‘งานสีเขียว’ กระทบตำแหน่งงานในอนาคตอันใกล้

ทีมข่าว TCIJ: 21 ต.ค. 2561 | อ่านแล้ว 7425 ครั้ง

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดการณ์ 'ตำแหน่งงานสีเขียว' (Green Jobs) หรืองานที่ยั่งยืน-เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะเพิ่มขึ้นถึง 24 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2030 แต่ช่วงเปลี่ยนผ่านจะมีคนตกงานราว 6 ล้านคน TCIJ ชวนดูตัวอย่างการสร้างงาน-การเปลี่ยนงานสู่งานสีเขียวในหลายๆ ประเทศ และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมสำหรับการรักษาตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  ดังตัวอย่างประเทศออสเตรเลีย ทุ่มงบรักษาแนวปะการังเพื่อรักษาตำแหน่งงานกว่า 64,000 ตำแหน่ง ที่มาภาพประกอบ: Twitter/ILO

นอกจาก ‘ภาวะโลกร้อน’ (global warming) จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงแล้ว ยังส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจด้วย รายงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Rutgers และ University of California – Berkeley แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา คนรวยในอเมริกาจะยิ่งร่ำรวยขึ้น ขณะที่คนจนจะจนลง โดยคนที่สามารถปรับตัวได้น้อยที่สุดจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้มากที่สุด ทั้งนี้อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 องศาเซลเซียสจะทำให้ตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.2 โดยเฉพาะรัฐทางใต้ซึ่งอยู่ติดชายฝั่งและอากาศร้อน ประชาชนจะได้รับผลกระทบมากกว่ารัฐทางเหนือและทางตะวันตก ประชากรในรัฐทางใต้อาจสูญเสียรายได้โดยเฉลี่ยร้อยละ 20 [1]

นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนยังมีผลประทบต่อลักษณะงานของคนทั่วโลก เพราะจะมีการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ และการสูญเสียตำแหน่งงานรูปแบบเก่า ก่อนหน้าปี 2008 มิติการจ้างงานสำหรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมถูกเพิกเฉยเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทำให้เกิดโอกาสในการฟื้นฟูที่มีมิติด้านสิ่งแวดล้อมด้วย โดยใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green New Deal เพื่อเชื่อมโยงเรื่องสภาพภูมิอากาศกับตำแหน่งงาน ปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่าตำแหน่งงานจำนวนหลักล้านตำแหน่งนั้น เกิดขึ้นจากนโยบายและการลงทุนที่มุ่งปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม [2]

ตำแหน่งงานรูปแบบใหม่ที่มีการพูดถึงกันมากเรียกว่า 'งานสีเขียว' (green jobs) ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ให้คำจำกัดความว่าเป็นงานในภาคเกษตรกรรม การผลิต การวิจัยและพัฒนา การบริหารจัดการ การบริการและกิจกรรมซึ่งส่งเสริมการอนุรักษ์และการฟื้นฟูธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานซึ่งช่วยปกป้องระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพ ลดการใช้พลังงาน ลดการใช้วัตถุดิบ หยุดการปล่อยกาซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษต่างๆ

ILO คาดการณ์ Green Jobs จะเพิ่มขึ้น 24 ล้านตำแหน่งในปี 2030

จากรายงาน World Employment and Social Outlook 2018: Greening with Jobs ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่เผยแพร่เมื่อเดือน พ.ค. 2018 ระบุว่า ในความพยายามจำกัดอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นให้อยู่ที่ 2 องศาเซลเซียสเพื่อสู้กับปัญหาโลกร้อน แม้จะต้องมีการสูญเสียตำแหน่งงานประมาณ 6 ล้านตำแหน่ง ในการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ก็จะมีการสร้าง 'งานสีเขียว' (Green Jobs) หรืองานที่ยั่งยืน-เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอีก 24 ล้านตำแหน่งภายในปี 2030 ทั้งนี้ หากมีการรักษาระบบนิเวศน์ทำให้อากาศ ดิน และน้ำ ไม่เสื่อมสภาพ รวมทั้งมีมาตรการรับมือและการป้องกันสภาพอากาศที่รุนแรงจะช่วยป้องกันการสูญเสียงานในภาคเกษตร ประมง ป่าไม้ และการท่องเที่ยว ซึ่งมีการจ้างแรงงานกว่า 1.2 พันล้านตำแหน่ง

รายงานของ ILO ยังเน้นย้ำว่า 'เศรษฐกิจสีเขียว' จะสามารถช่วยให้ผู้คนนับล้านสามารถเอาชนะความยากจนและสร้างวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ในระดับภูมิภาคจะมีการสร้างงานสุทธิในอเมริกา เอเชียแปซิฟิก และยุโรปคิดเป็นประมาณ 3 ล้าน 14 ล้านและ 2 ล้านตำแหน่งตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการในการผลิตและการใช้พลังงาน แต่กระนั้นในทางกลับกันอาจมีการสูญเสียงานสุทธิในตะวันออกกลาง (-0.48%) และแอฟริกา (-0.04%) หากแนวโน้มปัจจุบันยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง เนื่องจากงานในภูมิภาคนี้มีการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากเกินไป

นอกจากนี้ ยังมีการประเมินกันว่าภาคเศรษฐกิจต่างๆ ส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์จากการสร้างงานสุทธิ โดยมีเพียง 14 จาก 163 ภาคเศรษฐกิจที่จะสูญเสียการจ้างงานมากกว่า 10,000 ตำแหน่งทั่วโลก และมีเพียง 2 ภาคเศรษฐกิจ คือ 'การสกัดปิโตรเลียม' และ 'การกลั่นปิโตรเลียม' ที่จะมีการสูญเสียตำแหน่งงานมากกว่า 1 ล้านตำแหน่งหรือมากกว่านั้น แต่ตำแหน่งงาน 2.5 ล้านตำแหน่งจะถูกสร้างขึ้นในภาคเศรษฐกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน นอกจากนี้ภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการรีไซเคิลยังจะสร้างงานได้ถึง 6 ล้านตำแหน่ง

รายงานชิ้นนี้ยังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการฝึกอบรมพนักงานอย่างเร่งด่วน ในทักษะที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และให้การคุ้มครองทางสังคมที่เอื้อต่อการเปลี่ยนงานใหม่ๆ เพื่อป้องกันปัญหาความยากจน

"การเปลี่ยนแปลงนโยบายในภูมิภาคเหล่านี้สามารถชดเชยการสูญเสียงานที่คาดการณ์ได้ หรือผลกระทบด้านลบของพวกเขา ประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางและต่ำ ยังคงต้องการการสนับสนุนในการจัดเก็บข้อมูลและนำกลยุทธ์ทางการเงินไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงทุกคนจากทุกกลุ่มสังคมด้วย" หัวหน้าทีมงานวิจัยชิ้นนี้ระบุ [3]

การลดโลกร้อนส่งผลต่อการจ้างงานอย่างไร?

ในงานศึกษา 'การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม: การศึกษาเบื้องต้นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแรงงานในประเทศไทย' โดย นิรมล สุธรรมกิจ และกิริยา กุลกลการ, มูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ท (FES), 2560 ระบุว่า นโยบายลดโลกร้อนนั้นจะส่งผลต่อการจ้างงานทั้งบวกและลบ เช่น อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำจะขยายตัวส่งผลให้การจ้างงานในภาคนี้ขยายตัว ในขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรและพลังงานเข้มข้นจะหดตัว การจ้างงานในภาคนี้จึงจะหดตัวตามไปด้วย ทั้งนี้การลดโลกร้อนส่งผลต่อการจ้างงานได้ 4 รูปแบบ

1.การสร้างงานใหม่ การขยายตัวของสินค้า บริการ และโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่งผลให้เกิดการสร้างงานใหม่ในอุตสาหกรรมการผลิตเหล่านี้ ตัวอย่างเช่นการทำเกษตรอินทรีย์ พลังงานทดแทน การลดการใช้พลังงานในการผลิต การรักษาระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพ การป้องกันน้ำท่วม การรักษาหน้าดิน รักษาป่า การสร้างเขื่อน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขุดลอกคูคลอง การปรับปรุงสภาพถนน การปรับปรุงระบบการถือครองที่ดินเพื่อส่งเสริมการผลิตในภาคเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหารและใช้เป็นแหล่งพลังงานทางเลือก นอกเหนือจากผลกระทบทางตรงเหล่านี้แล้ว ยังมีผลกระทบทางอ้อม กล่าวคือเมื่อภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ขยายตัว จะเกิดการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น การผลิตและการจ้างงานจะเพิ่มเป็นผลพวงด้วย

2.งานบางประเภทจะถูกแทนที่ งานบางประเภทจะถูกแทนที่เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดการใช้สินค้าและบริการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยมลภาวะ เช่น การขนส่งที่เปลี่ยนจากรถบรรทุกเป็นระบบราง การผลิตที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่การผลิตที่ใช้ระบบยานยนต์ไฟฟ้า การนำขยะไปทิ้งถมที่ดินเป็นการนำไปแปรรูปแล้วนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรือเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก็ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อลักษณะอาชีพและทักษะที่จำเป็น

3.งานบางประเภทจะหมดสิ้นไป งานบางประเภทจะหมดสิ้นไปโดยไม่มีการทดแทนซึ่งอาจจะค่อยๆ หายไปหรือจะลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเกิดขึ้นในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดมลภาวะ ใช้วัตดุดิบและพลังงานเข้มข้น เช่น การทำเหมืองขนาดใหญ่ การเผาถ่านหิน เป็นต้น จะเกิดผลทางอ้อมต่อการจ้างงานจากการหดตัวของภาคเศรษฐกิจและการใช้จ่ายที่ลดต่ำลงอีกด้วย

4.งานจำนวนมากจะถูกปรับเปลี่ยน งานจำนวนมากจะถูกปรับเปลี่ยนไปสู่การรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ช่างไฟฟ้า น้ำประปา ทำงานเหมือนเดิมภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คนงานในบริษัทผลิตรถยนต์ที่จะผลิตรถยนต์ที่ประหยัดพลังงาน เกษตรกรที่จะปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพอากาศมากยิ่งขึ้น การก่อสร้างอาคารบ้านเรือนที่ต้องเปลี่ยนมาใช้วัสดุอุปกรณ์กันความร้อนและประหยัดพลังงาน ซึ่งคนงานจำเป็นต้องมีทักษะและความรู้ใหม่ [4]

การสร้างงานใหม่ และการปรับเปลี่ยนงานในอุตสาหกรรมต่างๆ

มีการคาดการณ์ว่าจีนจะสร้างตำแหน่งงาน Green Jobs ไม่น้อยกว่า 4.5 ล้านอัตราในปี 2020 ที่มาภาพประกอบ: Li An/Xinhua/ZUMA

ตัวอย่างการสร้างงานใหม่เกิดขึ้นอย่างเด่นชัดในภาคพลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีตำแหน่งเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 8.1 ในประเทศจีน บราซิล สหรัฐอเมริกา อินเดีย และยุโรป ทั้งนี้ พลังงานทดแทนยังไม่ได้ถูกผลิตมาใช้ทดแทนพลังงานจากฟอสซิล แต่ผลิตมาเพื่อใช้เสริมกันในปัจจุบัน นอกจากภาคพลังงานแล้ว ในภาคเกษตร การทำเกษตรอินทรีย์จำเป็นต้องใช้แรงงานเข้มข้นกว่าการทำเกษตรทั่วไป ทำให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มสูงขึ้น โดยผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่อง ในปี 2015 คือขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21 ส่วนใหญ่เป็นข้าวออร์แกนิค (ร้อยละ 28) และพืชผสมผสาน (ร้อยละ 187) [5]

ประเทศจีน จากรายงาน Green Economy and Green Jobs in China: Current Status and Potentials for 2020 ที่เผยแพร่เมื่อปี 2011 ของ World watch Institute ระบุว่า จีนเป็นประเทศที่จะสร้างงาน Green Job ขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจพลังงาน ขนส่ง ป่าไม้ คาดว่าจะสร้างตำแหน่งงาน Green Job ไม่น้อยกว่า 4.5 ล้านอัตราในปี 2020  โดย Worldwatch ประเมินการสร้างตำแหน่งงานสีเขียวในอุตสาหกรรมต่างๆ ของจีนไว้ดังนี้ 1) อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะสร้างตำแหน่งงานโดยเฉลี่ยปีละ 6,680 อัตรา ในระหว่างปี 2011-2020  2)อุตสาหกรรมพลังงานลมที่ใช้ทำเครื่องปั่นไฟและใช้ในภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะสร้างงานปีละ 34,000 อัตรา ในระหว่าง 2011-2020 เทียบกับเฉลี่ยปีละ 40,000 อัตราระหว่างปี 2006-2010 และ 3) อุตสาหกรรมยานยนต์ จีนผลิตรถยนต์ใหม่ราว 220 ล้านคัน ระหว่างปี 2011-2020 โดย 16.7 ล้านคัน เป็นรถยนต์ไฮบริดหรือพลังงานไฟฟ้า [6]

สหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 2015-2016 การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์มีการจ้างงานสูงถึง 374,000 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43 ของกำลังแรงงานในภาคการผลิตไฟฟ้า นับตั้งแต่ปี 2015 พลังงานแสงอาทิตย์ได้สร้างงานใหม่จำนวน 73,000 ตำแหน่ง คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 25 การผลิตพลังงานลมก็มีการจ้างงานสูงถึง 100,000 คน คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 32 ส่งผลให้กำลังแรงงานที่ใช้ในการผลิตพลังงานลมมีจำนวนสูงเป็นอันดับที่ 3 ของการผลิตพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2014 พลังงานแสงอาทิตย์ได้สร้างงานในตลาดแรงงานของสหรัฐฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 20 เท่า [7]

‘การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม’ แรงงานต้องไม่ถูกทอดทิ้ง

ในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น นอกจากแง่บวกอย่างการสร้างงานใหม่ๆ แล้ว ในอีกด้านพบว่าจะมีตำแหน่งงานจำนวนมากหายไปและถูกปรับเปลี่ยน ซึ่งจะต้องมีการคำนึงถึงผู้ใช้แรงงานด้วย โดยสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation - ITUC) ระบุว่า 'การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition)' คือข้อเรียกร้องสำคัญที่ปรากฏในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และได้รับคำจำกัดความเพิ่มเติมในแนวปฏิบัติแรงงานสากลโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ขององค์การสหประชาชาติ ประเด็นนี้ถือได้ว่าเป็นชัยชนะของขบวนการแรงงานระดับโลกเรื่องหนึ่ง (อ่านเพิ่มเติม จับตา: การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) คืออะไร?)

ตัวอย่างความพยายามสร้างการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมให้แก่คนงานในหลายๆ ประเทศมีดังนี้

เดนมาร์ก การเจรจาทางสังคมของชาวเดนิชที่เริ่มต้นในทศวรรษที่ 1970 ได้ก่อให้เกิดนโยบายด้านอุตสาหกรรมและสภาพภูมิอากาศที่เข้มแข็ง จุดมุ่งหมายแรกเริ่มนั้นคือการพึ่งตนเองได้ด้านพลังงาน แต่ต่อมามีจุดมุ่งหมายให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานถ่านหินไปเป็นพลังงานลม เมื่อเวลาผ่านไปเดนมาร์กกลายเป็นผู้ส่งออกพลังงานและได้ลดการใช้ถ่านหินลงร้อยละ 50 และเพิ่มสัดส่วนการใช้ลมในการผลิตพลังงานถึงร้อยละ 40-50 นอกจากนั้นยังกลายเป็นผู้ผลิตชั้นนำในอุตสาหกรรมพลังงานลมระดับโลก เช่น บริษัท Vestas เป็นผู้ผลิตกังหันลมที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และบริษัท Dong Energy ซึ่งรัฐเป็นเจ้าของรายใหญ่ เป็นผู้พัฒนาและดำเนินโครงการเกี่ยวกับลมและพลังงานอื่นๆ ด้วย ในปี 2015 อุตสาหกรรมพลังงานลมของเดนมาร์กมีการจ้างงาน 31,251 ตำแหน่ง และพลังงานลมสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 42 ของไฟฟ้าที่ใช้ทั้งประเทศ ชาวเดนิชมีประสบการณ์ด้านบวกกับนโยบายสีเขียวและเป็นฐานเสียงใหม่ของผู้สนับสนุนที่กระตือรือร้นเรื่องการรักษาสภาพภูมิอากาศ [8]

เยอรมนี นโยบายลดการใช้ถ่านหิน ทำให้การจ้างงานในอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินลดลงจาก 753,000 ตำแหน่งในปี 1950 เหลือเพียง 33,500 ตำแหน่งในปี 2014 หรือลดลงถึงร้อยละ 96 รัฐบาลเยอรมันได้เตรียมความพร้อมโดยมีการวางแผนร่วมกันของหลายภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้อง เช่น การวางแผนให้แรงงานเกษียณก่อนกำหนด การพัฒนาทักษะให้แรงงาน การวางแผนงบประมาณในการชดเชยแก่แรงงานที่ตกงาน สำหรับแรงงานที่ยังอายุน้อยมีการช่วยเหลือในการหางานใหม่ รวมทั้งพัฒนาทักษะให้เหมาะสมกับงานใหม่ [9] รวมทั้งการที่แรงงานและนายจ้างมีการปรึกษาหารือและได้นโยบายหลักๆ 4 ข้อ ในการเปลี่ยนผ่านแรงงานจากอุตสาหกรรมถ่านหิน ได้แก่ 1.เงินอุดหนุนสำหรับการคืนสู่สังคมของคนที่ว่างงานและผู้ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะไม่มีงานทำ 2.นโยบายด้านการส่งเสริมตลาดแรงงานเพื่อการพัฒนาสถานประกอบการ 3.การสนับสนุนการจ้างงานและโครงสร้างพื้นฐานพร้อมกัน และ 4.บูรณาการการพัฒนาพื้นที่ในเมืองที่เป็นปัญหา [10]

จีน เป็นผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ของโลกได้ประกาศลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 18 ภายใน 5 ปี โดยการลดการใช้พลังงานถ่านหิน ซึ่งมีผลให้แรงงาน 1.3 ล้านคนจากทั้งหมด 6.5 ล้านคนในอุตสาหกรรมถ่านหินต้องตกงาน รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น อุตสาหกรรมเหล็กที่ตำแหน่งงานจะหายไปกว่า 50,000 ตำแหน่ง ซึ่งสองอุตสาหกรรมนี้จ้างงานสูงถึงร้อยละ 20 ของการจ้างงานทั้งหมดของประเทศจีน [11] ทั้งนี้ในจีนมี ‘กองทุนเพื่อยกเลิกการผลิตถ่านหิน’ รัฐใช้เงินประมาณ 30 พันล้านหยวน (ประมาณ 141,000 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการปิดเหมืองขนาดเล็กและไม่มีประสิทธิภาพ และหางานใหม่ให้กับแรงงาน 1 ล้านตำแหน่ง [12]

อาร์เจนตินา สหภาพแรงงานช่างก่อสร้างอาร์เจนตินา (UOCRA) สนับสนุนให้แรงงานได้รับการฝึกอบรมด้านพลังงานหมุนเวียน โดยมอบประกาศณียบัตรด้านทักษะการติดตั้งอุปกรณ์การผลิตก๊าซชีวภาพ เครื่องผลิตน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และอุปกรณ์ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์และลม แรงงานที่มีความรู้ดังกล่าวจะได้ค่าจ้างพิเศษ ล่าสุด รัฐบาลอาร์เจนตินามีแผนเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนในอีกไม่กี่ปีนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนกิจกรรมการฝึกอบรมดังกล่าวมากขึ้น สหภาพแรงงานคาดการณ์ว่ามีความต้องการแรงงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้น จึงเปิดศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยเรื่องพลังงานหมุนเวียนเป็นครั้งแรกของประเทศ เมื่อเดือน ก.ค. 2017 [13]

ออสเตรเลีย โรงไฟฟ้าถ่านหิน Hazelwood ถือเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ก่อมลพิษมากที่สุดในออสเตรเลีย บริษัท Engie ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้ประกาศปิดโรงงานในเดือน มี.ค. 2017 โดยประกาศให้พนักงานและชุมชนรู้ล่วงหน้า 5 เดือน มีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น สหภาพแรงงานต่างๆ และทางบริษัทในการดำเนินโครงการที่ใช้เงิน 20 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 470 ล้านบาท) ช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานประมาณ 150 คนที่ถูกเลิกจ้าง เพื่อให้พวกเขายังคงทำงานในอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าเช่นเดิม โดยย้ายพวกเขาไปยังโรงไฟฟ้าแห่งอื่น ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวยังมีแผนการเกษียณอายุก่อนกำหนด ซึ่งจะสร้างตำแหน่งงานสำหรับผู้ใช้แรงงานที่มาจากการปิดโรงงานไฟฟ้า Hazelwood  โครงการนี้จะมอบเงินทุนให้พนักงานที่เข้าร่วมแผนการ ซึ่งเป็นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกเรื่องการจ้างงานใหม่แก่คนงานใน Hazelwood [14]

‘ปกป้องธรรมชาติ’ สำคัญต่อการรักษาตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

แนวปะการัง เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ (Great Barrier Reef) หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของออสเตรเลีย ช่วยให้มีการจ้างงานถึง 64,000 ตำแหน่ง ที่มาภาพประกอบ: The Conversation

การปกป้องธรรมชาติจะช่วยป้องกันการสูญเสียงานในภาคเกษตร ประมง ป่าไม้ และการท่องเที่ยว ซึ่งมีการจ้างแรงงานกว่า 1.2 พันล้านตำแหน่ง ในหลายประเทศที่มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เริ่มตระหนักถึงปัญหานี้และลงมือป้องกันในระยะยาวแล้ว

ตัวอย่างในประเทศออสเตรเลีย ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือเป็นแหล่งรายได้หลักอย่างหนึ่งของประเทศ ปัจจุบันพบว่าแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอย่างแนวปะการังเกรท แบร์ริเออร์ รีฟ (Great Barrier Reef) ซึ่งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเริ่มมีสภาพเสื่อมโทรม ทำให้เมื่อเดือน เม.ย. 2018 ที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียประกาศว่าได้จัดเตรียมงบประมาณกว่า 500 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 11,625 ล้านบาท) สำหรับใช้ดำเนินมาตรการรักษาคุณภาพน้ำ, กำจัดปลาดาวมงกุฎที่เป็นศัตรูของปะการัง และเพิ่มความพยายามฟื้นฟูแนวปะการังใหญ่ที่สุดของโลกนี้ ทั้งนี้การคงอยู่ของแนวปะการังเกรท แบร์ริเออร์ รีฟ จะมาพร้อมกับการรักษาตำแหน่งงานกว่า 64,000 ตำแหน่งที่ทำงานเกี่ยวเนื่องอยู่กับการท่องเที่ยวเพื่อชมแหล่งปะการัง ซึ่งแต่ละปีทำรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่า 6,400 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 148,800 ล้านบาท) [15]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] งานวิจัยชี้ "ภาวะโลกร้อน" ส่งผลต่อเศรษฐกิจอเมริกันแต่ละรัฐแตกต่างกัน (VOA, 30/6/2017)
[2] Just Transition - Where are we now and what’s next? A Guide to National Policies and International Climate Governance โดยสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation - ITUC), 2017
[3] 24 million jobs to open up in the green economy (ILO, 14/5/2018)
[4] การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม: การศึกษาเบื้องต้นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแรงงานในประเทศไทย (นิรมล สุธรรมกิจ และกิริยา กุลกลการ, มูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ท (FES), 2560)
[5] เพิ่งอ้าง
[6] Worldwatch Report #185: Green Economy and Green Jobs in China: Current Status and Potentials for 2020 (Dr. Jihua Pan, Haibing Ma, and Dr. Ying Zhang, Worldwatch Institute, July 2011)
[7] การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม: การศึกษาเบื้องต้นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแรงงานในประเทศไทย (นิรมล สุธรรมกิจ และกิริยา กุลกลการ, มูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ท (FES), 2560)
[8] Just Transition - Where are we now and what’s next? A Guide to National Policies and International Climate Governance โดยสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation - ITUC), 2017
[9] การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม: การศึกษาเบื้องต้นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแรงงานในประเทศไทย (นิรมล สุธรรมกิจ และกิริยา กุลกลการ, มูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ท (FES), 2560)
[10] Just Transition - Where are we now and what’s next? A Guide to National Policies and International Climate Governance โดยสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation - ITUC), 2017
[11] การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม: การศึกษาเบื้องต้นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแรงงานในประเทศไทย (นิรมล สุธรรมกิจ และกิริยา กุลกลการ, มูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ท (FES), 2560)
[12] Just Transition - Where are we now and what’s next? A Guide to National Policies and International Climate Governance โดยสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation - ITUC), 2017
[13] เพิ่งอ้าง
[14] เพิ่งอ้าง
[15] Record Investment in the Great Barrier Reef to Drive Jobs (malcolmturnbull.com.au, 29/4/2018)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) คืออะไร?

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: