กระทรวงคมนาคมโชว์ผลงาน 4 ปีเป็นไปตามแผน กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยดันจีดีพีขยายตัวกว่า 4.8% เตรียมลงแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 4 ปี (2562-2565) อีกกว่า 1 ล้านล้านบาท รถไฟทางคู่เฟส 2, ไฮสปีดเทรน, ขยายสนามบินอู่ตะเภาและภูมิภาค เพิ่มเส้นทางเดินเรือเพื่อการท่องเที่ยว
MGR Online รายงานเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2561 ว่านายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดงานนิทรรศการและการเสวนาสร้างการรับรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี และยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ครั้งที่ 1 ภายใต้ชื่อ “One Transport for All 2018 : On the Move” พร้อมวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “คมนาคม 4 ปี+อนาคต คนไทยได้อะไร?” ซึ่งได้มีการนำเสนอผลงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และแผนงานในอนาคต โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานฯ มากกว่า 400 คน
นายอาคมกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560-2579 และยุทธศาสตร์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการระบบการขนส่ง เพิ่มประสิทธิภาพการเป็นประตูการค้าหลักและเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ อำนวยความปลอดภัย สะดวก รวดเร็วในการเดินทาง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่ความเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12
กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย (พ.ศ. 2558-2565) วงเงินลงทุนประมาณ 2 ล้านล้านบาท โดยมีเป้าหมายลงทุนรถไฟฟ้าระยะทาง 464 กม. ซึ่งในช่วงปี 2558-2561 ครม.อนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้าง 349.8 กม.ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างเตรียมประมูล คือ สายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) สายสีแดง ข่วงบางซื่อ-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง และอยู่ระหว่างเตรียมเสนอ ครม.คือ สายสีส้ม ด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนท์, สายสีแดงต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, บางขุนนนท์-ศิริราช และรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ (รังสิต) ส่วนเส้นทางที่เร่งรัดเพิ่มเติม คือ สายสีน้ำเงินต่อขยาย ช่วงบางเแค-พุทธมณฑล สาย 4 ทั้งนี้ รถไฟฟ้าทั้ง10 สายในแผนแม่บทจะแล้วเสร็จในปี 2565
สำหรับรถไฟนั้น เดิมมีระยะทาง 4,043 กม. มีเป้าหมายเพิ่มเป็น 8,150 กม. โดยจะมีการเพิ่มเป็นระบบรางทางคู่ 3,514 กม. รถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ระยะทาง 1,234 กม. โครงข่ายถนนเดิมมีมอเตอร์เวย์ 2 สาย มีทางด่วน 8 สาย ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เพิ่มมอเตอร์เวย์อีก 3 สาย เพิ่มทางด่วน 1 สาย พัฒนาทางหลวง 4 ช่องจราจร มีระยะทาง 1,050 กม. เปลี่ยนถนนลูกรังเป็นลาดยาง 3,365 กม. เป็นต้น
โดยสรุปโครงการสำคัญที่กระทรวงฯ เร่งผลักดันจนได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลปัจจุบัน จำนวน 21 โครงการ วงเงินรวม 1,099,677 ล้านบาท ได้แก่ ทางบก จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 177,003 ล้านบาท ทางราง จำนวน 13 โครงการ วงเงิน 916,779 ล้านบาท และการพัฒนาพื้นที่เชิงพานิชย์ (แปลง A) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทางน้ำ จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 3,895 ล้านบาท ทางอากาศ จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 2,000 ล้านบาท
สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งปี 2561 ได้เปิดให้บริการระบบตั๋วร่วม หรือบัตรแมงมุมในการเดินรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง รวมถึงผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงเร่งผลักดันโครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง ที่จะทยอยเสนอ ครม.ภายในปีนี้และเริ่มก่อสร้างในปี 2562
สำหรับรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ภายใต้ความร่วมมือไทย-จีน จะประมูลได้ในไตรมาสที่ 3 นี้ ส่วนรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-เชียงใหม่ อยู่ระหว่างเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติดำเนินการออกแบบรายละเอียดในปี 2562 ซึ่งจะหารือกับญี่ปุ่นเพื่อให้เข้ามาร่วมลงทุนด้วย ขณะที่รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน มีเอกชน 31 รายซื้อเอกสาร มีเวลาให้ยื่นข้อเสนอีก 4 เดือน จะคัดเลือกเสร็จในปลายปี 2561 ส่วนเส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน อยู่ระหว่างทำรายละเอียดเพิ่มเติมเสนอคณะกรรมการ PPP
“ตลอด 4 ปี บทบาทการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของภาครัฐ มีส่วนในการเพิ่มจีดีพีอย่างมาก ซึ่งในไตรมาส 1/61 จีดีพีขยายตัวกว่า 4.8% การเติบโตดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการก่อสร้างโครงการภาครัฐโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ประมาณ 30% ที่เหลือจะเป็นการส่งออกและการบริโภคในประเทศ”
นายอาคมกล่าวว่า ตามแผนงานในอีก 4 ปีข้างหน้า (2562-2565) กระทรวงคมนาคมจะมีการลงทุนอีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง ระยะทาง 2,164 กม. วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท, รถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,234 กม. ได้แก่ ช่วงกรุงเทพ-หัวหิน,นครราชสีมา-หนองคาย, กรุงเทพ-พิษณุโลก, พิษณุโลก-เชียงใหม่, มอเตอร์เวย์ 4 เส้นทาง ได้แก่ สายนครปฐม-ชะอำ, หาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย, ทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน และทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน-มหาชัย
ขยายทางหลวง 4 ช่องจราจร ระยะทาง 1,429 กม. เปลี่ยนถนนลูกรังเป็นลาดยาง 3,085 กม., พัฒนาศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม, พัฒนาสถานีขนส่งสินค้าชายแดและภูมิภาค เพิ่มเติม 12 แห่ง กระจายสินค้าสู่อาเซียน, ก่อสร้างจุดพักรถบรรทุก 34 แห่ง
ส่วนทางอากาศพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา, พัฒนาสนามบินภูมิภาค 7 แห่ง ได้แก่ สนามบินสกลนคร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ตรัง, ลำปาง, แพร่, หัวหิน
ทางน้ำ มีการพัฒนาท่าเรือสงขลา, ท่าเรือบก จ.ขอนแก่น เปิดเส้นทางเดินเรือ ภูเก็ต-พังงา-กระบี่, พัฒนาเส้นทางเดินเรือเฟอร์รี่ 5 เส้นทาง ได้แก่ บางสะพาน-แหลมฉบัง, หัวหิน-พัทยา, สงขลา-แหลมฉบัง, สุราษฎร์ธานี-สัตหีบ, ปากน้ำปราณบุรี-สัตหีบ และปรับปรุงท่าเทียบเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 8 แห่ง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ