20 ปี ปฏิญญานักปกป้องสิทธิมนุษยชน ความคุ้มครองที่ยังไม่เกิดในไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 พ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 2555 ครั้ง

20 ปี ปฏิญญานักปกป้องสิทธิมนุษยชน ความคุ้มครองที่ยังไม่เกิดในไทย

เนื่องในวันที่ 9 ธ.ค. 2561 ครบรอบ 20 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือชื่อเต็มว่า ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรของสังคม ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างสากล ที่ผ่านการลงคะแนนเสียงจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ รัฐสมาชิกทุกรัฐจึงมีพันธะว่าต้องทำให้เป็นกฎหมายภายในประเทศตน

ปฏิญญานี้กล่าวถึงมนุษย์ทุกคนที่มีหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยให้ความช่วยเหลือและปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการทำงานเคลื่อนไหวโดยสันติ และระบุหน้าที่ของรัฐและความรับผิดชอบของมนุษย์ทุกคนที่มีต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2561 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดเวทีพูดคุยในประเด็น “จากรายงานของยูเอ็นถึงแนวทางการทำงานเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของไทย” โดยมีเวทีเสวนา “20 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน: แนวทางเพื่อยกระดับการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย”

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อปี 2548 ประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ของสหประชาชาติเรื่องการคุ้มครองและสืบสวนกรณีการทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากการเสียชีวิตของเจริญ วัดอักษร และสมชาย นีละไพจิตร ต่อมาเมื่อปี 2559 ประเทศไทยเข้าสู่การทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้วยระบบยูพีอาร์โดยได้รับข้อเสนอแนะจากประเทศสมาชิก สหประชาชาติเรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 10 ข้อ ซึ่งประเทศไทยรับว่าจะนำมาปฏิบัติ เช่น การคลี่คลายคดีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกอุ้มหายถูกฆ่า รวมถึงการหามาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการคุกคามในรูปแบบต่างๆ

“ปัญหาคือจนวันนี้ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนออกมา ทั้งยังพบว่า 3-4 ปีนี้มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะผู้หญิง ถูกฟ้องร้องถูกดำเนินคดีมากขึ้น บางคนถูกฟ้องเกือบสิบคดี กรณีธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนนอกจากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกบริษัทธุรกิจฟ้องแล้วหลายคนถูกเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องร้องดำเนินคดีในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งถือเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมในการคุกคาม ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแสดงความเห็นและการแสดงออก กรรมการสิทธิฯ รับเรื่องร้องเรียนและได้ตรวจสอบกรณีการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายกรณี และได้ทำข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีมาตรการป้องกันแต่ปัจจุบันยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังกังวลถึงเรื่องการคุกคามทางสื่อออนไลน์ซึ่งมีการใช้ถ้อยคำที่ทำให้สร้างความเกลียดชังหรือใส่ร้ายป้ายสี รวมถึงการคุกคามทางเพศต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงด้วย”

อังคณา เสนอว่าควรมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจเพื่อยุติกรณีการฟ้องร้องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งหรือเพื่อทำให้เกิดความยากลำบากกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อยากให้รัฐมีมาตรการป้องกันการคุกคามโดยสื่อออนไลน์รวมถึงการคุกคามทางเพศ ส่วนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารอุ้มหาย รัฐต้องมีความพยายามในการคลี่คลายคดี ต้องเอาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้

ปรานม สมวงศ์ องค์กรโปรเท็คชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงปัญหาการคุกคามนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกว่ามีรูปแบบการคุกคามหลากหลาย ส่วนใหญ่การคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ได้รับแจ้งมักมีขั้นตอนคือ 1.โทรศัพท์ข่มขู่นักปกป้องสิทธิและคนในครอบครัว 2.บุกมาหาถึงบ้านหรือเข้าหาครอบครัว เมื่อมีหน่วยงานความมั่นคงติดตามทำให้เพื่อนบ้านและครอบครัวตกใจหวาดกลัว และผู้หญิงถูกมองว่าเป็นผู้กระทำผิด 3.หากนักปกป้องสิทธิมีตำแหน่งทางราชการ จะถูกคอยสอดส่องร้องเรียนว่าใช้เวลาราชการมาเคลื่อนไหวหรือใช้ตำแหน่งกดดัน 4.ดักฟังทางโทรศัพท์ ติดตามความเคลื่อนไหวไปยังสถานที่ต่างๆ 5.ใช้กระบวนการทางกฎหมายฟ้องร้องเพื่อยุติการเคลื่อนไหว 6.หากพื้นที่ขัดแย้งมีผลประโยชน์จำนวนมาก นายทุนจะเสนอเงินหรือตำแหน่งให้ หากปฏิเสธจะเริ่มฟ้องร้องแล้วขอเจรจา 7.เมื่อคุกคามทุกรูปแบบแล้วไม่สามารถยุติการเคลื่อนไหวได้ นำมาสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือการลอบสังหาร

“รัฐควรเข้ามามีบทบาท คือ 1.ยอมรับและตระหนักถึงคุณค่าในบทบาทของนักปกป้องสิทธิทั้งหญิงชายและต้องมีหลักประกันในการคุ้มครองและสนับสนุน เพื่อเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิตของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 2.ยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคร้ายแรงต่อการทำงานของนักปกป้องสิทธิ เช่น ม.44, คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และกฎหมายอื่นที่จำกัดเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงออก 3.ยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด การเลือกปฏิบัติ ใช้หลักนิติธรรมเป็นข้ออ้างในการจัดการกับประชาชน และการปฏิเสธไม่ให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรม รวมถึงต้องมีกระบวนการทบทวนอย่างโปร่งใสในกรณีที่มีการใช้คดีเป็นเครื่องมือในการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ”

ปรานม เผยว่ามีแนวทางในหลายประเทศที่ออกกฎหมายคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น ฮอนดูรัส เม็กซิโก คองโก แถบแอฟริกาตะวันตกก็สนใจจะมีนโยบายและกฎหมายคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมากขึ้น ส่วนอินโดนีเซียมี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านผู้หญิงที่ทำงานปกป้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะ

แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความอาวุโส กล่าวถึงการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (SLAPP) ว่ากลายเป็นแนวทางที่นิยมใช้กันทั่วไป ทั้งในภาครัฐและบริษัทที่ทำโครงการขนาดใหญ่แล้วมีปัญหากับชาวบ้าน โดยส่วนใหญ่เป็นคดีที่โทษไม่สูงนัก แต่ทำให้ชาวบ้านหยุดเคลื่อนไหว จึงเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีอัยการส่งฟ้องถ้ามีเหตุพอสมควรศาลควรไต่สวนมูลฟ้องให้มีขั้นตอนการกลั่นกรองก่อนเข้าการสืบพยาน

“ไม่ใช่ว่าการชุมนุมจะไม่มีเรื่องผิดกฎหมายเลย อะไรเกินเลยก็ลงโทษไป แต่ไม่ใช่ทำในลักษณะฉวยโอกาส ชาวบ้านที่โดนคดีก็ต้องรู้ทันกฎหมายและไม่ตื่นกลัว ต้องมองว่าเป็นโอกาสสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่ามีปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ได้รับอยู่ ด้านกลไกรัฐส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องดูว่ามีการฟ้องโดยไม่สุจริตด้วย หลายกรณีที่ขึ้นศาลแล้วยกฟ้อง จึงควรเอาใจใส่ทบทวนการดำเนินคดีในลักษณะที่เป็นการกลั่นแกล้ง” แสงชัยกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: