ฝันบ่ายคล้ายเป็นจริง

กฤชสรัช วงษ์วรเนตร: 19 มิ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 2256 ครั้ง


Afternoon Person : Tae Parvit (ภาวิต พิเชียรรังสรรค์)

หลังจากที่กรำงานอันหนักหน่วงมาตั้งแต่ช่วงเช้า ชาวประชาภาคการเกษตรส่วนมากของประเทศไทยก็จำต้องเติมพลังให้กับร่างกายที่เมื่อยล้าด้วยมื้อเที่ยงกันอีกสักครา จากนั้นจึงใช้เวลาที่เหลือจากการรับประทานอาหารกลางวันสำหรับการพักผ่อนหรือแม้แต่หลับสักงีบเล็กๆ ก่อนที่จะเริ่มงานอีกครั้งในช่วงบ่าย พฤติกรรมดังกล่าวเห็นได้แจ่มชัดและมากหลายขึ้นในสังคมเกษตรกรรมตามท้องไร้-ท้องนาของประเทศไทยเอง ที่ผู้คนส่วนมากยังคงประกอบอาชีพทางการเกษตร มีความสำคัญเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศอ่าวข้าวเรานี้ด้วย ซึ่งตรงกับประโยคที่มักจะได้ยินกันจนคุ้นหูว่า หนังท้องตึง-หนังตาหย่อน ทำให้คิดไปว่าดินแดนภายใต้ผืนธงไตรรงค์นี้การจับจ่ายใช้เวลาของชีวิตในยามบ่ายที่เสมือนดั่งการผ่อนคลายอย่างยาวนานตลอดช่วงเวลาหลังมื้ออาหารกลางวันนั้น คงพบเห็นได้ไม่มากนักในสังคมไทย

งานนิทรรศการ Afternoon Person ของ Tae Parvit (ภาวิต พิเชียรรังสรรค์) จัดแสดงอยู่ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ในระหว่างวันที่ 28 เมษายน 2561 – 17 มิถุนายน 2561 งานนิทรรศการดังกล่าวเป็นผลงานที่สะท้อนออกมาจากห้วงอารมณ์ ความรู้สึกของศิลปิน ซึ่งได้เลือกนำเสนอ ถึงช่วงเวลายามบ่ายที่ให้ความรู้สึกปลอดกาย สบายใจ ผ่านผลงานสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบ (style) ภาวิตพำนักยังต่างประเทศนานถึง 7 ปี นอกจากร่ำเรียนในศาสตร์แห่งการออกแบบ ณ ถิ่นจิงโจ้ที่ผสมผสานทั้งWestern Culture และ Anglo-Celtic แล้วยังได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะมาไม่น้อย ตั้งแต่ Digital Paint, Mural, Animation, Live Painting จนมาถึงงานแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุด Afternoon Person สามารถพบงานที่หลากหลายตั้งแต่ Paint, Sculpture, Installation, Video Art  ที่สุมรวมดั่งตัวแทนความรู้สึกอันเบาสบายของศิลปินในนิทรรศการยามแดดทะลุกระจกนี้

เนื้อหาหลักของงานแสดงนิทรรศการนั้นก็หนีไม่พ้นการนำเสนอ วิถี-วัฒนธรรมการจับจ่ายช่วงเวลายามบ่าย (ของศิลปิน) ที่ให้ความรู้สึกเหมือนดั่งการหวนคำนึงถึงต่างแดน ไม่ว่าจะเป็น การว่ายน้ำ การดื่มชาร้อน การเล่นหมากรุก การเชยชมดมดอกไม้ หรือการวิ่งออกกำลังกาย (ยามบ่าย) นอกเหนือจากอารมณ์ความรู้สึกเบาสบาย (และหนักแน่ไปพร้อมๆกัน) ที่ได้จากการรับชมแล้ว ผู้ชมจะได้สนุกไปกับการตีความผลงานสร้างสรรค์ชิ้นต่างๆ ด้วยความคลุมเครือในความหมายของแต่ละผลงานนั่นเองจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ชมปฏิบัติการผลิตสร้างความหมายของผลงานในแต่ละชิ้นได้โดยเสรี

ภาพวาด (Paint) เป็นรูปแบบของผลงานที่มีจำนวนมากกว่ารูปแบบการนำเสนออื่นๆ แต่ละภาพนั้นคอยเชื่อมร้อยเพื่อแสดงให้เห็นถึงตัวตนของศิลปินเอง เป็นเหมือนประตูที่ค่อยๆเปิดอ้าผ่านการชมผลงาน ไม่ว่าจะเป็นภาพสระว่ายน้ำหรือการนั่งดื่มชา ด้วยวิธีการปาดป้ายด้วยสีสันลงบนผืนผ้าใบ ที่ให้ความรู้สึกอ่อนนุ่ม - เบาสบาย ประกอบกับฝีแปรงที่ดูฉับพลัน-ร้อนรนจนทับถมกันทำให้เกิดความรู้สึกที่แน่นหนาขึ้นมา ยากที่จะสรุปความเห็นได้แน่ชัดว่าให้ความรู้สึก ว้าวุ่น หรือ เบาใจกันแน่ การใช้สีโทน White – Cream เป็นพื้นหลังในหลายๆชิ้นให้กับภาพก็ยังทำให้เห็นถึงรู้สึกของความพยายามเปลี่ยนการรับรู้ทางสายตาจากผืนผ้าใบสู่กระดาษอีกด้วย

งานสร้างสรรค์รูปแบบ Installation และ Sculpture ถูกจัดแสดงอย่างจงใจไว้ท่ามกลางเหล่าภาพวาด เป็นผลงานที่นำเสนอในรูปลักษณ์ของสระว่ายน้ำ โต๊ะหมากรุก (สามารถเล่นได้จริง) รวมถึงประติมากรรมชิ้นเล็ก-ชิ้นใหญ่ที่อาจเป็นเพียงส่วนเติมเต็มของความหมายที่ถูกวาดฝันไว้ด้วยจิตรกรรมรอบด้าน อาทิกิจกรรมว่ายน้ำที่ถูกนำเสนอมากที่สุด แต่ในประเทศไทยเองก็คงมีไม่มากคนนักที่จะกระโจนลงน้ำเพื่อเล่นสนุก ไม่ว่าจะหลังมื้อกลางวันหรือในยามแสงอุทัยแรงที่สุดของวันก็ตาม ฉะนั้นงานประติมากรรมและศิลปะจัดวางก็อาจเปรียบดั่งโครงกระดูก (โครงร่าง) ทางรสนิยมของศิลปินโดยเฉพาะ

ประติมากรรมชิ้นต่างๆให้ความคลุมเครือไม่แพ้ภาพวาด อย่างน้อยก็ในแง่ของความหมาย เมื่อมองจากมุมหนึ่งก็อาจเห็นเป็นสิ่งหนึ่งได้ แต่หากมองจากอีกมุมหนึ่งความหมายก็แปรเปลี่ยนไปได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งประติมากรรมที่มีขนาดพอเหมาะกับเก้าอี้อย่างจงใจ หากผู้ชมนั่งหันซ้ายแลขวาก็อาจเห็นดอกไม้งอกออกมาจากส่วนหัวของประติมากรรมชิ้นเดิมได้ ในแง่ของความหมายทางวัสดุก็ด้วย การใช้วัสดุที่มีความหลากหลายในการผลิตหากมองผิวเผินก็อาจไม่พบสิ่งใดนอกจากอารมณ์ ความรู้สึก แต่หากขบคิดมากขึ้นไปอีกก็จะเห็นถึงความคลุมเครือในความหมายของวัสดุ เนื่องจากมีทั้งเซรามิกที่ให้ความรู้สึกถึงโลกสมัยเก่าและปูนซีเมนต์ที่เป็นวัสดุโลกสมัยใหม่อยู่รวมกัน

ทางด้านงาน Video Art นั้นศิลปินนำเสนอช่วงเวลาที่ใช้ไปกับการออกกำลังกาย (การวิ่ง) ซึ่งฉายผ่านจอภาพขนาดเล็กเปรียบดั่งภาพความจริงที่ปรากฏในรูปของภาพเคลื่อนไหวและถูกนำเสนอเป็นฐาน (รอง-แท่น) ของภาพวาด ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ก็ทำการเกื้อหนุนกันสำหรับความพยายามจำลองช่วงเวลาที่ถูกสร้างขึ้นมา กล่าวคือจะเป็น Art Object หรือแท่นรองผลงานก็สามารถดีดดิ้นความหมายได้ทั้งสองแบบ มาถึงจุดนี้ทำให้ผู้เขียนนั้นได้ตระหนักว่าแต่ความหมายจะชัดเจนก็ต่อเมื่อเลือกข้างความหมาย

หลังจากรับชมผลงานกันอย่างอิ่มหนำกันที่ห้องใหญ่กันสักพักหนึ่งแล้ว ก็เดินย้อนออกมาอีกหน่อยเพื่อเข้าไปยังห้องแยกเดี่ยวที่จัดแสดงผลงาน Video Installation Art ซึ่งห้องนี้มีที่นั่งให้ได้ผ่อนคลายความเมื่อยล้าในการเสพชม รวมไปถึงการขบคิดอย่างสนุกสนานในความหมายของผลงานที่ผ่านมา ผลงานในห้องแยกเดี่ยวมีชื่อว่า The Life Luxury Condominium ศิลปินได้นำเสนอภาพของสังคม วิถี-ชีวิตบนอาคารสูงเสียดฟ้า (เหมือนเป็นมุมมองจากคนนอกมองเข้าไปในตัวอาคารผ่านกระจก) ที่ฉายให้เห็นการมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างคึกคัก มีความเคลื่อนไหว มีชีวิต-ชีวา ด้วยเทคนิคการขีดเขียนผ่านโปรแกรมดิจิทัลในรูปแบบ Animation ฉายลงบนผืนผ้าใบที่ขึงไว้อย่างตั้งใจให้หย่อนยาน

นอกจากนั้นยังมีการจำลองสระว่ายน้ำด้วยเทคนิคศิลปะการจัดวาง (Installation Art) ขนาดใหญ่ มีแผ่นอลูมิเนียมวางซ้อน-เหลื่อมกันเสมือนดั่งระรอกคลื่นน้ำที่สาดไหวยามจ้องมอง ไม่ว่าจะเป็นแสงจากนอกห้องที่เล็ดลอดเข้ามาหรือแสงที่สะท้อนจากการฉายภาพผ่านเครื่องโปรเจคเตอร์ ในแง่ของความหมายนั้นผู้เขียนเองได้ตั้งข้อสังเกตว่า วัฒนธรรม สภาพสังคม ชีวิตการดำรงอยู่ของผู้ที่อาศัยบนอาคารสูง ไม่ว่าจะคอนโดหรือหอพักในประเทศไทยนั้น มิได้มีการปฏิสัมพันธ์กันอย่างที่ผลงานของศิลปินชิ้นนี้ตั้งใจจะนำเสนอ กระนั้นตัวแทนสระว่ายน้ำจากแผ่นอะลูมิเนียมของโลกสมัยใหม่ก็อาจเป็นเสมือนกระจกสะท้อนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามสำหรับผู้ชมให้ตระหนักในความสำคัญของความสัมพันธ์ในระดับรอบ (ข้าง) ด้านที่อยู่อาศัยก็ได้เช่นกัน

งานนิทรรศการ Afternoon Person : Tae Parvit ได้นำเราเข้าสู่อีกมุมมองหนึ่งที่เปิดกว้างต่อการตีความหมายในผลงานแต่ละชิ้น ความคุลมเครือเป็นดั่งชั้นเชิงในการนำเสนอเนื้อหาของผลงาน ซึ่งมักจะนำเราสู่ภาวะของการสลับไปมา (ทางความคิด) ตั้งแต่เทคนิคการประกอบสร้างเป็นผลงาน เนื้อหาของงานแต่ละชิ้นนั้นจึงเป็นภาพฝันที่แฝงไปด้วยคำถามต่อผู้ชมว่า คุณนั้นทำอะไรกันบ้างในยามบ่าย ? ซึ่งในทางกลับกันขณะที่คำถามกำลังก่อเกิด ภาพฝันจากจินตนาการที่ผู้ชมโหยหาก็จะประเดประดังเข้ามาแทนที่คำถาม เป็นเสมือนดั่งสุนทรียะของการตีความ ซึ่งเป็นผลให้การตีความนั้นเป็นสนามของการขบคิดที่สนุกสนาน เรียกร้องให้ผู้ชมได้พบปะ-พูดคุยเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาของงาน และตระหนักถึงความเปิดกว้างในรูปแบบศิลปะที่แตกต่างจากศิลปะกระแสหลัก สายธารของศิลปะกระแสรองดังว่านี้ก็เริ่มที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น ไหลหลากไปหลายสาขาขึ้นทุกขณะ ณ ดินแดนเทพสร้างนี้อย่างน่ารอชมกันอีกยาวไกล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: