"ผมสมัครไปเป็นช่าง แต่พอขึ้นเรือ เขามีช่างอยู่แล้ว ผมเลยต้องเป็นลูกเรือ ไต๋(ไต้ก๋งเรือ)บอกว่า ถ้ามึงอยากเป็นช่างมึงต้องฆ่าไอ้คนเก่า"
อดีตลูกเรือประมงอินโดนิเซียชาวไทย เล่าให้ผมฟัง
จะว่าไปลูกเรือคนนี้ถือว่าโชคดีกว่าลูกเรืออีกหลายคนที่ผมเคยรู้จัก เพราะเขาติดอยู่บนเรือแค่ 2-3 เดือน ก็ได้กลับประเทศ
"ผมเคยเป็นที่ปรึกษา ส.ส. วันนั้นผมนั่งรอรถไฟอยู่ที่หัวลำโพง รู้สึกตัวอีกทีก็ไปอยู่ที่ท่าเรือแล้ว จากนั้นก็อยู่บนเรือประมง 9 เดือน"
อดีตลูกเรืออีกคนเชื่อว่า ครั้งนั้น ตัวเขาถูกป้ายยา จากคนมีการศึกษา มีหน้าที่การงานที่ดี เลยต้องไปหาปลาแบบไม่ตั้งตัว
เขาว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับใครก็ได้
"สูงสุดที่เจอคือปริญญาโท แย่สุดคือคนสติไม่ดี" นักสิทธิแรงงานจำแนกระดับการศึกษา และสติปัญญาของลูกเรือให้ผมฟัง
ผมได้ฟังเรื่องเล่าจากคนช่วยทาส และตัวลูกเรือทาส หลายเรื่อง แต่ผมไม่สามารถยืนยันการันตีแทนพวกเขาได้ว่าเรื่องที่เขาเล่า จริงหรือเกินจริงแค่ไหน เพียงแค่ บางคนเล่าเรื่องพวกนั้นทั้งน้ำตา แค่นั้นเอง
จากปากลูกเรือทำให้รู้ว่า การได้สถานะทาสบนเรือมี 3 วิธี 1.โดยสมัครใจ 2.โดนหลอกไป และ 3.ถูกอุ้ม
สมัครใจคือ คนที่ต้องการหาอาชีพ สมัครไปเป็นลูกเรือโดยหวังว่า จะได้ทำงานและมีเงินเดือน หลอกไปคือ คนที่สมัครงานกับนายหน้าเพื่อไปทำอาชีพอื่น แต่กลับโดนให้ไปลงเรือ ส่วนอุ้มก็แล้วแต่ว่า คนคนนั้นจะโดนทั้งที่มีสติอยู่หรือไม่มี
แต่ทั้ง 3 วิธีมีปลายทางเดียวกัน คือ เรือประมง
พออยู่บนเรือ หน้าที่ถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน 1.คนคุมเรือ หรือไต้ก๋ง 2.ช่างซ่อมเครื่อง และ 3.ลูกเรือหรือคนจับปลา แต่น่าเสียดายที่ หน้าที่ที่ 1 และ 2 ถูกสงวนสิทธิสำหรับคนที่ไม่ใช่ทาส
จากคำบอกเล่าของคนที่เคยเป็นทาส คนหาปลาอย่างพวกเขา ได้รับสิทธิในการนอนวันละ 4 ชั่วโมง ถ้านอนเกินจะถูกปลุก ถ้าไม่ลุกจะถูกน้ำสาด ถ้ายังไม่รู้สึกตัวจะถูกของแข็งฟาด
คนที่ป่วยจนทำงานไม่ไหว หรือขัดใจไต๋ อาจจะ
"ตกเรือ"
ในสถานการณ์ปกติ การตกเรือหมายถึง การร่วงลงสู่ทะเลโดยความไม่ตั้งใจ แต่บนเรือทาสไม่ใช่อย่างนั้น และในทะเลไม่มีกล้องวงจรปิด
"เขาบอกว่ามีเงินเดือนให้ แต่ถ้าตื่นช้า ป่วย ทำปลาหลุด ทำของพังก็โดนหักเงิน หักไปหักมากลายเป็นหนี้แทน" อดีตลูกเรืออธิบายถึงรายได้ และการจัดการรายได้บนเรือประมง
ไต้ก๋งมีบัญชีสำหรับจดเวลาทำงาน และจดตัวเลขรายได้ที่ควรจะได้ แต่ไต้ก๋งเป็นคนเก็บเงินเดือนของลูกเรือไว้ บางคนทำงานทั้งปีเลยไม่เคยเห็นเงินที่ควรจะได้รับ
แย่หน่อย ก็ไม่ได้เห็นแม้กระทั่งแผ่นดิน เพราะ จากเรือนั้น ถูกย้ายไปเรือนี้ จากเรือนี้ถูกย้ายไปเรือโน้น แรงงานถูกถ่ายโอนกลางทะเล เรือลำเก่าขนปลาที่จับได้เข้าฝั่ง ลูกเรือยังคงทำงานต่อไป
ไม่มีวันหยุด
"เราเจอหลุมศพหลายหลุมไม่มีป้ายชื่อบนเกาะ หลุมเก่ามากกว่าสิบปีก็มี เหลือแต่กระดูกเลยระบุไม่ได้ว่าใครเป็นใคร ชาติไหนเป็นชาติไหน" เอ็นจีโอบอกกับผม
หลุมศพที่พูดถึงเชื่อว่า เป็นที่พักสุดท้ายของลูกเรือที่หยุดหายใจ บนเกาะเบนจิน่า ตวน และอัมบน
เมื่อ 3 ปีก่อน ข่าวแรงงานทาสบนเรือประมงอินโดนิเซียเป็นที่สนใจของรัฐบาลไทยจากการรายการของทีมข่าวสามมิติ และนักข่าวหญิงสาวชาวใต้ นักวัดระดับน้ำคนเดิม ที่เพิ่มเติมคือผมแตกปลาย
หลังจากเรื่องเป็นที่สนใจของรัฐบาลและสื่อ แรงงานทาสชาวกัมพูชา เมียนมา ลาว และไทยบางส่วนถูกช่วยเหลือ จนได้กลับประเทศ
แต่ในห้วงเวลาเดียวกันผู้มีอำนาจแห่งชาติเรา โกรธแค้น และกล่าวหาเอ็นจีโอ รวมทั้งสื่อมวลชนว่า การกระทำของพวกเขาในครั้งนั้น สร้างความเสื่อมเสียให้แก่ชื่อเสียงของประเทศไทย
แต่จะโกรธแค้นก็เรื่องของมัน โนสนดิวะ
ทาสผู้รอดชีวิตจำนวนมากกลับบ้านมาพร้อมกับอาการป่วย เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการทำงานหนัก การพักผ่อนน้อย และการไม่ได้พบปะพูดคุยกับผู้คน
บางคนป่วยกาย บางคนป่วยใจ บางคนป่วยทั้งกายและใจ เจ้าหน้าที่มูลนิธิที่ช่วยพาเหยื่อกลับบ้านเล่าให้ฟังว่า
ตอนที่พาเหยื่อคนหนึ่งเข้าประเทศ เจ้าหน้าที่ตำรวจขอสอบปากคำเหยื่อคนนั้นโดยลำพัง ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิอยู่ด้วย
การสอบปากคำเหยื่อเป็นไปอย่างราบรื่นทุกอย่าง เหยื่อรายนั้นสามารถบอกชื่อ เล่าเหตุการณ์ สถานที่ ลักษณะการทำงาน และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำประมงได้ครบถ้วน
จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจถามเขาว่า
"คุณหนีออกมาได้ยังไง?"
และเหยื่อรายนั้นก็ตอบอย่างมั่นใจว่า
"ขี่เต่ายักษ์ออกมา"
เท่านั้น เรื่องของผมก็จบลง
หมายเหตุ: ข้อเขียนละเลงความจริงและเท็จ เปิดเผยบางส่วน แต่ปกปิดบางอย่าง โดยนักข่าวปลอม เขียนข่าวในประเทศไทย เอาใจเมกา
(ภาพจาก กลางทะเลบ้านแหลม เพชรบุรี ชายที่ยิ้มอยู่ในภาพ และเพื่อน เดินทางมาจากเมียนมา เพื่อมาหาปลาในน่านน้ำไทย ที่ไม่น่าจะโหดร้ายเท่าในอินโดนิเซีย)
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ Underdogs
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ