หวั่นอาชีพ ‘แม่บ้านผ่านแอปฯ’ กฎหมายแรงงานไม่คุ้มครอง ตีความยาก ‘ลูกจ้าง-นายจ้าง’

ทีมข่าว TCIJ : 17 มิ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 6272 ครั้ง

จากงานศึกษาเรื่อง 'แพลตฟอร์มอีโคโนมีและผลกระทบต่อแรงงานในภาคบริการ: กรณีศึกษาในประเทศไทย' พบว่า คนทำงานแม่บ้านที่ใช้แพลตฟอร์มในการจับคู่กับผู้ใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ต แม้จะทำให้พวกเขาเลือกทำงานได้ยืดหยุ่นมากขึ้น และเจ้าของแพลตฟอร์มมีการฝึกอบรมเพิ่มทักษะในการทำงานให้ แต่ขณะเดียวกันก็มีช่องว่างที่ไม่สามารถตีความสถานะ 'ลูกจ้าง-นายจ้าง' ได้อย่างชัดเจน ส่งผลต่อการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายแรงงาน รวมทั้งรายได้และความมั่นคงที่ยังต่ำ ที่มาภาพประกอบดัดแปลงจาก: Pixabay (CC0) [a] [b]

อบรมผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ มุ่งเมืองท่องเที่ยว-คอนโด-โรงแรม

เมื่อเดือน มี.ค. 2561 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดตัวโครงการให้ความรู้ 'หลักสูตรแม่บ้านมืออาชีพ' แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างทักษะและความชำนาญพื้นฐานวิชาชีพแม่บ้าน เทคนิคการทำความสะอาด วิธีการดูแลทำความสะอาดอาคารสถานที่ การใช้เครื่องมือ/อุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ก่อนจะส่งเสริมให้เข้าสู่ตลาดแรงงานอาชีพแม่บ้านที่กำลังขาดแคลน เนื่องจากอาชีพแม่บ้านเป็นอาชีพที่ตลาดยังต้องการคนทำงานอีกมาก โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก ตลอดจนคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ หรือแม้แต่ทาวน์โฮม ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาพนักงานทำสะอาดไม่ตรงกับความต้องการหรือขาดความเป็นมืออาชีพ

การจัดอบรมหลักสูตรดังกล่าว มีการเสริมความรู้เบื้องต้นในวิชาชีพ มี 2 หน่วยงานเป็นแม่งานหลัก คือ สมาคมโรงแรมไทย และ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด โดยจะคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมที่มีคุณสมบัติเหมาะสมให้มีโอกาสได้ร่วมงานกันด้วย หลักสูตรดังกล่าวได้รับความสนใจมีผู้สมัครเข้าอบรมกว่า 300 ราย ผ่านการคัดเลือกให้เข้าอบรมจำนวน 200 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรวมอยู่ด้วยซึ่งถือเป็นนโยบายในการยกระดับรายได้และสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ขึ้นทะเบียนไว้จำนวน 11.4 ล้านคน

เดือน มิ.ย. 2561 มีการจัดอบรมหลักสูตรนี้ที่จังหวัดชลบุรี โดยเน้นที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้น้อยและผู้ว่างงานในพื้นที่ จังหวัดชลบุรีมีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ มีที่พักและโรงแรมมากกว่า 2,000 แห่ง มีแหล่งท่องเที่ยวกว่า 50 แห่ง และมีการขยายตัวของร้านอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้อาชีพแม่บ้านเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงานภาคตะวันออก

นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังระบุว่าจะขยายโครงการไปสู่ 10 จังหวัดที่มีรายได้น้อย ได้แก่ จังหวัดชัยนาท กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ นราธิวาส ปัตตานี บุรีรัมย์ แม่ฮ่องสอน ตาก นครพนม และน่าน โดยตั้งเป้าหมายว่าผู้ที่มีรายได้น้อยจะเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 3,000 คน รวมถึงมีการจัดระบบรีวิวผ่านทางออนไลน์ระหว่างผู้ที่สนใจและกลุ่มตลาดแรงงานที่ต้องการกำลังคนเพื่อเชื่อมโยงเข้าถึงกัน [1] [2]

เปิดงานวิจัยธุรกิจจ้างแม่บ้านผ่านแอปพลิเคชั่น

ที่มาภาพประกอบ: Pixaline (CC0) 

งานศึกษาเรื่อง 'แพลตฟอร์มอีโคโนมีและผลกระทบต่อแรงงานในภาคบริการ: กรณีศึกษาในประเทศไทย' (Platform Economy and its impact on service workers: case studies from Thailand) จัดทำโดยสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Just Economy and Labor Institute: JELI) สนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (Friedrich-Ebert-Stiftung) ได้ทำการศึกษาผลกระทบที่มีต่อตลาดแรงงานของธุรกิจในภาคบริการที่ใช้แพลตฟอร์มในการจับคู่ระหว่างผู้เสนอบริการและผู้ต้องการใช้บริการในประเทศไทยใน 3 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ แพลตฟอร์มการขนส่ง แพลตฟอร์มการให้บริการที่พักอาศัย และแพลตฟอร์มการให้บริการทำความสะอาด

TCIJ คัดเลือกผลการศึกษามานำเสนอเฉพาะส่วนของผลกระทบต่อแรงงานในแพลตฟอร์มการให้บริการทำความสะอาด ซึ่งผู้วิจัยได้ทำการศึกษาแอปพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยคนไทยมาทำการศึกษา (สัมภาษณ์ผู้ให้บริการ 5 รายและผู้ใช้บริการ 5 ราย) พบข้อน่าสนใจดังนี้

แอปพลิเคชั่นที่ทำการศึกษาพัฒนาโดยคนไทย เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2559 คิดค่าบริการจากผู้ใช้บริการเป็นรายชั่วโมง แต่ละพื้นที่มีค่าบริการรายชั่วโมงที่ไม่เท่ากัน สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการอยู่ที่ 190 บาทต่อชั่วโมง ขณะที่พื้นที่อื่นคิดค่าบริการ 250 บาทต่อชั่วโมง โดยแอปพลิเคชั่นจะคิดค่าบริการเริ่มต้นที่ 2 ชั่วโมงและจำนวนชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นแปรผันตามขนาดพื้นที่ ซึ่งจะคำนวณออกมาเป็นเวลาที่ใช้ในการทำความสะอาดของผู้เสนอบริการ  แอปพลิเคชั่นนี้จะเสนอค่าตอบแทนให้แม่บ้านในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ชั่วโมงละ 140 บาท ขณะที่ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชั่นนี้ คือจะหักส่วนแบ่งรายได้จากผู้ใช้บริการให้เจ้าของแพลตฟอร์มโดยเฉลี่ย 10-20% ของราคาค่าบริการ ขึ้นอยู่กับพื้นที่แต่ละแห่ง

แอปพลิเคชั่นนี้มีลักษณะคล้ายแพลตฟอร์มในการจับคู่ระหว่างผู้เสนอบริการและผู้ต้องการใช้บริการทั่วไปที่มี 2 ฝั่ง ฝั่งผู้ต้องการใช้บริการและฝั่งผู้ให้บริการ ทางฝั่งผู้ให้บริการหรือ แม่บ้าน ซึ่งสามารถเข้าสู่แอปพลิเคชั่นโดยเริ่มต้นจากการกรอกข้อมูลเบื้องต้น จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่โทรกลับมาสัมภาษณ์ คุณสมบัติเบื้องต้นเพื่อคัดกรองก็คือ ต้องมีอายุเกิน 18 ปี มีสัญชาติไทย แพลตฟอร์มจะนำข้อมูลส่วนตัวไปตรวจประวัติอาชญากรกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อผ่านขั้นตอนการสัมภาษณ์จะมีการฝึกอบรมให้ ทั้งทักษะในการทำงาน การใช้งานแพลตฟอร์มและแนวทางปฏิบัติที่แนะนำให้ใช้ในการปฏิสัมพันธ์ การต่อรองกับลูกค้า เมื่อผ่านขั้นตอนแล้วจะยังไม่สามารถเข้าสู่แพลตฟอร์มได้ทันที เนื่องจากบริษัทมีนโยบายในการควบคุมอุปทาน เพื่อไม่ให้ฝั่งอุปทานมีมากกว่าอุปสงค์จนทำให้ฝ่ายอุปสงค์มีตัวเลือกมากเกินไป บริษัทจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมว่าเมื่อใดจึงจะมีความจำเป็นที่จะเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการเพื่อให้มีความเหมาะสมกับความต้องการในการใช้บริการ

การเชิญชวนเข้าสู่แพลตฟอร์ม บริษัทมีการโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียโดยหวังผลเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ใช้บริการ หรือ ‘คุณลูกค้า’ สำหรับกลุ่มผู้เสนอตัวให้บริการ หรือ ‘คุณแม่บ้าน’ โดยมากจะรู้จักแพลตฟอร์มจากการนำเสนอของสื่อมวลชนต่างๆ ทั้งรายการข่าว รายการโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ บริษัทเจ้าของแอปพลิเคชั่นนี้ให้คำจำกัดความ ‘คุณแม่บ้าน’ ว่าเป็น ‘พาร์ทเนอร์’ และคุณแม่บ้านทุกคนมีสถานะเป็นเจ้าของธุรกิจที่เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับแพลตฟอร์ม

ผู้ใช้งานจะต้องใส่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองในส่วนของโปรไฟล์ นั่นคือ ชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น ประวัติส่วนตัวอย่างย่อ หลังจากนั้นระบุวันและเวลาที่สะดวกต่อการทำงาน โดยแม่บ้านจะต้องเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำความสะอาด เช่น น้ำยาทำความสะอาด เครื่องดูดฝุ่น ไปด้วยตนเอง ในฝั่งของผู้ต้องการเรียกใช้บริการจะต้องกรอกข้อมูลก่อนหน้าวันที่ต้องการใช้บริการอย่างน้อย 1 วัน ข้อมูลเบื้องต้นที่ต้องกรอกลงไปบนแพลตฟอร์ม เช่น

  • เมืองที่ต้องการใช้บริการ
  • สถานที่ที่ต้องการใช้บริการ
  • ขนาดและประเภทของพื้นที่ที่ต้องการทำความสะอาด (เพื่อให้แพลตฟอร์มทำการคำนวณว่าจะต้องใช้เวลาในการทำความสะอาดขั้นต่ำเท่าใด ส่วนผู้ใช้บริการก็จะได้ทราบค่าใช้จ่ายเบื้องต้น)
  • จำนวนชั่วโมงที่ต้องการใช้บริการ แพลตฟอร์มตั้งค่าให้เริ่มต้นที่ 2 ชั่วโมง สำหรับพื้นที่ขนาดเล็กที่สุด (หลังจากผู้ใช้บริการได้กรอกข้อมูลและแพลตฟอร์มได้คำนวณเวลาที่ใช้ ผู้ใช้บริการสามารถเพิ่มเวลาได้เป็นขั้น ขั้นละ 30 นาที แต่ไม่สามารถลดเวลาที่แพลตฟอร์มคำนวณให้ได้)
  • วันและเวลาที่ต้องการใช้บริการ

หลังจากกรอกข้อมูลครบแล้ว แพลตฟอร์มจะทำการจับคู่ ความต้องการของผู้ใช้บริการกับความต้องการของแม่บ้านที่ได้ตั้งวันและเวลาที่ต้องการทำงานไว้ในแพลตฟอร์มเช่นกัน เมื่อแพลตฟอร์มจับคู่ได้ แพลตฟอร์มจะแสดงผลโปรไฟล์ของแม่บ้านที่พร้อมทำงานโดยในโพรไฟล์ของแม่บ้านนอกเหนือจากข้อมูลส่วนตัวเบื้องต้น ระบบจะแสดงจำนวนครั้งที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์ม อุปกรณ์ทำความสะอาดที่แม่บ้านจะนำมาเอง จำนวนความคิดเห็นที่ได้ คะแนนเฉลี่ยที่ได้ และความคิดเห็นที่ได้จากการทำงานในครั้งก่อนหน้า เพื่อให้ผู้ใช้บริการเลือกแม่บ้านที่ผู้ใช้บริการต้องการได้ ลำดับในการแสดงผลจะขึ้นอยู่กับคะแนนเฉลี่ยที่แม่บ้านได้รับจากการบริการก่อนหน้านี้ บริษัทจูงใจให้มีการให้คะแนนและความคิดเห็น โดยมอบส่วนลดในการใช้บริการให้ผู้ใช้บริการ หากมีการให้คะแนนและให้ความคิดเห็น 5 ครั้งจะได้ส่วนลด 10% ในการใช้บริการครั้งต่อไป

ระบบการให้คะแนนและความคิดเห็นนี้จะเป็นแบบฝั่งเดียว คือ ผู้ใช้บริการให้คะแนนและความคิดเห็นได้แต่เพียงฝ่ายเดียว คะแนนจะมีลักษณะคล้ายกับแพลตฟอร์มแอร์บีเอ็นบี (Airbnb) อูเบอร์ (Uber) คือคะแนนเต็ม 5 หากคะแนนที่ได้ต่ำกว่า 3 สองครั้งระบบจะล็อกบัญชีทำให้การให้บริการของแม่บ้านรายนั้นถูกระงับ นอกจากนี้หากแม่บ้านทำการรับนัดแล้วไม่มาตามที่นัดกับผู้ใช้บริการโดยไม่แจ้งก็จะถูกระบบบล็อกบัญชีการใช้งานได้ และหากปฏิเสธการรับงานบ่อยๆ ก็จะมีผลต่อลำดับในการแสดงผลและอาจถูกระงับการให้บริการด้วยเช่นกัน

กรณีศึกษาคุณสำลี

ในงานวิจัยของ JELI ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษา คุณสำลี (นามสมมติ) ลูกจ้างทำงานบ้านผ่านแอปพลิเคชั่นท่านหนึ่ง เธอเป็นลูกจ้างทำงานบ้านอยู่ในบ้านแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิทเป็นเวลาเกือบ 20 ปี สามีคุณสำลีมีอาชีพเป็นพนักงานขับรถให้ผู้บริหารบริษัทชาวญี่ปุ่น ต่อมามารดาของคุณสำลีล้มป่วยไม่สามารถดูแลตัวเองได้ คุณสำลีจึงพามารดามาอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ ลูกสาวของคุณสำลีกำลังเรียนในระดับอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เธอเป็นคนแนะนำคุณสำลีให้รู้จักแพลตฟอร์มที่ช่วยในการหางานแม่บ้าน คุณสำลีจึงลาออกจากงานประจำ หันมาทำงานบนแพลตฟอร์มนี้ เนื่องจากมีความยืดหยุ่นมากกว่าในเรื่องของเวลาทำงาน        

คุณสำลีจะเลือกเวลาทำงานตรงกับวันหยุดและวันที่ลูกสาวไม่ต้องไปเรียน ซึ่งทำให้คุณสำลีสามารถทำงานเฉลี่ย 4-5 วันต่อสัปดาห์ ลูกสาวเป็นผู้สอนให้คุณสำลีใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเพื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นและสมัครทำงานบนแพลตฟอร์ม

คุณสำลีเล่าว่า จำนวนงานสูงสุดที่ทำได้คือ 3 งานในหนึ่งวัน และตั้งแต่เริ่มทำงานบนแพลตฟอร์มมาประมาณ 3 เดือนเพิ่งมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ทำได้ถึงสามงาน โดยมากจะรับทำได้เพียง 2 งาน ขั้นต่ำของการทำงานแต่ละครั้งอยู่ที่ 2 ชั่วโมง แต่ก็มีหลายครั้งที่คุณสำลีได้ทำ 3-4 ชั่วโมงต่อครั้งขึ้นอยู่กับพื้นที่บ้านของผู้ที่ต้องการใช้บริการ รายได้ของเธอจึงไม่แน่นอน

ส่วนค่าใช้จ่ายที่เธอต้องรับผิดชอบคือ ค่าเดินทาง นอกเหนือจากค่าเครื่องมือในการทำความสะอาดและน้ำยาทำความสะอาดประเภทต่างๆ  บ่อยครั้งที่รับ 2 งานในหนึ่งวันแต่การจราจรติดขัดทำให้ต้องใช้รถแท็กซี่ รถไฟฟ้า หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพื่อให้ไปทันเวลานัดหมาย การไปตามเวลานัดหมายมีความสำคัญมาก และการตรงต่อเวลาจะสร้างความประทับใจให้ลูกค้าซึ่งมีผลต่อคะแนนที่จะได้รับจากลูกค้ารายนั้น ๆ 

คุณสำลีเล่าว่า หากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว การรับงานสองงานต่อวัน โดยใช้เวลาในการทำความสะอาด 2 ชั่วโมงต่อครั้ง  คุณสำลีจะเหลือเงิน 400-500 บาทต่อวัน แม้จะสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำแต่เมื่อเทียบกับตอนที่เธอทำงานบ้านแบบประจำเธอมีรายได้ต่อเดือนสูงกว่านี้ อย่างไรก็ตามเธอรู้สึกพอใจกับสภาพดังกล่าวเพราะสามารถจัดสรรเวลาในการทำงานได้เอง มีลูกค้าหลายคนที่ให้เงินพิเศษ และเมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่ง ก็อาจติดต่อกันเองได้โดยไม่ผ่านแพลตฟอร์ม

คุณสำลีไม่รู้จักคนอื่นที่ทำงานบนแพลตฟอร์มมากนัก มีเพียงเพื่อนคนหนึ่งที่คุณสำลีเป็นคนชักชวนให้มาสมัครเท่านั้น จึงไม่มีโอกาสได้พูดคุยเกี่ยวกับแพลตฟอร์มกับคนงานอื่น มีบางครั้งที่เธอรู้สึกว่าคนที่จ้างเธอไปทำงานมีทัศนคติที่ไม่ดี แต่เธอก็ต้องอดทนทำงานให้ดีด้วยความอ่อนน้อม เพราะต้องการที่จะได้คะแนนจากการประเมิน ซึ่งเธอเชื่อว่าจะมีผลต่อการได้งานในครั้งต่อๆ ไป

 

ข้อดีกำหนดเวลางานเอง-มีฝึกอบรมเพิ่มทักษะ

งานวิจัยของ JELI ได้สรุปประโยชน์และความกังวลที่เกิดจากการเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานของลูกจ้างทำงานบ้านโดยใช้แอปพลิเคชั่น ในด้านประโยชน์นั้นคือ คนทำงานบ้านสามารถตรวจสอบเวลาทำงานและรายได้ของตนเองบนแพลตฟอร์ม สามารถกำหนดเวลาทำงานด้วยตนเอง ขณะที่การจ้างงานแบบเดิมต้องทำงานเต็มเวลาและไม่สามารถกำหนดเวลาทำงานเองได้

เจ้าของแพลตฟอร์มเป็นผู้ลงทุนในระบบที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและธุรกรรมการเงิน อำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างทำงานบ้านบนแพลตฟอร์มได้มีส่วนร่วมกับการใช้เทคโนโลยี เพียงลูกจ้างทำงานบ้านมีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร เมื่อระบบทำการจับคู่ผู้ต้องการทำความสะอาดที่พักกับแม่บ้านได้แล้ว ระบบจะตัดค่าบริการจากบัญชีบัตรเครดิตของผู้จ้างทันทีและจะโอนเข้าบัญชีของแม่บ้านในวันถัดไปหลังจากทำงานเรียบร้อย โดยระบบจะหักส่วนต่างที่เป็นของแพลตฟอร์มออก แพลตฟอร์มมีการรับประกันความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดของผู้ให้บริการในวงเงิน 10,000 บาทด้วยโดยเป็นความรับผิดชอบของบริษัทเอง ไม่ได้เก็บเบี้ยประกันจากผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ยังมีระบบการให้คะแนนและความคิดเห็นต่อผู้ทำงานบ้าน ซึ่งพวกเขามีโอกาสได้รับการจ้างงานมากขึ้นหากได้รับการประเมินที่ดี และเจ้าของแพลตฟอร์มมีการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะในการทำงานให้กับลูกจ้างทำงานบ้าน

หวั่นตีความ ลูกจ้าง/นายจ้าง ยาก-กม.แรงงานไม่คุ้มครอง-ขาดพลังต่อรอง

ในต่างประเทศมีการชุมนุมเรียกร้องสิทธิของกลุ่มแรงงานแม่บ้านอยู่บ่อยครั้ง เพราะมีการ 'รวมตัวเพื่อต่อรอง' (อาจจะมีองค์กรสิทธิมนุษยชนองค์กรแรงงานสนับสนุน) แต่ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ยากยิ่งในประเทศไทย ที่มาภาพประกอบ: India America Today

ในด้านข้อกังวล นักวิจัยได้ระบุว่า แพลตฟอร์มอาจนำไปสู่การจ้างงานที่ไม่เป็นมาตรฐาน ไม่มีการทำสัญญาจ้างที่เป็นมาตรฐานระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง  ไม่มีการกำหนดความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้างและลูกจ้างอย่างชัดเจน ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อพิพาท แพลตฟอร์มยังเอื้อให้เกิดการหลบเลี่ยงความรับผิดชอบของนายจ้างที่มีต่อลูกจ้างทำงานบ้านตามกฎหมาย เนื่องจากถ้อยคำที่แพลตฟอร์มใช้เอื้อให้เกิดการตีความสถานะลูกจ้างทำงานบ้านไปเป็น’ผู้ประกอบการอิสระ’ นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มและลูกจ้างทำงานบ้านที่เสนอให้บริการผ่านแพลตฟอร์มก็มีความคลุมเครือ ทำให้ไม่สามารถตีความสถานะลูกจ้าง-นายจ้างได้ ซึ่งมีผลต่อการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมายแรงงาน

แอปพลิเคชั่นนี้ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบกลยุทธ์การตลาดของแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยเรียกผู้ที่เสนอและประสงค์จะเสนอบริการทำความสะอาดบนแพลตฟอร์มของตนเองว่า ‘พาร์ทเนอร์’ เอื้อให้เกิดการตีความสถานะลูกจ้างทำงานบ้านไปเป็นแรงงานอิสระหรือผู้รับเหมาช่วงอิสระ ซึ่งในบริบทของกฎหมายแรงงานประเทศไทย การมีสถานะเป็นลูกจ้างทำงานบ้านมีข้อคุ้มครองทางกฎหมาย และนายจ้างความรับผิดชอบต่อลูกจ้างแตกต่างจากผู้รับเหมาช่วงอิสระ (Independent contractor) หรือแรงงานนอกระบบประเภทอื่น

นอกจากนี้ โดยรวมแล้วแม่บ้านที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์มก็ยังคงมีรายได้และความมั่นคงที่ต่ำ แม้ว่าค่าแรงรายชั่วโมงเมื่อคำนวณแล้วจะสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ แต่มีต้นทุนอื่นในการเข้าสู่แพลตฟอร์ม และยังทำมีความสุ่มเสี่ยงต่อการมีปัญหาทางการเงิน ส่วนระบบการให้คะแนนและการให้ความคิดเห็นที่มีเพียงฝ่ายเดียว เปิดโอกาสให้ผู้ว่าจ้างเท่านั้นที่สามารถประเมินได้ ขณะที่ผู้เสนอบริการทำงานบ้านไม่มีโอกาสในการประเมินผู้ว่าจ้าง  ดังนั้นจึงมีอำนาจและการต่อรองไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการทำงานบ้านบนแพลตฟอร์ม นำไปสู่การเลือกปฏิบัติได้

แพลตฟอร์มยังมีข้อแนะนำเบื้องต้นถึงวิธีการและการใช้คำพูดที่ผู้ให้บริการควรจะใช้ในกรณีที่อาจเกิดข้อพิพาท เช่น การต่อรองเวลาทำงาน การปฏิเสธคำขอจอง ซึ่งประเด็นนี้อาจพิจารณาได้หลายมิติ ทางแพลตฟอร์มมองว่าเป็นการลดโอกาสในการเกิดข้อขัดแย้งและเพิ่มโอกาสในการบริหารเวลาทำงานและรายได้ที่เหมาะสม ขณะเดียวกันวิธีการและถ้อยคำที่แพลตฟอร์มแนะนำให้แม่บ้านใช้ในการต่อรอง ซึ่งอาจเป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมในอำนาจต่อรอง

โอกาสในการเข้าสู่แพลตฟอร์มก็เป็นอีกประเด็นที่เกิดความไม่เท่าเทียมกัน เพราะยังคงมีอุปสรรคกีดขวางการเข้าสู่แพลตฟอร์ม ลูกจ้างทำงานบ้านบนแพลตฟอร์มถูกบังคับให้ต้องใช้จ่ายรายได้ที่หาจากการทำงานไปเป็นต้นทุนเพื่อเข้าถึงแพลตฟอร์ม จึงทำให้ผู้ประกอบอาชีพนี้ไม่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มได้อย่างเท่าเทียมกัน แพลตฟอร์มมีระบบการคัดกรองก่อนอนุญาตให้เข้าสู่แพลตฟอร์ม เช่น ต้องไม่เคยมีประวัติอาชญากร ทั้งยังมีกลไกการควบคุมดีมานด์-ซัพพลายโดยเจ้าของแพลตฟอร์ม ทำให้ต้องรอคอยจนกว่าความต้องการใช้บริการจะมีสูงขึ้นจึงจะได้เข้าสู่แพลตฟอร์ม โดยความต้องการใช้บริการจะมีสูงขึ้นหรือน้อยลง คนทำงานบ้านก็ไม่มีสิทธิรับรู้ จึงเป็นปัญหาในเรื่องของความโปร่งใส

นอกจากนี้ ผู้ที่เข้าสู่แพลตฟอร์มก่อนย่อมมีคะแนนและความคิดเห็นจากการประเมินมากกว่า ทำให้มีโอกาสได้รับงานมากกว่าผู้เข้าสู่แพลตฟอร์มทีหลัง โอกาสในการเข้าถึงงานผ่านแพลตฟอร์มจึงยังไม่เท่าเทียมกัน และที่สำคัญ ลูกจ้างทำงานบ้านผ่านแอปพลิเคชั่นที่ทำการศึกษานี้ไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จักกัน แพลตฟอร์มไม่มีช่องทางการรวมกลุ่มเพื่อติดต่อสื่อสารกัน จึงไม่มีโอกาสในการต่อรองแบบรวมหมู่.

 

อ้างอิงเพิ่มเติม
[1] หลักสูตรแม่บ้านอาชีพ ป้อนโรงแรม-คอนโดฯ (เดลินิวส์, ฉบับวันที่ 7/3/2561)
[2] พาณิชย์เดินสายอบรมแม่บ้านมืออาชีพภูธร (สำนักข่าวไทย, 3/6/2561)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: การคุ้มครองสิทธิแรงงานทำงานบ้าน ตามกฎหมายแรงงานไทย
ตะลึงอาชีพ 'แม่บ้าน' สร้างมูลค่าปีละ 1.1 หมื่นล้าน สร้างงานไทย 2.5 แสนคน-ต่างด้าวกว่าหมื่น (ชนากานต์ อาทรประชาชิต, ศูนย์ข่าว TCIJ, 9/4/2557)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: