กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร กว่า 100 คน ใช้รถกระบะประมาณ 10 คัน เพื่อรณรงค์ปกป้องทรัพยากรชุมชน 7 หมู่บ้าน ที่อยู่ในตำบลเชียงเพ็ง พร้อมแจกใบปลิวและพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจการออกมาร่วมกันกันปกป้องชุมชน ปกป้องลำน้ำเซบาย และประกาศเจตนารมณ์คัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มาภาพ: ไทยโพสต์
เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2561 ว่านางมะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง กล่าวว่าการมาเดินรณรงค์ในวันนี้ก็เพื่ออยากจะให้ชาวบ้านในตำบลเชียงเพ็ง มีความตระหนักและตื่นรู้ในประเด็นการปกป้องทรัพยากรชุมชน ซึ่งก็มีแผ่นพับแจกเพื่อให้ความรู้กับชาวบ้านถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากมีโรงงานน้ำตาลโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยทางกลุ่มพยายามสื่อสารกับชุมชนถึงข้อกังวล ดังนี้ 1.การแย่งชิงทรัพยากรน้ำลำเซบายจะถูกผันมาใช้ในโรงงานและโรงไฟฟ้า 2.0 ล้าน ลบ.ม./ปี และขุดบ่อลึกกว่าลำน้ำเซบาย ซึ่งจะทำให้น้ำจากลำเซบายซึ่งใช้ในการบริโภค-อุปโภค การเกษตร และอื่นๆ ถูกแย่งชิงไปแม้แต่ปัจจุบันน้ำก็ไม่มีเพียงพอในการให้ชุมชนในบางปี 2.น้ำเสียจากกระบวนการผลิต มีโอกาสซึมลงในดินและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ส่งผลให้น้ำใช้ประโยชน์ไม่ได้ อาจไม่เกิดในปีสองปี ขึ้นกับปริมาณสารเคมีที่สะสม
3. ฝุ่นดำ เถ้า ควัน กลิ่นจากการเผาไร่อ้อย ต้องเผาเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยวให้ทันช่วงเวลาเปิดหีบ แม้จะทำให้ความหวานลดลง และที่ปล่อยออกมาจากโรงงาน รวมถึงลานกองชานอ้อย จะทำให้เกิดการระคายเคือง ไอ จาม โรคภูมิแพ้ทั้งทางผิวหนังและระบบหายใจ เหนียวติดตามผิวหนัง เสื้อผ้าที่ตาก หลังคาดำ ใช้น้ำฝนไม่ได้ ฝุ่นละอองจะเกาะตามใบไม้ 4. ตามแผนรถสิบล้อบรรทุกอ้อยประมาณ 1,000 คัน/18 ชั่วโมง จะวิ่งตลอดช่วงการผลิตในทุกปี เกิดปัญหาการจราจร ฝุ่นละออง เศษอ้อยหล่น ถนนชำรุด อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง จึงต้องรณรงเพื่อสื่อสารถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนบ้านเราในประเด็นการแย่งชิงทรัพยากร ในวันนี้เรารณรงค์แจกใบปลิว 7 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเชียงเพ็งสองหมู่บ้าน บ้านเซ บ้านโนนม่วง บ้านเซซ่ง บ้านท่าลาด และบ้านโนนตูม เป็นต้น และได้รับความร่วมมือกับชาวบ้านเป็นอย่างดี และเรามีแผนที่จะรณรงค์ปกป้องทรัพยากรชุมชนต่อไป เพื่อสร้างจิตสำนึกให้คนในตำบลเชียงเพ็งตระหนักถึงผลกระทบเมื่อมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าในพื้นที่
ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทบางแห่ง ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตน้ำตาลทรายดิบและพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลจากเดิม 38 เมกะวัตต์ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 61 เมกะวัตต์ มีแผนในการจะก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ทั้งนี้กระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ข้างต้นยังไม่ผ่าน เนื่องจากว่า 1.ประชาชนในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรไม่รับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงตั้งแต่เริ่มต้นที่รอบด้าน ครบถ้วน เพียงพอ 2.มีการบิดเบือนข้อมูลถือเป็นการละเมิดสิทธิของชุมชน 3.การทำ EIA ของโรงงานไม่ผ่าน แสดงให้เห็นถึงขั้นตอน และกระบวนการ ที่ไม่เข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนชุมชนที่เติบโตมาก็เพราะการพึ่งพาทรัพยากรในชุมชน ทั้งดิน น้ำ ป่า อากาศที่บริสุทธิ์ เป็นต้น 4.ชาวบ้านตื่นรู้ตระหนักและให้ความสำคัญของวิถีชีวิตและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
'ชาวบ้านจึงคัดค้านกระบวนการทำ EIA ที่ไม่ชอบธรรมทุกครั้ง และ 5.ที่สำคัญ EIA ยังขัดแย้งกับหลักการความเป็นจริงในการดำเนินวิถีชีวิตของคนลำน้ำเซบาย การรณรงค์ของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ตำบลเชียงเพ็งในวันนี้ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ชาวบ้านจะได้สื่อสารให้คนในพื้นที่รับรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง' นายสิริศักดิ์ ระบุ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ