บันทึกชีวิต: ขอทานในอังกฤษ

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข: 22 พ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 6522 ครั้ง


บทความนี้ตั้งใจที่จะเขียนบรรยายถึงชีวิตของกลุ่มคนที่ทำอาชีพขอทานและคนไร้บ้านในประเทศอังกฤษแบบพอสังเขปให้อ่านกัน ก่อนอื่นเลย คือ บทความนี้จะไม่พยายามอภิปรายอะไรมากนักว่า ใครคือขอทาน ใครคือ คนไร้บ้าน (homeless) แล้วกลุ่มคนสองจำพวกนี้มันแตกต่างกันอย่างไร เพราะที่ประเทศอังกฤษนั้นไม่ได้มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนแบบบางประเทศ ดังนั้นคนไร้บ้านที่อังกฤษนั้น นอกจากจะพยายามแสดงตนว่าเป็นผู้ที่ไม่มีบ้านจะอยู่แล้ว ยังทำหน้าที่ขอทานเพื่อทำมาหากินด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่มาของคำว่า “ขอทานไร้บ้าน” (homeless beggars)[1] หรือบางครั้งคนที่อังกฤษอาจจะเรียกแบบรวมๆว่า “พวกไม่มีที่จะไป” (rough sleeper)[2]

อนึ่ง ผู้เขียนนั้นกำลังศึกษาอยู่ ณ เมือง Lancaster แต่ก็มีธุระต้องเดินทางไปมาระหว่าง London และ Manchester อยู่หลายครั้ง ข้อมูลที่ได้นำมาทำการเสนอในงานชิ้นนี้ ก็เป็นข้อมูลที่ถูกรวบรวมจากการสังเกตการณ์ และการตระเวนพูดคุยกับชาวขอทานทั้งหลายในเมืองต่างๆของประเทศอังกฤษจนพอที่จะเห็นแผนภาพแบบคร่าวๆของลักษณะ พฤติกรรมและความเป็นไปของขอทานที่อังกฤษนี้อยู่บ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะยืนยันหรือตั้งแง่สรุปว่าใครเป็นคนที่จนจริง ไม่มีบ้านจริง หรือออกมาขอทานเพราะไม่มีที่ทางจะไปจริง ก็เกินขีดจำกัดและฐานข้อมูลของงานเขียนชิ้นนี้เช่นกัน (บทความนี้จึงไม่มีเป้าหมายดังว่า)

โดยบทความนี้จะทำหน้าที่กล่าวสาธยายถึงเมืองจำนวนสามเมืองหลัก คือ Lancaster, Manchester และ London ซึ่งผู้เขียนได้ทำการสัญจรไปมาบ่อยที่สุดในช่วงที่โยกย้ายเข้ามาเรียนที่ประเทศนี้ โดยเริ่มจากแห่งแรก คือเมือง Lancaster

เมื่อกล่าวถึงขอทานหรือคนไร้บ้านที่พำนักอาศัยอยู่ ณ เมืองแห่งนี้แล้วคนลักษณะทั่วไปที่พบได้บ่อยของกลุ่มคนพวกนี้ก็คือมักจะอยู่เฉยๆ นั่งๆนอนๆอยู่ที่ที่เดิม จุดจุดเดิม ที่ใครที่มัน มีอาณาเขตบริเวณที่ค่อนข้างชัดเจน ไม่ค่อยเคลื่อนไหวไปไหน นอกจากห้องน้ำ หรือ เอาเงินไปซื้อเบียร์ที่ร้านสะดวกซื้อ นานๆครั้งจึงจะเห็นคนพวกนี้หอบข้าวของลุกหนีไปจากอาณาเขตของตัวเอง เพราะตำรวจที่นี่ก็ไม่ได้มีมาตรการอะไร วันไหนที่เมืองมีตลาดนัด หรือตลาดค้าของสดในเมือง ก็จะค่อนข้างดีสำหรับพวกเขาสักหน่อย คือ มีคนในเมืองออกมาเดินกันอย่างพลุกพล่าน เพราะมีโอกาสที่คนจะให้เงินมากขึ้นจากเศษเงินทอนที่ได้จากร้านค้าแผงลอยต่างๆ

ในส่วนของจุดที่พบและนิยมลงหลักปักฐานกัน (นิยามก่อนว่า ลงหลักปักฐานในที่นี้หมายถึง เอาข้าวของ ที่นอน ผ้าห่ม เสื้อผ้าตัวเองมาวางกองๆไว้) ส่วนมากจะเป็นตามซอกตึก หรือมุมอับลม ของประตูร้านค้า (เพราะที่นี่ร้านค้าปิดกันหลัง 6 โมง คนไร้บ้าน ขอทานก็มานอนกันได้ ตำรวจก็ไม่ได้ทำอะไร) คนพวกนี้จึงมีที่นอนเป็นเรื่องเป็นราวเป็นของตัวเอง อยู่ในอาณาบริเวณรอบๆย่านร้านค้าต่างๆในโซนศูนย์กลางเมือง ใครขยันหน่อยก็ยังไม่นอน อาจจะนั่งโหวกเหวกขอเงินคนที่ผ่านไปผ่านมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับในคืนวันพุธ ศุกร์ และเสาร์ (ที่มักเป็นวันเข้าผับของคนในเมืองและนักศึกษาที่มาเรียนที่นี่)

ขอทานที่นี่นั้น เขาค่อนข้างจะรู้จักคนในเมืองและเป็นมิตรกับคนที่เดินผ่านไปผ่านมา ผู้เฒ่าผู้แก่รู้จักกันทั่วถึงกันหมดว่าใครเป็นใคร ขอทานในเมืองนี้จึงอัธยาศัยดี ชอบคุย ใครไปไหนมาไหน สามารถชวนพวกเขาคุย หรือนั่งลงกับพื้นคุยกับพวกเขาได้อย่างไม่เคอะเขิน โดยไม่ต้องให้เงินก็ได้ และโดยส่วนมากแล้วขอทานที่เมือง Lancaster นั้นก็มีน้อยคนนักที่จะออกเดินเร่ เรี่ยไร ตามสถานที่ต่างๆไปทั่ว (เพราะเมืองมันเล็ก และจุดที่คนเดินกันพลุกพล่านไปมานั้นก็มีเพียงแค่จุดจุดเดียว ถ้าไม่ใช่หน้าสถานีรถไฟ หรือปราสาทประจำเมืองที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งเดียวของเมืองนี้)

รายได้ของขอทานที่เมืองนี้แม้จะไม่ได้ดีมากนัก แต่ก็พอมีคนให้เงินพวกเขาอยู่บ้าง เศษเล็กเหรียญน้อย ยิ่งวันพุธและวันเสาร์ตอนกลางวันที่เป็นวันจ่ายตลาดของคนในเมืองนี้ยิ่งเห็นได้ค่อนข้างชัดว่า แม้เป็นเพียงเมืองเล็กๆ แต่เศรษฐกิจการเงินในหมู่ขอทานนั้นก็ไม่ได้แย่หรือแร้นแค้นเสียจนถึงขั้น หาเงินไม่ได้เลย (เพราะแม้คนท้องถิ่นไม่ให้เงินขอทาน ก็มักจะมีนักศึกษาจากต่างชาติที่เดินผ่านไปมานั้นหยอดให้อยู่ดี)

ลำดับถัดไป คือ เมือง Manchester ในสายตาของผู้เขียนนั้น ที่เมืองนี้ขอทานหรือ Homeless อะไรพวกนี้จะดูค่อนข้างลำบากสักนิดนึง แถมยังค่อนข้างดูก้าวร้าว คุกคาม และน่ากลัวมากอีกด้วย เพื่อนของผู้เขียนหลายๆคนล้วนเคยมีประสบการณ์โดนขอทานวิ่งตามอยู่หลายครั้ง แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนอยู่ในเหตุการณ์ด้วยตัวเอง คือโดนขอทานเดินกึ่งวิ่งตามได้ประมาณเกือบ 2 กิโลเมตรได้ เพื่อจะขอเงิน (แต่ไม่ได้ให้ไป) ขอทานคนนั้นก็เดินตาม แล้วก็ตะโกนแหกปากโหวกเหวกด้วยวลียอดนิยม "spare some change please" เหมือนเสี่ยงโชคไปด้วยหลังตะโกน เผื่อคนหนึ่งไม่คิดจะให้ อีกคนหนึ่งที่ผ่านมาได้ยินก็อาจจะให้ก็ได้ เพราะอย่างน้อยก็ยังอยู่ในเขตชุมชน และใจกลางเมือง

จากประสบการณ์ที่ได้ไปนั่งพูดคุยกับคนในย่านนั้นมา ได้ความมาว่าคนที่นี่ไม่ค่อยมีใครให้เงิน Homeless กันเท่าไรนัก ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลนึงที่ Homeless ที่นี่นั้นค่อนข้างจะมีพฤติกรรมดูคุกคาม และต้องดิ้นรนมากเป็นพิเศษ ต้องเดิน ต้องตระเวนไปรอบๆบริเวณที่มีผู้คน กล่าวคือ ขอทานที่ Manchester นี้สังเกตได้ว่าเดินเที่ยวกันแทบไม่ต่างจากนักท่องเที่ยวเลย ในลักษณะที่ว่าเดินไปทั่วเมืองจริงๆ เห็นใครท่าทางมีเงินก็จะพยายามเดินตาม (มีอยู่ครั้งนึง เคยแอบเดินตามขอทานคนนึง เขาเดินตามนักท่องเที่ยวจีน เดินตามไปได้ประมาณ 3-4 ช่วงตึก ขนาดคนจีนคนนั้นเขาเดินวนๆอยู่ที่ละแวกเดิมหลายๆรอบนะ ขอทานก็ยังเดินตามแบบเห็นได้ชัด)

สำหรับจุดที่สามารถพบและจุดที่พวกเขานิยมลงหลักปักฐานนั้นอาจจะมีหลากหลายขึ้นมาสักหน่อย คือ มีหลักๆอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มที่ชอบนั่งพำนักอยู่กับที่ในย่านเศรษฐกิจ เช่น ย่าน Piccadilly กับ กลุ่มพวกที่ชอบเดินวนไปวนมา แล้วหอบข้าวหอบของของตัวเองเดินไปเรื่อยๆ แต่ก็จะไม่ค่อยต่างจากใน Lancaster เท่าใดนักในแง่ของจุดที่อยู่ในทางภูมิศาสตร์ แต่ลักษณะหน้าตา จะค่อนข้างดูเป็นมิตรน้อยกว่าที่ Lancaster และมีลักษณะที่รุงรัง มอมแมมกว่า หากจะให้ขยายถึงความเป็นมิตรนั้น คงพูดได้ว่า ขอทานที่นี่มีแนวโน้มจะพูดคุย สนทนาพาทีกับนักท่องเที่ยวหรือคนที่ไม่รู้จักน้อย หากขอเงินแล้วไม่ได้เงินก็ไม่ค่อยมีแรงจูงใจที่จะสนทนาเป็นเรื่องเป็นราวต่อ นอกจากจะหันกลับไปพูดประโยคเดิม คือ “spare some change !!”

มาถึงแห่งสุดท้ายคือที่ London เมืองหลวง ที่นี่ขอทานนั้นสามารถพูดได้เลยว่าลักษณะการปฏิบัติงานจะออกไปในทางเชิง Proactive หรือก็คือ เชิงรุก ที่ดูจะกระปรี้กระเปร่ากันเอามากๆ เดินย่ำกันไปเสียครบทุกย่าน ที่นับได้ว่าเป็นย่านเศรษฐกิจ สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาช็อปปิ้ง ตั้งแต่ย่าน SOHO, ย่าน Chinatown, ย่าน Covent Garden, ย่าน Hyde Park, Oxford Street, ไปจนถึงย่านวงแหวนรอบกลางเกือบนอก อย่าง Greenwich ในช่วงที่เป็นเหมือน Zone 4-5 (ซึ่งถือว่าเป็นเขตนอกศูนย์กลางของ London)

ชีวิตการเป็นขอทานใน London นี้ออกแนวสดใสมาก และรวย รายได้ดี อันนี้เคยมีรายงานข่าวเกี่ยวกับสถานะทางเศรษฐกิจในหมู่ของขอทานตามเขตต่างๆในประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะกับบริเวณย่านการช็อปปิ้ง ย่านศูนย์การค้านั้น ขอทานสามารถมีรายรับได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 100 ปอนด์ (หากเอาไปคูณ 43-45 ก็จะได้เป็นเงินไทยร่วมๆ 4,000 กว่าบาท) [3] หรือไม่ต่ำกว่า 300 ปอนด์ใน London [4] บางรายอาจได้มากถึง 500 ปอนด์ต่อวัน หรือก็คือ 130,000 ปอนด์ต่อปี [5] และที่ London นี้ขอทานจะไม่ค่อยอดอยากเท่าไร บางคนก็มีเบียร์แพ็คใหญ่วางไว้ข้างที่นอน หนาวก็เปิดกระป๋องดื่มเอา พูดอย่างง่ายคือ สามารถดำรงชีพและเลี้ยงตัวเองได้ด้วยเงินจากการขอทานที่ไม่มีขาดมือ

ขอทานที่นี่จะลักษณะคล้ายๆ Manchester คือส่วนใหญ่จะเป็นนักเดินกัน ไม่ค่อยอยู่นิ่งๆ และจะขยันทำงานกันแบบเชิงรุกมาก คือนิยมเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆของเมือง เพื่อเสาะหาแหล่งเงินแหล่งทอง (ขออนุญาตไม่ใช้คำว่า ทำเล เพราะหลายๆคนไม่ได้อยู่กันเป็นที่ และไม่นิยมที่จะตั้งฐานอยู่ที่เดิมนานๆ เพราะทุกที่คือทำเล และสามารถกลายเป็นทำเลใหม่ได้เสมอ เมื่อที่นั้นๆมีจำนวนผู้คนผ่านไปผ่านมาในปริมาณเยอะ ซึ่งก็เป็นลักษณะเฉพาะตัวของ London เองที่มีกิจกรรม มีตลาดนัด มีงานเทศกาลอะไรจัดขึ้นตลอดทุกวัน ตามจุดบริเวณต่างๆของตัวเมืองไม่หยุดแม้เสาร์-อาทิตย์ แง่นี้จึงเป็นเหมือนโอกาสที่เปิดให้ขอทานสามารถบริหารจัดการและโยกย้ายเคลื่อนตัวเองเข้าหาแหล่งทำเล หรือแหล่งท่อน้ำเลี้ยงใหม่สลับไปเรื่อยๆ)

ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งของขอทานที่ London นี่คือจะไม่ค่อยคุกคาม และไม่น่ากลัวเท่าที่ Manchester โดยเฉพาะในโซน Oxford St., Piccadilly Circus, Chinatown, และ SOHO คือ จะเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวมาก และนักท่องเที่ยวชาวจีน หรือนักศึกษาชาวจีนก็เป็นเสมือนกลุ่มลูกค้าหลักของเหล่าขอทานพวกนี้ ใน Chinatown ภาพที่เห็นบ่อยๆก็คือหนุ่มๆสาวๆหน้าตาละม้ายคล้ายคนเอเชียมักจะหยุดและหยอดเงินให้กับขอทานอยู่บ่อยๆ (แถวนั้นคนจีนและคนเอเชียมีจำนวนเยอะมาก) แต่เอาเข้าจริงๆไม่ใช่แค่ใน London แต่เห็นได้กับทุกเมือง (ทั้งใน Manchester และใน Lancaster) ที่มักจะเห็นคนจีนหยอดเงิน บริจากเงินให้กับขอทานหรืองานบุญอะไรทำนองนี้ ดังนั้นด้านความเป็นมิตรกับผู้คน ทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวของขอทานเหล่านี้แสดงให้เห็นได้ชัดเจนผ่านการพูดคุย อัธยาศัย ที่แม้จะไม่ได้มีอะไรที่บ่งบอกถึงความซื่อสัตย์ ความน่าไว้ใจใดๆแต่ก็บอกได้อย่างหนึ่งว่ามีความต้อนรับขับสู้กับผู้มาเยือนและผู้ที่สัญจรผ่านไปผ่านมาได้ในระดับที่ค่อนข้างดี

นอกจากนี้ในเรื่องของรูปแบบการขอทานที่เกริ่นไว้ว่าเน้นเชิงรุก ก็คือเป็นการปฏิบัติงานเชิงรุกจริงๆ คือรุกหนักตั้งแต่เดินเข้าไปขอทานในร้านอาหารประเภท Take-away (ร้านประเภทไม่มีโต๊ะให้นั่งกินเป็นเรื่องเป็นราวแบบร้านอาหารประเภท Fine-Dining), บนรถเมล์, ไปจนถึงแสกนบัตร Oyster Card เพื่อลงไปขอทานในรถไฟใต้ดิน (tube) โดยเฉพาะกับเวลาเดินขอทานในรถไฟใต้ดิน ที่บังเอิญผู้เขียนมีตัวอย่างที่พอจะเห็นภาพได้อยู่หนึ่งตัวอย่าง คือประเภทเดินขอทานไปทุกตู้ กล่าวคือ พวกเขาจะเดินเปิดประตูเชื่อมตู้รถไฟเพื่อเดินเรี่ยไรเงินจากผู้โดยสารตามตู้ต่างๆอย่างไม่เกรงกลัวใคร (ที่ควรจะกลัวเพราะทางการรถไฟได้เขียนป้ายว่าห้ามเปิดประตูเชื่อมระหว่างตู้ และจะมีโทษปรับสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน)

มีขอทานคนหนึ่งชื่อ Bob ผู้เขียนพบเขาใน London ได้ประมาณ 3 ครั้งแล้วภายในรถไฟใต้ดิน Bob เนี่ยเป็นคนตัวสูง ราวๆ 180 เซนติเมตร ผมเผ้ารุงรัง แต่งตัวแบบฮิปปี้ มีผ้าไหมพรมพันหน้าผาก และหมวกฟีดอร่า สีดำ 1 ใบ ซึ่งเขาใช้มันเป็นอุปกรณ์ในการขอทาน แทนขัน หรือแก้ว สำหรับ Bob เนี่ยถ้าผู้อ่านอยากจินตนาการหน้าตาของเขาให้ลองนึกถึงตัวละครชื่อ Jervis Tetch ในทีวีซีรีส์เรื่อง Gotham [6] อาจจะพอช่วยให้นึกออกมากขึ้นบ้าง ผู้เขียนเจอเขาครั้งแรกบนรถไฟใต้ดินระหว่างจะไป Chinatown ขณะนั้นพอดียืนอยู่ตรงประตูรอยต่อระหว่างตัวเชื่อมตู้รถไฟ ส่วน Bob จะเดินไปยังอีกตู้นึง และพยายามขอให้ผู้เขียนเปิดประตูให้เขา เพราะเขาไม่สะดวกจะเปิดเอง (แต่ไม่ได้เปิดให้ เพราะมีป้ายเขียนว่าห้ามเปิด Bob เลยถือวิสาสะเปิดเองเสียเลย)

นาย Bob เนี่ยเป็นขอทานที่ไม่มีสัมภาระติดตัว เดินมาตัวเปล่า พร้อมเสื้อโค้ทหลวมๆอยู่ตัวหนึ่ง เขายิ้มให้กับทุกคน พอเขาจะมุ่งหน้าเดินต่อไปตู้ถัดไปนั้น ได้ทำของใช้ส่วนตัวหล่น ผู้เขียนจึงเก็บให้ Bob ได้หันมาขอบคุณและตบบ่าผู้เขียน พร้อมบอกว่า เขาชื่อ Bob นะ (จริงหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้แน่ชัด) แล้วก็กล่าวว่า "เฮ้ยฉันไปละนะ ต้องรีบ!" ซึ่งผู้เขียนก็ไม่สู้จะเข้าใจเท่าใดนักว่าเขาบอกชื่อทำไม และระหว่างที่เดินจากไป เขาก็ได้แทรกลำตัวไปตามผู้โดยสารรายอื่นในตู้รถไฟ พร้อมกับหงายหมวกให้ทุกคน และขอเงินจากทุกคนในตู้ (นี่ขนาดว่ารีบในความหมายของเขา คงหมายถึงรีบไปขอทาน)

ที่ London มีขอทานแบบ Bob ค่อนข้าง กล่าวคือ เดินเที่ยวตระเวนตามเขต Soho ตอนกลางคืน ใครนั่งเมาอยู่หน้าบาร์ หน้าผับ แล้วนึกอยากนั่งบนฟุตบาท รอรถแท็กซี่ก็สามารถไปนั่งชนแก้วกับขอทานได้ เพราะมักจะมีขอทานประเภทที่ชอบไปนั่งจิบเบียร์อยู่หน้าผับ หน้าบาร์เช่นเดียวกัน (อาจจะหาเพื่อนคุย หรืออาจจะแกล้งชวนคุย แล้วหลอกขอเงินตอนคนกำลังเมาก็เป็นได้ ย่านนี้นักเมามีจำนวนเยอะ เพราะแถบ Soho มีทั้งนักศึกษาธรรมดาๆไปจนถึงเศรษฐีที่พากันมาฉลองกันตลอดเวลา)

นั้นแหละ การเป็นขอทานใน London นั้นจึงไม่ยาก และไม่ลำบากยากจนขัดสนสักเท่าไร เพราะมีเงินใหลเข้าตลอด แต่ก็ต้องทำงานในเชิงรุกกันสักหน่อย คือ ต้องมีความกระตือรือร้น ขยันออกหาลูกค้า ไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆได้ตลอด (แต่พวกที่นั่งอยู่เฉยๆก็ไม่ได้แปลว่าเขาอดอยาก เนื่องจากมีคนผ่านไปผ่านมาก็หยอดเงินให้ตลอด ผู้เขียนตีว่าไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 100 ปอนด์โดยพื้นฐาน ใน London ถ้าเทียบกับพวกที่เดินเร่ไปทั่วทุกย่าน)

สาเหตุที่ขอทานที่ London นี้ชีวิตดี ไม่ใช่เพราะคน London หรือพวก Londoner นั้นใจดีให้เงินขอทานกันเยอะ แต่เพราะ London เป็นเมืองท่องเที่ยว เมืองเศรษฐกิจ มีคนผ่านไปผ่านมาเยอะ และกระจุกกันในโซนโซนเดียวเยอะเป็นพิเศษ มันเลยมีโอกาสที่ขอทานจะได้รับอานิสงค์จากการคนแปลกหน้าที่ผ่านไปผ่านมาในย่านนี้เยอะแบบแทบจะไม่ซ้ำหน้า แต่ในขณะที่ Manchester แม้จะเป็นเมืองท่องเที่ยวและมีย่านสำหรับการช็อปปิ้งเหมือนกัน แต่กลุ่มนักท่องเที่ยว(ผู้ใจบุญ) นั้นถูกแบ่งตัดออกเป็น 2 กลุ่ม คือพวกที่ออกไปช็อปปิ้งนอกเมือง (ที่ย่าน Trafford Centre) กับ พวกที่ช็อปปิ้งในเมืองย่าน Piccadilly Garden (ที่ Arndale)

มันก็เลยจะต่างจาก London ที่ย่านช็อปปิ้ง ย่านศูนย์การค้า ย่านการค้าหลักๆนั้นถูกขมวดรวมไว้ในโซนโซนเดียวกัน คือ แถบรอบๆ Zone 1 ผุ้เขียนไม่ได้มีเจตนาของการฟันธงว่านี่คือสาเหตุหลัก แต่มองว่าก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้งานเศรษฐกิจของขอทานใน London นั้นดูมีอะไรมากกว่า และง่ายกว่า ทั้งๆที่ทั้ง 2 เมืองเป็นเมืองเศรษฐกิจและเมืองช็อปปิ้งเหมือนกัน และแม้ว่า London จะมีขนาดใหญ่กว่า แต่ถ้าตัด Zone 2 - 6 ออกไปจนเหลือแต่จุดเศรษฐกิจนั้น ตัว London เองก็ไม่ได้ใหญ่ไปกว่า Manchester สักเท่าใดนัก

แต่ที่แน่ๆคือย่อมดีกว่าชีวิตขอทานใน Lancaster เป็นเท่าตัวล้นพ้น เพราะจากที่ศึกษาในตัวเมือง Lancaster มาส่วนหนึ่งที่ด้านการงานในหมู่ขอทานไม่ค่อยรุ่งเรืองนั้น เพราะโดยพื้นฐานแล้วเศรษฐกิจที่ Lancaster ไม่ค่อยจะดี และมีเงินหมุนเวียนไม่ค่อยมากนัก การค้าขายก็ไม่ค่อยมีอะไรที่โดดเด่น ไม่ได้มีโซนที่จัดไว้สำหรับการช็อปปิ้งให้เป็นเรื่องเป็นราวเหมือนกับที่ Chester, Newcastle หรือว่า Manchester เมืองที่มีขนาดเล็กเช่นนี้ จึงไม่ได้เล็กแต่เพียงสภาพทางภูมิศาสตร์ หากแต่ยังเล็กในด้านเศรษฐกิจจนไม่สามารถเป็นแม่เหล็กดึงดูดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่มาก็ไม่ค่อยจะหยุดกันที่ Lancaster แต่จะเลยผ่านไปหยุดแถวบริเวณ Lake District หรืออะไรพวกนี้กัน เศรษฐกิจหลักของเมืองนั้นจึงอยู่ในกลุ่มของงานด้าน Retailer ร้านค้า อะไรพวกนี้เป็นหลัก ซึ่งฐานลูกค้าก็มาจากกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยประจำเมือง และชุมชน สังคมผู้สูงอายุวัยเกษียณที่อาศัยในชุมชนนี้เอง ที่คอยเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจของเมืองไว้

อย่างไรก็ดี ภาพที่ผู้เขียนได้จัดไว้ให้ตามคำบรรยายข้างต้น อาจไม่สามารถเป็นตัวแทนของขอทานทั้งหมดในอังกฤษได้ เพราะในบางราย บางพื้นที่ขอทานนั้นอาจมีรูปแบบที่แตกต่างกัน หรือลักษณะพฤติกรรมที่ต่างออกไปจากตัวเมืองหลวง หรือหัวเมืองใหญ่ๆอย่างใน Manchester ก็เป็นได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็หวังว่าผู้อ่านจะสามารถจินตภาพ และพอมีความเข้าใจได้ถึงพื้นฐานความเป็นไปในชีวิตของขอทานในประเทศแห่งนี้เพิ่มขึ้นมาบ้าง


 

[1]  Spereall, D. (2018). “Police reveal why you shouldn’t give money to ‘homeless beggars’ posing in one UK street”, retrieved: May 5, 2018. Mirror: https://www.mirror.co.uk/news/uk-news/men-posing-homeless-beggars-earning-11897884.

[2]  Greenfield, P., and Marsh, S. (2018). “Deaths of UK homeless people more than double in five years”, retrieved: May 5, 2018. The Guardian: https://www.theguardian.com/society/2018/apr/11/deaths-of-uk-homeless-people-more-than-double-in-five-years.

[3]  Pettitt, J. (2013). “Beggar who earned £50,000-a-year and lives in £300,000 Fulham flat is arrested again”, retrieved: May 5. 2018. Evening Standard: https://www.standard.co.uk/news/crime/beggar-who-earned-50000-a-year-and-lives-in-300000-fulham-flat-is-arrested-again-8646973.html

[4] Borland, S. (2009). “’Professional’ beggars earning up to £200 a night to supplement their day jobs”, retrieved: May 5, 2018. Daily Mail: http://www.dailymail.co.uk/news/article-1205553/Professional-beggars-earning-200-night-supplement-day-job.html.

[5]  Mansfield, K. (2016). “Tramp earns £2,500 a week begging in the street… and he’s NOT homeless”, retrieved: May 5, 2018. Express: https://www.express.co.uk/news/uk/648656/Tramp-earns-2500-a-week-begging-street-not-homeless.

[6]  Serrao, N. (2016). “Gotham fall finale clip: Jim Gordon faces Jervis Tetch”, retrieved: May 12, 2018. Entertainment Weekly: http://ew.com/article/2016/11/28/gotham-gordon-tetch-fall-finale-exclusive-clip/.

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: pascualamaia (CC0 Public Domain)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: