พบหญิงไทย 'จดทะเบียนสมรสอำพราง' กับชาวต่างชาติหลายพันคู่ หวังได้ Overstay

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ต.ค. 2561 | อ่านแล้ว 16391 ครั้ง

พบหญิงไทย 'จดทะเบียนสมรสอำพราง' กับชาวต่างชาติหลายพันคู่ หวังได้ Overstay

'สำนักข่าวไทย' ทำข่าวเจาะ ป.ป.ท. กำลังสอบสวนคดีหญิงไทยใช้บัตรประชาชนไปจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติมากหลายพันคู่ในช่วง 3 ปีมานี้ (2558-2560) โดยเฉพาะชายจากเอเชียใต้ เหตุผลสำคัญเพื่อต้องการอยู่ต่อในไทย หรือ Overstay พบทำเป็นขบวนการ มีนายหน้าจัดหาผู้หญิง โดยได้ค่าตอบแทนทั้งนายหน้าและผู้หญิง ชี้มีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตและพบปัญหาดำเนินคดีได้ยาก

24 ต.ค. 2561 สำนักข่าวไทย เผยแพร่สกู้ปข่าว จดทะเบียนสมรสอำพราง ตอน 1 และ จดทะเบียนสมรสอำพราง ตอน 2 เมื่อวันที่ 18-19 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมาโดยระบุว่าพาหุรัด เป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีชาวอินเดียเข้ามาทำงานมาก เสาไฟฟ้าต้นนี้มีคนนำทะเบียนสมรสชายอินเดียและหญิงไทยมาติดไว้ อาจเป็นของใครทำตกหล่นไว้ หรือเป็นทะเบียนสมรสอำพรางเพื่อใช้ในการอยู่ต่อ เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่กลุ่มคนจากเอเชียใต้ อาทิ อินเดีย และปากีสถาน นิยมเข้ามาทำงาน และมีจำนวนไม่น้อยที่ลักลอบอยู่อย่างผิดกฎหมาย อ้างเป็นนักกีฬา ครูสอนภาษา นักเรียนนักศึกษา และอ้างเหตุอยู่ต่อเพื่ออุปการะภรรยาหรือบุตร

ที่ จ.สมุทรสาคร มีนายหน้าเข้ามาว่าจ้างหญิงไทยในชุมชนต่างๆ ให้จดทะเบียนสมรสให้กับชายชาวต่างชาติหลายราย หญิงไทยที่ตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อนายหน้า ส่วนใหญ่อาชีพรับจ้าง ขัดสนเรื่องเงิน อย่างคนนี้เธอยินยอมให้นำสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านไปจดทะเบียนสมรสกับชาวอินเดีย เพื่อแลกกับเงิน 3,000 บาท ตามคำชวนของเพื่อนที่ว่า จดแล้ว 1 ปีก็ยกเลิกได้ ทั้งที่ยังไม่รู้จักชาวอินเดียคนนั้น เกือบ 3 ปีเธอยังเพิกถอนการจดทะเบียนสมรสกับชาวอินเดียไม่ได้ เสียสิทธิประโยชน์ เช่น ค่าคลอด ค่าสงเคราะห์บุตรที่ควรเบิกได้ตามสิทธิของสามีตัวจริง ซึ่งอยู่กินมาก่อนแต่ไม่ได้จดทะเบียน

ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า ขบวนการนี้แบ่งนายหน้าออกเป็นหลายสาย เพื่อหาหญิงไทยไปจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ นายหน้ามีรายได้หัวละหลายพันบาท ในหมู่บ้านนาดีมีหญิงสาวหลงเชื่อกว่า 10 ราย

นอกจาก จ.สมุทรสาคร ที่มีหญิงไทยเดือดร้อนจากการไม่สามารถเพิกถอนทะเบียนสมรสได้แล้ว ยังมีหญิงไทยในอีกหลายจังหวัดที่ตกเป็นเหยื่อ นี่เป็นผลจากการทุจริตจดทะเบียนสมรสอำพรางให้ชาวอินเดียและปากีสถานของเจ้าหน้าที่รัฐ จนเป็นคดีเข้าสู่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ โดยที่ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู พบการจดทะเบียนสมรสอำพรางมากกว่า 600 ราย อ.สามพราน และบางเลน จ.นครปฐม เกือบพันราย และที่ จ.สระบุรี อีกกว่า 2,000 ราย

แม้ ตม.จะตั้งเป้ากวาดล้างและผลักดันกลุ่มคนต่างด้าวที่อยู่เกินกำหนดอนุญาต หรือ Overstay ให้หมดภายใน 1 เดือน หลังจับกุมชาวปากีสถาน 57 คน พร้อมเอเย่นต์ได้ในย่านจรัญสนิทวงศ์ แต่คดีก่อนหน้านี้ เมื่อกลางปีมีหญิงไทยจำนวนหนึ่งที่ถูกนำชื่อและเอกสารส่วนตัวไปจดทะเบียนสมรสโดยมิชอบกับชายชาวอินเดีย ที่ อ.วังม่วง จ.สระบุรี ร้องเรียนต่อทางการจนนำไปสู่การจับกุมเอเย่นต์และเครือข่ายอินเดียได้ 50 คน

นายอำเภอวังม่วง บอกว่า การทุจริตจดทะเบียนสมรสอำพรางให้ชาวอินเดียลอตนี้เกิดขึ้นเกือบ 300 คู่ ตั้งแต่ปี 2558 มีทั้งที่แอบอ้างนำชื่อไปใช้ หรือยินยอมให้ใช้เอกสารส่วนตัวมาจด เพื่อแลกกับเงิน 5,000-10,000 บาท ทำเป็นขบวนการ มีเอเย่นต์เหมารถพามาจด โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐอำนวยความสะดวกให้ ล่าสุดตรวจสอบและเพิกถอนการจดทะเบียนสมรสให้หญิงไทยได้เพียง 39 คู่

ช่วงเดียวกัน ที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม พบการทุจริตจดทะเบียนสมรสอำพรางให้ชาวอินเดียและปากีสถานกับหญิงไทย เกือบ 700 คู่ ในช่วงเวลาติดๆ กัน บางวันมาที่อำเภอเป็นร้อยคู่ ทั้งที่ศักยภาพของที่นี่จดให้ได้ไม่เกินวันละ 16 คู่

หลังพบการทุจริต อ.บางเลน ได้มีหนังสือเรียกคู่สมรสมาสอบปากคำเพื่อยืนยันสถานะ ผ่านมา 3 ปี ไม่สามารถติดต่อชายชาวต่างชาติได้สักคนเดียว ส่วนหญิงคู่สมรส สอบปากคำได้แล้ว 366 คู่ พบถูกแอบอ้างนำชื่อไปจด 100 คู่ ไม่ได้อยู่กินฉันสามีภรรยาจริง 67 คู่ และยืนยันว่าอยู่กินกันจริง 199 คู่ ซึ่งในส่วนนี้ นายอำเภอคนปัจจุบันยังไม่เพิกถอนการจดทะเบียนสมรสให้รายใด หลังพบพิรุธและจะสอบสวนเพิ่ม สอดคล้องกับข้อมูลของตำรวจที่พยายามกวาดล้างจับกุมกลุ่มคนเหล่านี้ ที่ถือเป็นภัยต่อความมั่นคง ทำเป็นขบวนการ มีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ

นับจากปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีการจดทะเบียนสมรสอำพรางของหญิงไทยกับชายจากเอเชียใต้มากกว่า 3,500 คู่ ในหลายจังหวัดของไทย ผ่านการทำงานของขบวนการทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ชี้เป้า เจ้าหน้าที่ในอำเภออำนวยความสะดวก และนายหน้าจัดหา แต่เมื่อเรื่องอยู่ในชั้นการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กลับพบความยากลำบากในการสอบสวน ชาวต่างชาติที่จดทะเบียนมิชอบทั้งหมดหลบหนี ไม่ทราบยังอยู่ในไทยหรือไม่ ฝ่ายหญิงส่วนใหญ่ไม่กล้าให้ข้อมูล เพราะกลัวความผิด เจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมทุจริตถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อนจนกว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จจึงจะสามารถเอาผิดโทษอาญาได้ และการสอบสวนที่อาจทำไม่ได้มากกว่านี้จะทำให้การดำเนินคดีไปต่อไม่ได้ และเพิกถอนทะเบียนสมรสอำพรางไม่ได้ด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: