จับตา: การคุ้มครองสิทธิแรงงานทำงานบ้าน ตามกฎหมายแรงงานไทย

ทีมข่าว TCIJ : 17 มิ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 4325 ครั้ง


จากกฎกระทรวงแรงงานฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) ระบุการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทยไว้หลายอย่าง เช่น วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณีและวันหยุดประจำปี, ค่าจ้าง, สิทธิลาป่วย, อายุขั้นต่ำและการคุ้มครองแรงงานผู้เยาว์, การคุ้มครองแรงงานจากการล่วงละเมิดทางเพศ, การปฏิบัติโดยเท่าเทียมกันระหว่างแรงงานชายและหญิง การร้องทุกข์และการบังคับใช้

ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่าเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2555 กฎกระทรวงแรงงานฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) เริ่มมีผลบังคับใช้เพื่อเพิ่มความคุ้มครองให้กับแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทย กฎกระทรวงฉบับนี้ตราขึ้นตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และบังคับใช้ต่อนายจ้างที่จ้างลูกจ้างทำงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจร่วมอยู่ด้วย ซึ่งกฎกระทรวงนี้ได้มีบทบัญญัติบางประการสอดคล้องกับแนวทางของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยแรงงานทำงานบ้าน ค.ศ. 2011 (ฉบับที่ 189) และข้อแนะ (ฉบับที่ 201)

กฎกระทรวงฉบับนี้ขยายสิทธิและการคุ้มครองบางประการที่บัญญัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แก่แรงงานทำงานบ้าน กล่าวคือสิทธิที่จะได้รับวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดนักขัตฤกษ์/วันหยุดตามประเพณี สิทธิลาป่วย และสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยในวันหยุดซึ่งไม่ได้ใช้ในกรณีสิ้นสุดการจ้างงาน นอกจากนี้กฎกระทรวงยังได้กำหนดให้มีบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยอายุขั้นต่ำในการรับเข้าทำงานตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานนั้นให้บังคับใช้แก่แรงงานทำงานบ้านด้วย

กฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญต่อการส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานทำงานบ้านดังเช่นแรงงานในภาคธุรกิจอื่นๆของประเทศ แม้ว่ากฎกระทรวงดังกล่าวยังมิได้มีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่สำคัญบางประการให้กับแรงงานทำงานบ้าน อาทิ ชั่วโมงการทำงาน ค่าล่วงเวลาค่าจ้างขั้นต่ำ และการคุ้มครองการประกันสังคม นอกจากนั้นกฎกระทรวงมิได้บัญญัติให้แรงงานทำงานบ้านมีสิทธิในการลาคลอดและการคุ้มครองไม่ให้ถูกออกจากงานเพราะเหตุแห่งการตั้งครรภ์แม้ว่าแรงงานทำงานบ้านส่วนใหญ่จะเป็นสตรีก็ตาม

อนึ่งนอกจากการคุ้มครองแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทยดังที่บัญญัติในกฎกระทรวงฉบับที่ 14 พ.ศ. 2555 ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 การจ้างแรงงานทำงานบ้านนั้นยังได้รับการคุ้มครองตาม บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วยศาลมีอำนาจที่จะบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานที่แรงงานทำงานบ้านและนายจ้างตกลงเฉพาะเท่าที่สัญญาใช้บังคับโดยเป็นธรรมและตามหลักเหตุผล

วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณีและวันหยุดประจำปี

แรงงานทำงานบ้านมีสิทธิที่จะหยุดผักผ่อนสัปดาห์ละหนึ่งวัน และยังมีสิทธิที่จะได้รับวันหยุดตามประเพณีดังเกณฑ์มาตรฐานไม่น้อยกว่าสิบสามวันต่อปีโดยได้รับค่าจ้าง ในกรณีที่วันหยุดดังกล่าวตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ แรงงานมีสิทธิที่จะหยุดในวันทำงานวันถัดไป นอกจากนี้ แรงงานทำงานบ้านที่ทำงานแก่นายจ้างตลอดระยะเวลาหนึ่งปีโดยมีสิทธิได้รับวันหยุดประจำปีเป็นเวลาหกวันทำงานโดยได้รับค่าจ้างในกรณีที่จำเป็นต้องให้แรงงานทำงานบ้านในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดประจำปีนั้น ให้ใช้ค่าตอบแทนตามอัตราค่าจ้างทำงานในวันหยุด รวมถึงค่าตอบแทนสำหรับการทำงานล่วงเวลาตามที่ระบุในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

ค่าจ้าง

ค่าจ้างแรงงานทำงานบ้านจะต้องจ่ายอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ทั้งนี้นายจ้างและแรงงานทำงานบ้านอาจตกลงให้มีระยะเวลาในการจ่ายค่าจ้างนานกว่านี้ได้ หากการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อแรงงานโดยแท้ค่าจ้างให้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างนายจ้างและแรงงาน อย่างไรก็ตามแรงงานทำงานบ้านไม่ได้รับการคุ้มครองจากบทบัญญัติว่าด้วยค่าจ้างขั้นต่ำในขณะที่กฎหมายบัญญัติให้แรงงานชายและหญิงพึงจะต้องได้รับค่าจ้างดุจเดียวกันในกรณีที่งานมีลักษณะ คุณภาพ และปริมาณเท่ากัน ค่าจ้างและเงินค่าตอบแทนการทำงานอื่นๆ ที่มาจากการจ้างงานนั้นจะต้องจ่ายแก่แรงงานเป็นสกุลเงินตราของประเทศไทย ณ สถานที่ทำงาน การจ่ายเงินนั้นอาจจ่าย ณ สถานที่อื่น หรือด้วยวิธีการอื่น อาทิ จ่ายเป็นเช็ค หรือจ่ายเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ทั้งนี้โดยได้รับความยินยอมจากแรงงาน

สิทธิลาป่วย

ในกรณีการเจ็บป่วย แรงงานทำงานบ้านมีสิทธิลาป่วย ทั้งนี้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเต็มเป็นเวลาสูงสุด วันทำงานสำหรับการลาป่วยต่อปี สำหรับการลาป่วยเกินกว่าสามวัน นายจ้างอาจกำหนดให้แรงงานนำใบรับรองแพทย์ หรือบันทึกของแพทย์รับรองว่าแรงงานไม่อาจทำงานได้ชั่วคราว บทบัญญัติว่าด้วยการลาป่วยนี้ให้ใช้กับการเจ็บป่วย อาการแทรกซ้อน หรือความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนอันเกิดมาจาก การตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตร อย่างไรก็ดีไม่ให้ถือว่าการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงานเป็นการลาป่วยตามบทบัญญัติในกฎกระทรวงฉบับนี้

อายุขั้นต่ำและการคุ้มครองแรงงานผู้เยาว์

ตามความในกฎกระทรวงฉบับใหม่ ห้ามนายจ้างจ้างเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปี ทำงานบ้าน ทั้งนี้ได้มีการกำหนดการคุ้มครองแรงงานทำงานบ้านที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ซึ่งรวมถึงระยะเวลาพักในระหว่างวันทำงานการห้ามทำงานกลางคืน และการแจ้งการจ้างงานแรงงานผู้เยาว์ดังกล่าวต่อพนักงานตรวจแรงงาน

การคุ้มครองแรงงานจากการล่วงละเมิดทางเพศ

บทบัญญัติการห้ามนายจ้าง บุคคลที่รับผิดชอบ หัวหน้างาน หรือผู้ตรวจจากการกระทำทารุณทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ หรือลวนลาม ต่อแรงงานนั้นให้บังคับใช้ต่อแรงงานทำงานบ้านด้วย

การปฏิบัติโดยเท่าเทียมกันระหว่างแรงงานชายและหญิง

ตามแนวทางปฏิบัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ในการจ้างงานนั้นนายจ้างจะต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างผู้ชายและผู้หญิงโดยเท่าเทียมกัน เว้นแต่มิอาจปฏิบัติโดยเท่าเทียมกันได้อันเนื่องมาแต่ลักษณะของงานเฉพาะอย่างนั้น ดังที่ได้ระบุไว้ข้างต้น บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเกี่ยวกับค่าจ้างที่เท่ากันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงสำหรับงานที่มีคุณค่า/ค่าเท่ากันนั้นให้ใช้บังคับต่อแรงงานทำงานบ้านด้วย

การสิ้นสุดการจ้างงาน

หากสัญญาจ้างงานระบุระยะเวลาการจ้างงาน สัญญาฉบับดังกล่าวนั้นจะสิ้นสุด ณ วันที่ระบุไว้ โดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม กรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างต้องแจ้งให้แรงงานทราบเป็นหนังสือล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนวันกำหนดจ่ายค่าจ้างใดๆ เพื่อให้การสิ้นสุดการจ้างงานมีผลในวันกำหนดจ่ายค่าจ้างนั้นครั้งต่อไป ดังนั้นหากแรงงานได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ระยะเวลาในการแจ้งจะต้องมีระยะเวลาหนึ่งเดือนเป็นอย่างน้อย นายจ้างสามารถจ่ายค่าจ้างเป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าจ้างสำหรับระยะเวลาในการจ้างนั้นแก่แรงงานได้ทันทีและยุติการจ้าง งานแรงงานได้ทันที ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ในสภาพการณ์บางกรณีที่เป็นเหตุมาจากการ

กระทำผิดของแรงงาน (อาทิ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง ฯลฯ) ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ในกรณีการสิ้นสุดการจ้างงานแรงงานมีสิทธิได้รับค่าจ้างภายในสามวัน อีกทั้งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างที่ค้างสำหรับวันหยุดประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิเว้นแต่ในกรณีที่การสิ้นสุดการจ้างงานนั้นเป็นด้วยเหตุที่ระบุไว้ในมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน นอกเหนือจากสิทธิและการคุ้มครองต่างๆตามที่กล่าวข้างต้น ให้บังคับใช้บทบัญญัติต่อไปนี้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานแก่แรงงานทำงานบ้าน:

  • ห้ามนายจ้างเรียกเงินมัดจำหรือหลักประกันจากแรงงานเป็นเงื่อนไขเพื่อได้รับหรือคงไว้ซึ่งการจ้างงาน หรือเพื่อชดเชยสำหรับความเสียหาย
  • วันหยุดประจำสัปดาห์ สิทธิการลาหยุดประเภทต่างๆ และวันหยุดอื่นๆ ที่นายจ้างให้สิทธิหรือกำหนดนั้นจะต้องรวมเข้าไว้เพื่อใช้คำนวณระยะเวลาการจ้างงาน หากแรงงานมิได้ทำงานต่อเนื่องอันเป็นเหตุมาจากนายจ้างจงใจเพื่อมิให้ลูกจ้างได้รับซึ่งสิทธิภายใต้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติ ระยะเวลาการจ้างงานนั้นจะต้องคิดรวมเพื่อให้แรงงานได้รับสิทธินั้น
  • ในกรณีที่มีการเปลี่ยนนายจ้างในกรณีการโอนหรือควบรวมกิจการ สิทธิของแรงงานยังคงเช่นเดิม

การร้องทุกข์และการบังคับใช้

แรงงานทำงานบ้านมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานกรณีการละเมิดสิทธิแห่งตนภายหลังจากที่มีการตรวจสอบ พนักงานตรวจแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินที่ค้างชำระ การละเมิดสิทธิตามกฎหมายต่อแรงงานนั้นมีโทษภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: