รอบ 4 ปี 'เศรษฐีไทย 10 อันดับแรก' รวยพุ่งกว่า 1.2 ล้านล้านบาท

ทีมข่าว TCIJ : 20 พ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 14148 ครั้ง

หลังรัฐประหารปี 2557 ตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยหลายตัวสะท้อนให้เห็นถึงความถดถอย หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าสภาพเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยจะดีนัก แต่ ‘มหาเศรษฐีไทย’ ยังคงมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ จากการจัดอันดับความมั่งคั่งของนิตยสาร Forbes ระหว่างปี 2558-2561 พบ มหาเศรษฐี 10 อันดับแรกมั่งคั่งรวมกันเพิ่มขึ้นประมาณ 1.201 ล้านล้านบาท ‘ตระกูลเจียรวนนท์’ เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย 4 ปีซ้อน รวยขึ้นประมาณ 4.88 แสนล้านบาท

หลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ดัชนีตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยหลายชุดสะท้อนให้เห็นถึงความถดถอย ตัวอย่างเช่น ‘อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ’ จาก รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยรายปี ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ปี 2555 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ปี 2556 ร้อยละ 2.7 ปี 2557 ร้อยละ 0.9 ปี 2558 ร้อยละ 2.9 ปี 2559 ร้อยละ 3.2 และปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.9 [1] และตัวเลข ‘สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP’ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าในไตรมาส 4/2555 อยู่ที่ร้อยละ 71.8 ไตรมาส 4/2556 ร้อยละ 76.6 ไตรมาส 4/2557 ร้อยละ 79.7 ไตรมาส 4/2558 ร้อยละ 80.8 ไตรมาส 4/2559 ร้อยละ 79.2 และในไตรมาส 4/2560 อยู่ที่ร้อยละ 77.5 [2] เป็นต้น

กระนั้นจากข้อมูลตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา พบว่ากลุ่มเศรษฐีที่รวยที่สุดในไทยก็ยังคงมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

การจัดอันดับเศรษฐีไทยของนิตยสาร Forbes 2558-2561

การจัดอันดับ 50 เศรษฐีไทยประจำปี 2561 (2018) ของนิตยสาร Forbes ดูรายละเอียดฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับประจำเดือน พ.ค. 2561

ทุกๆ ปี ‘นิตยสาร Forbes’ จะทำการประเมินและจัดอันดับเศรษฐีทั่วโลกซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย สำหรับประเทศไทยใช้การประเมินจากข้อมูลทางการเงินและการถือครองหุ้นที่ได้รับจากครอบครัวและผู้ที่ได้รับการจัดอันดับ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ และหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงทรัพย์สินของครอบครัวและทรัพย์สินที่ถือครองโดยสมาชิกครอบครัวในหลายรุ่น ทั้งนี้มูลค่าทรัพย์สินในบริษัทมหาชนคำนวณจากราคาหุ้น และอัตราแลกเปลี่ยน ณ ปีนั้นๆ ส่วนทรัพย์สินในบริษัทที่ถือครองส่วนตัวประเมินค่าโดยเปรียบเทียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดย TCIJ นำข้อมูลจากนิตยสาร Forbes มาเรียบเรียงในแต่ละประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

*อนึ่งการประมาณการจากนิตยสาร Forbes ใช้อัตราแลกเปลี่ยน ‘ดอลลาร์สหรัฐฯ’ เป็น ‘บาท’ ณ ช่วงเวลาที่รายงานการจัดอันดับออกมาของปีนั้นๆ (ส่วนใหญ่จะเป็นครึ่งแรกของปี) โดย TCIJ ได้เรียบเรียงแล้วใช้การปัดเศษ 0 สามหลัก เช่น 100,200 ล้านบาทจะปัดลงมาเป็น 100,000 ล้านบาท หรือ 10,550 ล้านบาท จะปัดเป็น 11,000 ล้านบาทแทน

จากการประมาณการของนิตยสาร Forbes พบว่าในปี 2558 มหาเศรษฐี 10 อันดับแรกของไทยมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันประมาณ 2.283 ล้านล้านบาท ปี 2559 ประมาณ 2.616 ล้านล้านบาท ปี 2560 ประมาณ 2.844 ล้านล้านบาท และในปี 2561 มูลค่าทรัพย์สินรวมกันประมาณ 3.484 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าทรัพย์สินรวมของเศรษฐีไทย 10 อันดับแรกในปี 2558  กับปี 2561 พบว่าเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 1.201 ล้านบาท

ในปี 2558 มีเศรษฐีไทยที่มูลค่าทรัพย์สินเกิน 100,000 ล้านบาท เพียง 6 ใน 10 คน แต่ในปี 2561 มีเศรษฐีไทยที่มูลค่าทรัพย์สินเกิน 100,000 ล้านบาท ถึง 9 ใน 10 คน ที่น่าสนใจอีกประการคือ ตระกูลเจียรวนนท์ ซึ่งยึดอันดับ 1 ของเศรษฐีที่มั่งคั่งที่สุดในไทยมาติดต่อกัน 4 ปี (2558-2561) ในปี 2561 มีมูลค่าทรัพย์สิน เพิ่มขึ้นประมาณ 442,000 ล้านบาท จากปี 2558 (ปี 2561 มีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 937,000 ล้านบาท ในปี 2558 มีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 495,000 ล้านบาท)

ข้อมูลของเศรษฐีที่มั่งคั่งที่สุด 10 อันดับแรก ตั้งแต่ปี 2558-2561 มีดังนี้

ปี 2558 [3] แม้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตช้าลงท่ามกลางบรรยากาศภายในประเทศที่อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่มูลค่าทรัพย์สินของ 50 มหาเศรษฐีไทยกลับเพิ่มสูงขึ้นถึงหลัก 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 3.3 ล้านล้านบาท เทียบได้เป็น 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี โดย 10 อันดับมหาเศรษฐีไทยใน 2558 จากการประเมินของนิตยสาร Forbes ได้แก่

1.นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP มูลค่าทรัพย์สิน 14,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 495,000 ล้านบาท)

2.นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มูลค่าทรัพย์สิน 12,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 431,000 บาท)

3.ตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่งกลุ่มบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) มูลค่าทรัพย์สิน 12,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 415,000 ล้านบาท)

4.นายเฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของกลุ่มบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด มูลค่าทรัพย์สิน 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 324,000 ล้านบาท)

5.นายกฤษณ์ รัตนรักษ์ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด มูลค่าทรัพย์สิน 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 152,000 ล้านบาท)

6.นายวานิช ไชยวรรณ แห่งบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มูลค่าทรัพย์สิน 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 135,000 ล้านบาท)

7.นายสันติ ภิรมย์ภักดี แห่งกลุ่มบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มูลค่าทรัพย์สิน 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 98,000 ล้านบาท)

8.นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ แห่งเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มูลค่าทรัพย์สิน 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 92,000 ล้านบาท)

9.นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด มูลค่าทรัพย์สิน 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 84,000 ล้านบาท

10.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มูลค่าทรัพย์สิน 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 57,000 ล้านบาท)

ปี 2559 [4] แม้เศรษฐกิจไทยเฉลี่ยเติบโตกว่าเมื่อช่วงปี 2558 แต่หนี้สินภาคครัวเรือนเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่เหล่าเศรษฐีหลายคนมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นและขยายการลงทุนธุรกิจขึ้นอีกมากมาย โดย 10 อันดับมหาเศรษฐีไทยใน 2559 จากการประเมินของนิตยสาร Forbes ได้แก่

1.ครอบครัวเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP มูลค่าทรัพย์สิน 18,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 666,000 ล้านบาท)

2.นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มูลค่าทรัพย์สิน 13,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 493,200 ล้านบาท)

3.ตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่งกลุ่มบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) มูลค่าทรัพย์สิน 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 468,000 ล้านบาท)

4.นายเฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของกลุ่มบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด มูลค่าทรัพย์สิน 9,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 349,000 ล้านบาท)

5.นายวานิช ไชยวรรณ แห่งบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มูลค่าทรัพย์สิน 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 144,000 ล้านบาท)

6.นายกฤตย์ รัตนรักษ์ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด มูลค่าทรัพย์สิน 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 119,000 ล้านบาท)

7.นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด มูลค่าทรัพย์สิน 3,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 117,000 ล้านบาท)

8.นายแพทย์ประเสริฐ ปราสาททองโอสถ แห่งเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์สบางกอกแอร์เวย์ส) มูลค่าทรัพย์สิน 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 115,000 ล้านบาท)

9.นายสันติ ภิรมย์ภักดี แห่งกลุ่มบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มูลค่าทรัพย์สิน 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 86,000 ล้านบาท)

10.นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มูลค่าทรัพย์สิน 1,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 59,000 ล้านบาท)

ปี 2560 [5] กว่า 2 ใน 3 ของเหล่า 50 มหาเศรษฐีไทยจากการจัดอันดับความมั่งคั่งประจำปี 2560 ล้วนมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ กลุ่มอภิมหาเศรษฐีในทำเนียบ 5 อันดับแรก ทำให้ทรัพย์สินรวมของผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ 50 อันดับพุ่งขึ้นแตะ 4.26 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึงร้อยละ 16 โดย 10 อันดับมหาเศรษฐีไทยใน 2560 จากการประเมินของนิตยสาร Forbes ได้แก่

1.ตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP มูลค่าทรัพย์สิน 21,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 730,000 ล้านบาท)

2.นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มูลค่าทรัพย์สิน 15,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 524,000 ล้านบาท)

3.ตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่งกลุ่มบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) มูลค่าทรัพย์สิน 15,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 520,000 ล้านบาท)

4.นายเฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของกลุ่มบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด มูลค่าทรัพย์สิน 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 425,000 ล้านบาท)

5.นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด มูลค่าทรัพย์สิน 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 159,000 แสนล้านบาท)

6.นายกฤตย์ รัตนรักษ์ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด มูลค่าทรัพย์สิน 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 132,000 ล้านบาท)

7.นายวานิช ไชยวรรณ แห่งบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มูลค่าทรัพย์สิน 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 129,000 ล้านบาท)

8.นายแพทย์ประเสริฐ ปราสาททองโอสถ แห่งเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มูลค่าทรัพย์สิน 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 88,000 ล้านบาท)

9.นายสันติ ภิรมย์ภักดี แห่งกลุ่มบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มูลค่าทรัพย์สิน 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 78,000 ล้านบาท)

10.นายอาลก โลเฮีย แห่งบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) มูลค่าทรัพย์สิน 1,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 59,000 ล้านบาท)

ปี 2561 [6] นิตยสาร Forbes  ระบุว่ากลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของไทยมีทรัพย์สินรวมกันทะยานขึ้นเป็นกว่า 162,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 5.06 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1 ใน 3 จากปี 2560 โดยผู้ที่ติดทำเนียบ 50 บุคคลร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย มีถึง 2 ใน 3 ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ 4 อันดับแรกมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวมกันเกือบ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 781,000 ล้านบาท) หลังผ่านพ้นช่วงเวลาซบเซาสั้นๆ เศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มกลับมากระเตื้องอีกครั้ง ธนาคารโลกคาดการณ์เป็นครั้งแรกนับจากปี 2555 ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 4 ในปี 2561 นี้ หลังการส่งออกเพิ่มขึ้นผนวกกับความต้องการในประเทศฟื้นตัว แม้เศรษฐกิจจะโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ทรัพย์สินของบรรดาบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากตลาดหุ้นขาขึ้นและเงินบาทที่แข็งค่า โดย 10 อันดับมหาเศรษฐีไทยใน 2561 จากการประเมินของนิตยสาร Forbes ได้แก่

1.พี่น้องเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP มูลค่าทรัพย์สิน 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 937,000 ล้านบาท)

2.ตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่งกลุ่มบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) มูลค่าทรัพย์สิน 21,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 662,000 ล้านบาท)

3.นายเฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของกลุ่มบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด มูลค่าทรัพย์สิน 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 656,000 ล้านบาท)

4.นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มูลค่าทรัพย์สิน 17,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 543,000 ล้านบาท)

5.นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด มูลค่าทรัพย์สิน 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 162,000 ล้านบาท)

6.นายกฤตย์ รัตนรักษ์ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด มูลค่าทรัพย์สิน 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 116,000 ล้านบาท)

7.นายสารัชถ์ รัตนาวะดี แห่งกลุ่มบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มูลค่าทรัพย์สิน 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 106,000 ล้านบาท)

8.นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ แห่งเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์สบางกอกแอร์เวย์ส) มูลค่าทรัพย์สิน 3,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 105,000 ล้านบาท)

9.นายอาลก โลเฮีย แห่งบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) มูลค่าทรัพย์สิน 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 103,000 ล้านบาท)

10.นายวานิช ไชยวรรณ แห่งบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มูลค่าทรัพย์สิน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 94,000  ล้านบาท)

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ปี 2560 มี 50 คนถือครองทรัพย์สินมากกว่า 1 ใน 4 ของ GDP ประเทศ

มหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของไทยมีสัดส่วนทรัพย์สินเทียบกับ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 30 (มีทรัพย์สินทั้งหมด 4.32 ล้านล้านบาท) ในปี 2560 ภายใต้รัฐบาล คสช. หมายความว่ามีคนเพียง 50 คน ที่ถือครองทรัพย์สินมากกว่า 1 ใน 4 ของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั้งหมด ที่มาภาพประกอบ: compassion.com

เมื่อเดือน พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยข้อมูลต่อสื่อมวลชน [7] ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ดีขึ้นมากนัก แม้การกระจายรายได้ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากงานวิจัยของ ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ และคณะพบว่า ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ดีขึ้นเล็กน้อยโดยวัดจากดัชนีจินี (Gini coefficient) โดยค่าดัชนีจินีเท่ากับ 0.45 ในปี 2558 (ข้อมูลล่าสุดที่มีการคำนวณ) จากที่เคยอยู่ที่ระดับ 0.51 ในปี 2549 (ดัชนีจีนีเข้าใกล้ 1 แสดงว่าความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เข้าใกล้ 0 ความเหลื่อมล้ำลดลง ค่า 1 คือ ความเหลื่อมล้ำมากที่สุด ค่า 0 คือไม่มีความเหลื่อมล้ำเลย) สะท้อนการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น การที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นนั้น เป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของหลายรัฐบาลที่ผ่านมาโดยเฉพาะนโยบาย “เอื้อคนจน” (Pro-poor policy) ไม่ว่าจะเป็นการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด นโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรทั้งมาตรการรับจำนำข้าว มาตรการประกันราคา การเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ บทบาทของกองทุนหมู่บ้าน นโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สวัสดิการทางด้านการศึกษา หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นของผู้ประกันจากกองทุนประกันสังคม เงินอุดหนุนแม่และเด็ก เป็นต้น  

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามปัญหาความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งยังคงรุนแรงขึ้นในไทย ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมีมาก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าของทุนกับแรงงานรับจ้างทั่วไปและเกษตรกรรายย่อยปราศจากที่ดินทำกิน มหาเศรษฐี 100 อันดับแรกของไทยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยของประเทศทรัพย์สินและความมั่งคั่งไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยและหนี้สินต่อครัวเรือนลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย สถาบันการเงินเครดิตสวิส (Credit Suisse) ได้เคยออกรายงานความมั่งคั่งของโลกระบุว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนร้อยละ 1 ของประชากรที่รวยที่สุดครอบครองความมั่งคั่งสูงถึงร้อยละ 58 ของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 รองมาจากอินเดียและรัสเซีย นอกจากนี้ข้อมูลของโครงสร้างเงินฝากในระบบสถาบันการเงินยังพบว่า คนรวยร้อยละ 0.1 หรือ 65,000 คน จากประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน มีเงินฝากเท่ากับร้อยละ 49 ของเงินฝากทั้งระบบ คนร้อยละ 10 แรกของประชากรเป็นเจ้าของทรัพย์สินร้อยละ 79 ของประเทศ มหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของไทยมีสัดส่วนทรัพย์สินเทียบกับ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 30 (มีทรัพย์สินทั้งหมด 4.32 ล้านล้านบาท) ในปี 2560 ภายใต้รัฐบาล คสช. หมายความว่ามีคนเพียง 50 คน ที่ถือครองทรัพย์สินมากกว่า 1 ใน 4 ของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั้งหมด

ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการถือครองทรัพย์สินของกลุ่มคนรวยได้ครบถ้วน

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ยังระบุว่าตนเชื่อว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งและทรัพย์สินนี้น่าจะรุนแรงกว่าตัวเลขที่เผยแพร่นี้ เนื่องจากเราไม่สามารถสำรวจข้อมูลและเข้าถึงข้อมูลการถือครองทรัพย์สินของกลุ่มประชากรที่มีรายได้และถือครองทรัพย์สินสูงสุด 5-10% ได้อย่างครบถ้วน ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์นี้จะนำมาสู่ความยุ่งยากในการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในอนาคต 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน แม้เป็นเรื่องที่แก้ไขยากและต้องใช้เวลา สภาวะความเหลื่อมล้ำอย่างมากได้ทำลายศักยภาพของประเทศและคนไทยส่วนใหญ่ ทำให้ขาดโอกาส ขาดสิทธิ ขาดรายได้และไร้ซึ่งทรัพย์สินและการเข้าถึงปัจจัยการผลิต ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอลง ตกอยู่ในวังวนของธนาธิปไตยและระบอบรัฐประหาร รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจโดยเพิ่มอำนาจต่อรองให้ผู้ด้อยโอกาสและคนยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะลดลงภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยและหลักการกระจายอำนาจ ความอยุติธรรมหรือการถูกเลือกปฏิบัติจากโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำย่ำแย่ลง ต้องใช้วิธีลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เพิ่มโอกาส เพิ่มสิทธิให้ประชนชน

 ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า จำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดอำนาจผูกขาดและเพิ่มการแข่งขัน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงปัจจัยการผลิต เพิ่มสวัสดิการ ลดการรั่วไหลและการทุจริตงบประมาณช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ปฏิรูปภาษีด้วยการเพิ่มภาษีทรัพย์สิน ดำเนินการผ่านกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐต้องคำนึงถึงการกระจายโอกาสและการกระจายผลประโยชน์ไปยังประชาชนส่วนใหญ่ด้วย และควรศึกษาการเก็บภาษีลาภลอยเพื่อนำผลประโยชน์ส่วนเกินที่ได้จากการลงทุนจากงบประมาณของรัฐไปพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ของประเทศด้วย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ลง ส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนในการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

‘การตะครุบที่ดิน’ อีกหนึ่งปัญหาอันตราย

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าสิ่งหนึ่งที่จะพิสูจน์ว่ารัฐบาล คสช. เอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ คือ การผลักดันให้มีการผ่านกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาบังคับใช้ซึ่งขณะนี้ค้างอยู่ที่ สนช. เนื่องจากมีการเสนอแก้ไขเนื้อหาสาระในหลายมาตราโดยเฉพาะประเด็นเรื่องการขอยกเว้นภาษีและอัตราภาษี การแก้ไขเหล่านี้ไม่ควรทำให้หลักการสำคัญของภาษีที่ดินเสียหายไปโดยเฉพาะการเพิ่มความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ กระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน ลดการทุจริตคอร์รัปชัน คาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาษีที่ดินไม่ต่ำกว่า 35,000-45,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศและจัดสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อยได้ มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยบ่งชี้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหา "การตะครุบที่ดิน" (land grabbing) โดยทุนขนาดใหญ่ต่างชาติโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหลาย อัตราภาษีทรัพย์สินที่ต่ำเกินไปหรือไม่มีการจัดเก็บพร้อมทั้งระบบข้อมูลการถือครองที่ดินที่ไม่ชัดเจนจะทำให้ปัญหาการตะครุบที่ดินรุนแรงมากขึ้นในอนาคต แม้ที่ดินจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศได้ แต่การเป็นเจ้าของที่ดินอาจส่งผลต่อการใช้ทรัพยากรที่ดินที่รัฐอาจมีปัญหาในการควบคุมการใช้ ปัญหาการตะครุบที่ดินเกิดขึ้นในหลายประเทศในละตินอเมริกาและแอฟริกาและสร้างความไม่สมดุล เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในประเทศเหล่านี้ จึงควรมีการศึกษาระบบและกลไกที่ป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตะครุบที่ดิน

 

ข้อมูลอ้างอิง

[1] เรียบเรียงจาก รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยรายปี ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยตัวเลขปี 2555 ใช้ข้อมูลจาก รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ปี 2557 ปี 2556 ข้อมูลจาก รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ปี 2558 ปี 2557-2559 ข้อมูลจาก รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ปี 2559 ปี 2560 ข้อมูลจาก รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ปี 2560] (เข้าถึงข้อมูลทุกชุดเมื่อ 15/5/2561)
[2] เรียบเรียงจาก EC_MB_039 เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน 1/, ธนาคารแห่งประเทศไทย (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 16/5/2561)
[3] ทักษิณอันดับ 10 เศรษฐีของไทย เจ้าสัวซีพีแชมป์ (ข่าวสด, 5/6/2558)
[4] เจ้าสัวซีพียังแชมป์ เศรษฐีไทย! เจริญ-เซ็นทรัล อันดับ 2 และ 3 (ไทยรัฐฉบับพิมพ์, 3/6/2559)
[5] การจัดอันดับ “50 อภิมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2560” โดยนิตยสาร FORBES (Forbes Thailand, 6/6/2560)
[6] การจัดอันดับ 50 อภิมหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2561 จากนิตยสาร Forbes (Forbes Thailand, 3/6/2561)
[7] นักเศรษฐศาสตร์ชี้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในไทยยังมีมาก (ประชาไท, 13/5/2561)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

จับตา: ปี 2560 บริษัทใดทำกำไรได้สูงที่สุด?

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: