'เอสซีจี-ดั๊บเบิ้ล เอ' เลิกไลน์ผลิต 'กระดาษแมกาซีน' หลังสิ่งพิมพ์ทยอยปิดตัว

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ส.ค. 2561 | อ่านแล้ว 4091 ครั้ง

'เอสซีจี-ดั๊บเบิ้ล เอ' เลิกไลน์ผลิต 'กระดาษแมกาซีน' หลังสิ่งพิมพ์ทยอยปิดตัว

สื่อ 'ประชาชาติธุรกิจ' รายงาน 2 ยักษ์ใหญ่วงการกระดาษ 'เอสซีจี' (SCG) และ 'ดั๊บเบิ้ลเอ' (AA) เลิกไลน์ผลิตกระดาษโค้ต-แมกาซีน หันนำเข้าตามออร์เดอร์ หลังกลุ่มผู้ผลิตนิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์ได้ทยอยปิดตัวไปมากกว่า 100 ราย ที่มาภาพประกอบ: wilkernet (CC0)

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2561 ว่าจากการที่กลุ่มผู้ผลิตนิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์ได้ทยอยปิดตัวไปมากกว่า 100 ราย ส่งผลให้ความต้องการใช้กระดาษโค้ต หรือกระดาษมันสำหรับผลิตนิตยสาร หรือที่เรียกว่า กระดาษแมกาซีนลดลง จนทำให้ผู้ผลิตกระดาษแมกาซีน 2 รายใหญ่ของประเทศคือ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) หรือ 'กระดาษดั๊บเบิ้ล เอ' กับบริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย หรือ 'กระดาษเอสซีจี' ตัดสินใจยกเลิกไลน์การผลิตกระดาษแมกาซีนลงอย่างสิ้นเชิง และหันไปใช้วิธีการนำเข้าแทน ส่งผลให้กระดาษประเภทนี้ต้องถูกปรับราคาจำหน่ายขึ้นในที่สุด

นางวิมล จันทร์เทียร ผู้อำนวยการแบรนด์เฟสท์ กลุ่มธุรกิจ fibrous ในเครือบริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) ระบุว่าขณะนี้เอสซีจีได้เลิกผลิตกระดาษสำหรับแมกาซีน (โค้ตเต็ดเปเปอร์) กระดาษอาร์ต 2 ด้าน ที่เป็นกระดาษเคลือบมันสำหรับทำแมกาซีนแล้ว และหันไปนำเข้าจากแหล่งต่างๆ เช่น สหภาพยุโรป, เกาหลี, จีน, อินโดนีเซีย เข้ามาตามคำสั่งซื้อแทน ตามความต้องการใช้กระดาษที่ลดลงจากการปิดตัวของนิตยสาร ซึ่งเป็นเทรนด์อย่างนี้ไปทั่วโลกส่งผลให้ผู้ผลิตกระดาษพิมพ์ทั่วโลกหันมาผลิตกระดาษแพ็กเกจจิ้ง ออนไลน์แพ็กเกจจิ้ง สำหรับใส่อาหาร หรือใส่ส่งของออนไลน์กันมากขึ้น

ก่อนหน้านี้เอสซีจีได้แถลงผลประกอบการธุรกิจไตรมาส 2 โดยระบุว่า ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ธุรกิจของเอสซีจีขยายตัว 12% มียอดขาย 21,792 ล้านบาท โดยแยกเป็นบรรจุภัณฑ์กระดาษ (แพ็กเกจจิ้งเปเปอร์) กับกลุ่ม fibrous ขยายตัว 12% ในส่วนของธุรกิจ fibrous จะดูแลผลิตภัณฑ์หลัก 2 ตัวคือ 1) กราฟิกเปเปอร์หรือกลุ่มกระดาษพิมพ์เขียนและกระดาษถ่ายเอกสาร IDEA และ 2) กลุ่มบรรจุภัณฑ์กระดาษ ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกกลุ่มกระดาษพิมพ์เขียนลดลง 6-10% “ยกเว้น” กระดาษ IDEA ที่ขยายตัว 1% ตามทิศทางการศึกษาและการพัฒนาการศึกษาของไทยยังขยายตัวได้ดี โดยบริษัทมีกำลังการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนประมาณ 350,000 ตัน/ปี

ในขณะที่รายได้ของกลุ่มฟู้ดแพ็กเกจจิ้ง(บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร) ขยายตัว 2.6% ในช่วงครึ่งปีแรก ทั้งในส่วนของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เพื่อการผลิตสำหรับบรรจุอาหารที่ผลิตต่อเนื่องในไลน์การผลิต (process food) และอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 35% แพ็กเกจที่ใช้แล้วทิ้งสำหรับธุรกิจบริการร้านอาหาร (food service) ร้านแฟรนไชส์อาหาร ควิกเชนเรสเตอรองต์ ผู้ประกอบการสตรีตฟู้ด SMEs ร้านอาหาร ที่มีบริการดีลิเวอรี่ และกลุ่ม global หรือ regional chain ซึ่งทางบริษัทจะมุ่งเน้นการรุกตลาด 3 กลุ่มนี้ให้ได้มากขึ้น

สำหรับภาพรวมของธุรกิจ fibrous นั้น นางวิมลกล่าวว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าสัดส่วนรายได้จะกลับด้านกัน โดยกลุ่มกราฟิกเปเปอร์-กระดาษพิมพ์เขียน-กระดาษ IDEA ปัจจุบันเป็นธุรกิจหลักสัดส่วน 60% ของ 100% ก็จะลดลงเหลือ 20% โดยจะเร่งทรานส์ฟอร์มกลับด้านให้บรรจุภัณฑ์อาหารมีสัดส่วนเพิ่มจาก 40% เป็น 80% เนื่องจากสังคมการใช้ชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป คนไทยนิยมทานอาหารนอกบ้านหรือไม่ก็สั่งดีลิเวอรี่ทำธุรกิจจัดส่งอาหาร เช่น ฟู้ดแพนด้า GRAB Food เติบโตดี

ในขณะที่กลุ่มกระดาษพิมพ์เขียน2 ตัวก็คงต้องติดตามสถานการณ์ดิจิทัล เพราะ “ดีมานด์การใช้ลดลง ทางเราก็ยอมรับสภาพ และพยายามพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้า แต่จะมุ่งเน้น transform ไปสู่การเพิ่มสัดส่วนธุรกิจแพ็จเกจจิ้งให้เร็วที่สุด เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าตอนนี้ดีมานด์หาย ถ้าไม่รีบทรานส์ฟอร์มธุรกิจเราไปให้ได้เร็วที่สุด ก็จะเป็นสิ่งที่ดีกับอุตสาหกรรมของเรา” นางวิมลกล่าว

ล่าสุดบริษัทได้มีการลงทุน 800 ล้านบาทที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ในการขยายการผลิตผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษจากยูคาลิปตัสขึ้นเป็นบรรจุภัณฑ์จากเยื่อธรรมชาติ Fest ซึ่งเป็นการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เฟสท์ที่ทำจากกระดาษ Fest ที่เปิดตัวไปเมื่อ 2 ปีก่อน (2559) จนได้รับผลการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภค โดยนวัตกรรมใหม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมย่อยสลายได้ มีความคงทน สามารถเข้าไมโครเวฟได้ และที่สำคัญไม่ได้มีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์จากเยื่อกระดาษเฟสท์เดิมมากนัก

“โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์เยื่อธรรมชาติเฟสท์แห่งใหม่ที่ อ.น้ำพอง เฟส 1 มีกำลังการผลิต 150 ล้านชิ้น/ปี จากเดิมที่มีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์เยื่อกระดาษเฟสท์เดิมประมาณ 250 ล้านชิ้น/ปี หากสามารถทำตลาดและเพิ่มกำลังการผลิตได้ 85% ทางบริษัทก็มีความตั้งใจจะขยายการลงทุนเฟส 2 ต่อไป โดยเน้นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทันสมัย ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพ ต้นทุนการผลิต ขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งหลอดกระดาษ ช้อน มีด ส้อม โดยวางเป้าหมายขยายตัว 300% เป็น 3,000 ล้านบาทใน 5 ปี” นางวิมลกล่าว

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกลุ่มผู้ผลิตนิตยสาร-แมกาซีนที่ยังเปิดดำเนินการอยู่เข้ามาว่า การยกเลิกไลน์การผลิตกระดาษแมกาซีนของดั๊บเบิ้ล เอ กับเอสซีจี และหันไปนำเข้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้านั้น มีผลทำให้กระดาษแมกาซีนต้องปรับราคาจำหน่ายขึ้นมาประมาณ 10-20% หรือประมาณรีมละ 10-15 บาท และต้องสั่งซื้อล่วงหน้า โดยการปรับขึ้นราคาครั้งนี้ใกล้เคียงกับกลุ่มผู้นำเข้ากระดาษแมกาซีนรายเดิมที่ทำตลาดอยู่ในปัจจุบัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: