'ป่าบุญเรือง' สนามแห่งการต่อสู้ทางความคิดระหว่างอำนาจรัฐและอำนาจท้องถิ่น

นักศึกษาภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: 20 พ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 5385 ครั้ง


'ป่าบุญเรือง'

พื้นฐานสังคมชนบทไทยชาวบ้านล้วนอาศัยพึ่งพาป่าเพื่อปัจจัย 4 ซึ่งได้แก่ แหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค  และเครื่องนุ่งห่ม ที่มีความสำคัญต่อชีวิตมาเป็นเวลายาวนาน อาศัยผลผลิตจากป่าเป็นรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำเกษตรกรรม  อีกทั้งป่ายังเป็นแหล่งที่มาของความเชื่อ ประเพณี ซึ่งเป็นรากฐานความสัมพันธ์ของชุมชน บทบาทของป่าต่อความอยู่รอดของชุมชนจึงมีมาเนิ่นนานและไม่สามารถแยกจากกันได้ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านชุมชนบุญเรืองและป่านั้นก็เช่นกัน สภาพนิเวศแถบนี้เป็นป่าชุ่มน้ำผืนใหญ่ของลุ่มน้ำอิง ที่มีเนื้อที่ 3,021 ไร่ หากเปรียบแม่น้ำอิงเป็นเส้นเลือดหลักของลุ่มน้ำ ป่าบุญเรืองผืนนี้เปรียบเสมือน “หัวใจของลุ่มน้ำอิง” เนื่องจากชาวบ้านอาศัยพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติและดูแลรักษามานานหลายชั่วอายุคน จนปัจจุบันชุมชนร่วมกันจัดการในรูปแบบป่าชุมชนที่ชาวบ้านอาศัยพึ่งพิงทั้งเป็นแหล่งอาหาร ไม้ใช้สอย สมุนไพร แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และยังเป็นแก้มลิงธรรมชาติที่รองรับน้ำหลากไม่ให้ท่วมพื้นที่เกษตรกรรมและหมู่บ้านโดยรอบ แต่เมื่อไม่นานมานี้อำนาจแห่งรัฐที่เข้ามาพร้อมกับการแฝงตัวมากับโรงงานอุตสาหกรรมก็เข้ามาอ้างพื้นที่ป่าแห่งนี้เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม อีกทั้งยังต้องการเปลี่ยนผืนป่าให้กลายเป็นแหล่งเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งนำมาสู่ความไม่พอใจของชาวบ้านเพราะผืนป่าแห่งนี้ เปรียบเสมือนแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขามาอย่างยาวนาน ความพยายามของรัฐดูเหมือนจะไม่เป็นผลเมื่อ  ชาวบ้านมีการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อคัดค้านและประท้วงการเข้ามาของอำนาจรัฐที่ไม่เข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น ในด้านคุณค่าและความสัมพันธ์ ชาวบ้านพื้นที่นั้นมีความผูกพันกับป่าแห่งนี้มายาวนานตั้งแต่มีการก่อตั้งหมู่บ้านมาเมื่อ 150 ปีก่อน 

จากการเล่าของชาวบ้านได้บอกว่า

“ผืนป่านี้เปรียบได้กับกระทะตองตี่มีรวมทุกอย่างหื้อเฮาได้กิ๋นได้ใจ้ มีตึงผัก มีตึงยา มีกู้อย่างใครไขอยากได้หยั๋งกะเข้ามาหาเอาได้”

สามารถอธิบายจากคำพูดของชาวบ้านได้ว่า ผืนป่านี้เปรียบได้กับกระทะทองที่มีรวมทุกอย่างทุกคนสามารถเข้าไปหากินได้ตลอดทั้งปี เช่น หาผัก จับปลา ล่าสัตว์ ยกยอ หว่านแห เป็นต้น ว่างจากการทำนาก็หาของป่ามาขาย มีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี ในรอบหนึ่งปี ชาวบ้านจะเข้าไปหาอาหารในนั้น เพราะมีทั้งเห็ด พืชอาหารพื้นบ้าน ปลา และของป่าอื่นๆ เช่น ผึ้ง ต่อ จิ้งหรีดยักษ์ คนที่มีกินคือคนที่ขยันเข้าไปหากิน บางคนไม่มีไร่นาแต่ก็อยู่ได้เพราะมีป่าเป็นแหล่งอาหารนานาชนิดและแหล่งหาเงินให้กับครอบครัว การใช้ประโยชน์ร่วมกันมาอย่างแบ่งปันและผูกพันกับป่ามาแต่อดีต ทำให้ทุกคนต่างมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน หลายคนเกิดก็พบว่าป่าผืนใหญ่ผืนนี้แล้ว พ่อแม่พาเข้าไปหากินแต่เด็ก เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากป่าจากรุ่นสู่รุ่นหลายช่วงอายุแล้ว ถ้าไม่มีป่าในช่วงที่ผ่านๆ มาหลายชีวิตหลายครอบครัวคงต้องลำบากมากกว่านี้ ป่าเป็นมากกว่าต้นไม้ แต่ป่าเป็นส่วนหนึ่งของของชีวิต

การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรธรรมชาติ

ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจและการเข้ามาของผู้ประกอบการทางสังคมบนฐานทรัพยากรธรรมชาติมีความเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้น เราจะเห็นได้จากบริเวณริมแม่น้ำโขง จังหวัดเชียงราย มีท่าเรือขนสินค้าทั้งของรัฐบาลและเอกชนเกิดขึ้น ภายในพื้นที่ที่มีชาวบ้านดั้งเดิมอาศัยอยู่ การพัฒนาของรัฐเริ่มเข้ามามีบทบาทในฐานะนักลงทุนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีการสำรวจพื้นที่เพื่อการลงทุนอีกหลายหมู่บ้านในจังหวัดเชียงรายเพื่อก่อตั้งแหล่งเขตเศรษฐกิจพิเศษ จากการลงพื้นที่และสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากชาวบ้านเกี่ยวกับกรณีการเข้ามาของกลุ่มผู้ประกอบการทางสังคม พบว่า มีหลายโครงการที่เป็นโครงการพัฒนาในลุ่มแม่น้ำอิงที่มีความสัมพันธ์นโยบายการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐบาลเกิดขึ้น อาทิ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ  โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตเชียงของ แลtมหาวิทยาลัยสวนสุนันทาที่บ้านบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

ซึ่งรัฐบาลกลับมีความพยายามหลายต่อหลายครั้งในการแปรสภาพ-เพิกถอนสถานะผืนป่าชุ่มน้ำแห่งนี้ ให้กลายเป็น 'ที่ราชพัสดุ' โดยมีวิธีการที่จะใช้พื้นที่ป่าชุ่มน้ำบุญเรืองดำเนินโครงการดังกล่าว ในลักษณะที่มีการถมที่ดินพื้นที่แห่งนี้  เพื่อรัฐจะได้นำมาใช้ในโครงการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจและการเข้ามาของผู้ประกอบการทางสังคมบนฐานทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าชุ่มน้ำบุญเรือง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรัฐบาลหรือนายทุน ก็ล้วนแต่เป็นจุดชนวนให้ชาวบ้าน หมู่ 2 ลุกขึ้นมาต่อต้านอย่างหนัก เมื่อปี พ.ศ.2558 เนื่องจากว่า ชาวบ้านบุญเรือง หลายช่วงอายุคน มีวิถีชีวิต ความคิด ที่ผูกติดไว้กับผืนป่าบุญเรือง จึงร่วมมือกันต่อต้านอย่างสุดกำลัง เพื่อที่จะปกป้องและอนุรักษ์เนื้อที่ป่าแห่งนี้ให้ดีที่สุด เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนและการธำรงรักษาผืนป่านี้ไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

การต่อต้านผ่านองค์ความรู้

จุดเริ่มต้นของการลุกขึ้นมาต่อต้านของชาวบ้านในชุมชนได้ใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์โดยชาวบ้านในชุมชนได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มาคำนวณให้ทางรัฐบาลเห็นว่าป่าแห่งนี้ไม่ได้เป็นป่าเสื่อมโทรมหากแต่เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณ ทั้งพืชอาหาร พืชสมุนไพร นานาชนิด รวมไปถึงแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลาน้ำจืด

ตามสภาพพื้นที่ เราพบทั้งต้นชุมแสง ผักกูด ต้นบุก ต้นงิ้ว หน่อไม้ และกลุ่มต้นไม้ใช้สอยที่ชาวบ้านนำไปเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่ใช้ในการรักษาโรค จึงไม่น่าแปลกที่ป่าแห่งนี้จะเป็นแหล่งวัตถุดิบในการประกอบอาหารหรือสมุนไพร แม้แต่เศษไม้เล็กน้อยก็สามารถนำมาใช้เป็นฟืนในการหุงหาอาหารได้ ภายใต้กฎกติกาที่ว่า “ใช้ได้แต่ต้องรู้จักใช้” โดยมีชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์จากผลผลิตเหล่านี้จากป่าบุญเรืองถึง 617 ครัวเรือน จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 23,178.37 บาทต่อครัวเรือนต่อปี  และนอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการกล่าวอีกว่า

“ใครจะเข้ามาหากินก็ได้ คนในพื้นที่หรือนอกพื้นที่แวะเข้าป่ามาหาเก็บหน่อหรือหาของป่าได้ แต่ต้องเอาไปอย่างพอกินไม่ใช่เอาไปค้าขายหรือทำลายผืนป่า และไม่ยิงหรือล่าสัตว์ป่าที่หายาก” 

ขณะเดียวกันป่าบุญเรืองเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ช่วงฤดูฝนเมื่อน้ำจากแม่น้ำอิงไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ริมน้ำและพื้นที่ต่ำกว่า โดยในป่ามีหนองน้ำที่เชื่อมถึงกัน ช่วงเวลาที่เกิดน้ำเอ่อล้นป่าแห่งนี้จึงทำหน้าที่เป็นแก้มลิงธรรมชาติ ช่วยรองรับน้ำ เก็บกักน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคและบริโภค ทำให้หนองน้ำในป่าบุญเรืองทั้ง 21 หนอง สามารถกักเก็บน้ำได้ทั้งหมด 2,193,826.00 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นมูลค่า 329,073.90 บาทต่อปี  

อีกทั้งสัตว์น้ำรวมถึงพันธุ์ปลาหลากหลายชนิดจากแม่น้ำอิงจะแหวกว่ายเข้ามาวางไข่ในหน้าน้ำจึงกลายเป็นแหล่งอนุบาลและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งมีพันธุ์ปลาท้องถิ่นมากถึง 87 ชนิด ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 94 ของชนิดพันธุ์ปลาท้องถิ่นที่พบในแม่น้ำอิง และยังมีพันธุ์ปลาต่างถิ่นอีก 16 ชนิด และบางชนิดถือว่าเป็นพันธุ์ที่หายากอีกด้วย ชาวบ้านนั้นอาศัยหากินกันอย่างรู้คุณค่าต่างช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์ปลา ไม่จับปลาในช่วงฤดูวางไข่ ทำให้หนองน้ำในป่าบุญเรืองอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาหลากหลายชนิด จากการประเมินเป็นมูลค่าแล้วพบว่า ป่าบุญเรืองมีมูลค่าจากการทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เท่ากับ 21,170,758.98 บาทต่อปี

ป่าบุญเรืองถือเป็นป่าชุ่มน้ำที่มีความหนาแน่นของต้นไม้เป็นจำนวนมาก ซึ่งต้นไม้เหล่านี้คอยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มาสังเคราะห์แสงและผลิตเป็นอาหารให้กับตัวเอง ต้นไม้ยิ่งมีขนาดใหญ่อายุยืนมากเท่าไหร่ ศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนเพื่อไปใช้ในการสังเคราะห์แสงก็มากขึ้นเท่านั้น ตลอดอายุขัยของไม้ยืนต้น 1 ต้น จะสามารถเก็บกักคาร์บอนได้เฉลี่ย 1-1.7 ตันคาร์บอน และยังสามารถดูดซับก๊าซอื่นๆ ที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้อีก เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ได้อีกด้วย

ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) ได้ศึกษาศักยภาพในการเก็บกักคาร์บอนของป่าบุญเรืองแล้วพบว่า ป่าบุญเรืองมีการเก็บกักคาร์บอนเหนือดินรวม 172,479 ตัน หรือเทียบเท่ากับการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ขนาดเล็กได้สูงกว่า 500,000 คันต่อปี จึงกล่าวได้ว่านอกจากป่าจะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกแล้วยังปลดปล่อยออกซิเจนให้มนุษย์และสัตว์ได้ใช้ดำรงชีวิตได้อีกด้วย

ทำไมต้องรักษาป่าบุญเรือง?

เนื่องจากป่าบุญเรืองมีความสมบูรณ์ของทรัพยากรทั้งดิน น้ำ ป่า ที่รวมเป็นลุ่มน้ำอิงตลอดความยาว 260 กิโลเมตรที่ไหลผ่านจังหวัดพะเยาและเชียงราย ไหลลงสู่แม่น้ำโขง เชื่อมโยงเป็นระบบนิเวศผืนเดียวกับแม่น้ำโขง ได้หล่อเลี้ยงคนในพื้นที่มาอย่างยาวนานและประสานกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่ เกิดเป็นความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติเชื่อมเป็นระบบการจัดการทรัพยากรที่หลากหลายตามภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะการทำนา การประมงพื้นบ้าน การเพาะปลูกและการพึ่งพิงป่า ปัจจุบันได้มีภัยคุกคามที่เข้ามากระทบต่อความสัมพันธ์และวิถีชีวิตของกลุ่มลุ่มน้ำอิง จึงเกิดการร่วมแรง ร่วมใจและร่วมมือจากกลุ่มต่างๆ ประกอบด้วยผู้นำชุมชนและผู้นำท้องถิ่นโดยรอบลุ่มน้ำอิง และภาคประชาสังคมที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบของการจัดการป่าชุมชน การจัดการเหมืองฝาย การอนุรักษ์ป่าริมน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และการจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา (วังสงวน) (สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง ร่วมกับ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายและหน่วยงานท้องถิ่น, 2561)

การรักษาป่าบุญเรืองครั้งนี้ทำให้เกิดความร่วมมือของคนในหมู่บ้านอย่างเข้มแข็งของคนทุกเพศทุกวัย เช่น “คนหนุ่มสาว” ทำหน้าที่จัดกระบวนการสื่อสารผ่านทางสังคมออนไลน์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ทีมยุทธศาสตร์ และทีมปฏิบัติการ โดยทีมยุทธศาสตร์ทำหน้าที่ย่อยข้อมูลวิชาการให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ จากนั้นก็จะนำสารที่ย่อยแล้วมาสื่อสารกับ 'ทีมปฏิบัติการ' เพื่อส่งต่อให้กับชาวบ้าน ส่วนชาวบ้าน 'กลุ่มผู้นำ' ซึ่งอยู่ในวัยกลางคน มีหน้าที่วิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ รวมถึงผลกระทบที่จะได้รับหากนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้น นอกจากนั้นชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่ง เดินเท้าเข้าป่าลึกเพื่อเก็บตัวอย่างพืชพรรณ-สมุนไพร-ของป่า จัดแจงเป็นข้อมูล ทั้งในมิติความสำคัญ แหล่งที่พบ การใช้ประโยชน์ในส่วนของชาวบ้านที่เป็นครู-อาจารย์ ก็จะให้ความรู้นักเรียน-นักศึกษา ถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมและราคาที่ชาวบุญเรืองต้องจ่ายหากเกิดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น

การประสานความร่วมมือกันกับหลายภาคส่วน สู่การจัดขบวนการต่อสู้ภาคประชาชน มีทั้งชาวบ้านที่รักษ์หวงแหนป่า นักวิชาการที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องทรัพยากรชุมชน นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนสื่อสารมวลชนที่เป็นกระบอกเสียงในการรวมพลังปกป้องผืนป่า ทำงานกันได้อย่างแข็งขัน ด้วยบทบาทของโครงการ อนุรักษ์แม่น้ำอิงภายใต้องค์กร ศูนย์วนศาสตร์ชุมชน เพื่อคนกับป่า RECOFTC ประเทศไทย ได้ทำหน้าที่เป็นกลไก ในเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดการหนุนเสริม ทั้งการวางแผนงาน การสนับสนุนงานวิชาการ และประสานความร่วมมือภาคีเครือข่าย โดยร่วมกับสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง นับเป็นการทำงานที่ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ที่มองผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งลุ่มน้ำอิงตลอดจนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพราะพื้นที่ป่าบุญเรืองมีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำ ในพื้นที่ปลายน้ำ ที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ความร่วมมือของกลุ่มคนทำงานในพื้นที่ได้แก่ โฮงเฮียนเชียงของ หรือ กลุ่มรักษ์เชียงของ ที่ทำงานในพื้นที่เรื่องการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่าบนฐานวัฒนธรรม นานกว่า 20 ปี มีจุดยืนเรื่องการปกป้องสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ร่วมด้วยสถาบันแม่น้ำโขง สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตที่เป็นเครือข่ายทำงานในพื้นที่ 

หลังจากการร่วมมือของชาวบ้านและหลายภาคส่วนในการดูแลป่าบุญเรืองนี้ สังเกตได้จากภาพที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ฝั่งของป่าบุญเรือง (ด้านขวา) มีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งป่าไม้ แต่ฝั่งของอีกหมู่บ้าน (ด้านซ้าย) ที่ไม่ได้มีการร่วมมือของชาวบ้านในการดูแลป่าไม้ของชุมชน จะเห็นได้ว่าเป็นแหล่งการทำการเกษตร ซึ่งเกิดจากการแบ่งที่ดินของกลุ่มชาวบ้านเอง ซึ่งในอดีตในฝั่งของป่าบุญเรืองก็ได้มีการแบ่งที่ดินเช่นเดียวกับหมู่บ้านตรงข้าม เพื่อที่จะให้นายทุนเข้ามาซื้อที่ดินในส่วนนั้นได้ แต่ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่แล้ว ปฏิเสธที่จะทำการแบ่งที่ดิน จึงทำให้ที่ดินของป่าบุญเรืองเป็นที่สาธารณะ และได้มีการแบ่งเขตในการดูแลป่า เช่น การทำแนวกันไฟ การปลูกป่าเพิ่ม เป็นต้น

แนวทางการพัฒนาชุมชนในอนาคต

ปัจจุบันเราเลี่ยงไม่ได้กับวาทกรรมการพัฒนาที่เข้ามาแทรกซึมทุกพื้นที่ ในพื้นที่ชายแดนยังคงมีการต่อต้านของชาวบ้านและรัฐอยู่เสมอ ความหมายของการต่อต้าน ไม่ได้หมายความว่า ชาวบ้านจะไม่เอาความเจริญ แต่ความเจริญที่รัฐพยายามมอบให้นั้น กลับรุกล้ำไปยังพื้นที่แห่งความอุดมสมบูรณ์ของชาวบ้าน และรัฐกลับมองว่าเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม หากรัฐต้องการที่จะพัฒนา ชาวบ้านแค่ต้องการการพัฒนาภายใต้โจทย์ที่ว่า

“จะพัฒนาอย่างไร... ให้สอดคล้องกับทรัพยากร ณ ที่แห่งนั้น และชาวบ้านในชุมชนต้องสามารถมีส่วนร่วมในพื้นที่นั้นอย่างเป็นธรรม”

ในอนาคตชาวบ้านมีแนวทางร่วมกันที่จะพัฒนาและบูรณาการพื้นที่ป่าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงนิเวศ โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจไม่ว่าจะเป็น  นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว  ได้เข้ามาชื่นชมธรรมชาติของป่าชุมชน ศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ พรรณไม้ธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ จากการสอบถามชาวบ้านได้ข้อมูลว่า

“อนาคตก็คิดว่าจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีควายลากเกวียนพาคนชมป่าบุญเรือง ให้นักเรียน นักศึกษา ผู้สนใจเข้ามาศึกษาความเป็นอยู่ของชาวบ้าน มีอาหารพื้นบ้านให้รับประทาน จะได้เพิ่มจิตสำนึกและหวงแหนทรัพยากรชุมชนของตนเอง ให้เขารู้ว่าในป่าให้ประโยชน์มากกว่าที่คิด”

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) เป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวในปัจจุบันที่นานาประเทศให้ความสำคัญ เพื่อมุ่งไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้มุ่งเน้นให้คนเห็นความสำคัญในด้านการศึกษา หรือการเรียนรู้ หรือมุ่งเน้นให้เกิดการอนุรักษ์มากกว่าการท่องเที่ยวโดยทั่วไป คำถามก็คือจะเกิดอะไรขึ้นหากพื้นที่ป่าชุมชนถูกรุกลามโดยนักท่องเที่ยวจำนวนมาก การท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมมีชื่อเสียงมากขึ้น ความเป็นชุมชนท้องถิ่น ที่มีวิถีชีวิตดั้งเดิม ชาวบ้านบริโภคผลผลิตอย่างพอเพียงจะคงอยู่หรือไม่?

 

ที่มาข้อมูล

พัชริดา พงษปภัสร์. (2558) . อ้อมกอดป่าบุญเรือง. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2561 จาก

สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง ร่วมกับ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายและหน่วยงานท้องถิ่น. 2561,ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำอิงอย่างบูรณาการ

สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง และคณะ. 2559. โครงสร้าง ความหลากหลายทางชนิดพันธุ์สัตว์ พืชอาหาร และพืชสมุนไพรในพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ.เอกสารอัดสำเนา


 

เขียนโดย

พิริยากร ดอนนอก
ศรัญญา สงสะนะ
สุดารัตน์ เทพจันทร์
สุปวีณ์ มีบุญ
สุทธิเทพ สานทำ 

นักศึกษาภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: