บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์
ศิลปินคนหนึ่งนำจัตุรัสมาวางไว้หน้าพระราชวังเก่า ที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ จัตุรัสนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงพื้นที่แห่งความไว้เนื้อเชื่อใจ และการดูแลกัน ศิลปินคนนั้นเชื่อว่า มนุษย์น่าจะมีศักยภาพในการเชื่อใจกัน และดูแลกัน ไม่มีเส้นแบ่งใดๆ เข้ามาขีดคั่นกลางมนุษย์ออกจากกัน
ภาพยนตร์นำเสนออย่างจิกกัดทั้งในประเด็น ชนชั้น ศิลปะ เทรนด์ในโลกอินเตอร์เน็ต นักเรียกร้องสิทธิมนุษยชน เราจะติดตามชีวิตของภัณฑารักษ์ คริสเตียน ตั้งแต่ต้นจนจบ ในโลกอันแสนอิหลักอิเหลื่อ
แต่ถ้าเรานำเอาจัตุรัสนั้นออกมาวางไว้ในโลกแห่งความเป็นจริง ในประเด็นสังคมโลก คุณคิดว่า จัตุรัสนั้นจะมีอยู่จริงหรือเปล่า? ใครจะสร้างมันขึ้นมา?
นักปรัชญาในอดีตบางท่าน มีแนวคิดที่ว่า มนุษย์เรานั้น มีสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมชาติของมนุษย์” อยู่ในตัวเราทุกคน และธรรมชาติของเรานั้น “ชั่วร้าย” มนุษย์เราต่างคิดถึงแต่ตนเองก่อนเสมอ และจะรักษาตัวเองก่อนเสมอ เราจะช่วยเหลือผู้คนในจัตุรัสนั้นหรือเปล่า หากมีราคาที่จะต้องจ่าย
หากในภาพยนตร์เราเห็น “ขอทาน” กับเหล่า “ชนชั้นสูง” โผล่อยู่บนเฟรม ชนชั้นสูงที่เป็นผู้เสพศิลปะ มีเงินฟุ้งเฟ้อ มองเห็นขอทานเป็นอะไร บ้างก็เป็นเพียงวัตถุทางการตลาดที่นำมาใช้เรียกความสนใจให้แก่ผลประโยชน์ของพวกเขา บ้างก็มองเป็นตัวก่อปัญหา ความเดือดร้อนรำคาญ หรือมองเป็นคนที่พยายามสูบเลือดสูบเนื้อผ่านทางการหาทางเข้าร่วมชีวิตกับชนชั้นสูง เราลองมาลองมองโลกความจริงที่ ภาพแทนของชนชั้นเหล่านี้ยังคงมีอยู่
คริสเตียนก็เป็นเช่นนั้น เหตุการณ์ง่ายๆ อย่างการถูกขโมยกระเป๋าเงินและโทรศัพท์นำไปสู่การแก้ปัญหาที่บานปลายเพราะการมีกำแพงคั่นกลางระหว่างชนชั้นของเขากับชนชั้นคนยากจนที่คริสเตียนตั้งขึ้นมาเอง คริสเตียนไม่มีจัตุรัสที่จะเข้าไปขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าเขาจะขอความช่วยเหลือจากคนที่เดินผ่านไปมาอย่างไร ก็ไม่มีคนเหลียวแล
เขาเลยใช้จดหมายข่มขู่ และกล่าวหาว่าคนในอพาร์ทเม้นต์เป็นโจร โดยแจกจ่ายให้ทุกคนในอพาร์ทเม้นต์ ราวกับว่าพวกเขาทั้งหมดคือโจร เป็นการกล่าวหาคนหลายสิบหลังคาเรือนอย่างเงียบเชียบในคืนหนึ่ง ที่คริสเตียนเข้าไปแจกจ่ายจดหมายขู่อย่างลนลาน ซึ่งต่อมาหนังก็คล้ายจงใจให้คริสเตียนไปขอความช่วยเหลือ “ขอทาน” และก็น่าประหลาดอีกเช่นกันที่ขอทานให้ความช่วยเหลือมานั่งเฝ้าของให้คริสเตียน
งานแสดงศิลปะอย่าง “จัตุรัส” กลับไม่ได้รับการนำเสนอในหนังที่ใช้ชื่อว่า “จัตุรัส” เป็นความน่าประหลาด และหนังก็กลับพยายามนำเสนอภาพของความไม่ไว้ใจกันของเพื่อนมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ คล้ายยิ่งตอกย้ำแนวคิดของธรรมชาติมนุษย์อันชั่วร้าย บางครั้งมันก็โยนคำถามง่ายๆ อย่าง “คุณไว้ใจในมนุษย์ไหม” มาใส่คนดู ถ้าคุณไว้ใจ ลองวางกระเป๋าเงินกับโทรศัพท์เอาไว้ในที่โล่งก่อนเข้าชมนิทรรศการศิลปะสิ?
หนังที่ใช้ชื่อว่า “จัตุรัส” กลับมี Sequence ของ Performance Art ที่ให้มนุษย์รับบทเป็น “วานร” เป็นจุดขาย วานรที่เข้ามาอาละวาดในงานเลี้ยงอาหารค่ำของเหล่าชนชั้นผู้เสพย์ศิลปะ วานร คล้ายเป็นการบอกถึง “ธรรมชาติของมนุษย์” อีกแล้ว คลับคล้ายสายตาของเหล่าผู้เสพย์งานศิลปะมองว่าตนเองไม่มีสิ่งนี้ในตัวเอง เหล่าชนชั้นต่ำกว่าต่างหาก ที่เป็นวานรที่มีธรรมชาติอันชั่วร้ายอยู่ในตัว วานรที่หญิงสาวคนหนึ่งเลี้ยงเอาไว้ กลายเป็นสิ่งบ่งบอกสถานะของเธอว่าเธอมิใช่ชนชั้นเดียวกับคริสเตียน เมื่อคริสเตียนไปที่บ้านของเธอเพื่อมีความสัมพันธ์ทางอารมณ์ด้วยกันเท่านั้น หลังจากนั้น ท่าทีของคริสเตียนก็ห่างเหินจากเธอไป
แม้คริสเตียนจะได้ทรัพย์สินที่ถูกขโมยคืนในภายหลัง แต่ก็ปรากฏภาพของ “ผู้ถูกลูกหลง” ปรากฏตัวขึ้น เด็กชายเดือดร้อนเพราะขดหมายขู่ของคริสเตียน ทำให้พ่อแม่คิดว่าเขาเป็นขโมย เด็กคนนี้ไม่มีซึ่งจัตุรัสที่จะให้ความช่วยเหลือเช่นกัน เขาจึงเลือกมาเผชิญหน้ากับคริสเตียน การเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับคริสเตียนสั้นๆ ทำลายเส้นแบ่งบางอย่างที่คริสเตียนวางกั้นตัวเองไว้กับคนชนชั้นอื่น
คลับคล้ายมโนธรรมสำนึกจะเข้าสู่จิตใจของคริสเตียนในภายหลัง หลังเขาได้ยินเสียงหลอน “ขอความช่วยเหลือ” ของเด็กชายคนนั้น เสียงขอความช่วยเหลือที่เขาเองก็เคยพูด แต่กลับไม่เคยได้รับจากคนแปลกหน้า (ยกเว้นขอทาน) เขาตัดสินใจตามหาเด็กชายคนนั้น และพบว่าสายเกินไปแล้ว
แม้ระหว่างการเดินทางกลับ เราไม่มีวันรู้ได้เลยว่าคริสเตียนคิดอะไรอยู่ระหว่างขับรถกลับบ้าน แต่หลังจากหนังทำตลกร้าย เสียดสีใส่เราคล้ายถากถางธรรมชาติอันชั่วร้ายของมนุษย์ หนังก็เลือกที่จะมีมุมมองแบบเหล่านักคิดเสรีนิยมบางท่าน ที่บอกเราว่า ถึงแม้จะยอมรับว่า มนุษย์มีธรรมชาติอันชั่วร้ายอยู่ในตัว แต่ในตัวเราทุกก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะเอาชนะมันได้
แล้วจัตุรัสแห่งนั้นอยู่ที่ใดเล่า? จัตุรัสที่ทุกคนสามารถไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ เอาใจใส่ดูแลกันได้อย่างเท่าเทียม มีอยู่จริงหรือเปล่า?
บางทีจัตุรัสแห่งนั้นไม่ใช่ไม่มีอยู่จริง เพียงแต่มนุษย์ยังไม่ได้สร้างมันขึ้นมาเท่านั้นเอง
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Film Society of Lincoln Center
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ