'ชีวิตเหมือนฝัน' เขียนจากบันทึกความทรงจำของคุณหญิงมณี สิริวรสาร ใครหลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อ แต่ถ้าบอกว่าเป็นสะใภ้หลวงของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็อาจจะทำให้คุ้นขึ้นมาบ้าง หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงเป็นบันทึกเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว แต่ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ภายในราชตระกูลภายใต้บริบทการเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 อีกด้วย
คุณหญิงมณี สิริวรสาร สกุลเดิมคือ บุนนาค สอบชิงทุนได้ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ระหว่างนั้นได้พบกับพระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชโอรสบุญธรรมของรัชกาลที่ 7 ทั้งคู่สมรสกันหลังจากนั้นไม่นานและหม่อมมณีก็ได้ลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว ขณะนั้นเกิดสงครามโลก พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตได้อาสาเป็นทหารในกองทัพอากาศของอังกฤษ ขณะปฏิบัติภารกิจที่สก๊อตแลนด์ เครื่องบินตก ส่งผลให้พระองค์เสียชีวิต ทำให้ชีวิตการแต่งงานครั้งที่ 1 ของหม่อมมณีสิ้นสุดลง
6 เดือนหลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ หม่อมมณีแต่งงานใหม่กับพระเชษฐา (พี่ชาย) ของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ หรือ พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์ อย่างไรก็ตาม การแต่งงานครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น หม่อมมณีเขียนบันทึกเรื่องราวความขัดแย้งและนิสัยส่วนตัวที่ทั้งสองไม่ลงรอยกันหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงการมี "บ้านเล็ก" ของพระองค์เจ้าอาภัสสรฯ ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจหย่ากันในที่สุด นับเป็นการยุติการแต่งงานครั้งที่ 2
การแต่งงานครั้งที่ 3 ของหม่อมมณี คือ การแต่งงานกับหมอปชา สิริวรสาร ที่มีอายุน้อยกว่าหม่อมมณี 6 ปี การแต่งงานครั้งนี้นับเป็นครั้งสุดท้าย และหม่อมมณีหรือ คุณหญิงมณี ได้เล่าเอาไว้อยู่ตลอดถึงสิ่งที่ตนเองประทับใจในตัวหมอปชา ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายอย่างสมควร รอบคอบ มีหัวก้าวหน้าเกี่ยวกับการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ เช่น การก่อสร้างอาคารมณียาในกรุงเทพฯ สมัยที่เริ่มต้นพัฒนาให้เป็นเมืองสมัยใหม่ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลายมาเป็นธุรกิจสำคัญที่คุณหญิงมณีสนใจ พร้อมกันกับการทำงานเพื่อสังคม
คุณหญิงมณี อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้หญิงที่มีรูปเป็นทรัพย์อย่างแท้จริงในความเห็นของเรา การอยู่ในสกุลบุนนาค ที่แม้ว่าจะเป็นสกุลเก่าแก่ แต่จากคำบอกเล่าทำให้เห็นว่าเด็กหญิงมณีไม่ได้มีชีวิตที่สุขสบายเท่าใดนัก เด็กหญิงมณีอยู่กับแม่ที่เป็นชาวตะวันตก (คุณหญิงมณีเป็นลูกครึ่งที่เกิดจากภรรยารอง) และต้องดิ้นรนในการทำธุรกิจเพื่อเลี้ยงตัวเองอยู่มากหลังจากบิดาถึงแก่กรรมโดยแทบจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากตระกูลของพ่อ ตรงนี้เองที่ดูจะเป็นเรื่องที่ติดอยู่ในใจไม่น้อย ดังที่เล่าตั้งแต่ตอนเกริ่นนำของเรื่องว่า "ถ้าหากท่านมีญาณวิเศษมองไปถึงอนาคตได้ ท่านคงจะนอนตายตาหลับได้อย่างสบายใจ เพราะดิฉันเป็นลูกสาวคนเดียวของท่านที่มีฐานะดีกว่าญาติพี่น้อง และมีอนาคตที่รุ่งเรื่องสดใสมากกว่าบุตรธิดาคนอื่นๆของท่านทุกคน" (หน้า 18)
การสอบชิงทุนได้ไปเรียนต่างประเทศจึงเป็นโอกาสที่สำคัญในการขยับตัวเองขึ้นไปอีกระดับหนึ่งอย่างแท้จริง อีกอย่างหนึ่งคือ คุณหญิงมณีเองก็รู้ตัวด้วยว่าตนเองเป็นคนสวยและเป็นที่สนใจของนักเรียนไทยในต่างประเทศ ทำให้ไม่ปิดโอกาสตัวเองที่จะได้ผูกมิตรกับเพื่อนมากหน้าหลายตา คุณหญิงมณีอธิบายว่าเพราะตนเองเป็นผู้หญิงคนแรกที่สอบชิงทุนได้โดยไม่ได้ใช้อิทธิพลของครอบครัวช่วยเหลือ ทำให้นักเรียนไทยในต่างประเทศต่างรอคอยที่จะได้พบกับเธอ "หน้าตาของดิฉันก็จัดอยู่ในเกณฑ์ดีและท่าทางของดิฉันก็ไม่ได้เคอะเขินหรือเชยในการเข้าสังคมดังเช่นคนบางคนที่ไปถึงเมืองนอกใหม่ๆ เหตุนี้เองจึงทำให้นักเรียนไทยแทบทุกคนอยากเห็นตัวและทำความรู้จักกับดิฉัน...นางสาวมณี บุนนาคจะสวยและฉลาดสักแค่ไหน" (หน้า 156-157) และก็เป็นจริงอย่างที่นางสาวมณีคิด เพราะไม่นานหลังจากนั้นเธอก็ได้เจอกับพระโอรสบุญธรรมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลังจากพบกับพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ชีวิตของนางสาวมณีดูจะเรียกได้ว่าเป็นชีวิตเหมือนฝันอย่างแท้จริง พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ขับรถเบนท์ลีย์ มารับไปงานเต้นรำตอนกลางคืน ส่วนในวันที่อากาศปลอดโปร่งทั้งคู่ก็จะไปขับเครื่องบินเล่นกันเนื่องจากพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯชื่นชอบการขับเครื่องบินและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานเครื่องบินส่วนตัวไว้ให้ลำหนึ่งเพื่อใช้สำหรับฝึกบิน และเมื่อแต่งงานทั้งคู่ก็เป็นคู่สามีภรรยาที่เรียกว่า "มีความสุขที่สุดในโลก" โดยหม่อมมณีได้เล่าเหตุการณ์ตอนที่ไปฮันนีมูนที่ริเวียร่าและอาศัยอยู่ในวิลลาว่า "เราได้ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเยี่ยงเศรษฐี เรายังเป็นชายหนุ่มและหญิงสาว แล้วยังเป็นเจ้าชายและเจ้าหญิงอีกด้วย เราพักอยู่โรงแรมชั้นหนึ่ง มีรถชั้นยอดเป็นพาหนะ" (หน้า 259)
อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ หม่อมมณีได้เล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่รัชกาลที่ 7 สวรรคตที่ประเทศอังกฤษ การจัดการงาน และที่สำคัญคือ การแบ่งมรดก เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีกลับเมืองไทย ผู้จัดการมรดกได้ทำการแบ่งมรดกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวออกเป็นสองกอง คือ สำหรับบุตรและภรรยา หรือก็คือส่วนของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีและส่วนของพระองค์เจ้าจิรศักดิฯ ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้วในช่วงสงครามโลก ส่งผลให้หม่อมมณีเป็นผู้มีสิทธิดูแลทรัพย์สินจนกว่าโอรสของทั้งคู่จะบรรลุนิติภาวะ เหตุการณ์ตอนนั้นคือ มีการจัดแบ่งโฉนดที่ดินทั้ง 20 แปลงให้หม่อมมณีและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้จับสลากว่าใครจะได้ที่ดินแปลงใดบ้าง และหลังจากนั้นก็เป็นการแบ่งข้าวของ เช่น ถ้วยชาม พระพุทธรูป ของกระจุกกระจิก โดยทั้งคู่จะผลัดกันเลือกชิ้นที่ตนเองต้องการ และชิ้นที่ไม่มีใครเลือกก็จะถูกขายให้กับพ่อค้าชาวจีนที่มารอประมูลราคา โดยหม่อมมณีเล่าว่ากระบวนการแบ่งมรดกนี้กินเวลาทั้งหมด 3 วัน
ชีวิตของหม่อมมณีหรือคุณหญิงมณียังมีอะไรที่น่าไปติดตามอ่านอยู่อีกมาก หนังสือหนาราว 900 หน้าทำให้เราเห็นชีวิตที่โลดโผนของผู้หญิงคนหนึ่ง ชีวิตที่ผ่านชีวิตรักมาอย่างมากหน้าหลายตา (นอกจากแต่งงาน 3 ครั้ง คุณหญิงมณีก็มีความสัมพันธ์กับชายอื่นๆ อีก) และนอกเหนือจากชีวิตส่วนตัว เรายังได้เห็นชีวิตของราชนิกุลไทยในกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมขณะนั้นตั้งแต่ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ จนถึงปัจจุบัน
สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าคุณหญิงมณีอยากจะพูด แต่ไม่ได้พูด หรืออาจจะพูดเมื่อเดาจากนัยยะของชื่อหนังสือ คือชีวิตของเธอมาไกลเกินกว่าที่จะคิด จากชีวิตของเด็กลูกครึ่งที่เกิดจากเมียรอง และพ่อที่ถูกตัดออกจากกองมรดกเพราะแต่งงานกับผู้หญิงต่างชาติ การได้กลายมาเป็นหม่อมของพระโอรสบุญธรรมของรัชกาลที่ 7 และการได้รับมรดกจำนวนมหาศาล ส่งผลให้ชีวิตของคุณหญิงมณีเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งก็เป็นชีวิตที่เหมือนฝันจริงๆ และอย่างที่คุณหญิงมักจะย้ำเสมอเมื่อเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตของคนรู้จัก ว่าเมื่อเทียบกันแล้ว ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมากเพียงใด เพราะวาสนานั้นเป็นสิ่งที่แข่งขันกันไม่ได้
หลายคนที่เป็นคอนิยายของ ว.วินิจฉัยกุล เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จะพบว่ามีเนื้อหาที่คล้ายกันกับเรื่อง ‘มาลัยสามชาย’ บางคนคิดว่าเรื่องมาลัยสามชายได้รับอิทธิพลมาจากชีวิตจริงของคุณหญิงมณีไม่มากก็น้อย ตั้งแต่การแต่งงานสามครั้ง และการแต่งงานกับหมออายุน้อยกว่า ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้
ดังนั้น ใครใคร่อ่านและมีเวลาจะอ่านหนังสือยาวเกือบ 900 หน้าก็อ่านเถอะ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ