สทก. คืออะไร? ใครได้กันแน่?

20 พ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 118357 ครั้ง


สทก. คืออะไร?  

สทก คือ สิทธิทำกิน เป็นที่ดินในเขตป่าสงวนและเป็นป่าไม้เสื่อมโทรม ต้องเป็นพื้นที่ที่ได้ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยอยู่แล้ว จึงประกาศเป็นเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ ฉะนั้น สทก.ยังเป็นที่ป่าสงวนอยู่ โดยกรมป่าไม้เป็นผู้อนุญาตและทำการรังวัด ไม่สามารถซื้อขายได้ แต่ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทได้

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2522 มีมติคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการช่วยเหลือราษฎรที่บุกรุกอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ให้ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายให้มีที่ทำกินเป็นหลักแหล่งไม่ไปแผ้วถางอีกต่อไป ตามแนวางพระราชดำริของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน

กรมป่าไม้ได้เริ่มดำเนินการให้สิทธิทำกิน (สทก.) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มานับตั้งแต่ปี 2525 ต่อมาปี พ.ศ. 2528 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 กำหนดให้มีมาตรา 16 ทวิ และมาตรา 16 ตรี ขึ้นเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่มีความจำเป็นในการครองชีพ สามารถเข้าทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้โดยไม่เดือนร้อน และโดยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งซึ่งความตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นการรับรองว่าสิทธิทำกิน (สทก.) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่กรมป่าไม้มอบให้กับราษฎรนั้นเป็นไปตามกฎหมาย

การออกหนังสือ สทก. (หนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์และอยู่อาศัยภายในเขตปรับปรุงป่าสงนแห่งชาติ)

 

หนังสือ สทก. ที่มอบให้ราษฎรจะลงนามอนุญาตโดยผู้ว่าราชการจังหวัดท้องที่ที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้นตั้งอยู่ มีลักษณะดังนี้

แบบที่ 1 เรียกว่า “หนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ และอยู่อาศัยภายในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ” หรือแบบ สทก.1ก. เป็นหนังสืออนุญาตให้ครั้งแรก มีอายุการอนุญาต 5 ปี ขนาดเนื้อที่อนุญาตให้ตามที่ครอบครองอยู่จริง แต่ไม่เกิน 20 ไร่ ต่อครอบครัว ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตเมื่อครบกำหนดการอนุญาตให้ครั้งแรก จะเปลี่ยนหนังสืออนุญาตตามแบบ สทก.2 ก

แบบที่ 2 แบบ สทก.2 ก ออกให้สำหรับผู้ที่ได้รับ สทก.1 ก มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไข กรมป่าไม้จะออกหนังสือฉบับนี้ให้เพื่อมีสิทธิทำกินในที่ดินเดิมต่อไปซึ่งไม่เกิน 20 ไร่ ต่อครอบครัว (โดยจะเรียกเก็บหนังสือ สทก.1 ก ด้วย) มีอายุการอนุญาต 5 ปี และต้องชำระค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้อัตราไร่ละ 20 บาท (ต่อหนึ่งคราวการอนุญาต) เมื่อครบกำหนดก็จะมีการพิจารณาต่ออายุให้

แบบที่ 3 เรียกว่า “หนังสืออนุญาตให้ทำการปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นภายในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ” หรือ แบบ สทก.1 ข เป็นหนังสืออนุญาตที่ออกให้แก่ราษฎรผู้ที่ได้รับ สทก.1 ก หรือ สทก.2 ก ที่ครอบครองพื้นที่เกิดกว่า 20 ไร่ และมีความประสงค์จะปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นภายในเนื้อที่ไม่เกิน 35 ไร่ ต่อครอบครัว มีอายุการอนุญาตคราวละ 10 ปี และจะต้องชำระค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตในอัตราไร่ละ 20 บาท ทั้งนี้ราษฎรจะต้องปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้น เมื่อครบกำหนดเวลาการอนุญาตก็สามารถต่ออายุได้

หลักเกณฑ์ในการกำหนดพื้นที่ สทก.                

1. จะต้องเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่มีลักษณะเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่มีลักษณะเป็นป่าเสื่อมโทรมตามคณะรัฐมนตรีกำหนด

2. เป็นพื้นที่ที่ได้ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยอยู่แล้ว

3. ไม่อยู่ในพื้นที่ป่าที่มีสภาพเป็น ต้นน้ำลำธาร ภูเขาสูงชัน พื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ หรือมีสภาพที่ควรรักษาไว้

4. ไม่เป็นบริเวณที่มีทิวทัศน์สวยงามอันควรรักษาไว้

5. ไม่เป็นพื้นที่ป่าที่ในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการป่าไม้

6. ไม่เป็นป่าชายเลน

7. ไม่เป็นพื้นที่ซึ่งได้ทำการปลูกสร้างสวนป่า หรือได้รับอนุมัติโครงการสำหรับปลูกป่าระยะ 5 ปีไว้แล้ว

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิขอ สทก.

1. เป็นบุคคลธรรมดา (ไม่ใช่นิติบุคคล)

2. บรรลุนิติภาวะแล้ว และเป็นหัวหน้าครอบครัว

3. เป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ที่ขอมีสิทธิทำกินอยู่แล้วสิทธิ

สิทธิ และ หน้าที่ ของผู้ได้รับ สทก.

สิทธิ

1. สามารถอยู่อาศัยและทำกินต่อไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยถูกต้องตามกำหมาย

2. สิทธิทำกินตกทอดไปถึงทายาทได้

3. สามารถขออนุญาตทำไม้ที่ได้ปลูกขึ้นภายในที่ดินที่ได้รับอนุญาต (ตามแบบ สทก.1 ก หรือ สทก.2 ก หรือ สทก.1 ข) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องชำระค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่า

4. สามารถขอรับการสนับสนุนเงินทุน ในรูปของสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตร ได้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามโครงการที่กรมป่าไม้ และ ธ.ก.ส. จัดทำขึ้น

หน้าที่

ผู้ที่ได้รับ สทก. ต้องปฏิบัตินั้นคือ ข้อกำหนดเป็นเงื่อนไขของหนังสืออนุญาตแบบต่าง ๆ ซึ่งปรากฏหลังของหนังสืออนุญาตแบบต่าง ๆ สารสำคัญคือ

1. จะต้องทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับจาก สทก. ตามวัตถุประสงค์ที่ขอไว้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด และจะให้บุคคลอื่นนอกจากบุคคลในครอบครัว เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมิได้

2. ห้ามซื้อ-ขายที่ดิน สทก.

3. ห้ามละทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือไม่อยู่อาศัยในที่ดินที่ได้รับ สทก.

4. ห้ามบุกรุกแผ้วถางป่าในบริเวณติดต่อใกล้เคียง

5. ให้ความร่วมมือพนักงานเจ้าหน้าที่ มาขอตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขหนังสืออนุญาต สทก. หากไม่ปฏิบัติตาม “หน้าที่”หรือ ทำผิด “เงื่อนไข” จะถูกเพิกถอน “สิทธิทำกิน” โดยจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในกรณีใด ๆ มิได้

การตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไข สทก.

กรมป่าไม้จะส่งเจ้าหน้าที่ออกมาพบประชาชนผู้ได้รับ สทก. โดยสม่ำเสมอเพื่อตรวจสอบการใช้ที่ดิน ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่หากถูกต้องก็จะมี “สิทธิทำกิน” ต่อไปเรื่อยๆ

ที่มา : คู่มือประชาชนผู้ได้รับ สทก. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้ กระทรวงทรััพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

คู่มือประชาชนผู้ได้รับ สทก. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้ กระทรวงทรััพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม by TCIJ on Scribd

สิ่งใดหนอ? ที่สร้างความสับสนแก่ประชาชน

แม้ตามคู่มือประชาชนผู้ได้รับ สทก. ของกรมป่าไม้จะระบุเงื่อนไขของผู้รับ สทก. ไว้ว่าไม่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ และออกโฉนดที่ดินไม่ได้ ทำได้เพียงการออกหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์และอยู่อาศัยภายในเขตปรับปรุงป่าสงนแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งมติ ครม. ปี 2522 ได้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ต้นสังกัดกรมป่าไม้ขณะนั้น) ดำเนินตามแนวพระราชดำริของในหลวง แต่ก็ยังปรากฎการซื้อขายที่ดิน สทก. อยู่ทั่วประเทศ

แม้ตามคู่มือประชาชนผู้ได้รับ สทก. ของกรมป่าไม้จะระบุเงื่อนไขของผู้รับ สทก. ไว้ว่าไม่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ แต่ก็ยังปรากฎการซื้อขายที่ดิน สทก. อยู่ทั่วประเทศ

สิ่งใดหนอ? ที่สร้างความสับสนแก่ประชาชน ในพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่3) พ.ศ. 2528 มาตรา 14 ที่ห้ามมิให้ยึดถือครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ เว้นแต่ "เมื่อบุคคลดังกล่าวร้องขอ และอธิบดีเห็นว่าบุคคลนั้นยังมีความจำเป็นเพื่อการครองชีพ อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือให้ บุคคลดังกล่าวทำประโยชน์และอยู่อาศัยต่อไปในที่ที่ได้ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยอยู่แล้วนั้นได้ ซึ่งบุคคลซึ่งได้รับอนุญาต อาจขออนุญาตปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นในที่ที่ตนเคยทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในเขตป่าปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มเติมจากที่ได้รับอนุญาตแล้ว"  

โดยไม่มีมาตราใดในพ.ร.บ.ระบุอย่างชัดเจนว่าห้ามซื้อขายที่ดิน แต่ให้ทำตามเงื่อนไขที่กำหนด และห้ามมิให้บุคคลอื่นนอกจากบุคคลในครอบครัวทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว

เมื่อดูตามระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ก็มิได้ระบุเช่นเดียวกัน เพียงแต่ระบุว่าให้ใช้พื้นที่เพื่อกิจการและโครงการที่ขออนุญาตเท่านั้น

ส่วนประกาศสำนักงานป่าไม้เขตที่ระบุว่า พื้นที่ สทก. ที่ได้รับอนุญาตห้ามจำหน่ายจ่ายโอนแต่ให้ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทได้ ก็มิใช่กฎหมาย สัญญาซื้อขายการครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงไม่เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันจะเป็นโมฆะ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: