ตั้งงบ 50 ล้านจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 พ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2303 ครั้ง

ตั้งงบ 50 ล้านจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้

คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ ตั้งงบ 50 ล้านบาท จ้างทีมที่ปรึกษา ศึกษาความเหมาะสมโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ตีกรอบเวลา 5 เดือน ต้องตอบโจทย์สำคัญภาคใต้เหมาะสมที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ก่อนสรุปเป็นข้อเสนอให้รัฐมนตรีพลังงานและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาดำเนินการ ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2561 ว่านางสาวนันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยว่า คณะกรรมการ SEA ที่จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2561 ได้มีการประชุมร่วมกันเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ซึ่งที่ประชุมได้จัดทำข้อกำหนดการศึกษา (Term of Reference-TOR) การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ ซึ่งรวมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้วเสร็จพร้อมที่จะเผยแพร่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น

ทั้งนี้ในข้อกำหนดการศึกษาดังกล่าวคณะกรรมการ SEA กำหนดวงเงินสำหรับการว่าจ้างที่ปรึกษาเอาไว้ 50 ล้านบาทโดยกำลังพิจารณาว่าจะใช้แหล่งเงินทุนจากที่ใดมาดำเนินการ เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่จะเสนอใช้งบกลางของรัฐบาล จาก เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า หรือ กองทุนอื่นๆ เนื่องจากต้องใช้ทีมที่ปรึกษาจำนวนมาก ได้แก่ 1. ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินสิ่งแดวล้อมระดับยุทธศาสตร์ 1 คน 2.ทีมผู้เชี่ยวชาญรายสาขาพัฒนา 8 ทีม ครอบคลุมสาขา ด้านพลังงาน คมนาคม ท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม ประมง สมุทรศาสตร์และอุกศาสตร์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และ 3 ทีมเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 13 ทีม ครอบคลุมสาขา เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ สิ่งแวดล้อม สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา สาธารณสุขและสุขภาพ ระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ การขนส่งทางทะเล กฎหมาย ผังเมือง วิศวกรรม เป็นต้น

โดยผลการศึกษาที่ออกมาจะต้องสอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว ฉบับใหม่(PDP2018)ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ และใช้เป็นกรอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่

ด้านนายดนุชา พชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานร่วม SEA กล่าวว่า คาดว่าคณะกรรมการจะดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาทั้งหมดได้เสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้ โดยทีมที่ปรึกษาจะต้องดำเนินงานตามข้อกำหนดการศึกษา (TOR) ได้แก่ กรอบเวลาการศึกษาต้องเสร็จใน 9 เดือนนับจากวันที่ลงนามจ้างที่ปรึกษา แต่ภายในระยะเวลา 5 เดือนจะต้องได้ความชัดเจนว่าภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ถ้ามีควรจะสร้างที่ไหนจึงจะเหมาะสม และถ้าไม่ควรมี ควรจะมีพลังงานจากแหล่งใดมาทดแทนเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยแต่ละทางเลือกจะต้องมีเหตุผลที่เป็นข้อเท็จจริงทางวิชาการมาเปรียบเทียบประกอบ ให้เห็นทั้งข้อดีและข้อเสีย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ก่อนที่จะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้พิจารณาสุดท้าย เพื่อให้ผลการศึกษาที่ออกมามีผลบังคับใช้

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน คณะกรรมการ SEA กล่าวว่าการศึกษาครั้งนี้จะเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด โดยฟังความเห็นส่วนใหญ่ของประชาชนภาคใต้เป็นหลัก และจะต้องไม่นำความคิดเห็นที่เป็นเสียงส่วนน้อยมาเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการเพราะไม่ว่าผลการศึกษาจะออกมาในแนวทางใดจะไม่สามารถสร้างการยอมรับได้ทั้งหมด 100% โดยโจทย์หลักที่จะต้องมีคำตอบออกมาก่อนคือพื้นที่ภาคใต้ควรจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่หรือไม่

ดร.เพชญ์ เตชรัตน์ อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และในฐานะคณะกรรมการ SEA กล่าวว่าในประเด็นของพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ(แรมซาร์ไซต์ ) รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องEIA หรือ EHIA ของแต่ละโครงการ ทางที่ปรึกษาจะมีการนำมาพิจารณาทบทวนประกอบการศึกษาในครั้งนี้พร้อมระบุประเด็นของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางบวกและลบ ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมตามหลักวิชาการ ทั้งนี้จะมีการเปิดรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทุกภาคส่วนเป็นระยะ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: