การใช้ไฟฟ้าสูงสุดปี 2561 อาจต่ำกว่าการคาดการณ์เป็นปีที่ 2

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 มี.ค. 2561 | อ่านแล้ว 3628 ครั้ง

การใช้ไฟฟ้าสูงสุดปี 2561 อาจต่ำกว่าการคาดการณ์เป็นปีที่ 2

สนพ.ชี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดปี 2561 นี้อาจต่ำกว่าการคาดการณ์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพราะตัวเลขการผลิตไฟฟ้าใช้เองเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2,700 เมกะวัตต์ โดย กฟผ.รายงานข้อมูล2 เดือนแรกปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณการใช้ไฟลดลง ที่มาภาพประกอบ: awstruepower.com

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2561 ว่านายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. อยู่ระหว่างติดตามตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของประเทศในช่วงหน้าร้อนปี 2561 นี้ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นระหว่างเดือน มี.ค.-มิ.ย. 2561 นี้ จะเป็นไปตามที่คาดการณ์หรือไม่ หลังจากปี 2560 ที่ผ่านมา พีคไฟฟ้าต่ำกว่าที่พยากรณ์ไว้ราว 2,000 เมกะวัตต์ และต่ำสุดในรอบ 7 ปี ซึ่งปี 2561 นี้ สนพ. คาดว่าพีคไฟฟ้าจะอยู่ที่ 31,000 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อให้พยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเบี่ยงเบนไปจากคาดการณ์ คือกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (IPS) ที่เติบโตขึ้น และสภาพอากาศที่แปรปรวน อาจส่งผลให้อุณหภูมิลดลง

อย่างไรก็ตามพีคไฟฟ้าในปี 2560 ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พ.ค. เวลา 14.20 น. อยู่ที่ 30,303.4 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าสถิติพีคไฟฟ้าในปี 2559 อยู่ที่ 30,972.73 เมกะวัตต์ และต่ำกว่าพยากรณ์ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 32,059 เมกะวัตต์สูงสุดเป็นประวัติการณ์นั้น ไม่ได้สะท้อนว่าการใช้ไฟฟ้าของประเทศชะลอตัว เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีที่ผ่านมายังเติบโต แต่เป็นเพราะมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น โดยปัจจุบันพบว่าการผลิตไฟฟ้าของกลุ่ม IPS อยู่ที่ประมาณ 2,700 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประมาณ 1,000 เมกะวัตต์

แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.คาดว่าพีคไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. ปีนี้อาจต่ำกว่าคาดการณ์เล็กน้อย จากคาดการณ์อยู่ที่ 29,493 เมกะวัตต์ หลังจากในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) พบว่าตัวเลขพีคไฟฟ้าต่ำลงเล็กน้อย โดยเดือน ม.ค.คาดว่าพีคจะอยู่ที่ 25,806 เมกะวัตต์ แต่พีคจริงอยู่ที่ 25,677 เมกะวัตต์ ขณะที่เดือน ก.พ. คาดว่าพีคจะอยู่ที่ 26,284 เมกะวัตต์ แต่พีคจริงอยู่ที่ 26,352 เมกะวัตต์ ส่วนช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน มี.ค. ยังใกล้เคียงคาดการณ์ ดังนั้นยังต้องติดตามสถานการณ์ของกลุ่ม IPS และสภาพอากาศที่ปีนี้คาดว่าอุณหภูมิช่วงหน้าร้อนอยู่ที่ 36-38 องศา

"หากปีนี้พีคไฟฟ้ายังต่ำกว่าคาดการณ์ กฟผ. จะต้องไปวิเคราะห์ว่าเกิดจากอะไรเพื่อจะได้วางแผนเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในปีต่อไปได้แม่นยำมากขึ้น และไม่เป็นภาระต่อต้นทุนผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2560) ต้องยอมรับว่าระบบของ 3 การไฟฟ้า เริ่มได้รับกระทบจากเทคโนโลยีพลังงาน เช่น โซลาร์เซลล์ที่มีต้นทุนถูกลงทำให้คนหันไปผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้นและมาช่วยตัดพีคในช่วงกลางวันแทน"

ทั้งนี้ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ได้กำชับให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รายงานข้อมูลการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ และให้ IPS ที่มีกำลังผลิตต่ำกว่า 1 เมกะวัตต์ ต้องมาจดแจ้งกับ กกพ. โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตต่าง ๆ ปัจจุบันพบว่า กลุ่ม IPS มาจดแจ้งกับ กกพ. รวมปริมาณราว 4-5 เมกะวัตต์ต่อเดือน ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: