คาดผลไม้ภาคตะวันออกปีนี้ลดลงกว่า 18%

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 เม.ย. 2561 | อ่านแล้ว 2655 ครั้ง

คาดผลไม้ภาคตะวันออกปีนี้ลดลงกว่า 18%

กระทรวงเกษตรฯ ชี้การบริหารจัดการคุณภาพและปริมาณผลไม้ภาคตะวันออก ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เกษตรกร หลังปริมาณผลไม้ตะวันออกปี 2561 ลดลงจากปี 2560 ถึงร้อยละ 18.25 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2561 ว่านายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยข้อมูลการบูรณาการสำรวจจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตไม้ผลปี 2561 ซึ่ง สศก. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี (สศท.6) และศูนย์สารสนเทศการเกษตรของ สศก. ร่วมกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออกวิเคราะห์ผลสำรวจในพื้นที่จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนบริหารจัดการไม้ผลตั้งแต่ต้นฤดู พบว่า ณ 4 เม.ย. 2561 เนื้อที่ยืนต้นของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 678,203 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีจำนวน 677,061 ไร่ หรือร้อยละ 0.17 โดยทุเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.56 ขณะที่มังคุดลดลงร้อยละ 0.30 เงาะ ลดลงร้อยละ 1.63 และ ลองกอง ลดลงร้อยละ 8.97 ซึ่งการลดลดลงของมังคุด เงาะ และลองกอง เป็นการตัดโค่นสางต้นออกเพื่อปลูกทุเรียนทดแทน

สำหรับเนื้อที่ให้ผลของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 615,172 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีจำนวน 605,481 ไร่ หรือร้อยละ 1.60) โดยทุเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.32 มังคุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.49 ส่วนเงาะลดลงร้อยละ 0.94 และลองกองลดลงร้อยละ 6.89 อย่างไรก็ตาม ด้านผลผลิตรวมทั้ง 4 สินค้า มีประมาณ 647,522 ตัน ลดลงจากปี 2560 ที่มีจำนวน 792,113 ตัน หรือร้อยละ 18.25 ซึ่งผลผลิตรวมของทั้ง 4 สินค้าจะลดลงทุกชนิด โดย มังคุด ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 64.81 รองลงมาคือ ลองกอง ลดลงร้อยละ 32.05 เงาะ ลดลงร้อยละ 9.81 และทุเรียน ลดลงร้อยละ 4.37 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ทั้งอากาศหนาว ร้อน และฝนตกสลับในแต่ละวัน ทำให้ไม้ผลปรับสภาพต้นไม่ทัน ไม่เอื้ออำนวยในการติดดอก ออกผล ไม้ผลออกใบอ่อนแทนการออกดอก ทั้งนี้ผลผลิตจะออกมากช่วงปลายเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนมิถุนายน

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในขณะนี้ สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวนในช่วงเดือนเมษายน มีพายุฤดูร้อนซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับไม้ผล ผลผลิตร่วงหล่นเสียหายเพิ่มเติมจากที่ผลวิเคราะห์ประมาณการผลผลิตไว้ในครั้งนี้ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจะได้ติดตามสถานการณ์ ความเสียหายจากภัยต่าง ๆ ที่จะกระทบกับปริมาณผลผลิตในภาพรวมต่อไป

นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการผลไม้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2561 ว่ากระทรวงเกษตรฯ ยังเน้นเรื่องคุณภาพ ปริมาณ และความปลอดภัยเป็นสำคัญ ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลผลิตสู่มาตรฐาน (GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมเกษตรกรให้รวมกลุ่มเพื่อผลิตไม้ผลในลักษณะแปลงใหญ่ อบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่วนในเชิงปริมาณ เช่น การเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า การจัดทำแผนบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกิน

โดยจังหวัดภาคตะวันออกได้จัดทำรายละเอียดของแผนบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่มีคณะกรรมการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักในการกลั่นกรองเชื่อมโยงบูรณาการแผนงานหรือโครงการ ขณะที่การบริหารจัดการเรื่องคุณภาพของสินค้า โดยเฉพาะคุณภาพของทุเรียน ที่ภาคตะวันออก เน้นให้ทั้งผู้ผลิตและผู้ค้า (ล้ง และ แม่ค้า) ตัด รับซื้อ และขายทุเรียนที่ได้อายุตัดตามมาตรฐาน มีการออกประกาศควบคุมและบทลงโทษของผู้กระทำผิด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: