‘RCEP’ ข้อตกลงการค้าเสรีระลอกใหม่ ระวัง! ได้ไม่คุ้มเสีย

ทีมข่าว TCIJ : 22 ก.ค. 2561 | อ่านแล้ว 7384 ครั้ง

แม้หลังรัฐประหาร 2557 นานาชาติมองไทยว่า‘ไม่เป็นประชาธิปไตย’ แต่ความคืบหน้าการทำ ‘ข้อตกลงการค้าเสรี’ ก็ยังเดินหน้าไปแบบเงียบๆ จับตา ‘RCEP’ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาเซียน+6 อันเป็นข้อตกลงการค้าเสรีระลอกใหม่ที่ไทยเตรียมเข้าร่วม องค์กรผู้หญิงชี้ข้อตกลง RCEP เปิดโอกาสให้ประเทศมหาอำนาจ-บรรษัทขนาดใหญ่มีอำนาจกำหนดนโยบาย ส่งผลกระทบต่อ ‘สิทธิผู้หญิง’ และ ‘สิทธิชุมชน’ ที่มาภาพประกอบ: Citizen News Service

ความพยายามทำข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งช่วงประชาธิปไตยและไม่ประชาธิปไตย

ตั้งแต่หลังสงครามเย็นในทศวรรษที่ 1990 พบว่าไทยมีความพยายามในการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA)  กับประเทศและเขตเศรษฐกิจต่างๆ อาทิเช่น การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ไทยก็ได้ลงนามในกรอบความร่วมมือนี้ในสมัยรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ในปี 2535 จากนั้นในทศวรรษที่ 2000 อันเป็นยุคทองของการเจรจาเขตการค้าเสรี พบว่าระหว่างปี 2542-2549 ไทยมีความพยายามริเริ่มการเจรจาเขตการค้าเสรีถึง16 ข้อตกลง* ต่อมาหลังรัฐประหารปี 2549- จนถึงก่อนรัฐประหารปี 2557 มีความพยายามริเริ่มการเจรจาเขตการค้าเสรี 7 ข้อตกลง* และหลังรัฐประหารปี 2557 จนถึงปัจจุบัน (ก.ค. 2561) มีความพยายามริเริ่มการเจรจาเขตการค้าเสรีอีก 4 ข้อตกลง (คือ เขตการค้าเสรีไทยกับ ASEAN-EAEU, เขตการค้าเสรีไทยกับ Sri Lanka, เขตการค้าเสรีไทยกับ TPP และเขตการค้าเสรีไทยกับ CPTPP)*

*เป็นตัวเลขจากการสืบค้นเบื้องต้นของ TCIJ เท่านั้น (จนถึง 18 ก.ค. 2561)

ไทม์ไลน์ ‘ความเป็นมา-การริเริ่มกระบวนการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีของไทยกับประเทศและเขตเศรษฐกิจต่างๆ ระหว่างปี 2544-2561’ ที่ TCIJ รวบรวมข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, มติการประชุมคณะรัฐมนตรี และเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (เข้าถึงข้อมูล ณ วันที่ 18/7/2561)* (คลิ๊กเพื่อดูไทม์ไลน์ตัวเต็ม)

มีข้อสังเกตว่า ในช่วงปี 2544-2549 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มแรกของการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีของไทย มีการเร่งรัดเจรจาและจัดทำ FTA แบบทวิภาคีกับหลายประเทศพร้อมๆ กัน เนื่องจากรัฐบาลในช่วงนั้นมีนโยบายขยายตลาดส่งออกและได้รับแรงผลักดันจากกลุ่มผลประโยชน์ที่ได้รับประโยชน์จาก FTA กระบวนการกำหนดนโยบาย FTA ในช่วงดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตัดสินใจประเด็นสำคัญต่าง ๆ แบบรวมศูนย์ไว้ที่ตนเอง เนื่องจากโครงสร้างและกลไกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เอื้ออำนวยให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ในการจัดทำหรือเจรจา FTA ต่างๆ คณะรัฐมนตรีมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ ทำให้รัฐบาลไม่เคยบอกกล่าวหรือขอความเห็น ชอบจากรัฐสภา ทั้งในช่วงก่อนเจรจาหรือก่อนที่จะเข้าผูกพันตาม FTA  กระบวนการเหล่านี้จึงไม่ค่อยมีความโปร่งใส ต่อมาหลังการรัฐประหารในเดือน ก.ย. 2549 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มี ‘มาตรา 190’ ที่กำหนดให้การทำความตกลง FTA กับต่างประเทศ จะต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและต้องเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบก่อนการเจรจา [1]

สถานการณ์เจรจาการค้าเสรีหลังรัฐประหาร 2557

การเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 17-20 พ.ค. 2559 มีการหยิบยกประเด็นการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union - EAEU) มาหารือกันด้วย ที่มาภาพ: สถานทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทย

หลังการรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 ภายใต้การปกครองประเทศของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความเคลื่อนไหวในการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับนานาชาติที่สำคัญคือ  เขตการค้าเสรีไทยกับ Pakistan Turkey และ เขตการค้าเสรีไทยกับ (กระบวนการต่อเนื่องจากรัฐบาลก่อน) วันที่ 31 มี.ค. 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปี 2558 - 2560 การเปิดเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย - ปากีสถาน และการเปิดเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ตุรกี โดยให้กระทรวงพาณิชย์หารือกับกระทรวงการต่างประเทศในการจัดทำกรอบในการเจรจาสำหรับความตกลงการค้าเสรีไทย-ตุรกี เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบทั้งผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นในรายละเอียดจากการจัดทำความตกลงฯ ดังกล่าว [2] เขตการค้าเสรีไทยกับ Sri Lanka (ริเริ่มการเจรจาใหม่) เมื่อวันที่ 1-4 พ.ย. 2558 ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และได้เข้าพบและหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีของไทย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ต่อมารองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้เดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยคณะภาครัฐและเอกชน เมื่อวันที่ 8-12 มี.ค. 2559 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน ซึ่งไทยและศรีลังกาเห็นพ้องร่วมกันว่าควรพิจารณาความเป็นไปได้ในการทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและศรีลังกา เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายมูลค่าการค้าและการลงทุน และบรรลุเป้าหมายการค้าสองฝ่าย ณ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2563 [3]

RCEP และ TPP  (กระบวนการต่อเนื่องจากรัฐบาลก่อน) ในการประชุมด้านเศรษฐกิจช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 20-22 พ.ย. 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ผู้นำอาเซียนได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับความคืบหน้าของการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) นอกจากนี้ในการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น มีการระบุว่าญี่ปุ่นพร้อมจะให้การสนับสนุนไทยในการเข้าร่วมความตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) ด้วย [4] เขตการค้าเสรีไทยกับ ASEAN-EAEU (ริเริ่มการเจรจาใหม่) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 17-20 พ.ค. 2559 ที่รัสเซีย นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงรวม 14 ฉบับ และเห็นพ้องที่จะจัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 120 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-รัสเซีย ในปี 2560 และเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 5 เท่า ภายใน 5 ปี โดยรัสเซียสนใจที่จะซื้อสินค้าเกษตรจากไทยและยินดีเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของไทยในสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union - EAEU) นอกจากนี้ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซียที่ประชุมเห็นพ้องที่จะขยายการค้าและการลงทุน และสนับสนุนให้มีการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและ EAEU [5]                                                                                            

เขตการค้าเสรีไทยกับ EU (กระบวนการต่อเนื่องจากรัฐบาลก่อน) สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ รายงานเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2560 ว่าคณะมนตรีการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (EU) ลงมติให้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยในทุกระดับ รวมถึงการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป โดยให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเริ่มเจรจากันต่อภายหลังการเลือกตั้งของไทย หลังจากฝ่ายสหภาพยุโรประงับการเยือนไทยของผู้แทนระดับสูงของตนตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2557 (หลังการรัฐประหาร) อย่างไรก็ดีในข้อมติดังกล่าว ระบุว่าสหภาพยุโรปจะติดตามและให้ความสำคัญกับการจัดการเลือกตั้ง สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความเห็นของไทย [6] เขตการค้าเสรีไทยกับ CPTPP (ริเริ่มการเจรจาใหม่) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น (High Level Joint Commissions – HLJC) ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ระบุว่าสำหรับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า (CPTPP) นั้นฝ่ายไทยย้ำความมุ่งมั่นในการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP และฝ่ายญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนการเตรียมตัวเข้าเป็นสมาชิกดังกล่าวของไทย โดยจะเริ่มเสนอชื่อไทยเป็นสมาชิกใหม่ในการประชุมชาติสมาชิกที่ญี่ปุ่นระหว่าง 17-20 ก.ค. 2561 นี้ เป็นครั้งแรก [7]

แม่แบบ ‘เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่’  ผ่าน ‘TPP-RCEP’

ภาคประชาชนระบุว่าข้อตกลงการค้าเสรี RCEP เปิดโอกาสให้ประเทศมหาอำนาจและบรรษัทขนาดใหญ่มีอำนาจกำหนดนโยบายที่นอกเหนือไปจากการค้าในประเทศหลายด้าน

เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา สมาคมผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Forum on Women, Law and Development - APWLD) ได้จัดเวทีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ 'ผลกระทบของข้อตกลงการค้าเสรีเจนใหม่ต่อสิทธิผู้หญิงและสิทธิชุมชนในประเทศไทย' ที่ จ.เชียงใหม่ โดย APWLD ให้ข้อมูลว่าการพัฒนาเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาในรอบ 30 ปี เป็นการพัฒนาภายใต้กรอบเสรีนิยมใหม่ที่กำหนดโดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก และ IMF รวมถึงนโยบายจากบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่และประเทศที่พัฒนาแล้ว นโยบายเศรษฐกิจเช่นนี้เน้นปล่อยให้กลไกตลาดเป็นศูนย์กลาง เน้นการแปรรูปสวัสดิการให้เป็นของเอกชนและลดการกำกับดูแลจากภาครัฐ ทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ล้มเหลวในการสร้างความเท่าเทียมระหว่างคนกลุ่มต่างๆ และส่งผลกระทบด้านลบต่อประชากรที่อยู่ชายขอบ รวมทั้งกลุ่มผู้หญิงและประชาชนที่อยู่ส่วนล่างของเศรษฐกิจ โดยแม่แบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ได้รับการผลักดันมากยิ่งขึ้นผ่านข้อตกลงการค้าเสรีนิยมใหม่ที่เรียกว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans Pacific Partnership Agreements - TPP) และ ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) โดยประเทศไทยและประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศอยู่ในระหว่างการเจรจาความตกลง RCEP กับจีน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมทั้งมีการพูดคุยถึงกรณีที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมความตกลง TPP ด้วย

ทั้งนี้ มุมมองของ APWLD  นั้นเห็นว่าข้อตกลง TPP และ RCEP มีเป้าหมายเพื่อเอื้อให้รัฐบาลและบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เจาะตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ โดยใช้อำนาจทางเศรษฐกิจเข้าไปกำหนดนโยบายภายในประเทศที่นอกเหนือจากการค้า และทำให้อำนาจและสิทธิของบรรษัทอยู่เหนือกฎหมายในประเทศที่มีหน้าที่ปกป้องประโยชน์คนและทรัพยากรในชาติ และลดอำนาจของรัฐบาลในการปกป้องประโยชน์สาธารณะของประชาชน  โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการค้ายาสามัญในประเทศไทย ที่จะส่งผลให้ราคาเวชภัณฑ์มีราคาสูงขึ้น และตัดช่องทางการเข้าถึงเวชภัณฑ์ราคาถูกสำหรับประชาชน ข้อตกลง RCEP ยังลดอำนาจของรัฐบาลในการกำกับดูแลบริการสาธารณะ การกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากร และการเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งย่อมส่งผลให้รายได้ของภาครัฐลดลงอย่างมาก และกระทบต่อประชาชนที่ต้องใช้บริการสาธารณะอันมาจากงบประมาณของรัฐ

ระวังกลไกล ISDS ที่มุ่งคุ้มครองทุนใหญ่

เวทีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ 'ผลกระทบของข้อตกลงการค้าเสรีเจนใหม่ต่อสิทธิผู้หญิงและสิทธิชุมชนในประเทศไทย' เมื่อต้นเดือน ก.ค. 2561 ที่ จ.เชียงใหม่

สุลักษณ์ หลำอุบล จาก APWLD ได้ระบุไว้ในการบรรยายที่เวทีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ 'ผลกระทบของข้อตกลงการค้าเสรีเจนใหม่ต่อสิทธิผู้หญิงและสิทธิชุมชนในประเทศไทย' ถึงประเด็นกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor-state dispute settlement) หรือ ISDS ไว้ว่า กลไกนี้มีความสำคัญมากในการเจรจา FTA กับหลายประเทศ ซึ่งตอนนี้อยู่ในกลไกข้อตกลงการค้าหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น NAFTA, TPP, Thai-EU FTA หรือข้อตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศในหลายๆ ประเทศ โดยหัวใจของ ISDS คือการคุ้มครองนักลงทุน เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือยกเลิกนโยบายสาธารณะของประเทศนั้นๆ ได้ ถ้าไปขัดขวางการทำงานของเอกชน หรือทำให้กำไรที่คาดว่าจะได้ลดลง ทั้งนี้ ISDS มีไว้เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติว่ารัฐบาลของประเทศนั้นๆ จะไม่กีดกัน โดย ISDS มักจะใช้ผ่านกลไกการฟ้องผ่าน ‘อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ’  ตัวอย่างกรณี บริษัท วอลเตอร์ บาว (Water Bau) ของเยอรมนี เคยยื่นฟ้องรัฐบาลไทยช่วงปี 2549 โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลไทยผิดสัญญาในโครงการก่อสร้างโทลล์เวย์และมีมาตรการไม่ให้บริษัทฯ ปรับค่าผ่านทาง อนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดเมื่อปี 2552 ว่าประเทศไทยผิดพันธกรณีภายใต้ความตกลงและต้องชำระค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย หรืออย่างล่าสุดกรณีของเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิม อัครา ไมนิ่ง จำกัด) ใน จ.พิจิตร และ จ.เพชรบูรณ์ ที่ถือหุ้นโดยบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด (Kingsgate Consolidated) ประเทศออสเตรเลีย ได้ยื่นข้อเสนอพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเมื่อเดือน พ.ค.2561 จากกรณีที่รัฐบาล คสช.ใช้อำนาจหัวหน้า คสช.มาตรา 44  สั่งระงับการดำเนินโครงการเพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียนก่อน โดย Kingsgate ยืนยันว่าไทยผิดข้อตกลงว่าด้วยการคุ้มครองนักลงทุนใน FTA ระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ที่เคยลงนามกันไว้แล้วตั้งแต่ปี 2548 และเรียกค่าเสียหายสูงถึง 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งกระบวนกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ ข้อมูลเผยแพร่ของ APWLD ยังระบุว่าคดีส่วนใหญ่ที่ฟ้องตามกระบวนการ ISDS นั้นมักเป็นการฟ้องโดยบรรษัทจากประเทศพัฒนาแล้วต่อประเทศกำลังพัฒนา ISDS ทำหน้าที่โดยไม่อยู่ใต้อาณัติของกฎหมายและศาลในประเทศ เป็นกระบวนการอนุญาโตตุลาการแบบปิดลับ ซึ่งมีทนายความจากบรรษัททำหน้าที่เหมือนผู้พิพากษาในแต่ละคดี และเป็นตัวแทนของคู่กรณี โดยไม่มีพันธกรณีที่จะต้องตีพิมพ์เผยแพร่คำวินิจฉัย หรือไม่จำเป็นต้องอนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์ระหว่างการพิจารณา ทั้งไม่มีกลไกเพื่ออุทธรณ์คำสั่ง ตามกลไก ISDS นักลงทุนสามารถฟ้องคดีต่อรัฐได้ แต่รัฐไม่สามารถฟ้องคดีนักลงทุนได้

หวั่นผลกระทบต่อ ‘สิทธิผู้หญิง’ และ ‘สิทธิชุมชน’

ข้อมูลจาก APWLD ยังระบุว่าการทำข้อตกลง RCEP จะส่งผลกระทบครอบคลุมในหลายด้านโดยเฉพาะต่อผู้หญิง อย่างในประเด็น ที่ดินและทรัพยากร พบว่าผู้หญิงนับเป็นชาวนาส่วนมากที่ยังทำเกษตรกรรมแบบพึ่งตนเองส่วนใหญ่ในภูมิภาค และยังคงถูกปฏิเสธไม่ให้มีอำนาจควบคุมและเข้าถึงที่ดินและทรัพยากร “หลักการปฏิบัติเยี่ยงคนของชาติ” ที่เสนอในข้อตกลง RCEP กำหนดให้รัฐบาลต้องปฏิบัติต่อนักลงทุนต่างชาติที่มาจากประเทศสมาชิกความตกลง RCEP ในลักษณะเดียวกับการปฏิบัติต่อคนชาติของตน ในปัจจุบันประเทศสมาชิกความตกลง RCEP ส่วนใหญ่มีมาตรการควบคุมการเข้ามาซื้อที่ดินในประเทศของต่างชาติ ซึ่งหลังจากนี้อาจไม่มีมาตรการเช่นนี้อีกต่อไป ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติสามารถกว้านซื้อที่ดินของประชาชนรายย่อยได้อย่างง่ายดาย รวมทั้งที่ดินของเกษตรกรซึ่งไม่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ ผู้หญิงซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรแบบพึ่งตนเองจะไม่สามารถแข่งขันสู้กับการผูกขาดของธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ได้ ในขณะเดียวกันธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่มักสร้างงานให้กับผู้ชาย โดยเฉพาะกรณีที่ใช้เครื่องยนต์กลไกในการประกอบการมาก นอกจากนั้นการยกเลิกพิกัดอัตราศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจะส่งผลให้มีการนำเข้าอาหารราคาถูกซึ่งได้รับการอุดหนุนราคาจากประเทศอื่นจำนวนมาก เช่นในกรณีของเม็กซิโก ซึ่งภายหลังการลงนามในความตกลง NAFTA เกษตรกรเม็กซิโกสองล้านคนสูญเสียที่ดินของตนไป และผู้หญิงถูกบีบให้ต้องอพยพไปอยู่ตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ หรืออพยพข้ามพรมแดน ทั้งนี้ข้อตกลง RCEP มีเงื่อนไขเข้มข้นยิ่งกว่าข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยเฉพาะความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights - TRIPS) ทั้งยังให้ความคุ้มครองมากขึ้นกับบรรษัท และกำหนดให้ประเทศซึ่งลงนามในอนุสัญญาเมล็ดพันธุ์ ห้ามไม่ให้เกษตรกรแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กันเอง ผู้หญิงซึ่งพึ่งพาการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์และปัจจัยการเกษตรอื่นๆ จะถูกบีบให้ต้องเลิกทำเกษตรกรรม

คุกคามบริการสาธารณะ ผู้หญิงต้องพึ่งพาบริการสาธารณะและสวัสดิการทางสังคมมากกว่าผู้ชาย สินค้าและบริการสาธารณะที่ลดลงจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้หญิง ข้อตกลง RCEP จะส่งผลกระทบด้านลบต่อบริการสาธารณะในประเทศกำลังพัฒนาในหลายรูปแบบ ประการแรก การลดพิกัดอัตราศุลกากรเป็นเหตุให้รัฐบาลมีรายได้น้อยลงมาก ในขณะที่การฟ้องคดีผ่านกระบวนการ ISDS ทำให้รัฐบาลต้องใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากเพื่อสู้คดี ประการที่สอง ข้อตกลง RCEP อนุญาตให้บริษัทต่างชาติสามารถเข้ามาแข่งขันให้บริการสาธารณะ กรณีที่บริการบางส่วนเหล่านั้นได้รับการจัดหาโดยภาคเอกชน และอาจส่งผลกระทบต่อเกือบทุกภาคส่วน ประการที่สาม ข้อกำหนดของ ISDS เป็นอุปสรรคทำให้รัฐบาลไม่สามารถถอนตัวจากการเป็นคู่ค้ากับเอกชนได้ง่าย กรณีที่คู่ค้าเอกชนไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ และรัฐบาลเสี่ยงจะถูกฟ้องหากต้องการถอนตัวจากสัญญา ส่งผลให้การต่อต้านการแปรรูปเป็นเอกชนทำได้ยาก สุดท้ายแล้วข้อกำหนดใดๆ ที่นำมาใช้ต่อบรรษัทต่างชาติเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการหรือได้รับประโยชน์มากขึ้น (ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ต่อประชาชนบางกลุ่ม อย่างเช่น ผู้หญิง) อาจกลายเป็นข้อกำหนดที่ผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้รัฐบาลไม่สามารถออกข้อกำหนดใหม่ๆ ได้

บริการด้านสุขภาพที่ลดลง-เมื่อบริการด้านสุขภาพมีราคาแพง ผู้หญิงได้รับผลกระทบมากสุด สำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ สุขภาพของผู้หญิงมักเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม อินเดียและจีนเป็นประเทศผู้ผลิตยาสามัญที่สำคัญ และเป็นยาสำหรับคนยากจนสุดในโลก การผลิตยาสามัญของบริษัทในอินเดียส่งผลให้ราคายาเอชไอวีซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีลดลงมาก ซึ่งเหตุผลที่ทำให้สามารถผลิตยาเช่นนั้นได้เป็นเพราะการใช้ประโยชน์จากกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งทำให้เกิดความสมดุลระหว่างสิทธิของภาคเอกชนกับประโยชน์สาธารณะ ข้อกำหนดตามความตกลง RCEP TRIP-plus จะอนุญาตให้บริษัทผลิตยาได้รับอภิสิทธิ์และมีสิทธิการครอบครองยาสามัญและบริการทางการแพทย์อย่างไม่มีขีดจำกัด โดยคุ้มครองให้สามารถผูกขาดทั้งการบังคับให้ปฏิบัติตามความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิกตามความตกลง RCEP หลายประเทศ มาตรการควบคุมที่เพิ่มขึ้นตามข้อตกลง RCEP จะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในราคาที่เหมาะสมสำหรับประชาชนจำนวนมาก เฉพาะการขอขยายระยะเวลาการใช้สิทธิบัตรเพื่อการวิจัยในประเทศไทยอาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมถึง 822.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงห้าปีข้างหน้าหรือกว่า 6 พันล้านเหรียญในอีก 20 ปีข้างหน้า

คุกคามสิทธิแรงงาน การแข่งขันซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้หญิงที่อยู่ด้านล่างมากสุด ความตกลง RCEP ส่งเสริมการแข่งขันด้านแรงงานและการกดค่าแรงของผู้หญิง ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่เป็นแรงจูงใจของนักลงทุน ข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่เช่นความตกลง RCEP ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการแข่งขันด้านการตลาด และการไหลเวียนของกระแสทุนระดับโลกที่เสรีมากขึ้น ส่งผลให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรและแรงงานราคาถูกในประเทศที่ลงนามมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้หญิงมีสัดส่วนเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมส่งออกมากขึ้น และผู้หญิงส่วนใหญ่มักทำงานเป็นแรงงานนอกระบบหรือแรงงานที่ไม่ได้อยู่ใต้การกำกับดูแลของรัฐ จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกกดค่าแรง ตัดเงื่อนไขสวัสดิการและสิทธิต่างๆ มากขึ้น ISDS ยังถูกใช้ประโยชน์เพื่อต่อต้านการขอขึ้นค่าแรงและเงื่อนไขการทำงาน Veolia บริษัทสาธารณูปการของฝรั่งเศสได้ฟ้องคดีต่ออียิปต์ เนื่องจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศ ผู้ชำนาญการของสหประชาชาติได้ตั้งข้อสังเกตว่า การฟ้องคดีเช่นนี้ส่งผลในเชิงคุกคามต่อรัฐบาล [อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจาก RCEP .. คุ้มแน่หรือเจรจา RCEP? บทเรียนการคุ้มครองนักลงทุน (มากกว่าประชาชน) ความตกลง RCEP ที่ไทยเตรียมเจรจา จะก่อผลกระทบต่อชาวนา ที่ดิน และอาหาร และ ข้อตกลงการค้าข้ามชาติที่ไทยเจรจา ทำชาวนาสูญเสียการควบคุมเมล็ดพันธุ์]

 

 

เมื่อ TPP แปลงร่างเป็น CPTPP

ประเทศที่เคยอยู่ใน TPP ได้ร่วมลงนามในความตกลงเขตการค้าเสรีที่ถูกลดขนาดลงและมีชื่อเรียกใหม่ว่า CPTPP เมื่อเดือน มี.ค. 2018 ที่ประเทศชิลี ที่มาภาพ: Center for Strategic and International Studies 

หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) เมื่อเดือน ม.ค. 2017 โดยให้เหตุผลว่าข้อตกลงดังกล่าวมิได้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อสหรัฐฯ การประกาศถอนตัวจาก TPP ของสหรัฐฯ ส่งผลให้การบังคับใช้หุ้นส่วนเศรษฐกิจ 12 ชาติหยุดชะงัก เนื่องจากขาดตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ทำให้ผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศสมาชิกจะได้รับจากการดำเนินการตามความตกลง TPP ลดลงเหลือน้อยมากจนอาจไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่แต่ละประเทศต้องจ่ายไป

ต่อมา ได้มีความริเริ่มในการทำข้อตกลงใหม่ในนาม 'ข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก' (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP) ของ 11 สมาชิกที่เหลือจากกรอบความร่วมมือ TPP เดิม โดย 'ญี่ปุ่น' และ 'ออสเตรเลีย' พยายามอย่างหนักเพื่อชุบชีวิต TPP ภายใต้กรอบความร่วมมือใหม่ CPTPP (หรือที่บางสื่อเรียกกันว่า TPP-11) ซึ่งเน้นไปที่การรักษาผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม แต่ยังคงลดภาษีนำเข้าระหว่างสมาชิกพร้อมข้อตกลงที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม แต่สำหรับการเข้าร่วม CPTPP ของประเทศไทย มีการมองว่าไทยก็ยังได้รับประโยชน์จากทั้ง TPP หรือ CPTPP นี้ไม่มากนัก หนำซ้ำอาจจะเสียประโยชน์ในประเด็นสุขภาพ ภาคเกษตรกรรม และประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาด้วยซ้ำ [อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CPTPP .. TPP แปลงร่างเป็น CPTPP “ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย” หัวหอกใหม่ และ เปิดข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP คืออะไร ทำไมไทยไม่ควรเข้าร่วม?]

 

ไทย-ญี่ปุ่น เดินหน้าความตกลง CPTPP-JTEPA-RCEP

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น (High Level Joint Commissions – HLJC) ครั้งที่ 4 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ไทยกับญี่ปุ่นได้บรรลุความร่วมมือที่จะผลักดันความตกลงเขตการค้าเสรี 3 ข้อตกลง คือ 1.ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า (CPTPP) โดยฝ่ายไทยย้ำความมุ่งมั่นในการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP และฝ่ายญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนการเตรียมตัวเข้าเป็นสมาชิกดังกล่าวของไทย โดยจะเริ่มเสนอชื่อไทยเป็นสมาชิกใหม่ในการประชุมชาติสมาชิกที่ญี่ปุ่นระหว่าง 17-20 ก.ค. 2561 นี้ เป็นครั้งแรก 2.ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (JTEPA) ทั้งสองฝ่ายย้ำความสำคัญของ JTEPA และมุ่งมั่นจะดำเนินการทบทวนทั่วไป JTEPA ให้แล้วเสร็จ เพื่อยกระดับ JTEPA ให้มีมาตรฐานสูงขึ้นเพื่อเป็นพื้นฐานของหุ้นส่วน ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างไทย - ญี่ปุ่น รวมถึงเห็นพ้องว่า จะดำเนินการทบทวนทั่วไป JTEPA เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายและสะท้อนพัฒนาการทางเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างไทย - ญี่ปุ่น และ 3.ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ทั้งสองฝ่ายย้ำศักยภาพอันกว้างไกลของ RCEP และจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นสำหรับความตกลง RCEP ภายในปีนี้ [8]  

ภาคประชาสังคมทั้ง 25 องค์กร ร้องยุติเจรจา RCEP และ CPTPP

และเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนจากภาคประชาสังคมทั้ง 25 องค์กร จัดการประชุมเกี่ยวกับเรื่องการเจรจา ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ที่เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศ กับคู่ภาคีที่มีอยู่ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ หรือ RCEP และความพยายามเข้าร่วมความตกลงการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP และได้ประกาศจุดยืนของภาคประชาสังคมต่อการเจรจา RCEP และความพยายามเข้าร่วม CPTPP ดังนี้ 1. ภาคประชาสังคมไทยขอให้ยุติการเจรจา RCEP และความพยายามในการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เพราะเนื้อหาส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนและสังคม อีกทั้งกระบวนการเจรจายังเป็นไปอย่างปิดลับและกีดกันการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เพียงเพื่อประโยชน์การค้าระยะสั้นๆของกลุ่มทุนบางกลุ่ม 2. ความตกลงการค้าเสรีใดๆที่จะเกิดขึ้นต้องอยู่ภายใต้เนื้อหาความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาในองค์การการค้าโลกเท่านั้น โดยจะต้องไม่รับเนื้อหาใดๆที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ หรือที่เรียกว่า TRIPs+ ทั้งในเนื้อหาที่เกี่ยวกับยาที่จะกระทบกับระบบหลักประกันสุขภาพ, พันธุ์พืช/พันธุ์สัตว์ที่จะกระทบกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเกษตรกร, ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆที่จะกระทบการเข้าถึงความรู้ในอินเตอร์เน็ต สิทธิพลเมือง และสิทธิส่วนบุคคล

3. กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) ในบทที่ว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุนนั้นจะต้องไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องในมาตรการที่เกี่ยวกับด้านสาธารณสุข มาตรการควบคุมยาสูบและแอลกอฮอล์ สิ่งแวดล้อม การเข้าถึงความรู้ และความมั่นคงทางสังคม เพื่อให้รัฐยังสามารถทำหน้าที่กำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมได้ 4. ความตกลงการค้าเสรีใดๆ ต้องไม่มีเนื้อหาที่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และยังคงบทบาทของรัฐในการจัดซื้อจัดจ้างและการจัดบริการเพื่อประโยชน์สาธารณะ 5. ความตกลงการค้าเสรีใดๆ ต้องไม่ขัดกับหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง สิทธิสตรี สิทธิเด็ก สิทธิชุมชน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และ วัฒนธรรม รวมทั้ง กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีอยู่ รวมทั้งต้องเป็นไปตามคำมั่นที่ให้ไว้ต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ 6. ‘รัฐบาลรัฐประหาร’ ไม่มีหน้าที่และไม่มีความชอบธรรมที่จะไปทำความตกลงการค้าเสรีอันมีผลผูกพันชั่วลูกหลาน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐสภา อย่างแท้จริงซึ่งต้องระบุไว้ในรัฐธรรมนูญก่อนที่จะไปเริ่มเจรจาความตกลงระหว่างประเทศใดๆ

สำหรับ 25 องค์กร ที่จัดกิจกรรมและประกาศจุดยืนดังกล่าวประกอบด้วย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เครือข่ายผู้หญิงไม่เอา RCEP, สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย, สมัชชาคนจน โครงการส่งเสริมสิทธิชุมชนในที่ดินและทรัพยากร มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, เครือข่ายจับตาโลกร้อน (Climate Watch) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิสุขภาพไทย, กลุ่มศึกษาปัญหายา มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา, People Go เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายงดเหล้า และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)

 

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม
[1] นโยบายการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีของไทยในช่วงปี 2544 – 2549 (TRF Policy Brief ปีที่ 1 ฉบับที่ 14/2553)
[2] ยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปี 2558 - 2560 การเปิดเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย - ปากีสถาน และการเปิดเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย - ตุรกี (มติการประชุมคณะรัฐมนตรี, 31/3/2558)
[3] ความคืบหน้าการเจรจาเขตการค้าเสรีของไทยกับ Sri Lanka (thaifta.com, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 18/7/2561)
[4] ผลการประชุมด้านเศรษฐกิจในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (มติการประชุมคณะรัฐมนตรี, 15/12/2558)
[5] รายงานผลการเยือนสหพันธรัฐเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี และผลการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - รัสเซีย สมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 17 - 20 พฤษภาคม 2559 (มติการประชุมคณะรัฐมนตรี, 24/5/2559)
[6] สหภาพยุโรปพิจารณารื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (ประชาชาติธุรกิจ, 12/12/2560)
[7] 'สมคิด' นำทีมหารือ คกก.ระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น บรรลุข้อตกลง 8 ด้าน (กรุงเทพธุรกิจ, 19/7/2561)
[8] เพิ่งอ้าง

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: สถานะเจรจาการค้าเสรี 26 ข้อตกลง (มิ.ย.2561)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: