'ไทยพีบีเอส' ปฏิเสธข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทบริษัทเหมืองทอง ยืนยันภารกิจ 'สื่อสาธารณะ'

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 พ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2568 ครั้ง

'ไทยพีบีเอส' ปฏิเสธข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทบริษัทเหมืองทอง ยืนยันภารกิจ 'สื่อสาธารณะ'

ผู้บริหารไทยพีบีเอสขึ้นศาลนัดพร้อม คดี ‘เหมืองทองเลย’ ฟ้อง ‘ไทยพีบีเอส’ หมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 50 ล้าน เหตุเยาวชนนักข่าวพลเมืองรายงานข่าวค่ายเด็ก แถลงให้การปฏิเสธทุกข้อหา ยืนยันในภารกิจไทยพีบีเอสนำเสนอข้อมูลที่สมดุล ให้เสียงของประชาชนได้มีโอกาสพูดโดยสุจริตใจ ที่มาภาพ: citizenthaipbs.net

เว็บไซต์ citizenthaipbs.net รายงานว่าเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2561 เวลา 09.00 น. ห้อง 909 ศาลอาญารัชดา รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ในฐานะผู้แทนนิติบุคคล พร้อมจำเลยในคดีบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องไทยพีบีเอสและบุคลากร ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารและโทรทัศน์ เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท เดินทางมาขึ้นศาลครั้งแรกในนัดพร้อมเพื่อสืบคำให้การจำเลย

จำเลยทั้ง 5 คน ที่เดินทางมาศาล ประกอบด้วย 1.วิรดา แซ่ลิ่ม ผู้ดำเนินรายการช่วงข่าวพลเมือง 2.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) โดยรศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้แทน 3.สมชัย สุวรรณบรรณ อดีต ผอ.ส.ส.ท. 4.ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว และ 5.โยธิน สิทธิบดีกุล ผู้อำนวยการสำนักโทรทัศน์และวิทยุ

ในวันนี้ (21 พ.ค. 2561) จำเลยทั้ง 5 แถลงขอให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ตลอดข้อกล่าวหา พร้อมยื่นขอพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ด้านทนายโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลโดยส่งประกาศราชกิจจานุเบกษาแนบท้ายคำร้องแจ้งว่าปัจจุบันโจทก์ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และแถลงต่อศาลเพิ่มเติมว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอเรียกค่าเสียหายส่วนแพ่งเข้ามาด้วยเป็นจำนวนเงิน 50 ล้านบาท มีความจำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาร่วมในคดีหรือไม่

ศาลแจ้งทนายโจทก์ว่า คำขอส่วนแพ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา คดีนี้โจทก์ฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ศาลจำต้องพิจารณาในส่วนคดีอาญาไปก่อน ส่วนค่าเสียหายทางแพ่งนั้นศาลต้องถือข้อเท็จจริงในคดีอาญา และยังเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนที่แน่นอน เนื่องจากต้องรอผลคดีส่วนอาญาเสียก่อน

นอกจากนั้น ศาลได้แจ้งให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่าย ไกล่เกลี่ยหาข้อยุติในคดี เนื่องจากข้อหานั้นไม่ร้ายแรงและเป็นความผิดที่ยอมความกันได้ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายไม่ขัดข้อง ศาลจึงกำหนดวันนัดไกล่เกลี่ยเป็นวันที่ 13 ก.ค. 2561 เวลา 09.00 น.

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายจำเลยในคดีกล่าวว่า แนวทางต่อสู้คดีของจำเลยจะเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยเป็นสื่อสาธารณะ และเป็นองค์กรที่ต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ และสะท้อนปัญหาเรื่องของคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมของประชาชนซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญ ถือว่าเป็นประเด็นสาธารณะที่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอต่อประชาชน

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผอ.ส.ส.ท. กล่าวว่า ในฐานะสื่อสาธารณะ เราต้องยืนยันในภารกิจของเรา ในเรื่องของการเสนอข้อมูลที่สมดุล และการให้เสียงของประชาชนที่เขาได้รับผลกระทบจากเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของทรัพยากรได้มีโอกาสที่จะได้พูดโดยสุจริตใจ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของไทยพีบีเอสก็คือมาแสดง มายืนยันในภารกิจนี้ของสื่อสาธารณะ

ด้านก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ จำเลยที่ 3 ในคดี ให้ความเห็นต่อการทำงานของนักข่าวพลเมืองว่า นักข่าวพลเมืองคือตัวแทนของพลเมืองหรือชาวบ้านที่อยู่ในท้องถิ่น เขาก็มีสิทธิ มีเสียง และสามารถที่จะบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความทุกข์ ความเดือดร้อน กรณีที่สิ่งแวดล้อมรอบๆ หมู่บ้านสร้างผลกระทบต่อเขาก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เขาสามารถที่จะบอกกล่าวต่อสังคมได้ว่ากำลังจะเกิดอะไรกับพวกเขา นี่คือบทบาทที่สำคัญที่นักข่าวพลเมืองนั้นได้ทำออกมา และแน่นอนว่าถ้ามันเป็นเรื่องที่สำคัญและส่งผลกระทบก็จะต้องมีการเชื่อมต่อกันระหว่างข่าวในกระแสหลัก

วิรดา แซ่ลิ่ม ให้ความเห็นว่า คดีนี้สะท้อนถึงสิทธิในการแสดงออกของประชาชนและสื่อที่แยกกันไม่ออก โดยเป็นการสื่อสารผ่านพื้นที่นักข่าวพลเมืองซึ่งเป็นพื้นที่ที่เปิดให้กับเจ้าของประเด็น คนในพื้นที่ได้ออกมาสื่อสารกับสังคมด้วยตัวของเขาเอง โดยไม่ได้ผ่านนักข่าว จึงเป็นประเด็นที่น่าติดตามต่อว่าสิทธิตรงนี้ของประชาชนที่ต้องการสื่อสารเรื่องของความจริงเชิงประจักษ์ของคนในพื้นที่แต่กลับต้องมาโดยคดี ซึ่งคดีที่เกิดไม่ได้ทีเฉพาะคดีของไทยพีบีเอส แต่ยังมีอีกหลายคดีที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้อง

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก จากการสื่อสารประเด็นของเยาวชนนักข่าวพลเมือง ผ่านรายการนักข่าวพลเมืองตอนค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2558 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำใน จ.เลย ต่อไทยพีบีเอสและบุคคลากร ไปจนถึงมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเยาวชนนักข่าวพลเมือง

ที่ผ่านมาไทยพีบีเอสได้ดำเนินการช่วยเหลือทางคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องตามระเบียบขององค์กร รวมทั้งสื่อสารประเด็นเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเยาวชนนักข่าวพลเมืองได้ยุติไป เนื่องจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลยมีความเห็นไม่อนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องเยาวชนนักข่าวพลเมืองต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ส่วนการแจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี กล่าวหาเยาวชนนักข่าวพลเมืองว่าหมิ่นประมาท โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพระบายสี ภาพยนตร์ฯ ไม่มีการดำเนินคดีต่อ

สำหรับคดีที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยนายสมชาย ไกรสุทธิวงศ์ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ฟ้องร้องต่อไทยพีบีเอสและบุคคลากรรวม 5 คน เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3756/2558 ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและโทรทัศน์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 พร้อมความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และ 16 เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท

ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2559 โดยในคำพิพากษาระบุว่า จำเลยทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนหาข่าวในข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เสนอข้อมูลตามที่มีการตรวจสอบโดยหน่วยงานราชการ แม้จะทำให้เกิดความเข้าใจว่าโจทก์เกี่ยวข้องทำให้เกิดผลกระทบ แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตามข้อเท็จจริง ติชมด้วยความเป็นธรรม ไม่เกินขอบเขตวิสัยที่ประชาชนพึงกระทำได้

ต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2561 ศาลอาญารัชดา อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ประทับฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กับรับฟ้องโจทก์ในคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา และให้มีการนัดพร้อม ในวันที่ 21 พ.ค. 2561 เวลา 09.00 น.

ดังนั้น รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ในฐานะตัวแทนนิติบุคคล และจำเลยทุกคนจึงต้องเดินทางไปศาลในวันและเวลาดังกล่าวเพื่อแสดงตน

สำหรับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย มีกรณีการดำเนินการฟ้องร้องระหว่างบริษัทฯ กับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2550 และผลประกอบการของบริษัทฯ ขาดทุนสะสมเกือบพันล้าน เมื่อปี 2555 ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2561 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรื่อง คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

จากกรณีธนาคารดอยซ์ แบงก์ เอจี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้บริษัทฯ ล้มละลาย และศาลได้มีคําสั่งลงวันที่ 14 ก.พ. 2561 ให้พิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ทุ่งคํา จํากัด จําเลย เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: