กรมสุขภาพจิตเตือนข้อเสียการ 'เซลฟี่' ถี่จน 'หมกมุ่น'

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ก.ย. 2561 | อ่านแล้ว 1982 ครั้ง

กรมสุขภาพจิตเตือนข้อเสียการ 'เซลฟี่' ถี่จน 'หมกมุ่น'

อธิบดีกรมสุขภาพจิตห่วงพฤติกรรมการเซลฟี่ (selfie) ของประชาชนในสังคมออนไลน์ หากเซลฟี่มีความถี่มากเพื่อให้เพื่อนๆ มากดไลค์หรือเขียนข้อความแสดงความเห็นต่างๆ จนเกิดการหมกมุ่นอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจในตัวเอง เมื่อสะสมไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ได้ง่าย เช่นหวาดระแวง เครียด ซึมเศร้า เป็นภัยเงียบที่น่าเป็นห่วง ที่มาภาพประกอบ: maxpixel (CC0)

มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2561 ว่า น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่ามีความเป็นห่วงพฤติกรรมการเซลฟี่ (selfie) ของประชาชนในสังคมออนไลน์ กำลังกลายเป็นพฤติกรรมเคยชิน ซึ่งเป็นการสื่อสารแสดงออกถึงตัวตนบุคคลโดยถ่ายรูปตนเองในอิริยาบทต่างๆ แล้วแชร์ภาพเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ การเซลฟี่นั้นมีความสำคัญกับความคิดในเรื่องของตัวตนอย่างมาก มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หากเซลฟี่ในลักษณะเหมาะสมคือไม่ได้หวังผลอะไร จะไม่มีผลเสียอะไร เก็บไว้เป็นความประทับใจได้ แต่หากเซลฟี่มีความถี่มากเพื่อให้เพื่อนๆ มากดไลค์หรือเขียนข้อความแสดงความเห็นต่างๆ จนเกิดการหมกมุ่นอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจในตัวเอง

“หากโพสต์รูปตัวเองไปแล้วและได้รับการตอบรับน้อย คนกดไลค์น้อย ไม่เป็นไปตามคาดหวังและโพสต์ใหม่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ จะส่งผลให้บุคคลนั้นขาดความมั่นใจ และอาจไม่ชอบ ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง เกิดความกังวล ชีวิตไม่มีความสุข เมื่อสะสมไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ได้ง่าย เช่นหวาดระแวง เครียด ซึมเศร้า เป็นภัยเงียบที่น่าเป็นห่วง โดยหากเป็นเยาวชน วัยรุ่น จะมีผลกระทบต่ออนาคตได้ เด็กที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง จะมีผลให้พัฒนาตัวเองยาก ขาดภาวะการเป็นผู้นำ ซึ่งมีความสำคัญมากในการใช้ชีวิตทั้งการทำงาน ครอบครัว โอกาสที่จะคิดพัฒนานวตกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ จึงเป็นไปได้ยากขึ้น มีผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างคาดไม่ถึง” น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว

ด้าน พญ.กุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่าโดยทั่วไปตัวตนของคนเรา มี 4 ประเภท คือ 1.ตัวตนจริงๆเช่นรูปร่าง หน้าตา สวย หล่อ มีทักษะความสามารถ 2. ตัวตนที่เรารับรู้ตัวเอง ซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงกับตัวตนที่แท้จริงก็ได้ เช่นคนที่เห็นแก่ตัวอาจไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นคนเห็นแก่ตัวก็ได้ 3.ตัวตนในอุดมคติ เป็นตัวตนในความฝันที่อยากจะเป็นหรือมีบุคคลต้นแบบที่อยากจะใช้ชีวิตตาม และ 4. ตัวตนที่เรารับรู้จากการมองของคนรอบข้าง (Looking-glass self) และเราก็มักจะปฏิบัติตนให้สอดคล้องและมีการปรุงแต่งไปตามค่านิยมหรือความต้องการสังคม ตัวตนประเภทนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมของเราทั้งในโลกความจริงและในโลกสังคมออนไลน์

พญ.กุสุมาวดี กล่าวว่า การถ่ายภาพเซลฟี่ เปรียบเสมือนการได้ส่องกระจก พฤติกรรมถ่ายเซลฟี่ที่น่าเป็นห่วงมี 2 ประการ ประการแรกคือถ่ายเซลฟี่ร่วมกับการใช้แอพลิเคชั่นแต่งเติมหน้าตัวเองให้ดูดี มีสีสันสดใสขึ้นตามความต้องการ เช่นตาดำโต หน้าเรียว แก้มชมพู ปากแดง ซึ่งขณะนี้กำลังได้รับความนิยมมากทั้งไทยและต่างประเทศ จัดว่าเป็นภาพตัวตนในอุดมคติ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง จะเป็นการหลอกทั้งตัวเองและหลอกคนอื่น หากใช้บ่อยจะมีผลทำให้ขาดความมั่นใจในการเผชิญหน้าจริงกับผู้คนที่เป็นเพื่อนในโลกโซเชียล หรือเผชิญโลกแห่งความเป็นจริง อาจจะเกิดการยอมรับความจริงไม่ได้

ประการที่ 2 คือการใช้แอพถ่ายเซลฟี่บ่อยถี่จนเกินไป อาจเป็นสัญญานของผู้ที่หมกมุ่นไม่พึงพอใจรูปร่างหน้าตาของตนเองมากผิดปกติ เรียกว่ากลุ่มอาการบีดีดี (Body Dysmorphic Disorder :BDD) คนกลุ่มนี้จะนิยมการใช้แอพถ่ายภาพเซลฟี่เพราะภาพสามารถตอบโจทย์ ใช้ตรวจสอบรูปร่างหน้าตาของตัวเองได้บ่อยตามต้องการ อาจมีพฤติกรรมหมกมุ่น ไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาตัวเองและใช้แอพเซลฟี่ตลอดเวลา จนอาจเสียการเสียงาน บางกรณีถึงขั้นหลุดจากโลกความเป็นจริงถึงขั้นไม่สามารถใช้ชีวิตแบบคนปกติได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: