กองทุน LPG ติดลบเป็นครั้งแรก 117 ล้านบาท นับตั้งแต่ที่รัฐมีการแยกบัญชีออกมาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากเอาไปใช้ตรึงราคา LPG เอาไว้ในระดับ 363 บาท ต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและประธาน กบง.โดยรัฐจะใช้วิธีดึงเงินหมุนเวียนในบัญชีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาใช้ในการตรึงราคา LPG ต่อไปอีกในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาท ที่มาภาพประกอบ: Energy News Center
Energy News Center รายงานอ้างแหล่งข่าวกระทรวพลังงานเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2561 ว่าจากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ให้ตรึงราคาขาย LPG เอาไว้ที่ 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ส่งผลให้เงินที่สะสมไว้ในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของบัญชี LPG เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2561 มีฐานะติดลบเป็นครั้งแรกอยู่ที่ 117 ล้านบาท นับตั้งแต่มีการแยกบัญชีเงินในกองทุนน้ำมันฯ ออกเป็นบัญชีของน้ำมันและบัญชี LPG เมื่อปี 2558 เมื่อไม่ให้มีปัญหาการชดเชยราคาข้ามประเภทโดยเอาเงินจากผู้ใช้น้ำมันไปอุดหนุนราคา LPG เหมือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ในช่วงเริ่มต้นของการแยกเป็นบัญชี LPG นั้น มีเงินสะสมตั้งต้นประมาณ 2,400 ล้านบาท เพื่อใช้ดูแลราคา LPG ให้มีเสถียรภาพ โดยที่รัฐยังสามารถดำเนินโยบายการเปิดเสรีราคา LPG ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงไปได้ แต่ในช่วงที่ราคา LPG ในตลาดโลกที่อ้างอิงราคาของซาอุดิอาระเบียบวกค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด และล่าสุดในเดือน ก.ค. 2561 อยู่ที่ระดับ 562 ทำให้มีการใช้เงินในบัญชี LPG มาเพื่อตรึงราคา LPG เอาไว้ที่ 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จึงมีผลทำให้เงินในบัญชี LPG ติดลบในที่สุด
โดยปัจจุบัน ฐานะของกองทุนน้ำมันฯ มีเงินสะสมเหลือรวม 29,556 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินในบัญชีน้ำมัน 29,673 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 117 ล้านบาท อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ผ่านมาได้อนุมัติกรอบการโยกเงินจากบัญชีน้ำมันไปใช้ในบัญชี LPG ได้ไม่เกิน 3,000 ล้านบาท ที่จะทำให้ยังคงสามารถตรึงราคา LPG เอาไว้ได้อีกระยะหนึ่ง
ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้รับทราบเสถียรภาพกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของบัญชี LPG ที่ล่าสุด ติดลบกว่า 100 ล้านบาท โดยกระทรวงพลังงานจะยังคงนโยบายดูแลระดับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน ขนาดถัง 15 กิโลกรัม ไว้ที่ 363 บาทต่อเนื่อง หลังจากได้เริ่มมาตรการพยุงราคาตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.2561 โดยจะใช้เงินหมุนเวียนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีเงินสะสมราว 3 หมื่นล้านบาทเข้ามาดูแล ซึ่งไม่ใช่การยืมเงินจากบัญชีน้ำมัน แต่เป็นในลักษณะของการใช้เงินหมุนเวียน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ