หวั่น 'ช่างทำทอง' ขาดแคลน แนะมหาวิทยาลัยเปิดด่วน

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 มิ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 5857 ครั้ง

หวั่น 'ช่างทำทอง' ขาดแคลน แนะมหาวิทยาลัยเปิดด่วน

สถาบันอัญมณีฯ หวั่นช่างทำทองขาดแคลน เหตุได้ค่าจ้างต่ำ แนะมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรแรงงานช่างฝีมือผลิตช่างป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับด่วน ที่มาภาพประกอบ: องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2561 ว่านางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่าได้รับรายงานว่าช่างทองในไทยเริ่มขาดแคลนมาก หรือลดลงร้อยละ 40-50 จาก 10 ปีก่อนที่มีช่างทองถึง 30,000 คน เพราะได้รับค่าจ้างขึ้นรูปแบบลวดลายอัตราต่ำ ประกอบกับผู้ประกอบการใช้เครื่องจักรแทน รวมถึงปี 2553-2555 ราคาทองคำสูงมาก ทำให้ความต้องการซื้อทองรูปพรรณลดลงและประชาชนซื้อทองคำแท่งเพื่อการลงทุนแทน ซึ่งการขาดแคลนช่างทองส่งผลกระทบต่อการผลิตทองคำรูปพรรณขนาดเล็ก โดยเฉพาะการผลิตทองรูปพรรณขนาด 1-2 สลึง ที่ต้องใช้ความประณีตมาก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการสำรวจค่าจ้างของช่างทองส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับรูปแบบของลวดลาย น้ำหนัก ความยากง่ายของงาน หากช่วงไหนทองคำขายดี มีงานเยอะ ช่างทองก็มีรายได้มาก เช่น สร้อยข้อมือ และสร้อยคอน้ำหนัก 1 บาท งานไม่ยาก ค่าจ้างมากกว่า 100 บาทต่อเส้น ถ้างานยาก มีความประณีต ค่าจ้าง 200-300 บาทขึ้นไป หากเป็นแหวนวงเล็ก ๆ ถือเป็นงานไม่ยาก ค่าจ้างไม่ถึง 100 บาทต่อชิ้น แต่ส่วนใหญ่งานประเภทนี้จะเป็นแบบรับเหมา ปัจจุบัน ไทยมีโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง ซึ่งผลิตช่างทองและเครื่องประดับเกือบ 300 คนต่อปี แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรม ซึ่งทางสถาบันอัญมณีฯ อยู่ระหว่างประสานกับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนช่างทั่วประเทศให้เพิ่มหลักสูตรแรงงานช่างฝีมือ เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ หลังจากที่ผ่านมามีสถาบันศึกษา 4 แห่งมีหลักสูตรแล้ว คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ช่วยป้อนแรงงานฝีมือปีละ 1,000-2000 คน

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยขยายตัวมากในช่วงที่ผ่านมา มีการจ้างงานเกือบ 1 ล้านคน แต่ละปีส่งออกไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท โดยช่วง 4 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 4,181 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.04 แต่หากหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปจะมีมูลค่า 2,540.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.46 โดยสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินั่ม เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เครื่องประดับเทียม และเครื่องประดับเงิน

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก กระทรวงแรงงานได้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในอุตสาหกรรมอัญมณี ประกอบด้วย ช่างเจียระไนพลอย ช่างหล่อเครื่องประดับ ช่างตกแต่งเครื่องประดับ และช่างอัญมณีบนเครื่องประดับ ระดับ 1 ค่าจ้าง 420 บาทต่อวัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาทต่อวัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2559 ส่งผลให้แรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติมีค่าจ้างเหมาะสมเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม สถาบันอัญมณียังมีโครงการเสริมสร้างซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ อย่างมั่นใจ โดยผู้ซื้อเพียงมองหาสติกเกอร์ตราสัญลักษณ์ BWC หน้าร้านค้า และใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับจาก GIT ภายใต้โครงการ “ซื้อด้วยความมั่นใจ Buy With Confidence (BWC)” สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดให้บริการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ พร้อมออกใบรับรองคุณภาพสินค้า โดยสามารถรับใบรับรองคุณภาพสินค้าภายในงาน Chanthaburi Gems & Jewelry Fair 2018 ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2561 ณ ศูนย์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดจันทบุรี

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: