สื่อ 'ประชาชาติธุรกิจ' เผยเหตุกรมทางหลวงยกเลิกประกาศขายเอกสารประมูลการให้เอกชนร่วมลงทุน PPP Gross Cost 30 ปี ดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการมอเตอร์เวย์สาย 'บางปะอิน-นครราชสีมา' และ 'บางใหญ่-กาญจนบุรี' ออกไปไม่มีกำหนด เพราะมีบริษัทเอกชนหลายรายแสดงข้อคิดเห็นต่อร่าง TOR ว่าเปิดกว้างมากเกินไปให้ต่างชาติสามารถเข้ามาร่วมได้ในรูปแบบจ้างซับคอนแทร็กเตอร์ หรือจอยต์เวนเจอร์ได้ ภาพประกอบแฟ้มภาพ TCIJ
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานอ้างแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2561 ว่าสาเหตุที่กรมทางหลวง (ทล.) ต้องยกเลิกประกาศขายเอกสารประมูลการให้เอกชนร่วมลงทุน PPP Gross Cost 30 ปี ดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา 196 กม. และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กม. เงินลงทุนกว่า 61,000 ล้านบาท ออกไปไม่มีกำหนด จากเดิมจะเปิดขายเอกสารวันที่ 30 พ.ค.-27 มิ.ย. 2561 เป็นเพราะมีบริษัทเอกชนหลายรายแสดงข้อคิดเห็นต่อร่างทีโออาร์ รวมทั้งข้อเสนอแนะไปยังคณะกรรมการมาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 และกระทรวงคมนาคม เช่น ระยะเวลาดำเนินการ ซึ่งกำหนดไว้ 2 ปี 6 เดือน เอกชนมองว่าสั้นเกินไป นอกจากนั้นเป็นข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะทางด้านเทคนิค และด้านคุณสมบัติ ที่น่าสนใจ คือ ข้อคิดเห็นของ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ในเครือ บมจ.ช.การช่าง เกี่ยวกับเงื่อนไขการร่วมทุน (จอยต์เวนเจอร์) กับต่างชาติ โดยระบุว่าทีโออาร์ของกรมทางหลวงเปิดกว้างมากเกินไป ให้ต่างชาติสามารถเข้ามาร่วมได้ในรูปแบบจ้างซับคอนแทร็กเตอร์ หรือจอยต์เวนเจอร์ก็ได้
โดย BEM มองว่าบริษัทไหนจะร่วมกับต่างชาติ น่าจะดำเนินการในรูปแบบจอยต์เวนเจอร์เท่านั้นจึงจะมีสิทธิยื่นประมูล เพื่อจะได้ร่วมรับผิดชอบกรณีโครงการมีความล่าช้า อย่างไรก็ตาม หากทีโออาร์กำหนดอย่างนั้นจะทำให้มีคู่แข่งเข้าประมูลน้อยราย เนื่องจากบริษัทต่างชาติส่วนใหญ่ไม่ต้องการมาร่วมลงทุน เนื่องจากจะมีภาระผูกพันทำให้ต้องร่วมรับผิดชอบโครงการ เช่น เสียค่าปรับหากงานล่าช้า เป็นต้น
“ทีโออาร์ที่กรมทางหลวงกำหนด ไม่ได้บังคับต่างชาติจะต้องจอยต์เวนเจอร์ตอนยื่นประมูล แต่สามารถร่วมกันได้หลังได้งานแล้ว เพื่อให้เกิดการแข่งขันหลายราย”
ทั้งนี้เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบาย เพราะถ้ากำหนดเงื่อนไขเข้มให้ต่างชาติต้องจอยต์เวนเจอร์ ผู้ประกอบการไทยที่ยังไม่มีผลงานบริหารระบบทางด่วน รถไฟฟ้า อย่าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (โทลล์เวย์) กลุ่ม ซี.พี. ฯลฯ ซึ่งสนใจโครงการนี้ต้องทำตามเงื่อนไข เช่น ตั้งบริษัทร่วมทุน โดยเอกชนไทยถือหุ้นเกิน 50% และให้ต่างชาติที่จะมาร่วมทุนถือหุ้นไม่เกิน 49% ส่วน BEM มีศักยภาพเข้าร่วมประมูลได้โดยไม่ต้องจอยต์เวนเจอร์กับต่างชาติ
แหล่งข่าวกล่าวว่าในส่วนของเอกชนไทยขณะนี้มีหลายรายสนใจโครงการนี้ เบื้องต้นมีข้อมูลยืนยันว่าที่จะเข้าร่วมซื้อซองประมูล มี 6-7 ราย คือ 1.BEM ร่วมกับ บมจ.ช.การช่าง 2.BTS ร่วมกับ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี และอาจจะมีบริษัทต่างชาติร่วม 3.บจ.เจริญโภคภัณฑ์ วิศวกรรม (เครือ ซี.พี.) จะร่วมกับบริษัท วินซี จากฝรั่งเศส 4.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จะร่วมกับจีนและสิงคโปร์ 5.บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จะร่วมกับจีนและสิงคโปร์ 6.โทลล์เวย์ จะร่วมกับ MEX รัฐวิสาหกิจจากญี่ปุ่น และ 7.รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนจากจีน
“ล่าสุดจะมีการปรับเงื่อนไขทีโออาร์ใหม่บางประเด็น เช่น ระยะเวลาดำเนินการอาจจะเป็น 3 ปี จากเดิม 2 ปี 6 เดือน ส่วนประเด็นการจอยต์เวนเจอร์ของต่างชาติยังไม่สรุป”
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอสซี กล่าวว่า บริษัทสนใจจะเข้าร่วมประมูลระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทาง ขณะนี้กำลังหาพันธมิตรจากต่างประเทศ
ขณะที่นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่าเลื่อนประกาศขายซองประมูล PPP ระบบเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ เนื่องจากในขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนยังมีประเด็นด้านข้อกำหนดและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องใช้เวลาพิจารณาทบทวนรายละเอียดเพิ่มเติม จึงขอยกเลิกประกาศเชิญชวนและเลื่อนการขายข้อเสนอออกไปก่อน
“โครงการนี้กรมเชิญทั่วโลกเข้าร่วมประมูล มียุโรป ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ส่วนบริษัทไทยต้องร่วมต่างชาติตั้งบริษัท SPV ซึ่งเป็น PPP โครงการแรกของกรม จะใช้ระบบเก็บค่าผ่านทางที่ทันสมัยที่สุด เป็นระบบฟรีโพลว์ (ไร้ไม้กั้น) และเป็นโมเดลต้นแบบให้สายอื่น ๆ”
การลงทุนมี 2 ระยะ ระยะที่ 1 เอกชนออกแบบ ลงทุนก่อสร้างงานระบบและอื่น ๆ โดยบางปะอิน-โคราช ลงทุน 7,965 ล้านบาท บางใหญ่-กาญจนบุรี 6,089 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี 6 เดือน ระยะที่ 2 เอกชนจะจัดเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษาตลอด 30 ปี
“รายได้ค่าผ่านทางจะนำส่งคลัง โดยจ่ายค่าจ้างให้เอกชนเป็นรายปี มีค่างานระบบ ค่าบำรุงรักษาของบางปะอิน-นครราชสีมา ไม่เกิน 33,258 ล้านบาท ส่วนบางใหญ่-กาญจนบุรี 27,828 ล้านบาท รวม 2 โครงการ 61,086 ล้านบาท เอกชนที่เสนอระบบที่ดีที่สุดและราคาต่ำสุด จะเป็นผู้ชนะประมูล”
ด้านแหล่งข่าวจากกรมทางหลวงเปิดเผยว่า ตั้งเป้าเปิดขายเอกสารประมูลได้ในเดือน ส.ค. 2561 แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของคณะกรรมการมาตรา 35 ว่าจะใช้เวลาในขั้นตอนขายซองประมูล พิจารณาข้อเสนอ และให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัตินานเท่าใด แต่คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้เร็วสุดเดือน เม.ย.-พ.ค. 2562 จากนั้นใช้เวลาก่อสร้างด่านและติดตั้งระบบอีก 3 ปี
ปัจจุบันโดยภาพรวมทั้ง 2 โครงการมีปัญหาเรื่องเวนคืนที่ดิน การรื้อย้าย และค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้การก่อสร้างล่าช้าไปจากแผน ปัจจุบันสายบางปะอิน-โคราช คืบหน้า 43.50% แล้วเสร็จปี 2563 คาดว่าจะล่าช้าเป็นต้นปี 2564 จากนั้นติดตั้งและทดสอบระบบอีก 6 เดือน พร้อมเปิดใช้ปลายปี 2564 ส่วนบางใหญ่-กาญจนบุรี คาดว่าจะเปิดใช้ในปี 2565 จากเดิมปี 2563 ติดเวนคืนที่ดินที่เพิ่มขึ้น 14,317 ล้านบาท ต้องรออนุมัติจาก ครม. แต่หากการก่อสร้างทั้ง 2 สายทางแล้วเสร็จก่อนงานระบบ อาจเปิดให้บริการฟรีไปก่อน
สำหรับสายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. คืบหน้าแล้ว 80% จะแล้วเสร็จเดือน พ.ย. 2561 ส่วนการเก็บค่าผ่านกรมจะเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญางานก่อสร้างด่านและติดตั้งระบบกับกิจการร่วมค้า 3SF (สี่แสงการโยธาและฟาติมา) ที่ประมูลได้ 1,800 ล้านบาท จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้กลางปี 2563 เก็บค่าผ่านทางตามระยะทาง อัตรา 1 บาทต่อ กม. ไม่มีค่าแรกเข้า
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ