สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ NEDA พร้อมปล่อยกู้ให้แก่ประเทศพม่า เพื่อก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าบริเวณชายขอบเมืองย่างกุ้งคือเขต North Okkalopa และเขต North Dagon วงเงินกว่า 1,458 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากแผนงานเดิมที่กำหนดกรอบวงเงินไว้ประมาณ 1,785 ล้านบาท เนื่องจากพม่าได้ดำเนินโครงการก่อสร้างไปก่อนแล้วบางส่วน คาดภายในปีนี้จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ที่มาภาพประกอบ: Energy News Center
Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2561 ว่าพันเอก ดร.ศรัณยู วิริยเวชกุล รองผู้อำนวยการ NEDA เปิดเผยความคืบหน้าการศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำแบบก่อสร้างโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าในเมืองย่างกุ้ง เขต North Okkalopa และเขต North Dagon ประเทศพม่า ซึ่งทาง NEDA ได้ลงไปสำรวจพื้นที่โครงการเพื่อทบทวนแบบก่อสร้างและประมาณการค่าใช้จ่ายเมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา หลังทราบว่าทางพม่าได้ดำเนินโครงการก่อสร้างไปบางส่วนแล้ว โดยผลการศึกษาใหม่นั้น จะปรับลดวงเงินก่อสร้างลงจากกรอบเดิมที่ประเมินไว้เมื่อปี 2556 จำนวนกว่า 1,785 ล้านบาท เหลือประมาณ 1,458 ล้านบาท ขณะนี้ทางการไฟฟ้าย่างกุ้ง (YESC) อยู่ระหว่างพิจารณาผลการทบทวนแบบก่อสร้าง เพื่อเสนอกระทรวงการวางแผนและการคลังพม่า (Ministry of Planning and Finance: MOPF) ก่อนที่จะนำเสนอต่อรัฐสภาพม่าเพื่อขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก NEDA ต่อไป
“ตอนนี้ทางพม่าต้องไปขอรัฐบาลเพื่อทำเรื่องขอกู้เงินจาก NEDA ซึ่งขั้นตอนของพม่าค่อนข้างเยอะและวงเงินสูง ที่สำคัญโครงการนี้เป็นโครงการแรกที่จะทำกับประเทศไทย แต่เท่าที่ได้หารือกับ YESC ยืนยันว่าย่างกุ้งมีความต้องการระบบไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการใช้ของประชาชนและภาคธุรกิจที่เข้าไปลงทุน โดยขณะนี้การเจรจาในด้านเทคนิคจบหมดแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการขออนุมัติเงินกู้เท่านั้น” พันเอก ดร.ศรัณยู กล่าว
รองผู้อำนวยการ NEDA กล่าวว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย สายส่งไฟฟ้า สายจำหน่าย และหม้อแปลง เป็นต้น จะแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกวงเงินอยู่ที่ประมาณ 1,190 ล้านบาท และเฟสที่ 2 ประมาณ 270 ล้านบาท ส่วนเงื่อนไขการปล่อยกู้และอัตราดอกเบี้ย ยังไม่ถึงขั้นตอนการพิจารณา แต่โดยปกติแล้วคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1-2 ต่อปี ระยะเวลากู้ 30 ปี รวมทั้งอาจพิจารณายกเว้นดอกเบี้ยให้เป็นเวลา 10 ปี และพิจารณาเงินให้เปล่าส่วนหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามเงื่อนไขทั้งหมดคงต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ NEDA จะพิจารณาความเหมาะสม
สำหรับขั้นตอนการก่อสร้างนั้น NEDA จะต้องว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้าไปควบคุมงานก่อสร้างของบริษัทผู้รับเหมา ซึ่งปกติการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี - 1 ปีครึ่ง แต่ขณะนี้ คงต้องรอทางพม่าส่งหนังสือขอกู้เงิน (Formal Request) อย่างเป็นทางการมาก่อน คาดว่าภายในปีนี้น่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้เมื่อปี 2558
ทั้งนี้ผลประโยชน์ทางตรงที่จะได้รับจากโครงการนี้ คือ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติในเมืองย่างกุ้ง ขณะที่ประชาชนในพื้นที่โครงการฯ สามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการกระจายรายได้ไปสู่ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ของไทยและไทยยังสามารถขายสินค้าและบริการเกี่ยวกับอุปกรณ์และสายส่งไฟฟ้าในอนาคต ส่วนผลประโยชน์ทางอ้อมนั้น จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศไทยและพม่าสร้างโอกาสในการลงทุนของไทยและต่างประเทศในพื้นที่ดังกล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ