กทม. มีนโยบายจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำจุดทางเท้าในพื้นที่เขตต่างๆ รวม 115 ถนน ดำเนินการจับปรับจักรยานยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วน 07.00-10.00 น. ที่มาภาพประกอบ: โพสต์ทูเดย์
เว็บไซต์บ้านเมือง รายงานเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2561 ว่านายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขต 50 เขต ณ ห้องประชุมกรุงธน 3 สำนักเทศกิจ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่เทศกิจ และกำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ในด้านต่างๆ ให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางที่กำหนด ตลอดจนเกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้กรอบของระเบียบ และกฎหมาย
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าเดือนที่ผ่านมากรุงเทพมหานครสามารถจัดเก็บป้ายที่ผิดกฎหมายได้ประมาณ 10,000 ป้าย โดยได้กำชับให้ดำเนินการต่อเนื่อง และหากสามารถเก็บได้ให้ดำเนินการจัดเก็บเลย กรณีทำผิดซ้ำซากก็ให้ส่งดำเนินคดี สำหรับการจอดหรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ซึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีนโยบายให้ดำเนินการเพิ่มเติมในพื้นที่เขตต่างๆ รวม 115 ถนน และให้มีเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำจุดดำเนินการจับปรับทันทีในช่วงเวลาเร่งด่วน เช้า เวลา 07.00 – 10.00 น. และเย็นเวลา 16.00 – 19.00 น. ซึ่งขณะนี้ได้ทำเรื่องเสนอไปที่ปลัดกรุงเทพมหานครแล้ว หากปลัดกรุงเทพมหานครอนุมัติก็สามารถดำเนินการได้ทันที
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่าสำหรับเรื่องหาบเร่แผงลอย ในจุดผ่อนผันที่ยกเลิกไปแล้ว ห้ามไม่ให้มีการกลับมาขายโดยเด็ดขาด หากปล่อยให้ผู้ค้ากลับมาก็จะต้องมีการสอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่ โดยในจุดที่มีการผ่อนผันให้ทำการค้าได้อยู่ก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ซึ่งจุดต่อไปที่จะดำเนินการจัดระเบียบหลังจากบริเวณเซ็นทรัลลาดพร้าว จะอยู่ในพื้นที่เขตบางกะปิ แถวพันธุ์ทิพย์ โลตัสบางกะปิ ส่วนในพื้นที่ที่สามารถทำการค้าได้ เช่น บริเวณถนนข้าวสาร ได้กำชับให้มีการปรับปรุงการตั้งวางแผงค้าต่างๆ ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น และกวดขันไม่ให้ผู้ค้าตั้งแผงค้าหรือทำการค้าล้ำลงบนถนน โดยเฉพาะบริเวณถนนรามบุตรี และบริเวณเยาวราชก็ไม่ให้มีการกวดขันผู้ค้าไม่ให้ลุกล้ำมาทำการค้าบนถนนเช่นกัน รวมถึงดูเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความสะอาดด้วย
ส่วนการจัดระเบียบพื้นที่ชั้นใน อาทิ สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย และปทุมวัน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำชับให้มีการออกตรวจและกวดขันเข้มงวดมากขึ้น โดยจะมีการออกสุ่มตรวจด้วย หากพบว่าเขตไหนมีปัญหาหรือปล่อยปละละเลย ก็จะเรียกเจ้าหน้าที่เทศกิจและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยและลงบันทึกไว้ แบ่งเป็น 3 กรณี คือ ครั้งแรกจะให้หัวหน้าชุดมาลงชื่อ ครั้งที่ 2 จะเป็นหัวหน้างานและหัวหน้าชุด และครั้งที่ 3 จะเป็นหัวหน้าฝ่าย หัวหน้างาน และหัวหน้าชุด ซึ่งถ้ามีการลงชื่อครบ 3 ครั้ง ก็จะพิจารณาให้รับโทษตามความเหมาะสมต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ