สงครามใต้แสงไฟของชน (ทดลอง) ดนตรี

กฤชสรัช วงษ์วรเนตร: 21 ส.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2896 ครั้ง


Experimental war 7 

Do Not Resuscitate

ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ในระหว่างสงครามเย็นที่ยะเยือกไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก ในขณะเดียวกันกระแสทางศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะในเรื่อง Experimental Music หรือ ดนตรีแนวทดลองก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ณ ดินแดนที่กล่าวกันว่ามีเสรีภาพ-ประเทศสหรัฐอเมริกา หนึ่งในผู้บุกเบิกกระแสดนตรีแนวทดลองนี้คือ John Milton Cage Jr. (1912-1992) คีตกวีชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง เขาได้เริ่มสอนในรายวิชา Experimental Music เมื่อปี 1961 ณ Wesleyan University, Connecticut. ในคำจำกัดความของเขานั้น ดนตรีแนวทดลองคือการผลิตผลลัพธ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึงเสียงที่เกิดจากเครื่องดนตรี ในเวลาต่อมาการทดลองดังกล่าวก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในประเทศโลกที่ 1 มากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดไม่ว่าจะด้วยกระแสโลกภิวัตน์ การล่าอาณานิคมทางวัฒนธรรม หรือการนิยมชมชอบตามแต่บุคคลก็ได้ทำให้เกิดการทดลองทางดนตรีขึ้นในประเทศแถบอินโดจีนอย่างประเทศไทยด้วย

ในทศวรรษที่กระแสความหลากหลายและความเป็นชายขอบ ผู้คนตัวเล็ก-ตัวน้อยที่หลุดลอยไปจากสังคมเริ่มผลิบานใต้ผืนธงของคณะรัฐบาลทหาร ร่มธงแห่งสุนทรียะสดใหม่ที่เบ่งบานไม่ย่อท้อต่อการถูกจำกัดความและตีคุณค่า ได้ออกมาวิพากษ์ วิจารณ์ต่อการจำกัดเสรีภาพทางความคิด แม้การแสดงดนตรีที่จะกล่าวถึงนี้มิได้รุนแรง ดิบเถื่อน หยาบกร้าน เฉกเช่นงานแสดงดนตรีพั้งค์ ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่กระนั้นก็เป็นความพยามของกลุ่มศิลปินที่ต้องการจะนำเสนอสิ่งคุ้นเคยอันแปลกใหม่ รอคอยให้ผู้คนเข้าไปค้นหาอารมณ์-ความรู้สึกอันแปลกประหลาดที่มาเป็นระลอกๆผ่านการรับฟัง ถือเป็นหนึ่งในความแตกต่าง หลากหลายทางการรับรู้ที่พยายามดิ้นรนในยุคสมัยของการปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่างนี้

งานแสดงดนตรี (สด) Experimental War 7 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม  ณ โรงแรม (Hostel - The Overstay) แห่งหนึ่งฝั่งกรุงเก่า งานดนตรีดังกล่าวได้นำเราเข้าไปรู้จักกับค่ายดนตรี (ทดลอง) อย่าง Moontone ที่นำศิลปิน นักประพันธ์บทกวี หน้าใหม่ที่นิยมชมชอบการแสวงหาความเป็นไปได้อื่นๆให้กับสิ่งที่เรียกว่า ดนตรี มานำเสนอแก่ผู้ที่สนใจ โดยมีราคาค่าบัตรอยู่ที่ 200 บาทต่อคน มีกลุ่มศิลปินทั้งสิ้น 4 กลุ่ม Silence O, Do Not Resuscitate, Baby’s Breath, Ninni Morgia Control Unit-ที่เป็นศิลปินดนตรีแนวทดลองจากอิตาลี ซึ่งแต่ละวงนั้นออกมานำเสนอถึงการปะทะของเสียงดิบๆจากเครื่องดนตรี เพื่อสร้างอารมณ์ใหม่ ความรู้สึกใหม่ ในแง่มุมความหมายของทั้งดนตรีและวงดนตรี พวกเขานำแต่ละเสียงที่สร้างออกมาอวดโฉมความเป็นตัวตนมันเองอย่างไม่ลดละ เหมือนดั่งการทะเลาะกันของเครื่องดนตรีที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกันแม้แต่น้อย

Do Not Resuscitate ได้สำแดงสรรพเสียงจาก กีตาร์ กลอง เครื่องเล่นแผ่นเสียง รวมถึงอุปกรณ์กำเนิดเสียงอื่นๆ มากู่ร้องสุดเสียงอื้ออึง ให้ผู้ฟังรู้สึกแปลกประหลาด วกวน หลอกหลอน บางครั้งยังทำให้รู้สึกว่าแก้วหูถูกทิ่มแทง หากฟังเพียงเผินๆก็คงไม่แปลกนักหากจะกล่าวว่าเป็นการสร้างความรำคาญจากการเล่นดนตรี เป็นดั่งการเสพฟังดนตรีที่ดิบเถื่อน เพราะทุกๆเสียงที่เกิดจากโชว์ประเดประดังเข้าหากันอย่างไม่มีการรีรอ ทำลายความสามัคคีที่ก่อเกิดจากการทำงานร่วมกันผ่านการเล่นดนตรีตามขนบอย่างที่เราๆคุ้นหู พวกเขาต่างเล่นดนตรีตามใจของใครของมัน หรือก็คือต่างคนต่างเล่นดนตรีหนักๆใส่กันเพียงเท่านั้น

ในขณะที่เสียงดนตรีอันดุดัน เสียดแทงโสตประสาทหูผู้ฟังเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จะมีใครคนใดคนหนึ่งในเวทีเริ่มเสียงใหม่ที่นุ่มนวลขึ้น  ผู้ร่วมเล่นแต่ละคนก็จะเริ่มกลับไปตามจังหวะกันใหม่โดยใช้เวลาคล้อยตามกันเพียงไม่นาน ก็จะกลับไปทำสงครามเสียงกันเองต่อไปอย่างนี้เรื่อยๆ การแสดงดนตรีทดลองสดของแต่ละคนดูจะเป็นการปะทะกันเองในวง จนแม้แต่ผู้เล่นด้วยกันเองยังรู้สึกถูกคุกคามในขณะที่เล่นด้วย แต่ทุกครั้งเมื่อไปถึงการปะทะกัน (ของเสียงดนตรี) อย่างรุนแรงถึงจุดๆหนึ่งจนระเบิดออกมาไม่ต่างจากเสียงซ่าของโทรทัศน์จอนูนที่รับสัญญาณไม่ได้ แต่ละเสียงจะยอมกลับสู่ความนุ่มนวลกันเอง แม้ว่าแต่ละเสียงนั้นจะฟังไม่เข้ากลุ่มกันก็ตาม งานแสดงดนตรีเชิงทดลองของกลุ่ม Do Not Resuscitate จึงเป็นดั่งการแสดงสดของเสียง (Sound Performance) ที่ผู้ฟัง ผู้ชมหรือบางครั้งแม้แต่นักแสดงเองก็จะไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะเป็นไปเช่นไรได้ เช่นนี้ในแง่ของการกระทำจึงไม่ต่างกันนักกับศิลปะการแสดงสด (Performance art) ผู้เขียนคิดว่า การเล่นดนตรีที่ไม่ยอมสร้างความลงตัว (ความสอดคล้อง-เข้ากัน) ของพวกเขานั้น แม้จะดูแตกแยก เอาแต่ใจไปบ้าง แต่ดูเหมือนว่านอกจากที่พวกเขาจะนำเสนอถึงการปะทะกันของดนตรีแล้ว ยังได้นำเสนอถึงความพยายามที่จะอยู่ร่วมกัน โดยถือเอาเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นเป็นอัตตาหนึ่งๆ แม้จะมีการปะทะกันตลอดเวลา แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง หลากหลาย

ศิลปินกลุ่มนี้ได้นำเสนอถึงความแปลกใหม่ในดนตรี ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการต่อต้าน ความเป็นดนตรีตามระเบียบแบบแผนหรือขนบที่เรายินยลกันเป็นประจำ ทั้งต่อต้านความสามัคคี ต่อต้านจังหวะที่สอดคล้องกันและกัน รวมถึงการใช้จังหวะต้นสด (Improvise) อยู่แทบตลอดเวลาที่แสดงเป็นตัวบ่งชี้ กลุ่มศิลปินนี้ทำการแสดงสดมาแล้วหลายครั้งตามที่ต่างๆของราชอาณาจักรนี้แล้วผู้เขียนเองก็ติดตามมาตลอด จนสังเกตว่าพวกเขานั้นจะยังคงไว้ซึ่ง การทดลอง อยู่เสมอ (จนน่ากลัวว่าพวกเขาอาจจะทำการทดลองต่อไปเรื่อยๆไม่รู้จบ) หากพวกเขาจะทดลองไปเรื่อยๆ บางทีพวกเขาอาจจะต้องมองหาบางอย่างที่เป็นผลผลิตจากการทดลอง และนำเสนอในรูปแบบของสื่ออื่นได้ด้วย อย่างน้อยที่สุดก็จะเป็นหนึ่งในแรงสนับสนุนที่จะทำให้กระแสของดนตรีแนวทดลองกว้างขวางขึ้น คงจะต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่าที่พวกเขาจะสามารถสร้างกลุ่มก้อนที่เข้มแข็งเพื่อแหวกว่ายทวนคลื่นกระแสดนตรีในประเทศนี้ได้ตามที่ต้องการ

การแสดงดนตรีสดของกลุ่มศิลปินนี้หากได้รับฟังแล้วคงจะขัดต่อความเข้าใจในดนตรีของใครหลายๆคน จึงดูจะเป็นการยากที่กลุ่มผู้สนใจในดนตรีจะเปิดใจรับฟังได้ง่ายๆ อาจต้องใช้เวลาอีกสักหน่อยกว่าที่จะเข้าใจในสิ่งที่ Do Not Resuscitate กำลังกระทำ ในส่วนของพวกเขานั้นเพียงแต่ต้องการผลิตผลงาน (เพลง) ที่แปลกใหม่ เพื่อทบทวนความเข้าใจในดนตรีที่พวกเขารู้จักอีกครั้งและในการกำเนิดดนตรีแนวทดลองของพวกเขา ก็คงหนีไม่พ้นความหมายของ non-music ที่ต่อต้านและทำลายความเป็น music ที่เป็นที่นิยมในยุคปัจจุบันนี้เอง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: