญาณอันตรายโดยไม่รู้ตัว เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารอาหารน้อย มีแต่น้ำตาลและไขมันในปริมาณสูง เป็นรากของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรั้ง (NCDs : Non-Communicable diseases) ทั้งเบาหวาน ความดัน ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว
นอกจากนี้เครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้หรือน้ำสมุนไพรที่ขายตามข้างทาง ถึงจะมีวิตามินและมีสารต้านอนุมูลอิสระจากผักและผลไม้ แต่ในรูปแบบที่ร้านค้าวางขายนั้นอยู่ในระดับที่เจือจางมาก ผู้บริโภคจึงแทบจะไม่ได้รับคุณค่า ดังกล่าว ตรงกันข้ามสิ่งที่ได้กลับมาคือปริมาณน้ำตาล ดังนั้น ระหว่างที่เครื่องดื่มซึ่งมีฉลากในร้านสะดวกซื้อกำลังปรับตัวตามกฎหมายเก็บภาษีความหวาน ผู้บริโภคก็ต้องฉลาดเลือกที่จะรับประทานเครื่องดื่มริมทางด้วย
รศ.ดร.ประไพศรี ยังกล่าวอีกว่า เคยมีผลการศึกษาพบคนไทยบริโภคน้ำตาลเกินกว่าปริมาณที่ควรได้รับ 4-7 เท่าตัว โดยข้อมูลที่คำนวณจากรายงานการบริโภคน้ำตาลของคนไทย ปี 2557 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยถึง 28 ช้อนชา ต่อคนต่อวัน ซึ่งแหล่งที่มาของการบริโภคน้ำตาลล้นความต้องการของร่างกายส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่มนานาชนิด และพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอ้วน
ทั้งนี้พฤติกรรมการบริโภคสามารถสร้างได้โดยเริ่มตั้งแต่อายุน้อยๆ ตั้งแต่การบริโภคนมผงต่อจากนมแม่ การ รับประทานอาหาร ขนม ตั้งแต่อยู่ที่บ้าน หากเกิดความเคยชินกับรสหวาน คือต้องหวานถึงจะเรียกว่าอร่อย ก็จะทำให้ติดรสหวานและเพิ่มปริมาณการบริโภคน้ำตาลมากขึ้น พ่อแม่ ผู้ปกครองควรตระหนักถึงปัญหาสุขภาพที่จะเกิดกับลูกหลานในวันข้างหน้า โดยการเลือกนมหรืออาหารต่างๆ ให้ดี และปรุงอาหารโดยที่ไม่ต้องเติมน้ำตาล
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ