คนทำงานบ้านในอินเดียตั้งสหภาพแรงงานสำเร็จ

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 23 มิ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 3327 ครั้ง

คนทำงานบ้านในอินเดียตั้งสหภาพแรงงานสำเร็จ

'PGPS' องค์กรแรงงานแม่บ้านแห่งเมืองโกลกาตา ประเทศอินเดีย ได้สถานะสหภาพแรงงานเป็นแห่งแรกของรัฐเบงกอล ถือเป็นความสำเร็จสำหรับการจัดตั้งแรงงานนอกระบบในอินเดียครั้งสำคัญ ที่มาภาพประกอบ: iascurrent.com

สื่อท้องถิ่นของอินเดีย รายงานเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2018 ว่า Paschimbanga Griha Paricharika Samit (PGPS) หรือสหภาพแรงงานแม่บ้านแห่งเมืองโกลกาตาได้รับการจดแจ้งเป็นสหภาพแรงงานเป็นที่เรียบร้อย

การกดขี่ขูดรีดและการละเมิดทางเพศของแรงงานแม่บ้านกลายเป็นปัญหาที่แพร่หลายในประเทศอินเดียมาเป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้ยังมีปัญหาทำงานหนักและไม่ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม ทั้งยังถูกละเมิดทางเพศและทำร้ายร่างกายในบางกรณี

ความพยายามของสหภาพแรงงานแม่บ้าน PGPS รัฐเบงกอลตะวันตก ที่ต่อสู้ในนามแรงงานแม่บ้านประสบความสำเร็จในการจดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงานจากรัฐบาลเบงกอลในสัปดาห์นี้

"PGPS เป็นองค์กรลูกจ้างทำงานในบ้านแห่งแรกที่ได้รับสถานะสหภาพแรงงาน" Sovandeb Chattopadhyay ผู้นำแรงงานอาวุโสจากสภาแรงงาน Trinamool Congress (TMC) กล่าว

Tapsi Moira สมาชิกสหภาพแรงงานแม่บ้าน วัย 38 ปีอาศัยในเมืองโกลกาตาตอนใต้ ให้สัมภาษณ์ว่า ชีวิตของเธอเริ่มต่อสู้หนักมาก หลังจากที่เธอเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

เธอให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวฮินดูว่า "ทุกๆ วันฉันต้องทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้าและกลับบ้านในตอนบ่าย และตั้งแต่ปี 2014 ฉันต้องรีบไปติดต่อกรมแรงงาน เพื่อติดตามการจดทะเบียนองค์กรของพวกเราให้เป็นสหภาพแรงงานอย่างสมบูรณ์"

ในเขตเมือง ลูกจ้างทำงานบ้านจะเผชิญกับความทุกข์ยากแสนสาหัส นับตั้งแต่การได้รับอาหารค้างคืนจากนายจ้าง ถูกเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศและร่างกาย และภายใต้การกดขี่ขูดรีดอย่างเป็นระบบนี้ พวกเธอกลับไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเลย จากข้อมูลครัวเรือนในอินเดียเห็นชัดว่า ลูกจ้างทำงานบ้านมีจำนวนสูงขึ้นถึง 120% ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นยุคเศรษฐกิจหลังเสรีนิยม โดยในปี 1991 อยู่ที่จำนวน 740,000 คน เป็น 16.6 แสนคนในปี 2001 รวมทั้งมีการก่ออาชญากรรมกับแรงงานแม่บ้านมากขึ้นด้วย

เมื่อปี 2015 แม่บ้านชาวเนปาล 2 รายกล่าวหาทูตชาวซาอุดิอาระเบียว่ากระทำชำเราและทุบตีพวกเธอ ตำรวจสืบสวนกล่าวว่า จากการตรวจสอบทางการแพทย์ยืนยันได้ว่าพวกเธอถูกกระทำชำเราจริง

เมื่อเดือน พ.ค. 2018 เกิดกรณีที่ Soni Kumari เด็กหญิงชาวเขาจากรัฐฌารขัณฑ์ถูกบังคับให้ไปทำงานแม่บ้านในกรุงเดลี และถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมเพราะเธอเรียกร้องค่าจ้าง เดิมทีตำรวจสืบสวนสอบสวน พบว่าผู้ค้ามนุษย์ที่ถูกกล่าวหานั้นได้นำตัวโซนิไปกรุงเดลีจริงและหลังจากที่จ้างเธอเป็นแม่บ้านแล้ว พวกเขาก็ปิดบังเงินของเธอไว้ หลายเดือนถัดมาเมื่อโซนิเรียกค่าจ้างเธอคืน เธอก็ถูกฆาตกรรม

สำนักข่าว the Wire ตีแผ่สภาพการทำงานของแรงงานแม่บ้านในกรุงเดลีและได้สัมภาษณ์แม่บ้านกว่า 10 คน ส่วนใหญ่ต่างบ่นเรื่องการถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม กล่าวคือในระหว่างที่กำลังหางานทำ พวกเธอมักถูกซักเรื่องเชื้อชาติและศาสนา ซึ่งพบว่าชาวมุสลิมจะถูกปฏิเสธงานอยู่ตลอด

แรงงานในบ้านต้องพกบัตรประชาชนไปทำงานด้วย แต่พวกเธอไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับนายจ้าง ทั้งยังถูกค้นกระเป๋า ถูกซักไซ้ ในการทำงานพวกเธอไม่มีเวลาพักรับประทานอาหารกลางวันที่แน่นอนและไม่ได้รับอนุญาตให้ลางานแม้ในกรณีฉุกเฉิน หากลา นายจ้างจะหักค่าจ้าง และเมื่อใดที่พวกเธอเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้าง ก็จะถูกตั้งข้อหาขโมย ลูกจ้างทำงานในบ้านยังไม่รู้ว่าจะปกป้องตัวเองจากการถูกกระทำเช่นนี้ได้อย่างไร

ปัจจุบันมีกฎหมายคุ้มครองเพียง 2 ฉบับในอินเดียที่ให้ลูกจ้างทำงานบ้านมีสถานะเป็น "แรงงาน" ฉบับแรกคือพระราชบัญญัติประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบปี 2008 และฉบับที่ 2 คือ พ.ร.บ.คุ้มครองการละเมิดสิทธิทางเพศของผู้หญิงในสถานที่ทำงาน ปี 2013 แต่ไม่มีฉบับไหนเลยที่คุ้มครองสิทธิของแรงงานในบ้าน

ฉะนั้นการที่องค์กรของพวกเขาได้รับสถานะเป็นสหภาพแรงงานแม่บ้านจึงถือเป็นหลักชัยของแรงงานนอกระบบเลยทีเดียว

แปลและเรียบเรียงจาก
https://thewire.in/rights/in-a-first-kolkata-domestic-workers-organisation-gets-trade-union-status

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: