เวิลด์แบงก์ประเมินไว้ว่าภายในปี 2050 สิงคโปร์จะเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด ทั้งยังเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่รัฐบาลสิงคโปร์แสดงความกังวลมาโดยตลอดเกี่ยวกับกระแสผู้สูงอายุดังกล่าว โดยพยายามตั้งรับออกนโยบายรองรับกับการเปลี่ยนแปลง หนึ่งในนั้นก็คือ การหาช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐ ซึ่งได้ส่งสัญญาณตั้งแต่ปีก่อนว่าอาจเพิ่มการพิจารณาปรับโครงสร้างประเทศบางอย่าง
โดยที่ผ่านมาในปี 2016 รัฐบาลสิงคโปร์เคยปรับขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีรายได้สูง จาก 20% เป็น 22% เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก การปรับขึ้นภาษีครั้งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 160,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี (ราว 3.9 ล้านบาท) ซึ่งมีสัดส่วน 5% ของกลุ่มผู้ที่มีเงินได้ทั้งหมดในประเทศ
ขณะที่ผลสำรวจจากนักเศรษฐศาสตร์ 9 ใน 10 ราย เห็นตรงกันว่ารัฐบาลสิงคโปร์อาจประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax: GST) ระหว่างการแถลงแผนงบประมาณประจำปี ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้โดยคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1% จาก 7% ในปัจจุบันเป็น 8% เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐในการตอบสนองความต้องการใช้จ่ายทางสังคมในอนาคต โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มประชากรที่มีอายุมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราภาษี GST เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2007
นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ 8 ใน 12 คน ที่เห็นตรงกันว่าสิงคโปร์จเรียกเก็บภาษีผู้ค้า E-commerce เร็ว ๆ นี้ โดยกฎหมายฉบับใหม่นี้จะส่งผลให้การทำธุรกรรมดิจิทัลข้ามพรมแดนอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย GST โดยนาง Indranee Rajah รัฐมนตรีกระทรวงกฎหมายและการคลังของสิงคโปร์ เผยว่ารัฐบาลได้ศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องภาษี E-commerce ซึ่งปรากฏการณ์ธุรกิจออนไลน์ที่โตแบบรั้งไม่อยู่ทำให้รัฐบาลยิ่งต้องเร่งดำเนินการ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าสิงคโปร์จะไม่ใช่ประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สนใจเก็บภาษี E-commerce โดยรัฐบาลของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ก็ได้ยกแผนการมาพิจารณาด้วย เพื่อหวังช่วยผ่อนคลายบรรยากาศในการแข่งขันสำหรับผู้ค้าปลีกออฟไลน์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่นักเศรษฐศาสตร์ จากฝ่ายวิจัยของบริษัทหลักทรัพย์ Maybank ในสิงคโปร์เผยว่า การเรียกเก็บภาษี E-commerce อาจมีการบังคับใช้ได้ยาก เพราะถือว่าเป็นธุรกิจที่จับต้องยาก อีกทั้งผู้ค้าออนไลน์ยังหาทางเลี่ยงจ่ายภาษีได้เสมอ อย่างกรณีที่เกิดในเวียดนามและฟิลิปปินส์ เป็นต้น
ที่มาข่าวและภาพประกอบ: Arab News, 15/2/2018
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ