จับตา: กำลังพลดับไฟใต้ 135,439 คน เป็นกองกำลังภาคประชาชน 95,974 คน

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 ธ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 7561 ครั้ง


คาดกำลังพลทุกฝ่าย ที่ใช้สำหรับภารกิจดับไฟใต้ อยู่ที่ 135,439 นาย แบ่งเป็นทหาร 24,004 นาย ตำรวจ 9,809 นาย พลเรือน อส. 5,652 นาย และกองกำลังภาคประชาชนที่ผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานความมั่นคง (ชรบ. อรบ. อรม. ทสปช. อปพร.) อีก 95,974 คน ที่มาภาพประกอบ: แฟ้มภาพเบนาร์นิวส์

ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา รวบรวมตัวเลขกำลังพลทุกฝ่าย ที่ใช้สำหรับภารกิจดับไฟใต้ (เผยแพร่ ณ เดือน ต.ค. 2561) อยู่ที่ 135,439 นาย แบ่งเป็นทหาร 24,004 นาย ตำรวจ 9,809 นาย พลเรือน อส. 5,652 นาย และกองกำลังภาคประชาชนที่ผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานความมั่นคง (ชรบ. อรบ. อรม. ทสปช. อปพร.) อีก 95,974 คน

นอกจากนี้สำนักข่าวอิศรายังได้สังเกตว่าตั้งแต่งบประมาณปี 2560 เป็นต้นมา งบดับไฟใต้ดูเหมือนจะต่ำลง แต่จริงๆ แล้วในรัฐบาล คสช. นับรวม 'งบดับไฟใต้' เฉพาะที่อยู่ในแผนงานบูรณาการฯเท่านั้น ไม่รวมงบเบี้ยเลี้ยงกำลังพล ค่าตอบแทนพิเศษ และค่าเสี่ยงภัยของข้าราชการทุกหน่วยที่ปฏิบัติงานอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ทั้งยังไม่รวมงบบริหารจัดการ หรือที่ทหารเรียกว่า'งบทรงชีพ' ของหน่วยงานพิเศษที่รับผิดชอบเฉพาะภารกิจดับไฟใต้อย่าง ศอ.บต. และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าด้วย [1]

ตัวเลขนี้ถือว่าน่าตกใจมิใช่น้อย เพราะถือเป็นสัดส่วนกำลังพล 1 นายต่อประชากรในพื้นที่ชายแดนใต้ 10 คน ทั้งที่ฝ่ายความมั่นคงพยายามจะปรับลดกำลงพลมาโดยตลอด ข้อมูลจากสำนักข่าวเบนาร์นิวส์ ระบุว่ากำลังพลประจำการจำนวนสูงสุดเมื่อปี 2550 โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 70,000 นาย ส่วนที่เป็นกำลังทหารมีจำนวนเกินครึ่งมาเล็กน้อยเท่านั้น 4 ปีต่อมา ในปี 2554 กองทัพได้ตัดสินใจเริ่มลดกำลังพลลงและมอบหมายหน้าที่การรักษาความปลอดภัยให้แก่กำลังติดอาวุธภายในพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งสี่อำเภอใน จ.สงขลา ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่พูดภาษามลายู [2]

เมื่อปี 2560 กองทัพบกได้ถอนกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 1 ถึง 3 ออกจากพื้นที่ภาคใต้กลับต้นสังกัดทั้งหมดแล้ว ทาง กอ.รมน. ภาค 4 จึงได้เน้นการฝึกกองกำลังทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และภาคประชาชนในพื้นที่ให้มีความพร้อมในการดูแลความปลอดภัย ซึ่งเป็นเวลาถึง 10 ปีมาแล้วที่ กองทัพภาคอื่นๆ ได้ส่งกำลังทหารมาช่วยดูแลพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นโยบายถอนกำลังทหารกลับในปี 2559 จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นที่หลายฝ่ายจับตามอง และตั้งคำถามว่าจะมีผลกระทบ หรือความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นหลังจากคำสั่งดังกล่าวเป็นผลหรือไม่ ซึ่งหลังจากคำสั่งมีผลบังคับใช้ไม่นาน ทั้งหน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ต่างเห็นตรงกันว่าสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ ได้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งหลังการถอนกำลัง เจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 4 ตำรวจ กองกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดน อาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (อรบ.) ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ได้จัดการฝึกทบทวนการใช้อาวุธ ยุทธวิธี พัฒนาทักษะ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน การดูแลประชาชน ถนน และสถานที่ราชการ [3]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] กำลังพลตรึง 1 ต่อ 10 ยังไม่สงบ? ไฟใต้จ่อ 15 ปีสูญงบ 3 แสนล้าน (สำนักข่าวอิศรา, 3/10/2561)
[2] กองทัพไทยให้ชาวบ้านอาสาสมัครทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในสามจังหวัดชายแดนใต้ (เบนาร์นิวส์, 6/10/2559)
[3] กองทัพภาคที่ 4 พร้อมทดแทนกำลังทหารหลักจากภาคอื่นที่ถอนตัวกลับ (เบนาร์นิวส์, 2/1/2560)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: