กรมทางหลวง (ทล.) ขอค่าเวนคืน ‘มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี’ เพิ่ม 14,217 ล้านบาท รวมเป็น 19,737 ล้านบาท สูงกว่าเดิม 3.6 เท่าตลอดทั้งเส้นทาง เตรียมจ่าย ต.ค. 2561 ชี้ราคาเก่าประเมินตั้งแต่ปี 2551 แต่ พ.ร.ฎ.เวนคืนฯ ออกปี 2556 -ครม.อนุมัติปี 2558 ต้องทำการประเมินใหม่ ยอมรับความผิดพลาดหากเกิดจากตัวบุคคลจะลงโทษตามระเบียบข้าราชการ พบราคาเวนคืนใหม่เฉลี่ย 205.6 ล้านบาท/กม. เทียบ ‘มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช’ ได้เฉลี่ยแค่ 33.8 ล้านบาท/กม. เท่านั้น กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบเส้นบางปะอิน-โคราช ชี้ควรตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดราคาเบื้องต้นขึ้นใหม่ (ภาพประกอบความคืบหน้าการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ณ เดือน มิ.ย. 2561)
เมื่อเดือน ม.ค. 2561 คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติในหลักการ (1) ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน และ (2) ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา และการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน และเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีอำนาจวางเงินค่าทดแทนเพื่อเข้าครอบครอง หรือใช้อสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและส่งมอบพื้นที่เพื่อสร้างทางหลวงทั้ง 2 สายดังกล่าวได้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ [1]
‘มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี’ ขอค่าเวนคืนเพิ่มอีก 14,217 ล้าน
ต่อมาในเดือนก.ค. 2561 นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวงระบุว่า ภาพรวมของการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงินประมาณ 6 หมื่นล้านบาท มีความล่าช้าในการดำเนินการประมาณ 9-10 เดือน จากปัญหาการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากต้องเพิ่มเติมงบอีก 14,217 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม (สรค.) ตั้งเป้าจะเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ได้ภายในเดือน ส.ค. 2561 นี้ เพื่อนำมาจ่ายค่าเวนคืนให้กับประชาชนภายใน ต.ค.2561 จากนั้นจะเร่งรัดในเรื่องเอกสารและการจ่ายค่าเวนคืนทั้งหมด [2]
"เราจะมีการจัดตั้งวอร์รูมเพื่อเข้ามาดูแลในเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ ทั้งเรื่องการจ่ายเงิน เรื่องเอกสาร ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นธรรมกับประชาชนอย่างแน่นอน ตอนนี้โครงการมีความล่าช้า แต่ในบางตอนสามารถเข้าพื้นที่ได้แล้ว โดยตอนที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินการที่สุด คือ ตอนที่ 23" อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวพร้อมทั้งระบุว่าปัญหาการเวนคืนที่ดินกรณีดังกล่าวนั้นส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2561 ของกรมทางหลวงมีความล่าช้าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปกติกรมทางหลวงจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ประมาณ 75% แต่ในขณะนี้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เพียง 60% เท่านั้น อย่างไรก็ตามหากสามารถแก้ปัญหาการเวนคืนที่ดินและสามารถเดินหน้าโครงการต่อไปอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าภายในปีงบประมาณนี้จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ [3]
ค่าเวนคืนเก่าไม่ up dare ราคาใหม่สูงขึ้น 3.6 เท่า ทิ้ง‘บางปะอิน-โคราช’ ไม่เห็นฝุ่น
สำหรับค่ากรรมสิทธิ์ของสายบางใหญ่-กาญจนบุรีนั้น มีการของบเพิ่มเติมจากเดิมที่มีกรอบวงเงินประมาณ 5,420 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นอีก 14,217 ล้านบาท ทำให้วงเงินเวนคืนรวมอยู่ที่ประมาณ 19,737 ล้านบาท กรมทางหลวงระบุเหตุผลว่าเนื่องจากได้มีการตรวจสอบราคาที่ดินและความถูกต้องของเอกสารแล้วพบว่างบประมาณในการเวนคืนเดิมนั้นเป็นการประเมินราคาตั้งแต่ช่วงปี 2551 แต่ต่อมาได้ออก พระราชกฤษฎีกากําหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน - นครราชสีมา พ.ศ. 2556 และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการเมื่อปี 2558 ส่งผลให้ต้องทำการลงพื้นที่ประเมินราคาที่ดินใหม่ให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
"กรมทางหลวงจะไปพิจารณาหาความผิดพลาด ซึ่งถ้าความผิดพลาดเกิดจากตัวบุคคลจะพิจารณาลงโทษตามระเบียบข้าราชการต่อไป" รายงานระบุ [4]
ทั้งนี้ งบประมาณเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้น 14,317 ล้านบาท จากเดิม 5,420 ล้านบาท รวมเป็น 19,737 ล้านบาท ของกรมทางหลวงนั้นทำให้วงเงินรวมสูงกว่าเดิมถึง 3.6 เท่า (ที่น่าสังเกตคือราคาที่ดินปี 2551 กับปี 2556 ห่างกันเพียง 5 ปีเท่านั้น)เมื่อเปรียบเทียบกับมอเตอร์เวย์สายอื่นพบว่า มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรีมีระยะทางยาวรวม 96 กิโลเมตร ค่าเวนคืนที่ดินใหม่อยู่ที่ 19,737 ล้านบาท คิดเป็น 205.6 ล้านบาท/กิโลเมตร แต่เมื่อเทียบกับมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทางยาวรวม 196 กิโลเมตร ค่าเวนคืนใหม่อยู่ที่ 6,630 ล้านบาท คิดเป็น 33.8 ล้านบาท/กิโลเมตร เท่านั้น
ผู้ได้รับผลกระทบมอเตอร์เวย์โคราชร้องตั้งคกก.กำหนดราคาใหม่
ตัวแทน กลุ่มพิทักษ์ปากช่อง ที่ได้ทำการเก็บข้อมูลโครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช และสายอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง ได้ให้ข้อมูลกับ TCIJ ว่า ทางกลุ่มเห็นด้วยที่ผู้ถูกเวนคืนในโครงการสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ควรได้รับค่าเวนคืนเพิ่มตามการประเมินราคาที่ดินในปัจจุบันที่เป็นธรรม แต่การออกมาระบุของกรมทางหลวงครั้งนี้ช่วยยืนยันข้อเท็จจริงอีกประการคือ การกำหนดราคาเวนคืนที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับที่กำหนดไว้ ว่าการพิจารณาค่าชดเชยที่ดินที่ถูกเวนคืนจะต้องตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นอันประกอบด้วย 1.ผู้แทนจากกรมทางหลวง 2.ผู้แทนจากสำนักงานที่ดินในพื้นที่ที่ถูกเวนคืน 3.ข้าราชการจากอำเภอ 4.ข้าราชการจากจังหวัด และ 5.ผู้แทนสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทน
"ทางกลุ่มพิทักษ์ปากช่อง เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่กรมทางหลวงเพิ่มค่าเวนคืนให้มอเตอร์เวย์เส้นบางใหญ่-กาญจนบุรี และควรเพิ่มให้ตลอดทั้งเส้นทางตั้งแต่บางใหญ่จนถึงกาญจนบุรี มิใช่เลือกเพิ่มให้แค่บางส่วนหรือบางช่วงเท่านั้น" ตัวแทนกลุ่มพิทักษ์ปากช่อง กล่าวกับ TCIJ
ตัวแทนกลุ่มพิทักษ์ปากช่องกล่าวอีกว่า จากการชี้แจงของกรมทางหลวงที่ระบุว่าเกิดความผิดพลาดในการกำหนดราคาโดยนำราคาประเมินปี 2551 มาใช้ในการคำนวณ (ซึ่งที่ถูกต้องคือต้องใช้ราคาปี 2556) แสดงว่าคณะกรรมการทั้ง 5 ฝ่าย ผิดพลาดร่วมกันทั้งหมดโดยนำราคาประเมินปี 2551 มาร่วมกันและช่วยกันคำนวณและกำหนดราคาค่าชดเชยที่ดินที่ถูกเวนคืน โดยไม่มีใครในคณะกรรมการกำหนดราคาฯ แม้แต่รายเดียวทักท้วงหรือเห็นข้อผิดพลาดนี้ ซึ่งไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ได้ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ผู้ได้รับผลกระทบโครงการมอเตอร์เวย์ในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้เคยชี้แจงไว้แล้วว่า ในการกำหนดราคาค่าชดเชยที่ดินที่ถูกเวนคืนโครงการมอเตอร์เวย์ในพื้นที่ อ.ปากช่อง มีผู้กำหนดราคาเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้กำหนดราคาแต่เพียงผู้เดียว มิได้เป็นคณะกรรมการกำหนดราคาแต่อย่างใด
นอกจากนี้ใน บันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาภาคประชาชน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ลงวันที่ 19 พ.ค. 2559 ผู้แทนจากสำนักงานที่ดิน อ.ปากช่อง เคยระบุไว้ว่า "กรมทางหลวงเป็นผู้ประเมินราคามาเอง ไม่ได้ให้ทางกรมที่ดินเป็นผู้ประเมิน" (ซึ่งก็คือราคาที่ที่ปรึกษาบริษัทเอกชนรายหนึ่งเป็นผู้กำหนดมานั่นเอง)
"เห็นชัดเจนว่าแม้แต่กรมที่ดินเองซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับราคาที่ดิน ก็ยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดราคาแต่อย่างใด ดังนั้นในการกำหนดราคาชดเชยที่ดินที่ถูกเวนคืนนั้น น่าจะกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายและระเบียบวิธีปฏิบัติที่ค่าชดเชยต้องเกิดจากการพิจารณาร่วมกันของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นทั้ง 5 ฝ่าย" ตัวแทนกลุ่มพิทักษ์ปากช่อง ระบุ
ตัวแทนกลุ่มพิทักษ์ปากช่องให้ความเห็นต่อว่า ควรมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดราคาเบื้องต้นขึ้นใหม่ อีกทั้งขณะนี้พื้นที่ที่ถูกเวนคืนช่วงระหว่าง ต.กลางดง ต.ดงพญาเย็น ถึง ต.หนองน้ำแดง และ ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กรมทางหลวงยังไม่สามารถตกลงราคาค่าทดแทนทรัพย์สินกับประชาชนผู้ถือกรรมสิทธิ์อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องเพิ่มเติมผู้แทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้แทนจากสภาทนายความ และตัวแทนจากประชาชนที่ถูกเวนคืนที่ดินในคณะกรรมการกำหนดราคาฯ ตามที่มติที่ประชุมการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมาของกรมทางหลวง ในการประชุมครั้งที่ 8/2548 เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2548
ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม
[1] ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน - นครราชสีมา เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน และร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน รวม 2 ฉบับ (มติคณะรัฐมนตรี, 31/1/2561)
[2] ไฮสปีดกรุงเทพฯ-หัวหินส่อแท้ง แผนก่อสร้างไม่ชัดเจน/มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจน์อืด (ไทยโพสต์, 31/7/2561)
[3] ทรานสปอร์ต เจอร์นัล ฉบับวันที่ 1-15 ส.ค. 2561
[4] คมนาคมโยน ครม.เคลียร์ปม งบมอเตอร์เวย์ 'บางใหญ่' บาน (แนวหน้า, 31/7/2561)
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: รายงานสอบผลกระทบสิทธิชุมชนฯ 'มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี' ของ ก.คมนาคม
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ