Book Review: อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

กฤชสรัช วงษ์วรเนตร: 18 ก.ย. 2561 | อ่านแล้ว 4047 ครั้ง


ความสนใจทางด้านศิลปะที่เป็นทุนเดิมนั้นได้นำพาให้ผู้เขียนเข้าไปสู่โลกทางวิชาการของศิลปะที่ผนวกรวมคำว่า ศิลปะและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ทั้งที่จริงแล้ว 2 อย่างนี้ได้รวมตัวกันอยู่ก่อนแล้วคือ ศิลปวัฒนธรรม แต่ด้วยเหตุผลและเงื่อนไขบางประการทางการเมืองเรื่องการศึกษา ทำให้เข้าใจว่าทั้งสองอย่างที่กล่าวมานี้แม้จะเป็นสิ่งเกี่ยวข้องแต่ก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนทำให้เป็นคนละส่วนกัน ฉะนั้นเองการศึกษาศิลปะจะไม่สามารถทำให้เราเข้าใจในสังคมได้แจ่มชัดหากปราศจากความเข้าใจทางด้านวัฒนธรรมด้วยและหากการปฏิบัติการทางศิลปะปราศจากการอ่านก็คงเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจในสิ่งที่ศิลปินหรือผู้ปฏิบัติการทางวัฒนธรรมกระทำสิ่งนั้นๆได้

หนังสือ 'อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์' โดย วิริยะ สว่างโชติ

หนังสือ อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของ วิริยะ สว่างโชติ ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านวัฒนธรรมศึกษาและสังคมวิทยา, ผู้ประสานงานโครงการ Inter-Asia school Bangkok, กองบรรณาธิการวารสารวิชาการ, ผู้ก่อตั้ง นอนแผ่สถาน (Non-place) สถานที่ทำกิจกรรมด้านวัฒนธรรมในจังหวัด นนทบุรี ผู้เขียนได้มีโอกาสหยิบหนังสือดังกล่าวมาอ่านและพบว่าเป็นเรื่องราวความเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมศึกษาที่ผู้เขียนสนใจ ตั้งแต่แง่มุมทางด้านนโยบาย ประวัติศาสตร์ ทฤษฎี การผลักดันนโยบายให้เป็นรูปเป็นร่างจนถึงการปฏิบัติการจริง ตั้งแต่ช่วงเริ่มแรก ณ ดินแดนทางตะวันตกของโลกจนย่างกลายสู่ดินแดนทางตะวันออก ด้วยความที่หนังสือประเภทนี้ในโลกภาษาไทยยังมีไม่มากและเนื้อหาที่หนักแน่นนี้เอง ผู้เขียนจึงอยากบอกต่อให้ผู้ที่สนใจไขว่คว้าหามาเป็นเจ้าของ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจที่ไม่ไกลตัวนี้เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังสามารถต่อยอดในการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ในเมืองอู่ข้าวนี้ได้ด้วย

หนังสือดังกล่าวเป็นการรวบรวมบทความที่วิริยะได้ทำการลงพื้นที่ สำรวจ ทบทวนและเปิดประเด็นคำถามเชิงวัฒนธรรม ได้พาเราเข้าไปทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับแนวคิดเรื่องอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ตั้งแต่นโยบาย ความล้มเหลวในการนำไปใช้ ข้อวิพากษ์ และปรากฏการณ์ที่เป็นที่มาของวัฒนธรรมย่อยที่ (อาจ) ยั่งยืนในต่างแดนและในประเทศไทย ทำให้ผู้ที่มีโอกาสได้อ่านเห็นพัฒนาการของแนวคิดนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งยังเผยให้เห็นเงื่อนไขที่แตกต่างกันในการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมย่อยและแนวคิดดังกล่าวยังอาจพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนได้ในอนาคต

วิริยะได้พูดถึงการกลับมาของกระแสทางวัฒนธรรมศึกษา (cultural turn) ในทศวรรษที่ 80 ซึ่งให้ความสนใจกับวัฒนธรรมการบริโภค จากนั้นจึงมีพลวัตความเปลี่ยนแปลงในความสนใจเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน วิริยะ ได้หยิบยกเอางานของนักวิชาการในโลก แองโกล-อเมริกัน อาทิ Raymond William, Richard A. Peterson, Paul M. Hirch, Max Horkheimer, Theodor Adorno ซึ่งเป็นงานทฤษฎีทางสังคมวิทยาวัฒนธรรม (Sociology of Culture) ช่วงทศวรรษที่ 70 มาทบทวนและกล่าวถึงข้อเสนอใหม่ของเขาที่มีต่องานเหล่านั้น จะเห็นได้ว่า ความเคลื่อนไหวของวงวิชาการสังคมวิทยาทางวัฒนธรรมนั้นถือกำเนิดมาพร้อมกับปัญหาทางด้านสังคมต่างๆที่ปรากฏในระบบทุนนิยม

ด้วยการเบนกระแสความสนใจจากการบริโภคไปสู่การผลิต เพื่อมุ่งหวังให้ผู้คนเห็นคุณค่า (รวมถึงการเพิ่มคุณค่า) ในวัฒนธรรมที่ตนดำรงอยู่ และยังทำให้เข้าใจว่าแนวคิดดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ มันยังคงมีที่มา-ที่ไปให้เราได้กลับไปศึกษาความเข้าใจของอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมในยุคก่อนๆด้วย

จากนั้นวิริยะนำเราเข้าไปพิจารณานโยบายทางวัฒนธรรมศึกษาตามท้องที่ต่างๆทั่วโลก โดยได้แสดงให้เห็นว่าประเทศต่างๆทั่วโลกนั้น (โดยเฉพาะในยุโรป) มีความตั้งใจที่จะให้ความสำคัญกับนโยบายที่เกี่ยวกับการลงทุนและการผลิตในอุตสาหกรรมทางด้านวัฒนธรรมมากน้อยแตกต่างกันไป เนื่องจากยังต้องพิจารณาในแง่ของงบประมาณและผลประโยชน์ที่จะได้รับด้วย ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของนโยบายทางวัฒนธรรมกับนโยบายในแต่ละพรรคการเมืองในแต่ละรัฐบาล ซึ่งเป็นผลให้ในแต่ละครั้งที่นโยบายทางวัฒนธรรมประกาศออกมาก็จะมีความสอดคล้องกับแนวคิดทางอุดมการณ์ของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการแสดงความสอดรัดกันว่าวัฒนธรรมกับการเมืองนั้นมีความสัมพันธ์อันน่าสนใจให้ศึกษา รวมถึงแสดงกรอบคิดของ Unesco ที่มีต่อนโยบายทางวัฒนธรรม และที่สำคัญคือเป้าหมายของอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมผ่านแนวคิดของ จิราร์ด (Augustin Girard) และฌองติล (Genevieve Gentill)ภายหลังที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง เหล่าผู้นำในรัฐบาลของประเทศอังกฤษได้เป็นผู้ริเริ่ม

นโยบายทางวัฒนธรรมขึ้นมาเป็นประเทศแรกๆ เนื่องจากตระหนักถึงการฟื้นฟูสภาพสังคม-ชีวิตภายหลังสงครามให้ดีขึ้น พรรคการเมือง (ใหญ่) ในประเทศอังกฤษก็ให้ความสำคัญในด้านนโยบายทางวัฒนธรรมกันทั้งคู่ แต่ด้วยบทบาททางอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน ประกอบกับระบบตลาดเสรีที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในสังคมโลกตะวันตก ทำให้เกิดข้อวิพากษ์-วิจารณ์ตามมาอย่างมาก นโยบายวัฒนธรรมของทั้งสองพรรคนั้นดำเนินการโดยผนวกรวมนโยบายด้านอื่นๆของแต่ละพรรคด้วย ซึ่งอาจเป็นการใช้นโยบายทางวัฒนธรรมในการหาเสียงเลือกตั้ง ผลปรากฏก็นำไปสู่ความล้มเหลวในการปฏิบัติ และผลจากการวิพากษ์-วิจารณ์ก็ยังนำไปสู่การยกเลิก ระบบศิลปะชั้นสูง ที่เน้นคุณค่าของสุนทรียะตามแนวทางของชนชั้นสูงในประเทศอังกฤษ จะสังเกตได้ว่าก่อนหน้านี้นโยบายดังกล่าวเป็นการเอาอกเอาใจชนชั้นนำในอังกฤษที่มักจะสนับสนุนวัฒนธรรมของชนชั้นสูง ไม่ได้ทำให้เกิด การเข้าถึง ของผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศ จนในที่สุดนำไปสู่การ ส่งเสริม แทนที่จะ สนับสนุน ดังในอดีต ผลจากการเติบโตของระบบตลาดเสรีและการต่อต้านวัฒนธรรมที่รัฐเป็นผู้กำหนดได้ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านเชิงวัฒนธรรม ซึ่งผู้คนสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้กับตนเอง โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทมากนัก และผู้คนได้ตระหนักแล้วว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการนอกเวลางาน (กิจกรรมยามว่าง) นั้นรัฐไม่สามารถจัดการให้ได้

สิ่งที่น่าสนใจสำคัญที่ปรากฏในหนังสือดังกล่าวนี้อีกหนึ่งอย่างก็คือ ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมร่วมสมัย อาทิ วัฒนธรรมอัลเทอร์เนทีฟ โพสร็อค อินดี้ พื้นที่ทางเลือกของวัฒนธรรมเพลง การผลิตภาพยนตร์ ซึ่งมีอธิบายตั้งแต่การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมทางเลือกนั้นๆ ที่มาอันเกิดจากการใช้นโยบายทางวัฒนธรรมโดยมิลืมที่จะทำให้สอดคล้องกับนโยบายทางเศรษฐกิจ รวมถึงมีความเกี่ยวข้องทางด้านการเมืองมิน้อยเลย

แม้ว่าปรากฏการณ์ที่วิริยะนำเสนอจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา แต่เป็นกรณีศึกษาที่ผู้อ่านสามารถนำไปใช้ในการทำความเข้าใจในปรากฏการณ์ร่วมสมัยในปัจจุบันได้ เช่น การเกิดขึ้นมาของกระแสดนตรีพังค์อันเป็นการบ่อนทำลายเพลงในยุคก่อนหน้า ตามมาด้วยกระแสดนตรีแนวทดลองที่ดูจะเป็นการทำลายทั้งหมดทั้งมวลของความเป็นดนตรีที่ดูจะพัฒนามาจากแนวคิดของดนตรีพังค์ งานแสดงศิลปะนอกกระแสหลัก (ในประเทศไทย) ที่ไม่อิงอยู่กับความงามแต่ผูกอยู่กับเรื่องราวทางสังคม-การเมือง-วัฒนธรรม งานอีเว้นท์ของกลุ่มเพศทางเลือก การกำเนิดของสถานบันเทิงที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเน้นแต่เพศทางเลือก รวมถึงกระแสท้องถิ่นนิยม ความเป็นชายขอบ ที่ถูกหยิบมานำเสนอต่อสังคมมากกว่าแต่ก่อน รายการสารคดีที่กำกับเอง-ถ่ายเอง-ขายเองในปัจจุบัน อาทิ หนังพาไป, เถื่อน Travel ทั้งยังรวมไปถึงการผลิตงานเขียน, งานวรรณกรรม, การ์ตูน Y ซึ่งในเริ่มแรกนั้นไม่อิงอยู่กับความนิยมของผู้บริโภคเดิม จนในที่สุดก็สามารถรวบรวมกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆและเติบโตเป็นดั่งสินค้าทางวัฒนธรรมที่หาเลี้ยงชีพได้

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้นเป็นผลของการพัฒนาวัฒนธรรมย่อยที่เป็นการต่อต้านวัฒนธรรมหลักอย่างมีชั้นเชิงและตรงไปตรงมา สำหรับผู้เขียนนั้นสิ่งสำคัญที่ผู้ปฏิบัติการทางวัฒนธรรมย่อยเติบโตได้คือการโปรโมต ที่ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องวิ่งเต้น ร้องขอเศษเสี้ยวช่วงเวลาจากสื่อใหญ่ๆอย่าง วิทยุ โทรทัศน์หรือหน้าหนังสือพิมพ์ชื่อดังอีกต่อไป การพัฒนาด้านการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ลืมไม่ได้เลยดังที่วิริยะได้กล่าวเอาไว้ในหนังสือ การพัฒนาด้านการสื่อสารได้ก้าวกระโดดขึ้นมากกว่าเดิมมาก ผู้คนสามารถสร้างพื้นที่ของตนเอง (แม้จะเป็นเพียงพื้นที่ในโลกเสมือนจริง-แต่นับวันเราก็ได้เห็นแล้วว่าจะกลายเป็นโลกจริงเข้าสักวัน ?) ได้ด้วยสื่อทางเลือก อาทิ Youtube, Blog, Facebook, Medium, Wordpress, MySpace, หนังสือพิมพ์ของท้องถิ่นหรือชุมชน เป็นการสร้างพื้นที่ด้วยการใช้งบประมาณที่น้อยลงกว่าแต่ก่อนหรือไม่ต้องใช้ทุนเลย (แต่ก็ยังมีค่าเช่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตอยู่ดี) ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงนายทุนดังในอดีตแต่สิ่งที่ต้องศึกษาให้ดีคือความต่อเนื่องของสื่อทางเลือก

ผู้เขียนเกิดใน Generation Y ช่วงมัธยมนั้นได้พบกับสื่อทางเลือกอย่าง Hi5 ที่ทำให้ผู้คนรู้จักกันมากขึ้นกว่าเดิมโดยที่ไม่ต้องเดินเข้าไปทักทายกันดังในอดีต แต่เพียงเวลาไม่นานก็เลือนหายไปพร้อมกับการก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จจาก Facebook นั่นทำให้ผู้เขียนได้เห็นว่าไม่ใช่ว่าวัฒนธรรมย่อยทุกอย่างจะได้ไปต่อ นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักกับการเรียนรู้ บางสิ่งจะยังคงอยู่ได้ด้วยความต้องการ การรักษา และความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแต่ละวัฒนธรรมนั้นๆต้องเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่งจึงจะสามารถธำรงอยู่ต่อไปได้ เพราะผู้คน (ผู้บริโภค) มีความเปลี่ยนแปลงกันอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนั้นวิริยะยังพาเราไปสำรวจถึงวัฒนธรรมย่อยในดินแดนอันไม่ห่างไกลจากบ้านเรานักอย่างเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย อันเป็นเมืองที่มีการขับเคี่ยวกับวัฒนธรรมกระแสหลักจากโลกตะวันตกอย่างโชกโชนมาโดยตลอด ตั้งแต่เรื่องของแฟชั่น แนวดนตรี การสร้างพื้นที่ทางเลือกจากผู้คนริมข้างทาง จนในที่สุดก็อาจเรียกได้ว่าเป็นการสร้างวัฒนธรรมย่อยที่ดูจะประสบความสำเร็จ แต่วิริยะก็ยังสอดแทรกข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้อีกไม่น้อยในกรณีดังกล่าว และเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น อันเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมวัฒนธรรมใหญ่อันดับสองรองจากเมืองหลวงของญี่ปุ่น ที่มีทั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไร, บาร์ที่ไม่ได้เป็นบาร์แบบปกติธรรมดา แต่เป็นพื้นที่ทางเลือก ซึ่งมีทั้งห้องสมุด หอศิลป์ แหล่งข้อมูลทางวัฒนธรรม, ร้านคาเฟ่ที่สร้างพื้นที่ให้นักเคลื่อนไหว ศิลปินผู้สูงวัยในชุมชนและคนที่สนใจเข้ามาแบ่งปันแลกเปลี่ยนบทสนทนา, ย่านพื้นที่ศิลปะที่กลายเป็นจุดใหม่สำหรับศิลปินหนุ่มและศิลปินหน้าใหม่ในโอซาก้า วิริยะยังได้บอกอีกว่าทั้ง 2 เมืองที่นำเสนอนั้น มิได้มีการวางนโยบายจากผู้มีอำนาจปกครองแต่เป็นการสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรม (ย่อย) จากผู้คนที่อาศัยในพื้นที่นั้นๆกันเอาเอง

อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ว่าการเกิดขึ้นของพื้นที่ทางเลือกของวัฒนธรรมย่อยในเขตประเทศทางตะวันออกที่วิริยะนำเสนอมาดูจะเป็นการประสบความสำเร็จนั้น เป็นผลมาจากการต่อต้านวัฒนธรรมกระแสหลักที่บ่อยครั้งคอยสร้างกรอบให้กับวิธีคิดและวิถีปฏิบัติให้กับผู้คนในแต่ละสังคม เมื่อเวลาเปลี่ยนรวมถึงสภาพสังคมที่นับวันจะยิ่งซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น แต่เหล่าผู้คนที่ชาชินกับวัฒนธรรมกระแสหลักยังมิยอมเปลี่ยนแปลง และยอมรับในความเปลี่ยนแปลง พวกเขาเหล่านั้น (ผู้ที่ไม่ตามกระแสหลัก) จึงออกมาทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติการทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างพื้นที่และจุดยืนให้กับกลุ่มตนเอง โดยแนวคิดดังกล่าวนี้ก็มีผู้เขียนไว้ในความนำคำเรียงของหนังสือ โดยได้อธิบายถึงแนวคิด สุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน และก็ดูจะสอดคล้องกันได้ดีหากนำมาใช้ในการอธิบายถึงวัฒนธรรมย่อยที่กำเนิดในยุคสมัยที่รวดเร็ว เฉกเช่นในทุกวันนี้.

 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: เพจเฟสบุ๊ก Inter-Asia School, Bangkok

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: