แอมเนสตี้ชี้การประหารชีวิตในรอบ 9 ปีของไทยเป็นการกระทำที่น่าละอายอย่างยิ่ง

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 มิ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 2034 ครั้ง

แอมเนสตี้ชี้การประหารชีวิตในรอบ 9 ปีของไทยเป็นการกระทำที่น่าละอายอย่างยิ่ง

สืบเนื่องจากรายงานข่าวว่าทางการไทยได้ประหารชีวิตชายอายุ 26 ปีในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณ ซึ่งนับเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในประเทศนับแต่เดือนสิงหาคม 2552

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา แคทเธอรีน เกอร์สัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า เรื่องนี้นับเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ที่น่าละอายอย่างยิ่ง เป็นเรื่องน่าตกใจที่ประเทศไทยละเมิดต่อพันธกิจที่เคยประกาศไว้ว่า จะเดินหน้าไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต และการปกป้องสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ของประชาชน ทั้งยังเป็นการทำตัวไม่สอดคล้องกับกระแสโลก ซึ่งต่างกำลังมุ่งหน้าออกจากโทษประหารชีวิต

“ไม่มีหลักฐานใดๆ ว่าโทษประหารชีวิตจะส่งผลให้บุคคลยั้งคิดก่อนกระทำความผิดอย่างชัดเจน การที่ทางการไทยคาดหวังว่ามาตรการเช่นนี้จะช่วยลดการก่ออาชญากรรม จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง โทษประหารชีวิตถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีมากสุด ทั้งยังไม่ได้เป็น “คำตอบสำเร็จรูป” ที่ช่วยแก้ปัญหาที่ทางการต้องการแก้ไขอย่างรวดเร็ว

หลังผ่านไปเกือบ 10 ปีที่ไม่มีการประหารชีวิต การประหารชีวิตครั้งนี้จึงถือเป็นความถดถอยครั้งสำคัญของไทยบนเส้นทางที่จะนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต รัฐบาลไทยต้องยุติแผนการใดๆ ก็ตามที่จะประหารชีวิตประชาชนอย่างต่อเนื่อง และต้องประกาศพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ”

นับเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกของไทย หลังจากมีการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาต่อนักโทษชายสองคนเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ไม่มีการประชีวิตบุคคลเลยตั้งแต่ปี 2546 จากตัวเลขของกระทรวงยุติธรรมระบุว่า จนถึงสิ้นเดือนมีนาคมปี 2561 มีนักโทษประหารอยู่จำนวน 510 คน โดยเป็นผู้หญิง 94 คน ในจำนวนนี้ 193 คนเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ผ่านกระบวนการอุทธรณ์คดีหมดสิ้นแล้ว เชื่อว่ากว่าครึ่งหนึ่งของนักโทษเหล่านี้ต้องโทษประหารชีวิตในคดียาเสพติด

แม้ว่าการใช้โทษประหารชีวิตเชิงบังคับถือเป็นข้อห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่โทษประหารยังเป็นโทษเชิงบังคับสำหรับความผิดหลายประการในประเทศไทย รวมทั้งคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณ โดยความผิดหลายประการที่มีการใช้โทษประหาร ซึ่งมีลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของการเป็น “อาชญากรรมร้ายแรงสุด” ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศอนุญาตให้ใช้โทษแบบนี้ได้ สำหรับประเทศต่างๆ ที่ยังไม่ยกเลิกโทษประหารเสียทีเดียว

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มีเพียง 16 ประเทศ ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต จนถึงทุกวันนี้ 106 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทุกประเภท และ 142 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่าทัศนคติและความเชื่อดั้งเดิมสามารถเปลี่ยนแปลงได้

สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภทแล้ว ส่วนบรูไน ลาว และเมียนมาได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (หมายถึงการที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตจริงเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน) ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนามยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตตามที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งมีงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: