คนไทยรู้ยัง: ไทยต้องลด‘แม่พันธุ์หมู’ไม่เกิน 1 ล้านตัว แก้ปัญหาราคาตก

ทีมข่าว TCIJ : 20 เม.ย. 2561 | อ่านแล้ว 10112 ครั้ง

ปัจจุบัน จำนวนผู้เลี้ยงหมูไทยทั้งอุตสาหกรรมที่มีอยู่ประมาณ 195,000 ราย มีแม่พันธุ์หมูประมาณ 1.3-1.4 ล้านตัว ซึ่งระดับแม่พันธุ์ที่ทำให้เกิดความสมดุลของผลผลิตไม่ควรเกิน 1 ล้านตัว เท่ากับมีแม่หมูเกินอยู่ประมาณ 3-4 แสนตัว ต้องเริ่มมาตรการปลดระวางแม่พันธุ์หมู 100,000 ตัวแล้ว ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ณ เดือน เม.ย. 2561 ถือว่าเป็นเวลากว่า 8 เดือนแล้ว ที่ราคาหมูไทยตกต่ำอย่างต่อเนื่อง เริ่มเห็นเค้าลางมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากอุตสาหกรรมยังไม่มีการรวบรวมผู้ประกอบการและขนาดการผลิต จากจำนวนผู้เลี้ยงทั้งอุตสาหกรรมที่มีอยู่ประมาณ 195,000 ราย

ปัจจุบันคาดว่าประเทศไทยมีแม่พันธุ์หมูประมาณ 1.3-1.4 ล้านตัว ซึ่งระดับแม่พันธุ์ที่ทำให้เกิดความสมดุลของผลผลิตไม่ควรเกิน 1 ล้านตัว เท่ากับมีแม่หมูเกินอยู่ประมาณ 3-4 แสนตัว ส่งผลให้มีผลผลิตลูกหมูขุนออกมาเกินความต้องการของตลาด วันละ 4.5-5 หมื่นตัว จากความต้องการบริโภคของตลาดที่มีไม่เกิน 4.2 หมื่นตัวต่อวัน มีปริมาณที่เกินความต้องการราวๆ 3,000-8,000 ตัวต่อวัน ทำให้ราคาหมูตกต่ำติดต่อกันเป็นเวลานาน สร้างความเสียหายทั้งอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมหาศาล และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ ภาระหนี้สิน และผลขาดทุนทั้งอุตสาหกรรม

แม้วันนี้สถานการณ์ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่เบื้องหลังใครบ้างรู้ว่าเกิดจากความร่วมมือร่วมใจโดยแท้ของพี่น้องเกษตรกรและภาคเอกชนในวงการเลี้ยงหมู ที่เดินหน้าช่วยกันแก้ปัญหา เรียกว่า “ผู้เลี้ยงรวมใจ รายใหญ่ร่วมตัดวงจรหมูต่อเนื่อง” ด้วยการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาราคาหมูตกต่ำ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ หรือ  พิกบอร์ด (Pig Board) ที่เห็นชอบหลักการตามที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเสนอ ตั้งแต่การลดจำนวนหมูขุนเข้าเลี้ยงด้วยการนำลูกหมูหย่านมไปผลิตเป็น “หมูหัน” เป้าหมายจำนวน 100,000 ตัว โดยภาคส่วนผู้ผลิตได้จับมือกันจัดกิจกรรมตัดวงจรลูกหมูมากว่า 3 เดือน นับตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา โดยมีบริษัทเอกชนและยังมีฟาร์มต่าง ๆ เสนอตัวร่วมโครงการต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน มาตรการปลดระวางแม่พันธุ์หมูจำนวน 100,000 ตัว เกษตรกรมีการปลดแม่พันธุ์โดยธรรมชาติจากสภาวะขาดทุน ที่สำคัญยังมีผู้เลี้ยงรายย่อยที่จำเป็นต้องเลิกเลี้ยงหมูไปแล้วไม่ต่ำกว่า 15% หลังแบกรับภาระขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องจากราคาขายหมูที่ตกต่ำ ดังจะเห็นได้จากราคาขายหมูเป็นหน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 40 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยพุ่งไปถึง 60 บาทต่อกิโลกรัม จากปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาเพิ่มต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่วันนี้ราคาปรับไปเกือบ 11 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว นั่นเท่ากับเกษตรกรต้องขาดทุนถึงประมาณ 2,000 บาทต่อตัว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายคนตัดสินใจเลิกเลี้ยงไปอย่างน่าเสียดาย

ส่วนมาตรการสุดท้ายของ Pig Board คือการนำหมูขุนมาชำแหละแล้วเก็บเข้าห้องเย็นจำนวน 100,000 ตัว ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในเรื่องหลักประกันวงเงินที่ได้รับการอนุมัติจากภาครัฐ คือ ต้องวางแบงค์การันตีค้ำประกันวงเงินที่ได้รับเต็มจำนวน ซึ่งไม่มีเกษตรกรรายใดที่มีวงเงินสินเชื่อ (Credit Facility) กับธนาคารพาณิชย์ที่จะสามารถนำมาใช้ค้ำประกันเต็มจำนวน ทำให้โครงการนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้

นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย ประธานสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด และอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุว่านอกจากมาตรการต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว คณะกรรมการ Pig Board ยังให้ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ลดการผลิตลูกหมูลง 10% ด้วยการชะลอการผสมแม่พันธุ์หมูเป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือ 1 รอบการผลิต นับจากเดือน ม.ค. 2561 เป็นต้นมา ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดปริมาณลูกหมูลงได้อย่างน้อย 400,000 ตัว นอกจากนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยังตั้งทีมคณะกรรมการกฎหมาย เพื่อร่วมผลักดันให้นำพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาใช้ โดยเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้ยื่นหนังสือขอเสนอให้พิจารณาเรื่องการจดทะเบียนฟาร์มสุกรให้เป็นภาคบังคับ ถึง Pig Board ผ่านนายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์

ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการอุตสาหกรรมหมูมีประสิทธิภาพ โดยเสนอให้กรมปศุสัตว์ใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกกฎหมายรองรับหรือวิธีการใด ๆ เพื่อให้การขึ้นทะเบียนฟาร์มหมูเป็นภาคบังคับ ซึ่งจะก่อผลดีตามมา ตั้งแต่ความครอบคลุมในการควบคุมโรคระบาด และการให้วัคซีนโรคที่จำเป็น เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย, สามารถขยายผลด้านมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานฟาร์ม เพื่อคุณภาพการผลิตที่ดีและมีปริมาณพอเพียงต่อการบริโภคภายในประเทศ และต่อยอดการตลาดต่างประเทศ, สร้างเสถียรภาพราคาทั้งหมูขุนและเนื้อหมูให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสมกับค่าครองชีพของประชาชน, เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมและจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในแต่ละชุมชนจะดีขึ้น, ช่วยควบคุมการขยายที่เกินกว่าปกติของผู้ประกอบการใด ๆ ที่ต้องมีตลาดใหม่รองรับ ป้องกันการเข้าไปครอบงำตลาดระหว่างผู้เลี้ยงต่างพื้นที่ รวมถึงช่วยปกป้องและสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้ผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย

ที่มาข้อมูล: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: