‘น้ำตา(ล)อ้อย’ หวานหรือขม ? ภายใต้ปม ม.44

ดลวรรฒ สุนสุข ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ: 24 มิ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 17600 ครั้ง

รัฐบาลหนุนเกษตรกรปลูกอ้อย หวังแก้ปัญหาราคาข้าว ดึงทุนใหญ่เข้าร่วมอุตสาหกรรมอ้อย กลับตาลปัตรหลัง บราซิลจ่อฟ้อง WTO  คสช. ต้องใช้ยาแรง ม.44 ยกเลิกอุดหนุนอ้อย-น้ำตาล ทำระบบโครงสร้างวุ่น ลอยแพกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ด้านโรงงานน้ำตาล-เอทานอล รอเก้อสร้างไม่ได้ ติดผังเมือง-EIA ที่มาภาพประกอบ: สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

รัฐหนุนปลูก ‘อ้อย’ แทน ‘ข้าว’ ทำให้ปริมาณล้น-ราคาต่ำ   

จากการกำหนด ‘ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า’ [1] ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2558 กำหนดให้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ที่ได้สนับสนุนให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าวในพื้นที่ขาดศักยภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาข้าวล้นตลาดและราคาต่ำ ออกมาเป็น ‘ยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาล 10 ปี (พ.ศ.2558-2569)’ [2] ทำให้ต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจากเดิม 10.5ล้านไร่ เป็น 16 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำตาลจาก 105.96 ล้านตันอ้อย เป็น 180 ล้านตันอ้อย ในปี 2569 

ในฤดูกาลผลิต 2560-2561 'อ้อย’ ถูกส่งเสริมให้ปลูกในพื้นที่ ‘นาข้าว' เพื่อปรับเปลี่ยนตามแนวทางของเกษตรแปลงใหญ่สอดคล้องนโยบายประชารัฐ [3] และระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) มีพื้นที่ในโครงการในปี 2561 ประมาณ 100,000 ไร่ ดังที่มีการรายงานแก่สำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย แต่ด้านชาวไร่อ้อยคาดว่ามีการปลูกอ้อยจากโครงการนี้หลายแสนไร่ เนื่องจากรัฐบาลมีการเชิญชวนผ่านสื่อต่างๆ ให้ปลูกอ้อยแทนข้าว อีกทั้งผลตอบแทบด้านราคาจากปีที่ผ่านมา อ้อยได้ราคาดีกว่าข้าว เกษตรกรจึงหันมาปลูกอ้อยในนาข้าวกันมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถคำนวณปริมาณพื้นที่ปลูกอ้อยได้ ส่งผลให้มีผลผลิตเกินกว่าเป้าหมายไปมากจากเดิมปีที่แล้วที่มีอ้อยทั้งหมด 92.95 ล้านตันอ้อย ใน ปีนี้มีอ้อยเข้าโรงหีบแล้วกว่า 134.92 ล้านตันอ้อย และยังมีอ้อยที่เก็บผลผลิตแล้วตกค้างอยู่ไม่ได้เข้าโรงงานกว่า 37,000 ไร่ คิดเป็นปริมาณอ้อยกว่า 3 แสนตันอ้อย แม้จะยืดระยะเลาปิดหีบอ้อย จากเดิมปลายเดือน เม.ย. มาเป็นต้นเดือน มิ.ย. ก็ยังมีอ้อยค้างไร่อยู่ ทั้งที่ตัดแล้วและยังไม่ตัด  

ธีระชัย  แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือและคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น และขั้นสุดท้ายว่า “รัฐบาลชุดนี้ทำงานช้ามาก เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาเพิ่งประกาศราคาอ้อยขั้นปลายฤดูกาลผลิตปี 2559-2560 คือผ่านมาเป็นปี แล้ว เพิ่งมาประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปีที่แล้ว ส่วนราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้เขาปิดหีบหมดแล้วค่อยมาประกาศ ทั้งที่ควรประกาศตอนเปิดหีบอ้อย”   

คสช.ใช้ม.44 เลิกอุดหนุนราคาอ้อย ซุกปัญหาไว้ใต้พรม

วันที่ 15 ม.ค. 2561 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่ง (อำนาจตามมาตรา 44) ประกาศ ‘ยกเว้น’ การใช้มาตรา 17 (15) แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เฉพาะในส่วนของการกำหนดราคาขายน้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคภายในประเทศตั้งแต่ฤดูการผลิตที่ 2560/61 จนถึง 2561/62 หรือที่เรียกกันว่า การปล่อย ‘ลอยตัว’  เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งไม่เพียงมีผลเปลี่ยนแปลงวิธีการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ แต่ยังจะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบตลาดน้ำตาลของไทยด้วย ประกอบกับเป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารยกเว้นการบังคับใช้กฎหมาย ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ยังไม่สามารถประกาศบังคับใช้ได้

สาเหตุการออกคำสั่งฉบับนี้ ก็เพื่อเป็นการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับการเจรจา กับประเทศบราซิล (ผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก) ที่ร้องต่อองค์กรการค้าโลก (WTO) ว่าประเทศไทย (ผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก) ละเมิดกฎในการอุดหนุนเกษตรกรให้หันมาปลูกอ้อยและอุดหนุนราคาอ้อยน้ำตาล ทำให้ราคาน้ำตาลโลกต่ำ [4]

วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุกับประชาชาติธุรกิจว่า “เราเพียงทำตามความต้องการของบราซิลที่กล่าวหาประเทศไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่ารัฐบาลไทยมีการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาล ด้วยการกำหนดราคาขายน้ำตาลภายในประเทศแพงกว่าน้ำตาลนอกประเทศแล้วเอาเงินมาอุดหนุน ทำให้ไทยส่งออกน้ำตาลได้ในราคาต่ำ กับรัฐบาลอาศัยกลไกต่างๆ เข้ามาแทรกแซงและอุดหนุนราคาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล คนของรัฐบาลก็ตั้งธงไว้แล้วว่า ทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้บราซิลฟ้อง WTO การเจรจาที่ผ่านมาก็เลยรับข้อเรียกร้องของบราซิลมาทั้งหมด” [5]

ขณะที่ ธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ และคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ได้กล่าวเพิ่มเติมกับ TCIJ ถึงการใช้ ม.44 ของ คสช. ว่าการใช้คำสั่งในครั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้คิดให้รอบครอบเสียก่อน มาประกาศใช้ในเวลาที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากฤดูกาลอ้อยเปิดหีบไปแล้ว ที่จริงควรมาเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ทำให้ก่อเกิดปัญหามากพอสมควร

นอกจากนี้ กองทุนอ้อยและน้ำตาลได้กู้เงินจากธนาคารกรุงไทย เมื่อฤดูกาลผลิตที่ 2558-2559 และ 2559-2560 มาชดเชยให้เกษตรกร ตามเดิมเมื่อฤดูกาลผลิต 2560-2561 ต้องใช้หนี้หมดแล้ว แต่เมื่อรัฐบาลออกคำสั่ง ม.44 นี้มา ทำให้มีหนี้กว่า 4 พันกว่าล้าน เรื่องนี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบดูแล แต่ก็ยังไม่มีการช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย จากเดิมเมื่อฤดูกาลผลิตก่อน รัฐบาลต้องชดเชยเงินที่ราคาอ้อยขั้นต้นแพงกว่าราคาอ้อยขั้นท้ายต้องชดเชย 5 พันล้านบาท ตามมาตรา 56 ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย แต่เหลือที่ยังไม่ชดเชยอีก 1.2 พันล้านบาท รัฐบาลต้องกำหนดงบประมาณส่วนนี้ปีละ  450 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือตามกำหนดเดิม กองทุนไม่มีเงินเหลือแล้ว เท่ากับว่าลอยแพกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

“ส่วนประเด็นที่ว่าถ้าไม่ประกาศใช้ ม.44 เลิกอุดหนุนอ้อย-น้ำตาล แล้วประเทศบราซิลจะฟ้องร้อง ตามกฎหมาย WTO รัฐบาลไม่สามารถอุดหนุนได้ แต่มันก็มีทางอุดหนุนทางอ้อมได้อีกหลายอย่าง เช่น เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ช่วยชาวไร่อ้อย แหล่งน้ำ รวมไปถึงแหล่งเงินกู้ แต่แบบนี้กลายเป็นว่ารัฐบาลลอยแพชาวไร่อ้อยไปเลย” นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ และคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ระบุ

โรงงานน้ำตาล-เอทานอล รอเก้อ ม.44 ไม่มาตามนัด

โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ 36 แห่ง อาจจะไม่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากรายงาน EIA ไม่ผ่าน-ติดล็อกผังเมืองและชาวบ้านคัดค้าน เพราะถึงปัจจุบัน มีโรงงานน้ำตาลเปิดดำเนินการได้แล้วเพียง 1 แห่งเท่านั้น ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

นอกจากนี้ ยังพบว่า 36 โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ทั่วประเทศ ที่มีกำลังผลิตมากกว่า 700,000 ตันอ้อย อาจจะไม่เกิดขึ้นเนื่องจากรายงาน EIA ไม่ผ่าน ติดล็อกผังเมืองและชาวบ้านคัดค้าน ทั้งนี้ใบอนุญาตใกล้หมดอายุปีหน้า (2562) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมระบุชัดไม่ต่ออายุเด็ดขาด ให้เวลามาแล้ว 5 ปี ตั้งโรงงานไม่สำเร็จ และกรมโยธาธิการเปิดเผยว่า เคยเสนอให้ใช้ ม.44 แต่ไม่เป็นผล

หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่มีความประสงค์จะขอตั้งโรงงานหรือย้ายโรงงานน้ำตาล รวมไปถึงการขอขยายกำลังการผลิต สามารถยื่นขอเข้ามาได้ตั้งแต่ปลายปี 2558 ปรากฏว่า สอน.ได้ออกใบรับรองการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ไปแล้ว 22 โรงงาน (รวมกำลังผลิต 421,000 ตันอ้อย) และออกใบรับรองขยายกำลังผลิตอีก 17 โรงงาน (กำลังผลิต 336,000 ตันอ้อย) มีระยะเวลาการก่อสร้างโรงงานและต้องเปิดดำเนินการภายใน 5 ปีปรากฏจนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีโรงงานน้ำตาลเปิดดำเนินการได้แล้วเพียง 1 โรง ในขณะที่โรงงานน้ำตาลที่เหลือล้วนแล้วแต่ติดปัญหาการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กับปัญหาผังเมือง และมีแนวโน้มว่าใบรับรองการขอตั้งโรงงานน้ำตาลกำลังทยอยหมดอายุลงในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้

สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ระบุไว้กับประชาชาติธุรกิจว่าการตั้ง-ขยายโรงงานน้ำตาล ที่ผ่านมาจะมีการดำเนินการอยู่ 2 ล็อต คือ ล็อตแรกประมาณ 20 ราย จนถึงขณะนี้ยังติดปัญหาการจัดทำรายงาน EIA กับติดปัญหาผังเมือง อาทิ บางโรงตั้งอยู่ในพื้นที่ผังเมืองสีเขียว ห้ามก่อสร้าง หรือบางโรงมีความสูงโรงงานเกินกว่า 23 เมตร วัดจากพื้นถึงปากปล่องไฟ ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลในกลุ่มนี้ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ แม้ว่าโรงงานจะได้รับใบรับรองผ่านหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ สอน.แล้วก็ตาม แต่จำนวนรายเหล่านี้ยังมีเวลาทำ EIA อีกหลายปี เพราะส่วนใหญ่ได้รับการอนุญาตปี 2560

ส่วนล็อตที่สอง เป็นการอนุญาตตามมติ ครม.ก่อนหน้านี้ที่ให้ดำเนินการได้ และหลายรายได้พื้นที่ตั้งโรงงานน้ำตาลแล้ว แต่ก็มาติดปัญหาการจัดทำรายงาน EIA อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดค้านของกลุ่ม NGO ที่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ต้องการให้ตั้งโรงงานในพื้นที่เลย “กลุ่มที่ 2 นี้ผู้ประกอบการมีเวลาในการจัดทำ EIA วางแผนส่งเสริมการปลูกอ้อย หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตจาก สนอ.มาแล้วถึง 5 ปี แต่กลับไม่เร่งดำเนินการจนทำให้ใบอนุญาตใกล้จะหมดอายุลงแล้ว (หมดอายุปี 2560-2561) ขณะที่บางรายเข้ามาขออนุญาตกระทรวงอุตสาหกรรมขยายเวลาออกไปจนกว่า EIA จะผ่าน แต่ใบอนุญาตมันมีข้อกำหนดชัดว่า ถ้าเลย 5 ปีไม่สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลได้ ให้ยึดใบอนุญาตคืนเพื่อเปิดโอกาสให้รายใหม่เข้ามายื่น ดังนั้นกระทรวงจึงไม่ขยายเวลาให้” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมระบุ

ด้านมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่าการปรับผังเมืองรวมในพื้นที่อนุรักษ์เกษตรกรรม (สีเขียวลายขาว) ให้เอื้อต่อการลงทุนสร้างโรงงานน้ำตาลนั้น เมื่อปีที่แล้วเคยมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการ โดยมีการเสนอขอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่งมาตรา 44 ‘ยกเว้น’ ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ติดปัญหาได้ “แต่เรื่องก็เงียบหายไป” อย่างไรก็ตาม การขอแก้ไขปรับปรุงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจะต้องดำเนินการตามข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่และขั้นตอนของกฎหมายผังเมือง ซึ่งจะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการผังเมือง และมีการปิดประกาศ 30 วัน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ด้วย “ทางเราก็พร้อมดำเนินการให้ แต่ต้องกำหนดเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการจะผลักดันหรือมีที่มาที่ไป เพื่อจะขอให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน แต่ที่ผ่านมากรมโยธาธิการฯ ยังไม่ได้รับนโยบายแต่อย่างใด” อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองระบุ [6]

เปิดรายชื่อ 36 โรงงานที่ได้รับใบอนุญาต แต่ยังติดผังเมือง- EIA

สำหรับโรงงานน้ำตาลทั้ง 36 โรง ที่ยังไม่ผ่านการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผังเมือง ประกอบไปด้วย กลุ่มไทยเบฟ (สิริวัฒนภักดี) 6 โรงงาน บริษัท ทิพย์นครสวรรค์ โซลาร์ เอนเนอยี่ (จุน พะเยา)-บริษัท ทิพย์สุโขทัย ไบโอ รีไฟเนอรี่ (เชียงแสน)-บริษัท ทิพย์กำแพงเพชร โซลาร์ เอนเนอยี่ (พญาเม็งราย เชียงราย)-บริษัท ทิพย์ปราจีนบุรี (ศรีมหาโพธิ)-บริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย (วัดโบสถ์)-บริษัท น้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร (เกาะคา),

กลุ่มมิตรผล 5 โรงงาน บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ (เสลภูมิ)-บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ (อำนาจเจริญ)-บริษัท น้ำตาลมิตรผล (บ้านไผ่)-บริษัท  น้ำตาลมิตรผล (เกษตรสมบูรณ์ ชัยภูมิ)-บริษัท ชูการ์ เอคเซ็ลเล็นซ(เพชรบูรณ์)

กลุ่มเนตรจรัสแสง (อุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน) 4 โรงงาน บริษัท อุตสาหกรรมกัญจน์สยาม (บุณฑริก อุบลฯ)-บริษัท ไตร อกริ กรุ๊ป (น้ำขุ่น  อุบลฯ)-บริษัท เรโนไทย อินดัสทรี้ (ตาพระยา)-บริษัท เอเคเอ็น แอสโซซิเอท (ไพรบึง/ขุนหาญ ศรีสะเกษ), กลุ่มน้ำตาลไทยกาญจนบุรี 3 โรงงาน บริษัท ไทยชูการ์ มิลกรุ๊ป (เซกา บึงกาฬ)-บริษัท ไทยชูการ์ มิลกรุ๊ป (ปลาปาก นครพนม)-บริษัท ไทยชูการ์ มิลกรุ๊ป (เชียงคาน เลย)

กลุ่มไกรพิสิทธิ์กุล 3 โรงงาน บริษัท วิวรรธน์การเกษตร (โพนพิสัย)-บริษัท แอ๊บโซลูท ปาล์ม (บึงกาฬ)-บริษัท ที.เค.เอช.ฟู้ดส์ โปรดักส์ (บ้านแพง  นครพนม),

กลุ่มอายิโนะทะการะ 3 โรงงาน ใน จ.บึงกาฬ บริษัท ยอดอาหาร-บริษัท เพอร์มาเน้นท์ พาวเวอร์-บริษัท โรงงานน้ำตาลเกียรติไทย, กลุ่ม น้ำตาลพิมาย 2 โรงงาน บริษัท โรงงานน้ำตาลสุรินทร์ (สังขะ)-บริษัท บรรจง มอเตอร์สปอร์ต (กันทรารมย์),

กลุ่มไทยรุ่งเรือง บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ (พิบูลมังสาหาร), กลุ่มน้ำตาลครบุรี บริษัท น้ำตาลครบุรี (สีคิ้ว), กลุ่มอุบลเอทานอล   บริษัท น้ำตาลอุบล (เขมราฐ), นายสุนทร อรุณานนท์ชัย บริษัท น้ำตาลราชบุรี (สวนผึ้ง), นายโกศล โพธิสุวรรณ บริษัท อีสท์ ซี เอเซีย (สังคม หนองคาย), กลุ่มน้ำตาลปราณบุรี บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลปารณบุรี (หนองหญ้าปล้อง เพชรบุรี) และ กลุ่มวงศ์อารีย์สันติ บริษัท น้ำตาล  ไทยวัฒน์ (ชำนิ บุรีรัมย์)

สังคมไทยยังไม่มีฉันทามติ‘ต้องการ-ไม่ต้องการ’ อ้อย-โรงงานน้ำตาล

แม้ว่ารัฐบาลจะสนับสนุน ‘อ้อย’ ให้เป็นพืชเศรษฐกิจ แต่เหตุการณ์เปลี่ยนเมื่อบราซิลจ่อฟ้อง WTO ทำให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงท่าที ทั้งโรงงานน้ำตาลที่ค้างอยู่ 36 โรงงานสร้างไม่ได้เนื่องจากติดผังเมืองและEIA แม้ว่าฝ่ายชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลอยากให้เกิด แต่ภาคประชาชนและชาวบ้านยังมีการต่อต้านในทุกพื้นที่

ฝ่ายที่สนับสนุนสร้างโรงงานน้ำตาล เห็นว่าอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจจะพาหลุดพ้นความยากจนได้ การปลูกอ้อยแพร่หลายมากขึ้น เมื่อรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมปลูกอ้อย ก็ต้องสนับสนุนให้สร้างโรงงานน้ำตาลได้ ส่วนฝ่ายคัดค้านเห็นว่าจะทำให้วิถีชีวิตท้องถิ่นเปลี่ยนไป มีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชมีความเสี่ยงต่อสุขภาพคนในพื้นที่

ตัวอย่างเช่น การสร้างโรงงานน้ำตาลของบริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด หรือกลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง ภายใต้เครื่องหมายการค้า ‘ลิน’ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร โดยระบุว่าจะมีกำลังการผลิต 12,500-40,000 ตันอ้อย/วัน และจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 48-114 เมกะวัตต์ ในขณะอยู่ในระหว่างการทำประชาวิจารณ์ EIA ผ่านไปแล้ว แต่กลุ่มต่อต้านยื่นศาลปกครองให้ยกเลิกการใช้ EIA เพราะเห็นความผิดปกติหลายประการ

ชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร  ผู้สนับสนุนการสร้างโรงงานน้ำตาลใน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ระบุว่า “ทุกวันนี้ประเทศเรามีพื้นที่ปลูกข้าวค่อนประเทศ แต่ก็ประสบปัญหาจิปาถะ เช่น ราคาข้าวที่ตกต่ำ ปัญหาภัยแล้ง แน่นอนว่าวันนี้เราใช้พื้นที่ในการเกษตรจำนวนมาก แต่ได้ผลผลิตจำนวนน้อย เมื่อจะมีการลงทุนทำโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ ซึ่งต้องการปริมาณอ้อยปีละสี่แสนตัน  ชัดเจนว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่พี่น้องประชาชนจะได้เปลี่ยนจากชีวิต ‘ชาวนา’ มาเป็น ‘ชาวไร่’  แบ่งพื้นที่ทางการเกษตรได้อย่างหลากหลาย”

“พี่น้องประชาชนในสกลนครย่ำอยู่กับความยากจนมาตลอด ทางเลือกใหม่ชาวไร่อ้อย จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีของพี่น้องประชาชน นอกจากจะปลูกอ้อยแล้ว ยังส่งเสริมเรื่องการส่งออกน้ำตาล อุตสาหกรรมต่างๆ ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของพี่น้องประชาชนไปในทางที่ดีขึ้น” [7]

ด้าน บำเพ็ญ สุดไชยรักษ์ สมาชิกกลุ่มคนรักษ์น้ำอูน ภาคประชาชนและคนในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงงานน้ำตาลใน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร กลับมองว่าการที่โรงงานน้ำตาลเข้ามาตั้งในพื้นที่ทำให้เกิดผลกระทบมากมายในเรื่องวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในพื้นที่  รวมไปถึงการแย่งชิงทรัพยากรในพื้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำและมีการสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลจะมีการนำเข้าถ่านหินมาใช้ในอุตสาหกรรม ที่สำคัญคนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตัวเองเลย

นอกจากกรณี โรงงานน้ำตาลที่ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ยังมีอีกหลายพื้นที่ ที่ยังหาฉันทามติไม่ได้ว่าจะเอา อ้อย-โรงงานน้ำตาล เข้าไปในพื้นที่หรือไม่

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 116/ 2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (Roadmap) คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย
[2] ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2558-2569 (กระทรวงอุตสาหกรรม, 21/4/2559)
[3] ปรับเปลี่ยนที่นามาปลูกอ้อยแปลงใหญ่ประชารัฐ ลดความเสี่ยงเรื่องตลาด มีรายได้มั่นคง (มติชนออนไลน์, 12/8/2560)
[4] “บราซิล” ฟ้องดับเบิลยูทีโอ ไทยละเมิดกฎเหล็กอุดหนุนชาวไร่อ้อยทำราคาน้ำตาลโลกตกต่ำ (มติชนออนไลน์, 4/8/2559)
[5] ลอยตัว “น้ำตาล” วุ่นไม่เลิก สต๊อกเก่าอื้อ…ราคาไม่ลด ! (ประชาชาติธุรกิจ, 22/1/2561)
[6] 36 โรงงานน้ำตาลใหม่วืด ทุนใหญ่ติดล็อกผังเมือง-ดิ้นแก้ EIA (ประชาชาติธุรกิจ, 27/7/2560)
[7] เงื่อนโรงงานน้ำตาล ชุมชนได้ใครเสีย? (ไทยรัฐออนไลน์, 14/2/2560)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: การค้าน้ำตาลในตลาดโลก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: